Q&A ภัทรา สังขาระ: ถ้าพิการและจน อยากได้สวัสดิการอะไรจากบัตร ‘สวัสดิการแห่งรัฐ’


ภาพโดย อิศเรศ เทวาหุดี

 

ทราย-ภัทรา สังขาระ อายุ 29 ปี ใช้ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่อยู่บนเตียงที่บ้าน หลังเกิดภาวะเนื้องอกทับเส้นประสาทที่หลัง จนทำให้ไม่สามารถเดินได้ แม้จะมีวีลแชร์ที่ใช้สำหรับไปไหนมาไหน แต่การนั่งก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับเธอ นั่นจึงทำให้การทำกิจวัตรนอกบ้าน หรือการประกอบอาชีพแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

เมื่อปีสองปีที่แล้ว รัฐบาลประกาศให้คนที่มีรายได้น้อย ลงทะเบียนทำบัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าภัทราที่แทบจะไม่มีรายได้ประจำก็เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย แม้สิทธิที่ได้รับสามารถช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในครอบครัวอย่างพวก แก๊สหุงต้ม ข้าว ผงซักฟอก ฯลฯ ได้บ้าง แต่กลับพบว่า สิทธิประโยชน์บางอย่าง เช่น การเดินทางด้วยรถสาธารณะ เธอกลับไม่สามารถใช้มันได้เลย

ปกติใช้สวัสดิการอะไรบ้าง
ภัทรา: ช่วงนี้ไปโรงพยาบาล 6 เดือนครั้งนึง เพราะอาการไม่ค่อยมีอะไรแล้ว เวลาจะไปก็เรียกรถพยาบาลบ้าง หรือบางทีก็ไปรถที่บ้าน นอกนั้นก็สวัสดิการคนพิการทั่วไป

มีบัตรคนพิการอยู่แล้วทำไมต้องทำบัตรคนจนเพิ่มอีกหนึ่งใบ
ก็เราจนด้วย เป้าหมายของการทำมันไม่ใช่เงิน 300 บาท แต่คือความรู้สึกว่าช่วงนี้รัฐจะมีการปรับสวัสดิการ สิทธิการรักษาอะไรหลายๆ อย่าง เรากลัวว่าถ้าไม่ลงทะเบียนเราจะยังมีสิทธิใช้สิทธิการรักษาพวกนี้อยู่รึเปล่า การไม่มีสิทธิคืออะไรที่เป็นห่วงที่สุดก็เลยไปทำไว้

บัตรคนจนให้สวัสดิการอะไรบ้าง
คนที่ได้บัตรมีสองแบบคือคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี กับคนที่ได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่ถึง 100,000 บาท สิ่งที่ได้รับต่างกันคือเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ถ้ารายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้ 300 บาทต่อเดือน แต่ถ้าได้มากกว่า 30,000 บาทแต่ไม่ถึง 100,000 บาท ก็จะได้ 200 บาทต่อเดือน นอกจากนั้นก็จะเป็นเงินซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาท และค่าเดินทาง คนต่างจังหวัดก็จะมีบัตรอีกแบบนึงที่ไม่สามารถใช้กับบีทีเอสได้ แต่ใช้ได้กับรถ บขส.หรือรถไฟ แต่คนที่อยู่กรุงเทพฯ จะใช้ได้พวกรถเมล์ และรถไฟฟ้า

บัตรคนจนทำให้คนอยู่ดีกินดีขึ้นหรือเปล่า และช่วยให้คุณภาพชีวิตคนพิการดีขึ้นไหม
ด้วยตัวเงินมันก็อาจจะช่วยได้ในระดับนึงคือเพิ่มขึ้นมาเดือนละ 300 ต่อคน แต่ว่าในระยะยาวมันไม่ช่วยอะไรแต่ยิ่งทำให้เหมือนกับว่าคนจนต้องรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เขาหายจน

อย่างเรื่องคุณภาพชีวิต เงินนี้ก็ไม่ค่อยได้ช่วยให้ดีขึ้น แค่ช่วยให้มีเงินใช้เพิ่มขึ้น 300 บาท ซึ่ง 300 บาทเราก็รู้ๆ กันอยู่ว่ามันไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ ในมุมมองคนพิการเงินนี้ไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าไหร่ เพราะเมื่อเราไม่สามารถเอาเงินส่วนนั้นไปใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นบีทีเอส รถเมล์ เราก็ต้องให้คนอื่นเอาไป ซึ่งเราก็ให้แม่เอาไปใช้เพราะว่ามีชื่ออยู่หลังบัตรคนพิการ ไม่ใช่แค่ไม่สะดวกในการใช้เอง แต่เรารู้สึกว่าไม่สะดวกตั้งแต่ไปลงทะเบียนแล้ว รัฐทำโครงการมาแล้ว 2 ปี ทำไมเราต้องไปลงทะเบียนทุกปี เรารู้สึกว่าคนไม่ได้หายจนกันง่ายขนาดนั้นด้วยนโยบายแบบนี้ หวังว่าปีต่อไปจะไม่ต้องลงแล้ว

และที่ไม่สะดวกสุดๆ เลยก็คือเรื่องของการใช้ ซึ่งเราจะต้องใช้จ่ายตามที่รัฐกำหนดเอาไว้ให้ใช้หมดเดือนต่อเดือนเท่านั้น ถ้าเราไม่ได้ใช้ก็ไม่สามารถนำมาสะสมต่อได้ เช่น ค่าเดินทาง 500 บาท ถ้าเราไม่ได้ใช้เงินก็จะรีเซ็ตใหม่ตลอด ส่วนที่เราต้องการใช้ก็ใช้ไม่ได้ ตัวเองไม่ได้เดินทางด้วยบีทีเอส หรือรถเมล์ เงินส่วนนี้มันก็จะถูกรีเซ็ตทุกเดือน แต่ถ้าวันนึงเราต้องไปหาหมอ พอเรียกรถพยาบาล ซึ่งค่าใช้จ่ายประมาณ 1,800 ไป-กลับ กลับไม่สามารถเอาส่วนนี้ไปใช้ได้ ส่วนมากเลยใช้เดือนละ 300 เพื่อซื้อของเท่านั้น

เมื่อทั้งพิการและจน สิ่งไหนคือสิ่งที่ต้องการให้สนับสนุนมากที่สุด
ถ้าเป็นเงินก็น่าจะได้เอาไปใช้อะไรได้ง่ายกว่า เช่นพอเป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชี เราก็แค่กดเอทีเอ็มมาใช้ สามารถเอาเงินตรงนี้มาใช้ในการไปหาหมอ จ่ายค่ารถพยาบาลอะไรแบบนี้ได้ด้วยน่ะ

ถ้าเกิดว่ารัฐยังต้องการจะสนับสนุนคนจนที่มีความพิการด้วยการให้เงิน ก็คิดว่าการให้เป็นเงินสด โอนเข้าบัญชีที่คนพิการรับเบี้ยยังชีพอยู่แล้ว ก็จะง่ายกับคนพิการและคนดูแลด้วย อาจจะไม่ต้องมาต่อบัตรทุกปี อย่างตัวเราเองไม่ได้ออกไปไหนบ่อยๆ อยู่แล้ว เนื่องจากนั่งนานไม่ได้ เวลาต้องเดินทางไปก็ลำบากพอสมควร และไม่ใช่แค่กับคนพิการด้วยที่การให้เงินสดจะสะดวกกว่า แต่สำหรับคนไม่พิการก็เป็นการเอื้อให้เขาได้เอาเงินไปใช้ได้ตามที่เขาเห็นสมควร

การไม่ให้เงินสด ทำให้รัฐมีกลไกในการควบคุมการจับจ่ายใช้สอยได้ง่ายกว่าหรือเปล่า
ก็ใช่ เขาก็อยากรู้ว่าเงินที่ให้ไปใช้มันอยู่ตรงไหนบ้าง เอาไปทำอะไร และในอนาคตเขาจะทำอะไรต่อ

การแก้ปัญหาคนจนถ้าไม่ใช้เงิน คิดว่าจะต้องใช้อะไร
วิธีมันมีอยู่แล้วขึ้นอยู่กับว่าเขาจะทำรึเปล่า มันเป็นปัญหาที่เชิงโครงสร้างที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยนโยบายเดียว และไม่ใช่รัฐอย่างเดียว บางครั้งคนจนเขาไม่ได้เกิดมาจนอย่างเดียวแต่ถูกทำให้จนด้วย เพราะเป็นเรื่องยากที่คนจนจะถีบตัวเองขึ้นมาในสภาพสังคมแบบนี้ ตัวอย่างง่ายๆ เลยคือ ถ้ามีเงินอยู่ 200 บาท เราอาจจะซื้อของแบบยกแพ็คได้ ซึ่งจะถูกกว่า แต่ถ้าไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อเป็นแพ็ค ก็ต้องซื้อแบบแบ่งขาย ถึงเขาอยากจะประหยัดก็ประหยัดไม่ได้ ก็เท่ากับต้องซื้อของแพงไปตลอด

บางครั้งคนจนที่มีไอเดียในการทำธุรกิจก็ไม่มีเงินลงทุน เขาจะไปกู้ธนาคารก็ไม่ได้เพราะไม่มีหลักทรัพย์ การทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจึงค่อนข้างยาก นอกจากจนแล้วเหมือนกับว่าเขายังต้องขาดโอกาสหลายๆ อย่างด้วย

ถ้าขอสวัสดิการได้ 3 ข้อ จะขออะไร
อย่างแรกเลยคิดว่าควรมีค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมค่ารถพยาบาลสำหรับคนพิการ ไม่ว่าเขาจะไปหาหมอหรือต้องการไปทำกายภาพ หรือแม้แต่การเดินทางไปทำอย่างอื่น เพราะคนพิการหลายๆ คนเดินทางค่อนข้างลำบาก เงินในบัตรคนจนสำหรับค่าเดินทาง เขาจึงใช้ไม่ได้

สอง อินเทอร์เน็ตเพราะการเป็นคนพิการทำให้เราเจอคนน้อย อินเทอร์เน็ตจะทำให้โลกของคนพิการหรือแม้แต่คนไม่พิการกว้างขึ้น หรือจะหาความรู้อะไรได้ นอกจากนี้อุปกรณ์ที่เอาไว้ใช้อินเทอร์เน็ต เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนก็อาจจะช่วยให้พวกเขามีงานทำ หาความรู้ได้ ได้ดูข่าว ฯลฯ

สาม อาจจะไม่ใช่เชิงสวัสดิการ สำหรับคนที่ไม่ได้พิการตั้งแต่กำเนิด รัฐควรมีโปรแกรมสำหรับคนพิการมือใหม่ อาจออกมาในรูปแบบที่มีนักบำบัดมาพูดคุยให้คนพิการมีความสบายใจขึ้น แนะนำเรื่องการใช้ชีวิต มีระบบจัดหางานที่เข้าถึงได้ง่าย แนวคิดนี้ มาจากตอนที่ก่อนหน้านี้เราเดินได้ปกติแต่พอพิการเราก็อยู่แต่แค่โรงพยาบาล นอกจากบัตรคนพิการแล้ว เขาก็ไม่เคยแนะว่าเราควรทำตัวแบบไหน ถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ตก็คงเคว้งเหมือนกันเพราะไม่มีคนให้คำปรึกษาว่าจะทำยังไงต่อ ใช้ชีวิตต่อไปยังไง เราจะหางานอะไรทำ แล้วต้องอยู่บ้านเฉยๆ แบบนี้น่ะเหรอ

คิดว่าคนกลุ่มไหนยังถูกละเลยจากบัตรคนจน หรือเข้าถึงบริการบางอย่างไม่ได้
เท่าที่เห็นคนจนเมืองในกรุงเทพฯ แต่ละคนมีบ้านเป็นของตัวเอง มีที่ดินเป็นของตัวเอง จึงทำให้เขาไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เพราะในคุณสมบัติมีการกำหนดว่า ถ้ามีบ้านหรือที่ดินเกินเท่านี้ๆ ก็จะไม่ผ่าน แต่ทั้งที่จริงแล้วเขาเป็นคนจน เขาไม่มีอะไรอย่างอื่นเลยนอกจากบ้านที่อยู่ จึงทำให้เขาเสียสวัสดิการตรงนี้ไป ซึ่งน่าเสียดาย ไม่ควรจะมองว่าเขามีที่อยู่แล้วคือไม่จน มันไม่ใช่

หรือในต่างจังหวัดบางคนเขามีที่ แต่ไม่ได้มีรายได้ หรือบางคนมีที่ทำนาแล้วมีหนี้ด้วยซ้ำ เรานับเขาเป็นคนจนด้วยรึเปล่าสมมติว่ามีที่ 3 ไร่ แต่ทำนาก็ขาดทุน นี่ยิ่งกว่าคนที่มีรายได้ 30,000 บาท เพราะเขาติดลบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท