Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

มื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสื่อสารต่อสาธารณะว่ารัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเทพาที่มีกำลังผลิต 2,200 เมกะวัตต์ และมีมูลค่าโครงการนับแสนล้านบาท โดยเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเท่านั้น และยืนยันว่าจะพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่สัปดาห์ต่อมา ต้นเดือนธันวาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอกาสกลับใช้เวลาในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างยืดยาวเพื่ออธิบายถึงข้อดีของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 

การสื่อสารที่ดูเหมือนไม่สอดคล้องกันนี้ทำให้เราเห็นร่องรอยของความคิดที่แท้จริงผู้นำประเทศว่ามีความโน้มเอียงไปในทิศทางทางใด 

นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา ไม่ได้พูดว่าสร้างได้หรือไม่ได้ แต่อันที่จริงผมคิดว่ารัฐบาลต้องการสร้างโรงไฟฟ้า หากใช้ถ่านหินได้ก็ดีกว่าทำไม่ได้ ในรายการศาสตร์พระราชา นายกฯได้นำข้อสงสัยต่างๆ ที่ประชาชนถามมาชี้แจง แต่เท่าที่ผมอ่านดูแล้วพบว่า ข้อมูล เหตุผล และลักษณะการพูดชี้แจงนั้น ทำให้ภาพลักษณ์ของนายกฯดูราวกับเป็นโฆษกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอย่างไรอย่างนั้น เพราะเป็นการพูดถึงข้อดีและรายละเอียดของการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นหลัก

อย่าง ข้อแรก นายกฯ ระบุว่า ได้มีการพูดคุยกับชาวบ้านแล้วเกี่ยวกับการย้ายวัดและโรงเรียน ให้ห่างจากเดิม 5 กิโลเมตร เหตุที่ย้ายให้ห่างออกไป 5 กิโลเมตรนั้นนายกฯไม่ได้พูดว่าทำไม แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า ผลกระทบจากมลพิษ มีการประมาณการว่าอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า แต่ก็มีข้อมูลบางแหล่งที่ระบุว่าผลกระทบนั้นอยู่ในรัฐมี 20 กิโลเมตร แต่ข้อมูลนี้นายกฯ ไม่ได้พูดถึง 

ข้อสอง การย้ายประชาชน ก็บอกแบบกำปั้นทุบดินว่า “ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะยังไม่ได้เริ่ม” ซึ่งการพูดแบบนี้ไม่ได้ให้สาระสำคัญที่เป็นข้อมูลแต่อย่างไร และไม่ได้บอกว่าหากต้องย้ายจริงแล้วจะย้ายไปไหน แล้วประชาชนจะยอมย้ายหรือไม่ 

ข้อสาม เรื่องสิ่งปลูกสร้างในทะเลจะกีดขวางการไหลของน้ำ ขีดขวางสัญจรของเรือประมง และการกัดเซาะชายฝั่ง นายกฯ ระบุว่ามีการกำหนดมาตรการรองรับชัดเจน เช่น การทำเขื่อนป้องกัน จึงไม่มีผลกระทบต่อการสัญจรทางเรือ ชีพประมง และการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งระบุว่า “คนที่ฟัง ก็เข้าใจ ส่วนที่ไม่ฟังเหตุผล ก็ไม่เข้าใจ” การพูดในลักษณะเช่นนี้ของนายกฯสื่อความหมายในการสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าอย่างชัดเจน ส่วนใครฟังแล้วไม่เห็นด้วยกับเหตุผลที่หน่วยงานรัฐนำเสนอ ก็กลายเป็น “คนที่ไม่ฟังเหตุผล” หรือหากชาวบ้านมีเหตุผลอื่นๆ ที่แตกต่างจากเหตุผลของหน่วยงานรัฐ ก็อยากจะถามว่า “นายกฯจะฟังเข้าใจหรือไม่ หรือ ไม่ฟังเหตุผลชาวบ้าน เลยไม่เข้าใจชาวบ้าน” 

ข้อสี่ นายกฯ บอกว่า ถ่านหินที่ใช้ในโรงไฟฟ้าเทพา เป็นถ่านหินคุณภาพดี ประเภท “บิทูมินัส” และ “ซับบิทูมินัส” เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยเรือบรรทุกแบบปิดที่เรียกว่า “ระบบปิด” คลุมทุกอย่าง และใช้เทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด นายกฯ กล่าวว่า เท่าที่ตนเองศึกษาดูของโรงงานมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และหยิบยกกรณีที่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ว่ามีการเปลี่ยนเครื่องจักรเครื่องมือแล้ว ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร คนก็อยู่ได้ ปลา สัตว์ ต้นไม้ต่าง ๆ ก็อยู่ได้เป็นปกติ 

สิ่งที่นายกฯ กล่าวในข้อนี้ย่อมแสดงออกอย่างชัดเจนว่า “นายกฯ เชื่อในสิ่งที่ตนเองเห็นและเชื่อข้อมูลที่ตนเองได้รับจากหน่วยงานที่สนับสนุนการใช้ถ่านหิน” แต่ไม่ทราบว่านายกฯ ได้อ่านข้อมูลของฝ่ายที่เขาไม่เชื่อว่าถ่านหินสะอาดมีจริงหรือเปล่า หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการกับถ่านหินให้มีมลพิษน้อยนั้น มันมีจริงหรือไม่ หากมีและนำมาใช้จะคุ้มค่าคุ้มทุนหรือไม่ ส่วนที่บอกว่าคนสัตว์พืชที่แม่เมาะปัจจุบันอยู่กันดี อยากถามว่า นายกฯ เคยอ่านรายงานด้านสาธารณสุข ที่เกี่ยวกับการเสียชีวิตและการเป็นโรคนับร้อยคนของชาวบ้านแม่เมาะบ้างหรือเปล่า 

หากนายกฯ ไปดูอย่างผิวเผินและฟังแต่รายงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต นายกฯ ย่อมไม่มีทางเห็นความจริงที่ซ่อนเร้นอยู่เป็นแน่แท้ เพราะคนบางจำพวกเขามีเทคโนโลยีในการสร้างความเท็จให้เป็นความเสมือนจริงได้อย่างแนบเนียน หากไม่มีความสนใจอย่างจริงจังและมีสติปัญญาเพียงพอในการวิเคราะห์ ก็มักจะถูกตบตาได้โดยง่าย

เหตุผล ข้อห้า เป็นการพูดที่ตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า นายกฯมีความลำเอียงต่อการใช้ถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดย นายกฯ กล่าวว่า “ในการใช้น้ำทะเลเป็นน้ำหล่อเย็น มีระบบกำจัดการสะสมของโลหะหนัก มีการควบคุมการปรับคุณภาพน้ำ ก่อนที่จะระบายสู่ทะเลธรรมชาติให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ประเภท 1 คือ ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล โดย “เรา” ก็ใช้สัตว์น้ำ อาทิ หอยแครง หอยแมลงภู่ เป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพ ณ จุดปล่อยน้ำ” 

การพูดในข้อนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่านายกฯ พูดตามบทที่บางหน่วยงานเขียนมาให้ และนายกฯ ได้ผนึกตนเองเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานนั้นโดยใช้คำว่า “เรา” อย่างไม่รู้ตัว ราวกับว่าตนเองเป็นเจ้าของโครงการเสียเอง หรือ ที่จริงก็อาจเป็นแบบนั้นก็ได้

นายกฯ ยังบอกว่า “นำเฉพาะประเด็นที่สงสัยกันมานำเสนอ ให้ทุกคนได้พิจารณาร่วมกัน” แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาที่นำเสนอมาทั้งหมด ก็จะเห็นอย่างชัดเจนว่า นายกฯ มิได้นำเสนอข้อมูลอย่างเป็นกลาง แต่อย่างใด ตรงกันข้ามข้อมูลที่นำเสนอนั้นเป็นการนำเสนอแบบลำเอียงเข้าข้างการใช้ถ่านหินอย่างชัดเจน เพราะสิ่งที่นายกฯ กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่เป็นคำแก้ตัวแทนการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการในการลดผลกระทบ การมีเทคโนโลยีใหม่ที่ขจัดมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ แม้กระทั่งการหยิบยกเอากรณีชาวบ้านแม่เมาะ แต่ผลกระทบด้านลบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเหตุผลที่ชาวบ้านนำเสนอ นายกฯ กลับไม่ได้นำมาพูดแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายยัง ยังกล่าวในลักษณะที่ทำให้ตีความได้ว่าคนที่คัดค้านไม่ฟังเหตุผลอีกด้วย

และเมื่อนำเอาการปฏิบัติการในพื้นที่ของหน่วยงานรัฐหลายหน่วย โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงมาพิจารณาแล้ว แล้วสิ่งที่ปรากฎให้เห็นคือการลงไปปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อให้เปลี่ยนความคิดของชาวบ้านให้มาสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะเดียวกันก็สกัดกั้นผู้ที่มีความเห็นต่างอีกด้วย การทำงานของหน่วยงานภาครัฐเหล่านั้นจึงเป็นการทำงานด้วยความลำเอียงและมีอคติอย่างชัดเจน ยิ่งกว่านั้นเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยก็ปฏิบัติการด้วยการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยการจับกุมและตั้งข้อหาดำเนินคดี จนเกิดคำถามไปทั่วว่า เป็นการใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมหรือไม่ 

จะเห็นได้ว่า แม้ว่ารัฐบาลอ้างเหตุผลต่างๆ นาๆ เพื่อผลักดันให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ก็มักเป็นประเด็นทางเทคนิค ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังคงมีข้อถกเถียงและโต้แย้งได้ทุกประเด็น อย่างเรื่องถ่านหินสะอาดนั้นก็เป็นเพียงวาทกรรม เพราะนักวิชาการสิ่งแวดล้อมจำนวนไม่น้อยพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง มลพิษจากการใช้ถ่านหินยังคงมีอยู่เสมอ ไม่มีทางที่ขจัดให้หมดไปได้ โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจก ส่วนการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้นั้น หากเอาประเภทที่ลดมลพิษให้เหลือน้อยที่สุด ก็มีราคาแพงมากจนอาจไม่คุ้มทุน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้ว การผลักดันให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีเหตุผลอะไรที่อยู่เบื้องหลังกันแน่ เพราะในยุคศตวรรษที่ 21 นั้น ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ล้าสมัยไปแล้ว และอารยประเทศทั้งหลายต่างก็มีแนวโน้มการลด ละ เลิก การใช้ถ่านหินลงไปตามลำดับ

ในปัจจุบันและอนาคต ทิศทางของการใช้พลังงานของอารยประเทศคือ การใช้พลังงานสะอาดที่ปราศจากมลพิษ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะผลิตพลังงานสะอาดโดยมีความคุ้มค่าและเพียงพอกับความต้องการใช้พลังงานได้ และเมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งของการพัฒนาเทคโนโลยีของศตวรรษที่ 21 แล้ว ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีเทคโนโลยีผลิตพลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และมีเสถียรภาพสูงกว่าปัจจุบันหลายเท่า

ร่องรอยที่ชัดเจนของคำตอบที่ว่า ทำไมรัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจึงผลักดันให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินคือ การลงทุนนับหมื่นล้านบาทในเหมืองถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในประเทศอินโดนีเซีย ดังนั้นหากประเทศไทยไม่ใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า ย่อมมีผลกระทบต่อธุรกิจเหมืองถ่านหินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งอาจทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตประสบกับการขาดทุนจำนวนมหาศาล และคณะรัฐมนตรีประยุทธ์ก็ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อการตัดสินใจอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปลงทุน เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ด้วย

อันที่จริง ความผิดพลาดเกิดขึ้นตั้งแต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตตัดสินใจไปลงทุนธุรกิจเหมืองถ่านหินแล้ว ผมคิดว่ากลุ่มคนที่เกี่ยวข้องคงจะมีการประเมินสถานการณ์การใช้ถ่านหินผิดพลาด โดยถูกมายาภาพของราคาถ่านหินในช่วงนั้นบังตา ประกอบกับการขาดวิสัยทัศน์ในการมองอนาคตของการใช้แหล่งพลังงาน จึงทำให้ประเมินว่าโลกจะมีการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น ผมคาดว่าพวกเขาอาจนำการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนมาเป็นตัวแปรในการตัดสินใจด้วย และประเมินว่าประเทศจีนคงใช้ถ่านหินในพลังขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่กลายเป็นว่า พวกเขาประเมินผิดอย่างมหันต์ เพราะในปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ผู้นำประเทศจีนมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของโลกกว่าที่พวกเขาคาดคิด ดังใน ค.ศ.2015ประเทศจีนประกาศยกเลิกแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 85 แห่ง และวางแผนพัฒนานวตกรรมที่สร้างพลังงานสะอาดขึ้นมาแทน เพียงเท่านี้ก็เป็นการดับอนาคตของถ่านหินแล้ว วิสัยทัศน์ที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมโลกเป็นหลักของผู้นำจีนคงจะเหนือความคาดหมายของผู้กำนดนโยบายพลังงานของประเทศไทยในเวลานั้นเป็นแน่

เมื่อประเมินสถานการณ์ผิด การตัดสินใจก็ผิดตามไปด้วย และยิ่งผิดหนักไปอีกหากยังยืนกรานตัดสินใจแบบเดิม ทั้งที่มีข้อมูลใหม่ปรากฎขึ้นอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม การเพิ่มความผูกพันต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดในอดีต และยึดติดกับความคิดที่ล้าหลังเช่นนี้ย่อมสร้างความเสียหายแก่ประเทศเหลือคณานับ ทั้งเวลา งบประมาณของแผ่นดิน ทรัพยากรอื่นๆ และยังสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งทางสังคม อันจะกลายเป็นมรดกบาปให้คนรุ่นหลังต้องตามแก้ไขอย่างไม่จบสิ้น 

การเปลี่ยนแปลงการตัดสินในย่อมยังไม่สายจนเกินไป ส่วนไหนที่ผิดพลาดและสูญเสียไปแล้วก็ปล่อยให้มันเป็นไปและผู้ตัดสินใจก็ต้องรับผิดชอบกับผลที่ตามมา ฝากนายกฯ ให้ระลึกถึงท่อนหนึ่งเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” ว่า “จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด” ขอให้ท่องเอาไว้เสมอเพื่อเตือนใจตนเอง


 

ที่มา: https://mgronline.com/daily/detail/9600000123531

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net