ยูนิเซฟชูโลกดิจิทัลที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ร้องให้เด็กขาดโอกาสเข้าถึงเน็ตมากขึ้น

รายงานฉบับใหม่ของยูนิเซฟชี้ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล พร้อมเจาะลึกผลกระทบของอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ที่มีต่อความปลอดภัยและความอยู่ดีมีสุขของเด็ก

11 ธ.ค. 2560 องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย รายงานว่า รายงานฉบับใหม่ของยูนิเซฟซึ่งเผยแพร่วันนี้ ชี้ให้เห็นว่าแม้มีเด็กจำนวนมหาศาลกำลังเข้าสู่โลกออนไลน์ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก แต่กลับมีความพยายามเพียงน้อยนิดที่จะปกป้องเด็กจากพิษภัยในโลกดิจิทัลและเพิ่มการเข้าถึงเนื้อหาออนไลน์ที่ปลอดภัย

รายงานสภาวะเด็กโลก 2560: เด็กในโลกดิจิทัล (The State of the World’s Children 2017: Children in a digital world) คือ รายงานประจำปีฉบับพิเศษของยูนิเซฟที่ได้นำเสนอมุมมองอย่างครอบคลุมเป็นครั้งแรกถึงผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อชีวิตและโอกาสของเด็กในลักษณะต่างๆ ทั้งในแง่อันตรายและโอกาสที่ได้รับ ทั้งยังชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลและภาคเอกชนของแต่ละประเทศไม่สามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เด็กต้องเผชิญกับความเสี่ยงและอันตรายรูปแบบใหม่ๆ อีกทั้งยังทอดทิ้งเด็กขาดโอกาสหลายล้านคนไว้ข้างหลัง

โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ทุกวันนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของพวกเรา ในประเทศไทย เด็กและเยาวชนในประเทศไทยเองก็ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีทั้งประโยชน์และโทษ เราต้องเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุดและปกป้องเด็กจากภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ เราต้องส่งเสริมให้เด็กๆ มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างปลอดภัย”

องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย รายงานด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ยูนิเซฟได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนอายุ 15-19 ปี จำนวน 1,500 คนในประเทศไทยผ่านเครือข่ายยูรีพอร์ต ซึ่งพบว่า เด็กและเยาวชน 2 ใน 3 บอกว่าพวกเขาเรียนรู้การใช้อินเทอร์เนตด้วยตนเองหรือไม่ก็เรียนรู้จากเพื่อนหรือพี่น้อง มีเพียงร้อยละ 7 ของเยาวชนเท่านั้นที่บอกว่าพวกเขาเรียนรู้จากพ่อแม่ผู้ปกครอง

รายงานสภาวะเด็กโลกได้ระบุถึงประโยชน์ที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีต่อเด็กที่ขาดโอกาสและเด็กที่เติบโตท่ามกลางความแร้นแค้นหรือได้รับผลกระทบในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเสริมสร้างทักษะการทำงานในสถานที่ที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการให้พื้นที่ในการเชื่อมต่อและสื่อสารความคิดเห็นของเด็กเหล่านี้

อย่างไรก็ดี รายงานแสดงให้เห็นว่าเด็กหลายล้านคนถูกละเลย โดยประมาณ 1 ใน 3 ของเยาวชนทั่วโลก (346 ล้านคน) ยังเข้าไม่ถึงโลกออนไลน์ ส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงยิ่งขึ้น และลดทอนความสามารถของเด็กในการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโต

นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังระบุด้วยว่าอินเทอร์เน็ตเพิ่มความเสี่ยงต่อภัยต่างๆ ให้กับเด็กได้อย่างไร ซึ่งรวมถึงการนำข้อมูลส่วนตัวของเด็กไปใช้ในทางที่ผิด การเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นอันตราย และการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ นอกจากนี้ ความแพร่หลายของอุปกรณ์มือถือทำให้เด็กจำนวนมากเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างไร้การควบคุมดูแลและอาจเสี่ยงอันตรายยิ่งขึ้น  พร้อมชี้ว่าเครือข่ายดิจิทัลทั้งหลาย เช่น ดาร์คเว็บ (Dark Web) และคริปโตเคอเรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัล ล้วนมีส่วนทำให้เกิดการแสวงประโยชน์และการข่มเหงในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งรวมถึงการค้ามนุษย์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กแบบ ‘ให้บริการตามสั่ง’ (Made to order) ทางออนไลน์

องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ระบุต่อว่า รายงานได้แสดงให้เห็นข้อมูล ณ ปัจจุบันพร้อมบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็ก ตลอดจนผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อความอยู่ดีมีสุขของเด็ก โดยสำรวจถึงประเด็นที่ถกเถียงกันเกี่ยวกับการ “เสพติด” ดิจิทัล และผลที่อาจเกิดขึ้นของเวลาที่ใช้บนหน้าจอต่อพัฒนาการทางสมอง

ข้อมูลเพิ่มเติมจากรายงาน มีดังนี้

  • คนหนุ่มสาวเป็นกลุ่มวัยที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากที่สุด โดยร้อยละ 71 ทั่วโลกเข้าถึงโลกออนไลน์ เปรียบเทียบกับร้อยละ 48 ของประชากรทั้งหมด
  • เยาวชนชาวแอฟริกามีการเชื่อมต่อน้อยที่สุด โดยประมาณ 3 ใน 5 คนเข้าไม่ถึงโลกออนไลน์ เปรียบเทียบกับเพียง 1 ใน 25 คนในยุโรป
  • ประมาณร้อยละ 56 ของเว็บไซต์ทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ  และยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถหาเนื้อหาที่พวกเขาเข้าใจได้ หรือมีความเกี่ยวข้องกับพวกเขาในเชิงวัฒนธรรม
  • มากกว่า 9 ใน 10 ของเว็บไซต์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กซึ่งถูกค้นพบทั่วโลก มีเซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ รายงานชี้ว่า หนทางเดียวที่จะทำให้เด็กมีความเท่าเทียมทางดิจิทัล ตลอดจนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นและปลอดภัยยิ่งขึ้น คือการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน องค์กรเพื่อเด็ก ชุมชนในแวดวงการศึกษา ครอบครัว และตัวเด็กเอง  โดยระบุข้อเสนอแนะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการกำหนดนโยบาย และเพิ่มความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจเพื่อยังประโยชน์ให้แก่เด็ก ดังนี้ 

  • ช่วยให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่มีคุณภาพสูงในราคาไม่แพง
  • คุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ เช่น การล่วงละเมิด การแสวงประโยชน์ การค้ามนุษย์ การกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ และการเปิดรับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
  • ปกป้องความเป็นส่วนตัวและอัตลักษณ์ของเด็กบนโลกออนไลน์
  • สอนทักษะการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล เพื่อให้เด็กได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร มีส่วนร่วม และมีความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต
  • เพิ่มบทบาทให้แก่ภาคเอกชนในการส่งเสริมมาตรฐานทางจริยธรรมและการปฏิบัติที่ปกป้องและเป็นประโยชน์ต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต
  • กำหนดนโยบายดิจิทัลโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง

ในส่วนของประเทศไทย ยูนิเซฟได้ร่วมมือกับรัฐบาลและพันธมิตรอื่นๆ เพื่อปกป้องเด็กจากภัยออนไลน์ โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ นอกจากนี้ ยูนิเซฟยังร่วมมือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จัดทำคู่มือพ่อแม่ยุคดิจิทัล เข้าใจลูก เข้าใจโลกไซเบอร์ เพื่อให้พ่อแม่สามารถให้คำแนะนำแก่ลูกในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท