Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

งานวิจัยเรื่อง “แนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า (2556-2576)” ของพระมหาหรรษา ธัมมหาโส สรุปผลการวิจัยจากการค้นคว้าเอกสาร สัมภาษณ์ ประชุมกลุ่มย่อย และการจัดสัมมนาในเวทีต่างๆ ว่า บทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองที่พึงประสงค์ มี 6 บทบาทหลักๆ คือ

1. บทบาทในฐานะวิศวกรจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี

2. บทบาทพระสงฆ์กับการชี้แนะและชี้นำทางการเมือง

3. บทบาทในการพัฒนาพลเมืองของรัฐตามระบอบประชาธิปไตย

4. บทบาทในการใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองและนโยบายแห่งรัฐ

5. บทบาทในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความต้องการทางการเมือง และ

6. บทบาทในการใช้สิทธิเลือกตั้งนักการเมือง

ผู้วิจัยให้เหตุผลสนับสนุนบทบาทแรกว่า ในขณะที่ชุมชน และสังคมกำลังเผชิญหน้ากับความแตกแยกและแบ่งฝ่ายอย่างร้าวลึกในช่วง 10 กว่าปี บทบาทที่ถือได้ว่าเป็นภารกิจเร่งด่วนของของพระสงฆ์คือการเข้าไปหน้าที่ “วิศวกรสันติภาพ” เพื่อเสริมสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยตามนโยบายของรัฐบาล และข้อเสนอแนะ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติที่ว่า “บุคลากรทางศาสนาควรเพิ่มบทบาทในการลดความแตกแยก ส่งเสริมสันติภาพ และแก้ไขความขัดแย้งในสังคมโดยสันติวิธี” ฉะนั้น “ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูหลักศีลธรรมและจริยธรรม และสนับสนุนให้สถาบันศาสนาเข้ามามีบทบาทในการลดความขัดแย้ง และยุติการใช้ความรุนแรง” โดยการเปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์เข้าไปเป็นผู้นำกระบวนการกลุ่มเปิดเวทีพูดคุยเพราะคุณสมบัติเด่นของพระสงฆ์คือ “การเป็นนักฟังที่ดี” (Mindful Listening) เพราะดำรงความเป็นกลางระหว่างผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในกลุ่มต่างๆ

ด้วยความเคารพนะครับ ผมไม่แน่ใจว่าพระสงฆ์กลุ่มไหนในไทยที่จะมีศักยภาพเป็น “วิศวกรสันติภาพ” ได้ เพราะในสภาวะที่สังคมเกิดความขัดแย้งในเชิงความคิดและอุดมการณ์ลึกซึ้งมากขนาดนี้ สถาบันสงฆ์ของรัฐเองก็เป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมอยู่แล้ว ไม่ได้มีสถานะเป็นอิสระและมีความ “เป็นกลาง” ที่ทุกฝ่ายวางใจได้ อีกทั้งพระที่มีชื่อเสียง พระกลุ่มต่างๆ ก็เลือกข้างเลือก “สี” และออกมาชุมนุมทางการเมือง ไม่ต่างจากฆราวาส  

ส่วนที่ว่าคุณสมบัติเด่นของพระสงฆ์คือ “การเป็นนักฟังที่ดี” นั้น ดูจะหาได้ยาก เพราะไม่บ่อยนักที่เราจะพบพระที่มีจิตใจเปิดกว้างและเข้าใจความซับซ้อนของสังคมประชาธิปไตย เท่าที่เห็นพระมักจะถนัดเทศนาสอนคนอื่นมากกว่าจะเปิดกว้างรับฟัง ยิ่งพระที่เทศน์เก่ง พระเซเลบ ยิ่งแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างไม่ยึดหรือยืนยัน “ความขอบธรรม” ตามระบอบประชาธิปไตยเลย ซ้ำยังแสดงความเห็นสนับสนุนรัฐประหารอีกต่างหาก

บทบาทข้อที่ 2 และ 3 สะท้อนว่าพระไทยไม่เข้าใจสถานะและบทบาทของตนเองในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพราะในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) นั้น ถือว่ารัฐเป็น “รัฐโลกวิสัย” (secular state) ที่เป็นกลางทางศาสนา มีหน้าที่รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคในการนับถือและไม่นับถือศาสนาเท่านั้น ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ได้จริงต้องแยกศาสนจักรกับรัฐเป็นอิสระจากกัน และแยกการเมืองจากศาสนา

ดังนั้น พระสงฆ์จะอ้างประเพณีในอดีตในที่พูดถึงในงานวิจัยว่า สมัยราชาธิปไตยพระเคยมีบทบาทเป็นที่ปรึกษากษัตริย์ ปัจจุบันพระก็ควรมีบทบาทชี้แนะชี้นำทางการเมืองแบบที่เคยทำมาแต่อดีต อ้างแบบนี้ไม่ได้แล้วครับ เพราะศีลธรรมทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยคือ “ศีลธรรมโลกวิสัย” (secular morality) ไม่ใช่ศีลธรรมศาสนา (religious morality) พระจะใช้ศีลธรรมศาสนาไปชี้แนะชี้นำทางการเมืองและสร้างพลเมืองดีในสังคมประชาธิปไตยย่อม “ไม่เวิร์ค” อีกแล้ว

เนื่องจากสังคมประชาธิปไตยถือว่า ศีลธรรมศาสนาเป็นเรื่องของ “ความเชื่อส่วนบุคคล” แต่ศีลธรรมโลกวิสัยเป็นเรื่องหลักการสาธารณะ เมื่อพระนำศีลธรรมศาสนามาชี้แนะชี้นำทางการเมือง เช่นอ้างธรรมาธิปไตย เผด็จการโดยธรรม ฯลฯ ผลก็คือเป็นการลดทอนคุณค่าของประชาธิปไตย หรือคุณค่าหลักการสาธารณะอื่นๆ เช่นหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในตัวมันเอง เพราะในที่สุดแล้วการชี้นำทางศีลธรรมของพระก็มักไปเน้นที่ความดีนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ และเป็นเรื่องความเชื่อเรื่อง “คนดี” เหนือหลักการ และเป็นการออก “ใบอนุญาตทางศีลธรรม” ให้ “คนดี” (?) สามารถละเมิดหลัก “ความชอบธรรม” ตามระบอบประชาธิปไตยได้เสมอไป

ดังข้อเท็จจริงที่เราเห็นอยู่แล้วว่า ความขัดแย้งทางการเมืองกว่าสิบปีมานี้ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการอ้างศีลธรรม ความดี คนดีในกรอบคิดแบบศาสนามาชี้นำในทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั่นเอง ฉะนั้น การที่พระไทยยังเชื่อว่าตนเอง “ควร” มีบทบาทชี้แนะชี้นำทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตย จึงเป็นความเชื่อที่ขัดหลักการของรัฐโลกวิสัย แสดงให้เห็นว่าพระไทยไม่ได้สรุปบทเรียนอะไรเลยว่า การที่ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างผิดที่ผิดทางมาตลอดนั้น มันคือการซ้ำเติมปัญหาให้ยุ่งยากและรุนแรงมากขึ้นเสมอมา

ทางออกเรื่องนี้ควรจะเป็นว่า รัฐต้องยืนยันหลักการของรัฐโลกวิสัย เพื่อแยกศาสนจักรจากรัฐ ยกเลิกการสอนศีลธรรมศาสนาในโรงเรียน เน้นการสอนศีลธรรมโลกวิสัยที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแทนการอสนศีลธรรมศาสนาในโรงเรียนที่ผูกโยงอยู่กับการเชิดชูอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม

ส่วนพระไทยควรจะเรียนรู้ว่า เมื่อสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ถือว่า เรื่องศาสนาเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลซึ่งรับรองโดยหลักสิทธิมนุษยชน และศีลธรรมศาสนาเป็นศีลธรรมส่วนบุคคล (individual morality) พระจึงไม่ควรยัดเยียดศีลธรรมศาสนาให้เป็น “ศีลธรรมทางสังคม” (social morality) ไม่เช่นนั้นพระเองนั่นแหละที่จะเป็นฝ่ายที่ “ไม่มีศีลธรรมทางสังคม” เสียเอง คือเป็นฝายที่ไม่เคารพเสรีภาพทางศาสนาและสิทธิมนุษยชนเสียเอง เมื่อพยายามทำในสิ่งที่ขัดหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจะเป็นการช่วยสร้าง “พลเมืองดี” ในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร  

สำหรับข้อ 4 “บทบาทในการใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองและนโยบายแห่งรัฐ” นั้น ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งพระย่อมมีสิทธิดังกล่าวนี้อยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าพระใช้หลักการอะไรในการวิจารณ์ ไม่ใช่เอาแต่อ้างศีลธรรมมาวิจารณ์นักการเมืองที่ตรวจสอบได้ แต่ขณะเดียวกันก็อ้างศีลธรรมสดุดีอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ ถ้าเป็นเช่นนี้พระก็ไม่มีความชอบธรรมอะไรในการอ้างศีลธรรม เพราะกำลังอ้างศีลธรรมแบบสองมาตรฐานหรือไร้มาตรฐาน

จริงๆ แล้วการอ้างศีลธรรมทางศาสนาในทางการเมืองก็อ้างได้ แต่ต้องอ้างบนหลักการที่ว่าต้องยึดหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นตัวตั้ง แล้วตีความหลักศีลธรรมสนับสนุน ไม่ใช่ยกศีลธรรมศาสนาสูงส่งกว่า แล้วก็อ้างอย่างสองมาตรฐานดังที่เป็นมายาวนาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดอย่างถึงที่สุด สถานะของนักบวชในโครงสร้างสถาบันศาสนาของรัฐ ก็ไม่มีความชอบธรรมในการวิจารณ์ทางการเมืองดอกครับ เพราะโครงสร้างที่เป็นอยู่ขัดกับหลักการของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เป็นรัฐโลกวิสัยอยู่แล้ว นักบวชเองจึงมีสถานะเป็นอภิสิทธิชนเหนือหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยอยู่แล้ว ถ้าแยกศาสนาจากรัฐ องค์กรสงฆ์เป็นเอกชน เมื่อนั้นจึงจะเป็นไปได้ที่นักบวชจะมี “ความชอบธรรม” ในการวิจารณ์ทางการเมือง

ส่วนเรื่องพระควรมีสิทธิเลือกตั้งนั้นผมเห็นด้วย แต่ก็ไม่เคยเห็นพระเรียกร้องสิทธินี้ให้กับตนเองจริงจังอะไร ที่เห็นเรียกร้องจริงจังคือ เรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็น “ศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้เวทีประชาธิปไตยเพื่อเป้าหมายที่ขัดหลักการพื้นฐานของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่รัฐต้องเป็นกลาง รักษาเสรีภาพ และความเสมอภาคทางศาสนา การที่พระออกมาเรียกร้องเช่นนี้ ย่อมเป็นการถ่วงการพัฒนาประชาธิปไตยให้ล้าหลังเสมอไป

สุดท้ายผู้วิจัยสรุปว่า แนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับสิทธิการเลือกตั้งในอนาคตขึ้นอยู่ตัวแปร 3 ประการ คือ (1) การดำเนินนโยบายของรัฐต่อพระพุทธศาสนาที่ขาดความเข้าใจและไม่สนับสนุนพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมไทยจะนับถือพระพุทธศาสนาก็ตาม (2) การขาดการตระหนักรู้ของนักการเมืองต่อชาตากรรมของพระพุทธศาสนาทั้งในเชิงพฤตินัยและนิตินัย (3) การดำเนินนโยบายของศาสนิกและศาสนาอื่นๆ ที่กระทบต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนหรือการไม่สามารถที่ป้องกันมิให้ศาสนาหรือศาสนิกของศาสนาอื่นๆ ทำร้ายหรือกระทำการณ์ที่บั่นทอนพระพุทธศาสนาในลักษณะต่างๆ

ข้อสรุปนี้ สะท้อนให้เห็นว่า พระยังมองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาด้วย “จิตสำนึก” และ “มาตรฐานแบบยุคเก่า” คือยังยึดความคิดที่ว่า รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่มีหน้าที่อุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาแบบยุคเก่า แล้วจึงอยากได้ “สิทธิเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นสิทธิตามกรอบคิดสมัยใหม่เพื่อปกป้องจิตสำนึกและมาตรฐานแบบยุคเก่า

นี่คือความขัดแย้งในตัวเองในวิธีคิดของพระไทย เพราะกำลังเรียกร้องสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อเป้าหมายที่ขัดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ปกครองด้วยหลักการโลกวิสัย ไม่ใช่หลักการทางศาสนาที่ถือว่าผู้ปกครองเป็นพระพุทธเจ้าอยู่หัว เป็นพระโพธิสัตว์ หรือสมมติเทพที่มีหน้าที่อุปถัมภ์ศาสนาแบบยุคเก่า

นอกจากนี้ยังสะท้อนทัศนคติที่มองศาสนาอื่นเป็น “ภัย” ต่อศาสนาตัวเอง ซึ่งเป็นทัศนคติล้าหลัง ยิ่งหวังให้รัฐมาคุ้มครองศาสนาตนเองจากศาสนาอื่น ทั้งๆ ที่อ้างว่าคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งสะท้อนความกลัวที่ไร้เหตุผล และเป็นความกลัวที่ไม่เข้าใจหน้าที่ความเป็นกลางทางศาสนาของรัฐ

งานวิจัยนี้จึงไม่ได้สะท้อนแนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองในอนาคตที่ชวนให้มีความหวัง แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นปัญหาของพระไทยในการเข้าใจสถานะ ตำแหน่งแห่งที่ และบทบาทของตนเองในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ สะท้อนความไม่สมจริงในการประเมินศักยภาพของตนเอง รวมๆ แล้วก็คือสะท้อนความสับสน ผิดที่ผิดทางทั้งเรื่องความคิด สถานภาพ และบทบาทของพระสงฆ์ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net