อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: ความเปราะบางของผู้คน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหนกัน

หากพิจารณาปัญหาทางสังคมที่กำลังทวีสูงมากขึ้นในปัจจุบันนี้ จะพบว่าเราต่างมีโอกาสที่จะเผชิญปัญหาของสังคมได้ทุกคน ตั้งแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เรื่อยไปจนถึงในระดับของปัญหาสังคมเชิงโครงสร้าง

การปะทะกันทางอารมณ์เกิดขึ้นในทุกมิติของชีวิต สถิติการหย่าร้างที่สูงมากขึ้นจนน่าเป็นห่วงนั้น เกิดขึ้นเพราะต่างฝ่ายต่างทนอารมณ์ของอีกฝ่ายไม่ได้ไม่ว่าจะอ้างด้วยเหตผลประการใด

ปัญหาการหย่าร้างนี้ไม่ได้มีผลกับคู่สามีภรรยาที่เลิกรากันไปเท่านั้น หากแต่ตามติดมาด้วยความยากลำบากในการเลี้ยงลูกตามลำพังของแม่ (แม่เลี้ยงเดี่ยวในสังคมไทยมีมากกว่าพ่อเลี้ยงเดี่ยวมาก ซึ่งมาจากวัฒนธรรมความเป็นแม่ของสังคมไทย ) และส่งผลต่อเนื่องไปยังโครงสร้างประชากรในอนาคต ก็มีสัดส่วนของเด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวแตกแยกมากกว่าจากครอบครัวปรกติ

กล่าวได้ว่า ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของสังคมไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เราจึงอยู่ในสังคมที่ทุกคนพร้อมจะระเบิดอารมณ์ของตนกระหน่ำไปสู่คนข้างเคียงและคนอื่นๆ ได้ง่ายดายมากขึ้น

ความตึงเครียดในสายสัมพันธ์ทางสังคม เป็นรากฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดสภาวะปัญหาทางสังคมเช่นนี้

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ทำให้การดำเนินชีวิตของเราขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนตัวเป็นหลัก นำมาซึ่งความสำนึกในศักยภาพของปัจเจกชน เมื่อประกอบเข้ากับความมืดบอดทางจินตนาการ ของกลุ่มชนชั้นนำไทยที่ควบคุมความเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่ ทำให้สังคมไทยไม่สามารถสร้าง “พื้นที่ของสังคม” ที่คนทุกคนรู้สึกว่ามีส่วนร่วมสร้างสรรค์ขึ้นมาได้

ระบบการศึกษาซึ่งใช้เวลาของเยาวชนไปมากกว่า 15 ปีก็ทำเพียงแค่ตอบสนองความมืดบอดทางจินตนาการนี้อย่างต่อเนื่องตลอดมา

เมื่อคนในสังคมไทยไม่สามารถรู้สึกได้ถึง “พื้นที่ของสังคม” ที่มีกฏเกณฑ์กลางอันไม่ควรล่วงละเมิด จึงทำให้การใช้ “ตัวตน” จึงเกิดอย่างเสรี ซึ่งจะก่อปัญหาขึ้นมาทันทีที่มีการปะทะของตัวตน

ตัวอย่างง่ายสุด ได้แก่ เสียงแตรในสังคมไทยที่แตกต่างไปจากสังคมอื่น กล่าวคือ เสียงแตรบนท้องถนนในสังคมไทยมีความหมายเป็นเสียงก่นด่าประนามว่าอีกฝ่ายหนึ่งนั้นผิด แทนที่จะเป็นเสียงบ่งบอกให้รู้ว่าให้ระมัดระวังกันหน่อยอย่างเช่นในสังคมอื่นๆ

เสียงแตรทำให้คนไทยรู้สึกเช่นนี้ ก็เพราะว่าเราไม่ได้คิด/รู้สึกว่าการสัญจร/คมนาคมบนท้องถนนนั้นเป็นพื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่ของสังคม แต่ในขณะเดียวกันกลับรู้สึกว่าเรา/การบังคับรถของเราคือ “ตัวตน” ของเรา เสียงแตรจึงส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกรุนแรงถึงการกระทำจากคนอื่นที่พุ่งตรงมายังตัวตนของเราทันที

การไร้ซึ่ง “พื้นที่ทางสังคม” จึงทำให้เรากลายเป็น “คนหมกมุ่นแต่ตนเอง” (Narcissus ผมไม่รู้ว่าจะแปลคำนี้อย่างไรให้เหมาะสมในที่นี้ ที่ใช้ๆ กันโดยทั่วไป ก็คือ หลงรักตัวเอง ) ไปโดยปริยาย

สภาวะที่คนในสังคมล้วนแล้วแต่ “หมกมุ่นแต่ตนเอง” เห็นได้ชัดเจนจากปรากฏการณ์ที่เกินลิมิตในชีวิตทุกระดับ เช่น การโอ้อวดถึงผลของการออกกำลังกายอย่างเวอร์ๆ การแสดงสถานะด้วยการบริโภค (นาฬิกาเรือนละหลายล้าน ฮา) การแสดงตัวอย่างไม่ตรงกับความจริงในสื่อออนไลน์ส่วนตัว ฯลฯ

ปราชญ์ทางจิตวิทยา( Sigmund Freud) เคยเขียนถึงการปะทะกันของความปรารถนาส่วนตัวของมนุษย์กับระเบียบในพื้นที่ทางสังคม (ในหนังสือเรื่อง Civilization and Its Discontents)

ท่านได้อธิบายไว้ทำนองว่าการปะทะนี้เกิดขึ้น เพราะความต้องการที่จะกระทำอะไรตามใจตนเอง ยังคงวางอยู่บนการรับรู้ว่ามีกฏเกณฑ์ของความศิวิไลซ์ (พื้นที่ทางสังคม) ที่สังคมสร้างขึ้น

แต่หากนำกรอบคิดนี้มามองสังคมไทย ก็จะพบความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เพราะคนที่ “หมกมุ่นแต่ตนเอง” ในสังคมไทยจะไม่รับรู้ถึงกฏเกณฑ์หรือพื้นที่ทางสังคมใดๆ ( Bad Boundary ) เพราะมันไม่มีอยู่อย่างในความรู้สึกของพวกเขา

ในเงื่อนไขที่สังคมไร้พื้นที่ทางสังคม และการขยายตัวอย่างมากของผู้คนที่ “หมกมุ่นแต่ตนเอง” ยิ่งทำให้ผู้คนเปราะบางมากขึ้น เพราะไม่มีอะไรคอยทำให้ผ่อนคลายความรู้สึกที่อยากตอบสนองต่ออารมณ์ส่วนตัว และไม่มีอะไรที่จะทำให้รู้สึกได้ว่าถึงจังหวะหรือถึงพื้นที่ที่ควรจะหยุดสิ่งที่ตนปรารถนาได้แล้ว

ผู้คนในสังคมไทยจึง “เปราะบาง” มากขึ้นมาก จึงไม่ต้องแปลกใจที่สถิติคนไทยเป็นโรคซึมเศร้าทวีมากขึ้น (ในกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่เติบโตมาพร้อมกับสภาวะที่สังคมไร้พื้นที่ทางสังคมทำให้พวกเขา “ หมกมุ่นแต่ตัวเอง” และเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นมาก ) และเกิดคดีที่มาจากการระเบิดของอารมณ์ดิบส่วนตัวมากขึ้น (ผมไม่รู้ว่าใครคิดคำว่า “หัวร้อน” ใช้กับคนที่ก่อเหตุจากอารมณ์นะครับ ผมว่าตรงกับความรู้สึกดีครับ)

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้คนในสังคมจะเปราะบางมากขึ้นเพราะไม่มี “พื้นที่ทางสังคม” ดำรงอยู่ แต่คนจำนวนมากในสังคมไทยก็ยังโหยหาพื้นที่ตรงกลางๆ ที่คนจะเข้ามามีส่วนสร้างสรรค์อยู่

การเกิดการ “ตื่น-พี่ตูน” แสดงให้เห็นว่า คนไทยจำนวนมากกว่ามาก อยากจะเห็น/อยากจะอยู่ ในสังคมที่มีคนทำอะไรที่มีความหมายให้แก่สังคม เพียงแต่ว่าพวกเขายังหาช่องทางไม่ได้ พี่ตูนจึงเข้ามาตอบสนองอย่างตรงกับความต้องการทางใจของพวกเขา

หากจะพูดให้ถึงที่สุด สังคมที่มีแต่ผู้คนที่เปราะบางเกิดขึ้นเพราะสังคมไทยทอดทิ้งความรู้ทางสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์ ทำให้สังคมความรู้ของไทยไม่สามารถตอบหรือเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมได้เลย

ถึงวันนี้ สังคมไทยต้องช่วยกันคิดกันให้มากขึ้นครับว่าเราจะสร้าง “พื้นที่ทางสังคม” ให้อยู่ในชีวิตประจำวันเราอย่างไร ไม่อย่างนั้นแล้ว เราก็คงต้องรอคอยเพื่อจะชื่นชมคนอย่างพี่ตูนต่อไปเท่านั้น  

 

ที่มา: www.bangkokbiznews.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท