Skip to main content
sharethis

ตอนที่สองประกอบด้วย 6 หัวข้อย่อย ทั้งการศึกษาคนใต้ย้ายถิ่นในแฟลต กทม., การหันหลังให้ประชาธิปไตยของชนชั้นกลางระดับบน, นิยามปฏิบัติการ กปปส.ความรุนแรงหรืออารยะขัดขืน, สำรวจและจัดประเภทมวลชน การดูเบามวลชนอนุรักษ์นิยมของกลุ่มเสรีนิยม, คำอธิบายของสามนักวิชาการ, การผลิตสินค้าการเมืองและป๊อปคัลเจอร์

15 ธ.ค. 2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานสัมมนาวิชาการสาธารณะในหัวข้อ “การเมืองคนดี”: ความคิด ปฏิบัติการ และอัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุน “ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย” โดยนำเสนอข้อมูลและข้อค้นพบจากโครงการวิจัย จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.


ในตอนนี้จะเป็นการสรุปประเด็นหัวข้อย่อยต่างๆ ของการวิจัย (คลิกที่หัวข้อเพื่ออ่านเฉพาะหัวข้อ) คือ
1.“คิดดี ทำดี”: อุดมการณ์และปัญญาชน “คนดี” จากขบวนการเสรีนิยมอันหลากหลายสู่ขบวนการอนุรักษ์นิยมเข้มข้น -กนกรัตน์ เลิศชูสกุล
2. ธรรมาธรรมะสงคราม: ความรุนแรงเชิงศีลธรรม และอนารยะขัดขืน -ประจักษ์ ก้องกีรติ
3. การเติบโตและการหันหลังให้กับประชาธิปไตยของคนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทย -ธร ปิติดล และ ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์
4. “มวลชนคนดี”: คนชั้นกลางระดับบนและคนใต้ย้ายถิ่นในกรุงเทพฯ ความคิดและปฏิบัติการ “การเมืองคนดี” ของคนใต้ย้ายถิ่นในกรุงเทพฯ -ชลิตา บัณฑุวงศ์
5. การสร้างอุดมการณ์ผ่านกรอบโครงความคิดของปัญญาชน กปปส. -อุเชนทร์ เชียงเสน
6. “มวลมหาอาญาสิทธิ์”: อัตลักษณ์คนดีและความรุนแรง การร่วมสร้างอัตลักษณ์คนดีของมวลมหาประชาชน -อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล และ อาจินต์ ทองอยู่คง 


แฟ้มภาพ (22 ธ.ค. 2556)


กนกรัตน์ เลิศชูสกุล: “คิดดี ทำดี”: อุดมการณ์และปัญญาชน “คนดี” จากขบวนการเสรีนิยมอันหลากหลายสู่ขบวนการอนุรักษ์นิยมเข้มข้น
กนกรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า งานวิจัยนี้พยายามทำความเข้าใจและเติมเต็มงานวิจัยก่อนหน้านี้ โดยศึกษาทั้ง พธม.กับ กปปส. และเน้นศึกษาประชาชนธรรมดาไม่ใช่แกนนำ เพื่อให้เข้าใจพลวัตของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณ และเติมมิติในการเข้าใจในฐานะขบวนการของคนธรรมดา

ตอบโจทย์สองอย่าง มีพัฒนาการด้านอุดมการณ์อย่างไร และมีพลวัตอย่างไร
งานนี้มีการสัมภาษณ์ ใช้ oral history ของคนประมาณ 100 คน พยายามให้ครอบคลุม 10 จังหวัด 5 ภาค มีทั้งที่อยู่ในเมืองและชนบท มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจสังคมที่หลากหลาย และยังดูระดับความตื่นตัว-ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับขบวนการมากถึงน้อย โดยทุกคนนิยามตัวเองว่าได้เข้าร่วมช่วงใดช่วงหนึ่ง หรืออย่างน้อยมี moral support 

สิ่งที่พบก็คือ พวกเขาหลากหลายแตกต่างเชิงอุดมการณ์ งานนี้พยายามจัดประเภทแบบหยาบที่สุดที่หลายคนอาจไม่เห็นด้วย โดยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ 1.กลุ่มอนุรักษ์นิยมเหนียวแน่น พบว่ามีราว 70% 2.กลุ่มเสรีนิยมที่ยอมประนีประนอม พบว่ามีราว 20% 3.กลุ่มเสรีนิยมที่ถูกทำให้เป็นชายขอบ พบว่ามีราว 10%

พวกเขาแตกต่างกันอย่างไร

อนุรักษ์นิยมเหนียวแน่น-เสรีนิยมประนีประนอม-เสรีนิยมชายขอบ
กลุ่มที่หนึ่ง ตั้งแต่วัยเด็กเติบโตในครอบครัวค่อนข้างอนุรักษ์นิยม หลายคนเข้าร่วมขบวนการตั้งแต่การต่อต้านคอมมิวนิสต์ ต่อต้านเขมรยุคเขาพระวิหาร เติบโตมากับชุดประวัติศาสตร์ของสถาบันกษัตริย์ ทุกคนมี personal history ของตัวเองว่าตัวเองใกล้ชิดและยึดโยงกับประวัติศาสตร์สถาบันกษัตริย์อย่างไร หรือไม่ก็เคร่งศาสนาทั้งครอบครัว เช่น กลุ่มสันติอโศก และหลวงตามหาบัว ภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมหลากหลาย มีทั้งยากจนมากไปจนถึงร่ำรวยมาก เข้าร่วมขบวนการต่อต้านทักษิณผ่านการไกด์ของกลุ่มศาสนา และผ่านกรอบคิดอนุรักษ์นิยมที่ชูโดยแกนนำทั้งสองช่วง กลุ่มนี้เป็นมวลชนขนาดใหญ่

กลุ่มสองและสาม คนส่วนใหญ่ในสองกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดมีโอกาสเข้าร่วมขบวนการประชาธิปไตยทั้ง 14 ตุลา 6 ตุลา ถ้าโตไม่ทันก็เข้าร่วมกับพฤษภา 2535 สมัชชาคนจน และการรณรงค์รัฐธรรมนูญ 2540 แต่ที่จัดแยกกลุ่มกัน เพราะกลุ่มสองไม่ได้ยึดติดในอุดมการณ์แบบเดียว มีการสลับไปมาระหว่างเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม บางเรื่องเป็นเสรีนิยมเน้นความเท่าเทียม กระจายอำนาจ เช่น เรื่องเพศภาพ หลายเรื่องไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่เท่าเทียมกัน ในการร่วมขบวนการแม้ไม่เห็นด้วยกับหลายเรื่องของแกนนำแต่พวกเขาก็ประนีประนอมเพื่อให้ขบวนการได้รับชัยชนะ

กลุ่มที่สาม มีแบคกราวน์แบบเสรีนิยม แต่กลุ่มนี้ตั้งคำถามและไม่เห็นด้วยกับแกนนำ แสดงออกชัดเจนและถกเถียง ท้ายที่สุดก็มักจะถูกเบียดขับออกจากขบวนการหรือไม่ก็ถอนตัวเมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวมวลชนส่วนใหญ่ในขบวนการ

ดังนั้น เราไม่สามารถเหมารวมได้ว่าขบวนการนี้เป็นอนุรักษ์นิยมทั้งหมด มันมีความหลากหลายระดับหนึ่ง ช่วงแรกเห็นความหลากหลายชัด จากนั้นขบวนการก็เขยิบเข้าสู่อนุรักษ์นิยมมากขึ้น มีความขัดแย้งที่ทั้งสามกลุ่มต่อสู้กันปรากฏให้เห็น เช่นระหว่าง พธม.กับ ปชป. หรือภายใน พธม.เอง ฯลฯ ท้ายที่สุด กลุ่มที่หนึ่งกุมชัยชนะเหนือกลุ่มอื่นๆ จนกลายเป็นกลุ่มที่มีพลังในการครอบงำทั้งในเชิงกระบวนการและการตัดสินใจของกลุ่ม คำถามมีสามคำถามต่อปรากฏการณ์นี้ คือ ทำไมท้ายที่สุดขบวนการจึงถูกครอบงำโดยกลุ่มที่หนึ่ง เหตุใดผู้สนับสนุนกระบวนการบางกลุ่มจึงยอมประนีประนอม เหตุใดผู้ไม่ยอมตามจึงถูกเบียดขับออก

พธม.รวบรวมมวลชนอนุรักษ์นิยมที่กระจัดกระจายหลัง 6 ตุลา
การตอบคำถามที่หนึ่ง เรื่องแรก เราพบว่ามันเป็นความสำเร็จในการจัดตั้งกลุ่มฝ่ายขวาที่กระจัดกระจายให้มีความเข้มแข็ง พวกเขาจัดตั้งมวลชนชั้นกลางที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อนผ่านอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ที่ผ่านมารัฐไทยจัดตั้งมวลชนอนุรักษ์นิยมจริงจังก็เพียงช่วงปี 2516-2519 หลังจากนั้นไม่เห็น มวลชนเหล่านี้รู้สึกถูกทอดทิ้งโดยรัฐ กระจัดกระจาย ขณะที่กลุ่มศาสนาเป็นกลุ่มเดียวถูกระดมมาเป็นฐานมวลชนทางการเมืองอยู่บ้าง เช่น สันติอโศกหนุนพลังธรรม เป็นต้น พธม. เป็นขบวนการแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ที่จัดตั้งและระดมคนเหล่านี้ให้กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง จึงสามารถยึดกุมขบวนการได้ ทั้งที่ช่วงต้นพวกที่เป็นเสียงหลักคือกลุ่มเสรีนิยม เพราะมีประสบการณ์เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่แทนที่จะเลือกใช้แคมเปญแบบเสรีนิยม แต่กลับยอมใช้แคมเปญอนุรักษ์ไประดมมวลชนอนุรักษ์นิยมให้เข้าร่วม  ช่วงต้นกลุ่มอนุรักษ์นิยมนั้นก็เป็นเพียงมวลชนธรรมดาไม่มีบทบาทมากนัก แต่ พธม.ถึง กปปส. คนกลุ่มนี้ได้ติดอาวุธทางความคิด การจัดตั้งขบวน ฯลฯ และเพราะมีจำนวนมากกว่า มีเครือข่ายกว้างกว่า ทุ่มเทแรงกายแรงใจเหนียวแน่นทุกเวทีจึงสามารถยึดกุมขบวนการเป็นกลุ่มหลักได้

กปปส.รวบรวมคนชั้นกลางที่ไม่สนใจการเมือง
อีกยุทธศาสตร์ของแกนนำ กปปส. คือ การไปจัดตั้งคนชั้นกลางที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน และสำเร็จมาก คนที่ให้สัมภาษณ์ 70% ไม่แม้กระทั่งอ่านข่าวการเมืองมาก่อน เขาภูมิใจด้วยซ้ำที่ไม่เคยยุ่งกับการเมืองใดๆ เขาเชื่อว่านั่นเป็นสิ่งถูกต้อง แม้ผูกตัวเองกับประชาธิปัตย์และพลังธรรม อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้ไม่ได้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมทุกมิติ บางเรื่องก็เป็นเสรีนิยม เช่น เพศสภาพ, การอยู่ก่อนแต่ง รวมถึงประเด็นเศรษฐกิจ แกนนำเสรีนิยมยอมจะรณรงค์ระดับท้องถิ่นผ่านกรอบคิดชาตินิยม กษัตริย์นิยม ต่อต้านประชาธิปไตยเพื่อระดมมวลชน ผลที่ตามมาคือเมื่อสองกลุ่มจับมือกัน พลังอนุรักษ์นิยมจึงมีพลังทั้งในเชิงจำนวน ทรัพยากร แกนนำเสรีนิยมเองยอมใช้กรอบคิดอนุรักษ์ไปปลุกมวลชนอนุรักษ์แล้วสุดท้ายก็ถูกเบียดขับออกมาเสียเอง

คำถามสองและสามอาจตอบไม่หมด คำถามที่สามถามว่าทำไมแกนนำเสรีนิยมโดนเบียดขับออก จากที่สัมภาษณ์พวกเขาเป็นกลุ่มเอ็นจีโอ เคยร่วมขบวนการนิสิตนักศึกษา 14 ตุลา ร่วมขบวนในช่วงพฤษภา 2535 ช่วงต้นใช้ทักษะและบทบาททางการเมืองที่เคยมีระดมมวลชนต่อต้านระบอบทักษิณ แต่ส่วนใหญ่ประเมินพลังอนุรักษ์นิยมต่ำมาก พวกเขาคิดว่าน่าจะเป็นมวลชนมีประสิทธิภาพ พวกเขาไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์หลายอย่างของแกนนำส่วนกลาง แต่การลุกขึ้นท้าทายในแต่ละช่วงเวลาคนเหล่านี้พบกับการถูกประณาม ถูกด่าว่าว่าเป็นเสื้อแดง จำนวนหนึ่งก็หันไปสนับสนุนประชาธิปไตย เสื้อแดง หรือต่อต้านเผด็จการ
 

ประจักษ์: ธรรมาธรรมะสงคราม ความรุนแรงเชิงศีลธรรม และอนารยะขัดขืน
ประจักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ศึกษาความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวของ กปปส. กับมิติของความรุนแรง เพื่อตอบคำถามว่าการเคลื่อนไหวของ กปปส. ช่วงนั้นเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสันติวิธีหรือไม่ เข้าข่ายการเคลื่อนไหวเชิงอารยะขัดขืนหรือไม่ และสนใจมิติการต่อสู้เชิงวาทกรรมและกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรง เมื่อการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว กปปส. ทั้งแกนนำและมวลชนอธิบายความรุนแรงนั้นอย่างไร ทั้งในแง่ที่ตัวเองเป็นผู้ใช้และในฐานะที่ตัวเองตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง โดยใช้กรอบแนวคิดที่ใช้มี 3 กรอบ คือ แนวคิดพื้นที่ความรับผิดชอบทางศีลธรรม แนวคิดเรื่องความรุนแรงเชิงศีลธรรมและแนวคิดเรื่องอนารยะขัดขืน

การอธิบายว่าขบวนการ กปปส. นี้ เป็นขบวนการที่ต่อสู้เพื่ออะไรกันแน่และมีอุดมการณ์อะไรกำกับชี้นำ ตกลงเป็นประชาธิปไตยหรืออนุรักษ์นิยม เป็นรอยัลลิสต์ซึมหรือฟาสซิสต์ซึม ซึ่งพบว่าเราไม่สามารถจัดการเคลื่อนไหวของ กปปส. ไปลงกล่องอุดมการณ์อันใดอันหนึ่งได้แบบเป๊ะๆ ยิ่งศึกษาในรายละเอียด จากการศึกษาในภาคสนามทำให้รู้สึกว่าการเอากรอบอุดมการณ์หลักมาอธิบาย กปปส. นั้นอาจมีประโยชน์น้อย สิ่งที่พบคือขบวนการ กปปส. ถึงที่สุดเนื่องจากเป็นขบวนการขนาดใหญ่ มีการเข้าร่วมโดยกลุ่มคนที่มีชุดอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน จึงใช้กรอบที่ใช้เหมือนตอนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่ศึกษาขบวนการ 14 ตุลา 2516 ว่าความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้มันมาอยู่ร่วมกันได้อย่างไรในขบวนการขนาดใหญ่ ณ จุดนั้นทางประวัติศาสตร์และเพื่อต่อสู้เพื่อเป้าหมายทางการเมืองบางอย่าง

ความดีเป็นวาทกรรมที่ปรากฏพบมากที่สุดเมื่อศึกษาในเชิงคำพูด แถลงการณ์ การไหลเวียนของคำนี้จำนวนมาก ซึ่งเป็นคำที่หลวมและสามารถครอบคลุมความแตกต่างหลากเอาไว้ได้ ความหลวมดูเหมือนมันเป็นจุดอ่อน แต่จริงๆ แล้วในหลายขบวนการในการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ การมีชุดอุดมการณ์ที่หลวมกลับเป็นจุดแข็งในการที่จะทำให้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายสามารถรวมอยู่ด้วยกันในชุดอุดมการณ์นี้ได้

ความรุนแรงที่ไปกันได้กับศีลธรรม
กรอบใหญ่ของงานชิ้นนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าการเมืองแบบคนดี ซึ่งเป็นการเมืองที่มีแง่มุมทางศีลธรรมกำกับอยู่สูง จริงๆ แล้วไปด้วยกันได้กับการใช้ความรุนแรง โดยจะชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของ กปปส. ไม่ได้เข้าข่ายอารยะขัดขืนและสันติวิธี แต่เป็นความรุนแรงที่ผู้เคลื่อนไหวมองว่ามีความชอบธรรม เพราะว่าสำหรับพวกเขา ศีลธรรมกับความรุนแรงนั้นไม่ได้อยู่ตรงข้ามกัน เรามักมองว่าความรุนแรงเกิดขึ้นจากคนที่ไร้ศีลธรรม การใช้อารมณ์ชั่ววูบหรือความโกรธ แต่จริงๆ แล้วงานศึกษาจำนวนมากในระยะหลังกลับชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงกลับถูกกระตุ้นและให้ความหมายว่าใช้เพื่อปกป้องและรื้อฟื้นระบบศีลธรรมที่ถูกคุกคาม เช่น ความรุนแรงที่ใช้ปกป้องชาติ มาตุภูมิ หรือปกป้องสถาบันศักดิ์สิทธิอันเป็นที่เคารพ

“ความรุนแรงจึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากภาวะไร้ศีลธรรม ในทางตรงกันข้าม ศีลธรรมไม่ใช้กลไกยับยั้งความรุนแรงเสมอไป บางกรณีการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเคร่งครัด มองโลกเป็นขาวกับดำ แบ่งโลกเป็นคนดีกับคนเลว กลับผลักดันให้คนที่เข้าร่วมขบวนการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นในนามของความดี ในนามของความดีนี่เองกลับเป็นตัวอนุญาตให้ผู้เคลื่อนไหว ใช้ทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่ตนเองต้องการ รวมถึงความรุนแรงด้วยในบางเงื่อนไข”

ส่วนที่สองของงานวิจัยเป็นเรื่องรายละเอียดในส่วนบริบทและรูปแบบของความรุนแรง สิ่งที่พบคือความรุนแรงในช่วงวิกฤติเกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมวลชนกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก รวมทั้งความรุนแรงระหว่างกลุ่มมวลชนต่างอุดมการณ์ แต่อันนี้เป็นระดับรอง และรวมถึงความรุนแรงเหวี่ยงแหที่เกิดจากกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธ ตอนนั้นกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงมีหลายกลุ่ม ถามว่าทำไมมันถึงเกิดสภาวะแบบนั้นขึ้นได้ นั่นก็เพราะว่าสภาวะอนาธิปไตยบนท้องถนนที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของ กปปส. เองสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ความรุนแรงของคนต่างกลุ่มเกิดขึ้นได้ เพราะสังคมเกิดทางตัน บวกกับความล้มเหลวของสถาบันและองค์กรทางการเมืองในการทำหน้าที่เป็นกลไกแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างสันติ ทุกองค์กรหยุดทำหน้าที่หมดและใช้องค์กรของตนเองไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้ระบบรัฐล้มเหลว

โซเชียลมูฟเม้นต์แรกที่ขัดขวางการเลือกตั้ง
ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของขบวนการ กปปส.เลือกใช้วิธีการแบบเผชิญหน้า แตกหักไม่เจรจา มีส่วนสำคัญให้ความขัดแย้งบานปลายเป็นความรุนแรง เมื่อเปรียบเทียบในทางประวัติศาสตร์แล้ว พบว่าขบวนการ กปปส. เป็นขบวนการประชาชน เป็นโซเชียลมูฟเม้นต์ขบวนการแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มุ่งขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งโดยตรง คือ ไม่เพียงต่อต้านรัฐบาลหรือนโยบาย แต่มุ่งโจมตีไปที่ตัวสถาบันพื้นฐานของประชาธิปไตยโดยตรง ไปตั้งคำถามถึงขั้นที่ว่าคนเราควรเท่ากันหรือไม่ ควรมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงหรือไม่ และเมื่อคนเราไม่เท่ากันและเมื่อการเลือกตั้งเป็นบ่อเกิดของการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ชอบธรรม กปปส. จึงใช้ความรุนแรงไปหยุดยั้งตัวสถาบันพื้นฐานนี้ เราไม่เคยพบโซเชียลมูฟเม้นต์อันไหนที่เคลื่อนไหวโดยโจมตีสถาบันพื้นฐานประชาธิปไตยตรงนี้มาก่อน โดยมีมติเชิงอุดมการณ์ด้วย ตรงนี้จึงสำคัญเพราะหลังจากนี้หนทางข้างหน้าในการสร้างประชาธิปไตยมันไม่ง่าย เมื่อมีคนในสังคมจำนวนหนึ่งที่มีความเชื่อที่ไม่ได้เพียงต่อต้านนักการเมืองหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ต่อต้านคุณค่าพื้นฐาน ฉะนั้นวิกฤติประชาธิปไตยที่สะท้อนมาจากการเคลื่อนไหวของ กปปส. มันจึงเป็นวิกฤติที่ลึกซึ้ง

ในแง่สถิติพบว่า กปปส. ตกเป็นทั้งเหยื่อและผู้กระทำการของความรุนแรง ความรุนแรง 2 ก.พ. 2557 ที่การเลือกตั้งในที่สุดถูกทำให้เป็นโมฆะนั้น เมื่อเปรียบเทียบแล้วในทางสถิติเป็นการเลือกตั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่ไม่ใช่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากนักการเมือง หัวคะแนนยิงกันเอง หากเป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากขบวนการมวลชนที่เข้าไปขัดขวางและยุติการเลือกตั้ง เป็นมิติใหม่ในทางประวัติศาสตร์

ในส่วนที่สามของงานศึกษาอธิบายว่าศีลธรรมกับความรุนแรงมาอยู่คู่กันได้อย่างไร ความรุนแรงที่ กปปส.ใช้ ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลทางยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นความรุนแรงที่มีการให้ความหมายรองรับและมีมิติของศีลธรรมกำกับ ในแง่นี้จึงน่ากลัวกว่า เพราะว่าไม่ใช่ความรุนแรงแบบนักการเมืองยิงกันหรือจ้างไปยิงคนอื่นที่เป็นความรุนแรงที่ไม่มีมิติเชิงอุดมการณ์ คนกระทำก็ไม่ได้รู้สึกว่าความรุนแรงนั้นดี แต่ได้รับเงินมา แต่ความรุนแรงของขบวนการ กปปส. ในช่วงนั้นที่เกิดขึ้น เป็นความรุนแรงที่ผู้ใช้ให้ความหมายรองรับแล้วรู้สึกว่าเป็นความรุนแรงที่ชอบธรรม

“ขบวนการ กปปส. เชื่อว่ามาตรการที่เกิดจากฝ่ายตนนั้นถูกต้อง ชอบธรรม เพราะว่าใช้เพื่อกำจัดระบอบการเมืองและนักการเมืองที่ชั่วร้ายมากกว่า โดยมองว่าฝ่ายตรงข้ามกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง รัฐบาลที่เป็นทรราชและผู้สนับสนุน ฝ่ายตรงข้ามอยู่นอกพื้นที่ความรับผิดชอบทางศีลธรรมที่ตนเองจำเป็นต้องมีพันธะหน้าที่ทางศีลธรรมด้วย”

อย่างไรก็ตาม กปปส. มีคำอธิบายที่แตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อมวลชนของตนเองตกเป็นเหยื่อกับเวลาที่มวลชนฝ่ายตรงข้ามตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง

สงครามดี-ชั่ว ทำให้ไม่อาจประนีประนอม
นอกจากนี้ยังพบภาษาของสงครามจำนวนมากในการเคลื่อนไหว ผู้ชุมนุมแกนนำมองว่า การต่อสู้ครั้งนี้ ไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมืองธรรมดา แต่เป็นสงครามระหว่างฝ่ายธรรมะกับอธรรม จึงเป็นที่มาของตั้งชื่องานวิจัยว่า “ธรรมาธรรมะสงคราม” เพราะมีการมองว่าเป็นการเมืองแบบมิตรกับศัตรูที่อยู่ร่วมกันไม่ได้ ถ้าเราอยู่ เขาก็ต้องไป เป็นการเมืองที่ไม่มีพื้นที่ตรงกลาง หากจำได้ วันที่เลือกตั้งมีคนจำนวนมากที่จริงๆ แล้วอาจไม่ได้สังกัดอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายไหน แต่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งธรรมดากลับถูกโจมตีว่าเป็นคนเลว เพราะสโลแกนตอนนั้นของ กปปส. คือ “รักประชาธิปไตย ต้องไม่ไปเลือกตั้ง”

นัยทางการเมืองของวาทกรรมสงครามคนดีคนชั่ว เมื่อขับเน้นวาทกรรมนี้มากเข้ามันก็ได้แปรเปลี่ยนการต่อสู้ทางการเมืองให้กลายเป็นการต่อสู้ทางศีลธรรมซึ่งไม่สามารถประนีประนอมได้ ราวกับเป็นการต่อสู้เพื่อความเชื่อทางศาสนา และไปให้ความชอบธรรมกับการกระทำที่เป็นการละเมิดกฎหมายและมาตรการรุนแรงในนามของการสถาปนาการเมืองของคนดี แต่การสร้างอัตลักษ์ของ กปปส. ที่ตนมองว่าอัตลักษณ์คนดีเป็นอัตลักษณ์ที่ใหญ่ที่สุดที่คลุมไว้ ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างลอยๆ แต่ดำรงอยู่จากการสร้างขั้วตรงกันข้าม หรือ binary opposition ผ่านการกดคุณค่าของฝ่ายตรงกันข้ามให้อยู่ต่ำ ที่น่าสนใจคือวาทกรรมเหล่านี้ถูกถ่ายทอดและซึมซับในหมู่ผู้เคลื่อนไหวด้วย

จากการรวมรวมคำปราศรัยและข้อเขียนในช่วงนั้น การเคลื่อนไหว กปปส. แบ่งแยกขั้วตรงข้ามอย่างชัดเจน และที่สำคัญชุดวาทกรรมคนดีรวมหลายอย่างไว้มาก มีหลายมิติ ทั้งที่เป็นคนดีกว่าเพราะรักชาติรักแผ่นดินมากกว่า รักในหลวงมากกว่า เคร่งศีลธรรมมากกว่า เป็นพลเมืองดีแบบใสซื่อมือสะอาด สุจริตไม่คอร์รัปชัน เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง มีการเปรียบเทียบในแง่การศึกษาสูงกว่า เป็นผู้ดีกว่า มีคุณภาพมากกว่า ไม่ตกเป็นทาสของนักการเมือง ฯลฯ เรายังเห็นกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์สูงมากในภาษาของ กปปส. โดยเฉพาะแกนนำบางคน เช่น เรากำลังต่อสู้กับพวกอมนุษย์ พวกสัตว์นรก เป็นคำที่รุนแรงมาก เมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นกับฝ่ายตรงกันข้ามปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นการเยาะเย้ยถากถาง การแสดงความสะใจดีใจต่อความรุนแรง กรณีมือปืนป๊อปคอร์นเป็นกรณีที่ชัดเจน นอกจากให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงแล้วยังมีการทำความรุนแรงให้เป็นสินค้าด้วย ความรุนแรงถูกยกย่องเชิดชูอย่างเปิดเผยกระทั่งมีการผลิตสินค้าทางวัฒนธรรมออกมาจัดจำหน่าย นี่เป็นการยกขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งของความรุนแรง

การเคลื่อนไหว อนารยะขัดขืน
เรื่องอนารยะขัดขืนและการเมืองเรื่องความไม่เสมอภาค งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า กปปส. ไม่ได้ยึดมั่นตามแนวทางการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีและอารยะขัดขืน แต่มีลักษณะสอดคล้องกับการต่อสู้แบบอนารยะขัดขืนใน 2 มิติ คือ 1. ใช้ความรุนแรงเพื่อขัดขืนกฎหมาย ถ้าคุณเป็นอารยะขัดขืน คุณต้องใช้สันติวิธีเพื่อขัดขืนกฎหมาย 2. ปฏิเสธความความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ต้องการก้าวข้ามกระทั่งทำลายล้างประชาธิปไตยแบบตัวแทนไป ฉะนั้นใน 2 มิตินี้ การเคลื่อนไหวของ กปปส. จึงไม่เข้าข่ายอารยะขัดขืน แต่เป็นอนารยะขัดขืน เพราะว่าแทนที่จะมุ่งเปลี่ยนคู่ต่อสู้ให้เป็นมิตรและยอมรับระบอบประชาธิปไตย แต่ กปปส.มุ่งกำจัดและทำลายล้างคู่ต่อสู้รวมถึงระบอบประชาธิปไตย

“การเคลื่อนไหวของ กปปส. คือการเคลื่อนไหวแบบอนารยะขัดขืนภายใต้วาทกรรมรุนแรงเชิงศีลธรรม ปฏิเสธความชอบธรรมทั้งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และความชอบธรรมของการเลือกตั้งในฐานะกลไกขึ้นสู่อำนาจ ทั้งสังคมเกิดทางตัน บวกกับการไม่ทำหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะกองทัพในการรักษาและฟื้นฟูความสงบ คือพูดง่ายๆ ตอนนั้น กองทัพจงใจที่จะอยู่นิ่งเฉย ทำให้สภาวะอนาธิปไตยบนท้องถนนดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง และสภาวะอนาธิปไตยนี้ที่กองทัพเองมีส่วนทำให้มันเกิดขึ้นกลับกลายเป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมกับการเข้ามายึดอำนาจของกองทัพในนามของการรักษาความสงบ ซึ่งเป็นสภาวะที่กลุ่ม กปปส. จงใจสร้างให้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น วาทกรรมสงครามคนดีคนชั่ว ผมมองว่าทำให้สังคมไทยร้าวลึกและยังคงร้าวลึกมาจนถึงปัจจุบัน ยากที่จะมีจุดประนีประนอมได้ ถามว่าทำไมทหารทำอะไรหลายอย่างที่ก็เหมือนกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้ชุมนุม กปปส. ยังสนับสนุนอยู่ ผมคิดว่าเราเข้าใจได้ถ้ามองว่านี่มันคือสงครามที่ไม่มีพื้นที่ตรงกลางให้เลือกมันเป็นสงครามแบบขาวดำระหว่างคนดีกับคนชั่ว ฉะนั้นคุณก็ยังต้องสนับสนุนแม่ทัพฝ่ายตนเอง ตราบใดที่คุณยังจัดเขาว่าอยู่ในฝ่ายตนเองอยู่ เพราะมันมีฝ่ายที่ชั่วร้ายกว่าที่เป็นภัยคุกคาม”

ธร ปิติดล-ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์: การเติบโตและการหันหลังให้กับประชาธิปไตยของคนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทย
ธร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า โจทย์ของงานวิจัยดูสองเรื่องหลักคือ เส้นทางการเติบโตของกลุ่มคนชั้นกลางระดับบนโดยเฉพาะที่อยู่ในกรุงเทพฯ กับทำไมพวกเขาถึงหันหลังให้กับประชาธิปไตย โดยงานชิ้นนี้จะเป็นงานที่พยายามมองภาพกว้าง คือมองไปที่การเคลื่อนที่ของกลุ่มคนที่เป็นผู้สนับสนุน กปปส. ผ่านช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์หลาย 10 ปี เพื่ออธิบายว่าเขาได้กลายมาเป็นฐานสนับสนุน กปปส. ได้อย่างไร

ในภาพรวมความเข้าใจเรื่องคนชั้นกลางกับประชาธิปไตยไทยนั้นเคลื่อนที่ผ่านเส้นทางที่ค่อนข้างแปรผัน หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมีการมองว่าคนชั้นกลางเป็นพลังบวกของประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลังปี 2549 เป็นต้นมาภาพจำนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไป เรามีชนชั้นกลางระดับล่างเข้ามาเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองใหม่ ขณะที่กลุ่มคนชั้นกลางระดับบนกลายเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่ไม่เป็นบวกกับพัฒนาการทางประชาธิปไตย

การที่ชนชั้นกลางจะสนับสนุนประชาธิปไตยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละประเทศ ถ้ามีปัจจัยต่อไปนี้อยู่ในบริบทของประเทศหนึ่งๆ ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกลางกับประชาธิปไตยก็อาจจะไม่เป็นบวกเสมอไป เช่น ชนชั้นกลางจะหันหลังให้ประชาธิปไตยหากรู้สึกว่าต้องพึ่งพิงรัฐที่เป็นเผด็จการ หรือพอใจกับรัฐที่เป็นเผด็จการ หรือพวกเขาอาจจะไม่ได้ยึดตัวเองเป็นชนชั้นเดียวกัน หรืออาจจะโยงตัวเองกับชนชั้นที่สูงกว่า และพวกเขาอาจจะหวั่นไหวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนอาจกลายเป็นการสนับสนุนระบบเผด็จการ

ชนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จนถึงช่วงปี 2535 แม้ว่าการเติบโตของคนชั้นกลางระดับล่างจะมากกว่าก็ตาม แต่การเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางระดับบนนั้นมีนัยสำคัญคือ มีลักษณะของการถีบตัวออกจากชนชั้นกลางระดับล่างไกลมากขึ้น โดยมี 3 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ ปัจจัยด้านพื้นที่ ด้านการศึกษา และอาชีพ ซึ่งเป็นฐานการเติบโตของคนชั้นกลางระดับบน ในกรุงเทพฯ คนกลุ่มนี้ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2535 เป็นต้นมาช่องว่างระหว่างสองกลุ่มได้ขยับเข้าใกล้กันมากขึ้น โดยปัจจัยเรื่องการศึกษา และปัจจัยเรื่องพื้นที่ ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญอีกต่อไป มากไปกว่านั้นสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปและทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง จากเดิมการอยู่ในภาคเกษตรกรรมเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น แต่หลังจากปี 2535 การอยู่ภาคเกษตรกรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นกลางระดับล่างไล่ทันชนชั้นกลางระดับบน สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงของชนชั้นกลางระดับบน

นอกจากนี้พวกเขามองเส้นทางของตัวเองและการเติบโตของตัวเองในลักษณะปัจเจก คำตอบที่ได้มานี้เกิดจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้สัมภาษณ์จำนวน 15 คน

“เรื่องหนึ่งที่เราเถียงกันมากในโปรเจกต์นี้คือเรื่องชนชั้น ชนชั้นกลางระดับบนมองตัวเองเป็นชนชั้นและกำลังต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ส่วนตัวหลังจากที่ได้ไปสัมภาษณ์พบว่า การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางชนชั้น ไม่ใช่สิ่งที่อธิบายพวกเขาได้ดีเท่าไหร่ มันมีอะไรที่เราจะต้องควานหาไปมากกว่านั้น มากกว่ามองว่าพวกเขาเป็นชนชั้นที่ต่อสู้ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง เพราะเขามองตัวเองเป็นปัจเจกเป็นหลัก ผมพยายามหากรอบอธิบายและพบว่ามีกรอบหนึ่งที่จะพออธิบายได้คือ กรอบเรื่องมวลชน กล่าวภายใต้การเติบโตที่พวกเขาต่างแสวงหา พวกเขาเป็นปัจเจกที่ไม่ได้มีโครงสร้างอะไรยึดโยง ในช่วงเวลาเช่นนี้เองที่รัฐไทยหยิบยื่นบางอย่างให้ โครงสร้างที่ปลูกฝังให้พวกเขาโยงอยู่กับอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่ง มันเป็นโครงสร้างเดียวที่ยึดพวกเขาไว้ได้ อันนี้เป็นคำอธิบายเดียวกันกับการอธิบายว่า ทำไมคนในเยอรมนีถึงเคยสนับสนุนระบอบฟาสซิสต์ เพราะมันไม่มีโครงสร้างให้ยึด ในสภาพที่เศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว อัตลักษณ์บางอย่างถูกกดทับเอาไว้ พวกเขาพยายามหันไปหยิบโครงสร้างลักษณะนี้และยึดมันขึ้นมา”

การศึกษาพบว่า คนเหล่านี้มีประสบการณ์ทางการเมืองน้อยมาก โดยในช่วงก่อน กปปส. พวกเขาไมได้สนใจการเมืองมากนัก ในช่วงการพัฒนาตัวเองพวกเขาไม่ได้สนใจโครงสร้างสังคม ไม่ได้สนใจประเด็นทางการเมือง และช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่เขารับอุดมการณ์ของรัฐไทยเข้ามายึดไว้เป็นหลัก ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ทำให้พวกเขากลายเป็นมวลชนใต้ร่มพระบารมี โดยจะมองสังคมไทยเป็นโครงสร้างที่ชัดเจน บนสุดคือพระมหากษัตริย์ รองลงมาคือข้าราชการที่จงรักภักดี ฐานรากคือชาวบ้านที่สงบสุข ไม่ได้มีความต้องการมากมาย มีความพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ภาพการมองในลักษณะนี้เข้ากันได้ดีกับการมองแบบพุทธคือเห็นว่าต่างคนต่างเกิดมาโดยมีที่ทางของตัวเองในสังคม และคนเหล่านั้นควรจะมุ่งมั่นทำหน้าที่ของตัวเองเป็นหลัก ไม่ไปกระทบกระเทือนกับภาพรวมของสังคม

เมื่อได้สัมภาษณ์พวกเขาถึงเรื่องปัจจัยที่บั่นทอนอุดมการณ์หลักของพวกเขาก็พบว่าคำตอบคือ ทักษิณไม่จงรักภักดี นักการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ของตัวเอง และมีการคอร์รัปชันสูง และการเกิดขึ้นของนโยบายประชานิยมทำให้ชาวบ้านไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมีอีกต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้ตอบโจทย์ว่าปัจจัยที่ผลักดันให้คนชั้นกลางระดับบนออกมาเคลื่อนไหวกับ กปปส. จริงๆ แล้วเป็นปัจจัยทางอุดมการณ์
 

ชลิตา บัณฑุวงศ์: ความคิดและปฏิบัติการ ‘การเมืองคนดี’ ของคนใต้ย้ายถิ่นในกรุงเทพฯ
ชลิตา อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่าสนามของการศึกษาคือชุมชนแฟลตแห่งหนึ่งของการเคหะแห่งชาติ ตั้งอยู่ในเขตบางกะปิ รามคำแหง ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนคนใต้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ โดยผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนดังกล่าวเป็นกลุ่มคนที่มีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 จนกระทั่งเกิดการทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า คนที่เข้าชุมนุมกับ กปปส. ในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีแค่คนกรุงเทพฯ เพียงเท่านั้น แต่ว่ามีคนจากภาคใต้เข้ามาชุมนุมด้วย

สำหรับวัตถุประสงค์ของการวิจัยนั้นต้องการที่จะรู้ว่ามีเงื่อนไข หรือปัจจัยใดบ้างที่มีส่วนต่อความคิด และปฏิบัติการ “การเมืองคนดี” ของคนใต้กลุ่มดังกล่าว และผลของความคิด และปฏิบัติการดังกล่าวนั้นมีผลอย่างไรกับการเมืองไทย โดยงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ สังเกตการณ์ และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีในพื้นที่ศึกษา โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2558 ถึงต้นปี 2559

กลุ่มคนที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าห้องพักและเป็นคนทำงานมากกว่าที่จะเป็นนักศึกษา คนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มาไม่ต่ำกว่า 15 ปี มีบางส่วนที่ทำงานในหน่วยงานต่างๆ บางส่วนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ จากนั้นก็ทำงานและดำรงชีวิตในกรุงเทพฯ มาโดยตลอด บางส่วนมีอาชีพในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ เช่น ค้าขาย รับจ้างอิสระ โดยกลุ่มนี้จะอยู่ในช่วงวัยกลางคน และจบการศึกษาในระดับมัธยมต้น-ปลาย เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อ 25-30 ปีก่อนเพื่อหางานทำ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอาจจัดได้ว่าเป็นกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่าง ไม่ได้เป็นคนที่ยากจนมากนัก ส่วนใหญ่มีรถยนต์ส่วนตัว มีการท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยเช่นเดียวกับชนชั้นกลาง แต่ก็เป็นชีวิตที่ไม่มีความมั่นคงหรือไม่อาจคาดหวังความก้าวหน้าได้มากนัก

ในส่วนของภูมิหลังที่เชื่อมโยงกับบ้านเกิด เธอพบว่ามีสองลักษณะด้วยกัน บางส่วนครอบครัวเดิมยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องการกิจกรรมในด้านการเกษตรแล้วก็ตาม อีกส่วนหนึ่งไม่มีภูมิหลังที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมเลย แต่อาจจะเป็นคนเชื้อสายจีนที่ค้าขายอยู่ในตลาดของอำเภอหรือรับจ้างอิสระมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ก่อนที่จะย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ บางคนมาจากครอบครัวข้าราชการชั้นผู้น้อย ตรงนี้ทำให้เห็นว่างานศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจภาคใต้ที่เคยบอกว่า สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของคนใต้วางอยู่บนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรหรือเศรษฐกิจการเกษตรจึงใช้ไม่ได้กับคนใต้ชาวแฟลตแห่งนี้

จำกัดคอร์รัปชัน-ปกป้องสถาบันกษัตริย์ เหตุเข้าร่วม กปปส.คึกคัก
ชลิตา ระบุว่า กลุ่มที่ศึกษามีความกระตือรือร้นอย่างมากกับการร่วมชุมนุมกับ กปปส. และมีความคึกคักมากกว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในช่วงเวลาก่อนหน้ามาก หลายรายเข้าร่วมตั้งแต่วันแรกที่ต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจนถึงรัฐประหาร บางคนที่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะและไม่ได้ทำงานประจำก็สามารถร่วมยุทธวิธีดาวกระจายไปปิดหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และคนที่นี่มีบทบาทสำคัญในการขัดขวางการเลือกตั้ง พวกเขายินดีเข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. แม้จะเหน็จเหนื่อยหรือเสี่ยงอันตรายเท่าใดก็ตาม ในสถานการณ์ที่มีความวุ่นวายพวกเขาทำหน้าที่เป็นแนวหน้า เช่น เหตุการณ์ที่รามคำแหง และช่วงชัตดาวน์กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นลักษณะการเข้าร่วมที่แตกต่างจากกลุ่มชนชั้นกลางอื่นๆ หรือชนชั้นกลางระดับสูง ซึ่งมักจะมาร่วมชุมนุมเป็นครั้งคราว และชุมนุมในจุดที่เสี่ยงอันตรายน้อย

หากจะแบ่งกลุ่มพวกเขาตามการมีส่วนร่วมทางการเมือง สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่มีความเหนียวแน่นกับพรรคประชาธิปัตย์ รักและชื่นชอบในแกนนำคนสำคัญของพรรค 2.กลุ่มลูกพี่ คือ กลุ่มคนที่มีความเชื่อมโยง หรือทำงานในลักษณะที่ไม่เป็นทางการกับบุคคลในพรรคประชาธิปัตย์ และนักการเมืองท้องถิ่น และเป็นกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกับฝ่ายความมั่นคง และ 3.กลุ่มอุดมการณ์ หรือกลุ่มเสรีชน เป็นคนที่สนใจข่าวสารทางการเมือง ไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์มากนัก และไม่ได้มีสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับพรรคการเมือง

สำหรับเหตุผลที่คนกลุ่มดังกล่าว เข้าร่วมกับ กปปส. มี 3 เหตุผลหลัก แม้คนแต่ละกลุ่มอาจจะให้น้ำหนักกับเหตุผลในการเข้าร่วมแตกต่างกัน แต่ในภาพร่วมทุกคนจะพูดถึงสาเหตุ 3 ประการคือ 1.การคอร์รัปชัน 2.การหมิ่นเบื้องสูง และ 3.การลุแก่อำนาจ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ซึ่งทั้งกลุ่มที่เป็นเสรีชนมักจะให้น้ำหนักกับเหตุผลในข้อที่ 3 มากกว่าข้ออื่นๆ

เป้าหมายในการเข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. ของคนที่แฟลตแห่งนั้นเป็นไปเพราะมีความมุ่งมั่นที่จะทำความดีให้กับประเทศชาติ ซึ่งความดีในที่นี้หมายถึงการทำให้ประเทศปราศจากการคอร์รัปชัน การทำให้คนดีได้เข้ามาปกครองประเทศ และที่สำคัญคือการปกป้องคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ให้เป็นเสาหลักที่เข้มแข็งต่อไปของชาติได้ตราบนานเท่านาน

“หลายคนผิดหวังกับการรัฐประหารปี 2549 เพราะว่าไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ เพราะว่าเสียของ สำหรับรัฐประหารปี 2557 พวกเขาบอกว่ามันมีความจำเป็น ถ้าทหารไม่เข้ามาก็จะเกิดความวุ่นวายคนจะตายอีกเยอะ และเครือข่ายทักษิณยังคงอยู่ต้องให้ทหารมาจัดการ”

3 ปีหลังรัฐประหาร ประเทศไทยมาถูกทาง ประชาธิปไตยครึ่งใบ
มุมมองต่อรัฐบาลทหารในปัจจุบัน พวกเขามองว่าเป็นความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาด้วยการออกกฎหมายต่างๆ แต่หากเป็นรัฐบาลก่อนหน้าพวกเขากลับมองว่าเป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจ เป็นเผด็จการรัฐสภา หรือมุมมองต่อปัญหาคอร์รัปชัน หากเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์พวกเขาจะมองว่า เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ แต่หากเป็น คสช. ก็ยอมรับว่าอาจจะมีปัญหาคอร์รัปชันอยู่บ้าง แต่ต้องเอาเป้าหมายหลักเอาไว้ก่อน เรื่องอื่นๆ ค่อยแก้ทีหลัง ภายใต้รัฐบาลทหารหลายปีมานี้คนกลุ่มนี้ยังคงเห็นว่าการรัฐประหารมีความจำเป็น ประเทศไทยได้เดินมาถูกทางแล้ว และยังไม่ควรมีการเลือกตั้งจนกว่าจะมีความพร้อม ซึ่งกล่าวได้ว่าความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ ในความคิดเขาพวกเขาคือการนำพาประเทศไปสู่ระบอบการเมืองที่คิดว่าเหมาะสมคือระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าระบอบนี้เท่านั้นที่จะสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย

แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่อยู่ในชนชั้นกลางระดับล่างซึ่งมีสถานะที่คล้ายกับคนเสื้อแดง แต่ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่พวกเขาเลือกเข้าร่วมด้วยกลับเป็นขบวนการทางการเมืองที่ไม่เน้นสิทธิและความเสมอภาคทางการเมืองของกลุ่มคนระดับล่าง แม้ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. จะไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนระดับล่าง แต่พวกเขาก็ยังเลือกที่จะเข้าร่วมกับ กปปส. ด้วยความเสียสละและทุ่มเท สาเหตุเกิดจากปัจจัยที่เป็นอัตลักษณ์ร่วมของความเป็นคนใต้ แม้ว่าคนใต้เหล่านี้จะย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มานานหลายปี แต่พวกเขาก็ยังนิยามตัวเองว่าเป็นคนใต้อยู่ และยังรู้ว่าเป็นพรรคพวกเดียวกันกับคนใต้อื่นๆ ทั้งคนใต้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียว ซึ่งนำมาสู่สายสัมพันธ์ทางสังคมที่แนบแน่น และยังมีลักษณะของการเชื่อมโยงปัญหาของตัวเองกับปัญหาของคนใต้อื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาหรือได้รับความเดือดร้อนจากระบบทักษิณ อัตลักษณ์อีกประการหนึ่งที่คนใต้มักกล่าวถึงตัวพวกเขาเองคือการไม่สยบยอมต่อความอยุติธรรมหรืออำนาจที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากปัญญาชน นักเขียน ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา และอัตลักษณ์นี้ก็ถูกเน้นย้ำกับการเข้าร่วมกับ กปปส. ด้วย อย่างไรก็ตามคำว่าอำนาจที่ไม่เป็นธรรมนั้นถูกให้ความหมายเพียงแค่อำนาจที่มาจากนักการเมือง โดยเฉพาะฝั่งของทักษิณเท่านั้น ขณะที่สถาบันอื่นๆ ในโครงสร้างอำนาจรัฐกลับไม่ถูกพูดถึง

อุเชนทร์ เชียงเสน: การสร้างอุดมการณ์ผ่านกรอบโครงความคิดของปัญญาชน กปปส.
งานนี้เริ่มต้นจากการเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้วันเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ ทำให้นึกถึงการเพิกถอนให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 เป็นโมฆะด้วย ทั้งสองกระบวนการเป็นทั้งแรงผลักดันและจุดเริ่มต้นของการรัฐประหาร องค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าตุลาการหรือทหาร ทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวในครั้งแรกคือ พธม. และครั้งที่สองคือ กปปส. หลายคนเชื่อว่า พลังต่อต้านประชาธิปไตยที่มีมาตั้งแต่ปี 48-49 อ่อนแรงลงเพราะว่าไอเดียต่างๆ ถูกพิสูจน์ว่ากระบวนการ (ปูทางสู่รัฐประหาร) มีปัญหาอย่างไรบ้าง แต่ท้ายที่สุดขบวนการแบบ กปปส.ก็ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนคนอย่างมาก และใช้ยุทธวิธีรบกวนระบบอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นการเรียกร้องคนมากกว่าการไปเลือกตั้ง ทั้งนี้ในทางทฤษฎีมันยังต้องมีตัวเชื่อม โครงสร้างโอกาสทางการเมืองกับกลไกทางการเมือง เราเรียกมันว่า framing process หรือการสร้างกรอบกระบวนการ

งานศึกษานี้สนใจกลุ่มปัญญาชนนักวิชาการใน กปปส. เพราะพวกเขามีหน้าที่อธิบายเฟรมดังกล่าว และเลือกศึกษาสามคนคือ จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพราะจุฬาฯ เป็นฐานสำคัญในการรวบรวมคน, จักษ์ พันธุ์ชูเพชร มีบทบาทสำคัญมาก เป็นคนที่คนฟังตบมือทุกประโยคและเดินสายระดมคนไปยังจังหวัดต่างๆ จำนวนมาก มีลูกล่อลูกชนและมีประเด็นสองแง่สองง่ามเยอะ, สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ มีบทบาทในการอธิบายขบวนการและเป้าหมายของ กปปส.มากและนิด้าก็เป็นฐานกำลังหลักด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มสยามตุลาภิวัตน์


แฟ้มภาพ (9 ธ.ค. 2556)

ยุทธศาสตร์ของ กปปส.นั้น สุเทพ เทือกสุบรรณ เปิดเผยชัดเจนแต่ต้นว่าจะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและเปิดทางให้ตั้งสภาประชาชน ฯลฯ นักวิชาการเป็นจุดหนึ่งในการระดมคนให้มาเคลื่อนไหว ส่วนในระดับชาติก็มีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษานำเสนอข้อเสนอ โดยเฉพาะที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) กับกลุ่มสยามประชาภิวัตน์  อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก บรรดานักวิชาการมีข้อเสนอต่างกัน นักวิชาการต่างจังหวัดเสนอว่าให้คืนอำนาจให้ประชาชน แต่หลังจากสุเทพฯ ยกระดับการสู้ ก็ทำให้นักวิชาการเสนอสอดคล้องกับ กปปส.ส่วนกลาง

กรอบความคิดใหญ่ของ กปปส. มีความต่อเนื่องกับ พธม. นักวิชากาอย่างจรัส เวลาอธิบายจะผูกตัวเองกับ 2475 อธิบายผ่านรัฐธรรมนูญ 2540 ว่า การพยายามสร้างความเข้มแข้งให้รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญนั้นทำเกิดระบอบทักษิณ เกิดการกระจุกตัวของอำนาจที่ส่วนกลาง ทำให้การลงทุนซื้อเสียงมันคุ้มที่จะทำ ส่วนสมบัติมีแบคกราวน์การเมืองเปรียบเทียบ อธิบายว่าสิ่งที่เกิดในระบอบทักษิณเชื่อมโยงกับระบบรัฐสภา ข้อเสนอแกคือให้เลือตั้งนายกฯ โดยตรงเลย เพื่อแบ่งแยกอำนาจ แก้ปัญหาที่ฝ่ายบริการจะครอบงำนิติบัญญัติ แต่ไม่มีใครเอากับข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่จักษ์เสนออย่างไม่เป็นระบบเท่าไร แต่พยายามจะเชื่อมโยงว่า ปัญหาระบอบทักษิณ ล้มเจ้า จ้างยิง ทิ้งเกษตร เผาเมือง ไม่ฟังคำสั่งศาล ฯลฯ นั้นเป็นปัญหาที่ต้องจัดการ รวมถึงมีการพูดขนาดว่า สปป.หรือสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยที่นักวิชาการรวมตัวกันตั้งขึ้นนั้นคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดทุกคนปฏิเสธการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะจะได้อะไรแบบเดิม จึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดรัฐบาลแบบเดิม พวกเขาไม่ได้เน้นการปกครองโดยประชาชนแล้ว แต่เน้นการปกครองเพื่อประชาชน การเลือกตั้งเป็นขั้นต่ำที่สุดของประชาธิปไตยก็จริง แต่การเลือกตั้งต้องอยู่บนฐานความบริสุทธิ์ยุติธรรม คนเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม การสู้เรื่องของเฟรมท้ายสุดอยู่บนฐานของกรอบในเรื่องแรงจูงใจ มีการเสนอการปฏิวัติของคนกลุ่มน้อย ถือว่าสิ่งที่เขาทำมีความสำคัญและเหนือกว่าประชาธิปไตยตัวแทน จรัสบอกว่า การต่อสู้ครั้งนี้เราถือว่าประชาธิปไตยทางตรง มีความถูกต้องชอบธรรมและได้มากกว่าประชาธิปไตยตัวแทนและนี่เป็นครั้งแรกในโลก เพื่อให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง

ถามว่ารากฐานทางวัฒนธรรมอะไรบ้างที่ใช้สร้างกรอบเช่นนี้ เราพบว่า เรื่องระบอบทักษิณมีการปูกระแสกันมานาน เชื่อมโยงกับความรุนแรงและล้มเจ้า บางคนเล่นโดยตรง บางคนไม่ตรง เรื่องเผด็จการรัฐสภาก็เอามาใช้ มีการใช้คำอธิบายหลักอธิปไตยเป็นของประชาชนเพื่ออธิบายว่าประชาชนสามารถล้มรัฐบาลได้

“เวลาพวกนี้เถียง เขาไม่ปฏิเสธประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ แต่เสนอการตีความอีกแบบ ข้อเสนอคือประชาธิปไตยทางตรง”
 

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล-อาจินต์ ทองอยู่คง: การร่วมสร้างอัตลักษณ์คนดีของมวลมหาประชาชน
อาทิตย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า การศึกษานี้มองการเคลื่อนไหวของ กปปส. ที่ไม่ได้อยู่บนท้องถนนเท่านั้น แต่ยังอยู่บนสื่อต่างๆ โดยเฉพาะบนอินเทอร์เน็ตด้วย สิ่งที่นึกขึ้นได้คือป้าย “คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ที่ปรากฏในที่ต่างๆ ทั้งในพื้นที่ออนไลน์และภายนอก โดยการบอกว่ามวลชนมีความคิดต่างๆ ก็ต้องไปดูว่าเขาร่วมผลิตอะไร และสร้างให้ขบวนการออกมาเป็นหน้าตาอย่างไร สำหรับวิธีการศึกษานั้นจะไปดูมีม (meme) กราฟิกต่างๆ ที่มีการส่งต่อ, ตัวสินค้าต่างๆ, ดาราเซเลบคนดัง ทั้ง 3 ตัวนี้เป็นภาชนะอย่างหนึ่งที่บรรจุความคิดเพื่อส่งต่อไป

Meme ยืมแนวคิดของเรื่องยีนหรือรหัสทางพันธุกรรมมาใช้ ในทางวัฒนธรรมก็มีหน่วยทางวัฒนธรรมคือตัวมีม วัฒนธรรมคือการคัดลอกทำซ้ำส่งต่อ มีมเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดทางวัฒนธรรมที่ถูกคัดลอกและส่งต่อ สามารถรวบยอดและส่งต่อความคิดได้ นอกจาการ์ตูนแล้ว ในโซเชียลมีเดียยังมีเรื่องของแฮชแท็ก ในทวิตเตอร์ก็อาจเป็นมีมได้เช่นกัน ดังนั้นมีจึงเหมือนกับรหัสทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นมาและมีการส่งต่อ โดยมีช่วงเวลาเฉพาะของมันอยู่ นอกจากนี้มีมยังไม่ใช่การคัดลอกเพียงแค่ตัวสาร แต่ยังมีการคัดลอกตัวฟอร์มซึ่งมีโครงของเรื่องเล่าอยู่ด้วย บางส่วนก็ทำให้คนอื่นๆ มาร่วมเล่นได้ โดยไม่ต้องใช้ทักษะอะไรมาก เช่น คำว่า “อีโง่” หรือภาพลักษณ์ที่รวบยอดของการไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรียิ่งลักณ์ในขณะนั้น กรณีมือปืนป๊อปคอร์นก็มีการนำมาทำเป็นรูปการ์ตูนเพื่อลดโทนความรุนแรงลงทำให้รู้สึกว่าสามารถทำซ้ำและส่งต่อได้ เช่น การนำไปทำภาพเป็นปกอัลบั้มวงดนตรีป๊อปคอร์น โดยมีมไม่ได้อยู่เพียงบนอินเทอร์เน็ตเท่านั้น มันกระโดดมาพื้นที่ออฟไลน์ด้วย เช่น เสื้อยืดมือปืนป๊อปคอร์น หรือของที่ระลึก

อาจินต์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. กล่าวเสริมว่า ความน่าสนใจคือการเคลื่อนไหวของ กปปส. มันมีสิ่งที่เรียกว่า ”สื่อส่วนบุคคล” หมายถึงสื่อที่บุคคลสามารถจัดการกับมันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อที่เป็นสถาบันหรือเป็นทางการ คนแต่ละคนสามารถจัดการกับมันได้ ลักษณะอันหนึ่งในนั้นคือพวกสินค้า อุปกรณ์ เครื่องแต่งกายต่างๆ ความโดดเด่นของ กปปส. เมื่อเปรียบเทียบกับม็อบอื่นๆ คือมีการขายอุปกรณ์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ภายใต้สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่หลากหลายมาก เช่น ธงชาติ ซึ่งเราอาจเรียกสินค้าพวกนี้ว่าเป็นสินค้ารักชาติ ซึ่งมี 3 อย่าง คือ ส่วนที่เป็นสินค้าอย่างเป็นทางการของ กปปส. เช่น นกหวีดสายฟ้า ส่วนที่เป็นสินค้าเหมาโหลต่างๆ เช่น พวกเสื้อที่มีลายสกรีนง่ายๆ ที่คาดผม ฯลฯ เราพบว่าของพวกนี้ขายดีมากในที่ชุมนุม พ่อค้าแม่ค้าสามารถปลดหนี้ได้จำนวนมาก ส่วนที่เป็นสินค้า D.I.Y. (Do It Yourself) ความน่าสนใจของการเกิดขึ้นของสินค้าพวกนี้คือ มันไม่ได้เป็นแค่ม็อบอย่างเดียวแต่มีตลาดเกิดขึ้นด้วย ในที่ชุมนุม กปปส. เกือบครึ่งเป็นที่ขายของอย่างจริงจัง ช่วงนั้นมีบล็อกเกอร์ชาวต่างชาติเข้ามาในที่ชุมนุมและเขียนรีวิวโดยมองว่าเป็นม็อบที่ไม่ใช่การก่อจลาจล ไม่มีความรุนแรง เป็นเหมือนโฟล์คเฟสติวัลมากกว่า




แฟ้มภาพ (2 ก.พ. 2557)

กลุ่มเซเลบนั้นจะเห็นว่าช่วงนั้นมีคนดังทั้งดารานักร้องนักแสดงมีบทบาทในการเคลื่อนไหว กปปส. มาก ทำให้การเคลื่อนไหวได้รับความสนใจขึ้นมา และความน่าสนใจอีกอย่างคือ แกนนำ คนเข้าร่วมกับ กปปส. ปรากฏภาพอยู่ในนิตยสารที่ไม่ใช่การเมือง เช่น นิตยสารอิมเมจ แพรว ดิฉัน ฯลฯ อย่างน้อย 14 ฉบับ ส่วนที่ไม่ปรากฏบนหน้าปกแต่อยู่ในเนื้อหาภายในเล่มก็ปรากฏอีกเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่า กปปส. ช่วงนั้นอยู่ในป๊อปปูลาร์คัลเจอร์ที่ไม่อยู่ในการเมืองด้วย นอกจากนั้นยังมีการประกวด การทำให้เป็นแฟชั่น ทำให้อัตลักษณ์ กปปส. ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีความร่วมสมัย  ถามว่าการลดโทนของความเป็นการเมืองสำคัญอย่างไร การทำให้การเคลื่อนไหวของ กปปส. ดูไม่เป็นการเมือง ทำให้คนกลุ่มใหม่ๆ ที่ไม่เคยสนใจการเมือง หรือปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมืองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อไหวได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจโดยเฉพาะผ่านการบริโภคมีมหรือสินค้ารักชาติเหล่านี้ ในลักษณะการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการบริโภค

งานศึกษาสรุปว่า มวลชนมีบทบาทในการผลิตอัตลักษณ์ของ กปปส. ด้วย โดยที่ไม่ได้ถูกสร้างมาจากแกนนำเพียงอย่างเดียว ผ่านการผลิตมีม ทั้งที่อยู่ออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีเหตุผล 2 อย่างประกอบคือ 1.การเกิดขึ้นมาของสื่อส่วนบุคคลที่คนสามารถจัดการได้จำนวนมาก และผลิตสินค้าต่างๆ ก็ทำได้ไม่ยากแล้ว 2.มวลชน กปปส.เป็นชนชั้นกลางในเมืองที่มีทักษะการออกแบบและมีทุนผลิตสิ่งของพวกนี้ได้ การผลิตสิ่งเหล่านี้ของมวลชน กปปส. ทำให้เห็นอัตลักษณ์คนดีบางอย่างอย่างชัดเจน เช่น การเป็นพสกนิกรที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเห็นผ่านเสื้อยืดสกรีนข้อความ “ประชาชนของพระราชา” ที่มีการใส่อยู่จำนวนมาก

“ในแง่ความคาดหวังทางการเมือง หากการเมืองคือความสมพันธ์เชิงอำนาจและการต่อรองผลประโยชน์แล้ว ความคาดหวังของคนดี โดยเฉพาะคนดีที่จะต้องไม่เกี่ยวของกับความเป็นการเมืองก็คือการปฏิเสธการเมือง อันหมายถึงการปฏิเสธการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะในทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจขอสังคม โดยสรุปแล้ว อัตลักษณ์คนดีที่ต้องไม่มีความเป็นการเมืองอยู่ในนั้น จึงหมายความว่าต้องยอมรับสถานะทางสังคมอย่างที่เป็นอยู่ และไม่เรียกร้อง ต่อรองเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็ได้ว่าการเรียกร้องการเมืองคนดีที่ต้องไม่เป็นการเมืองนั้นจึงหมายถึงการพยายามรักษาสถานะและความแตกต่างทางสถานะแบบเดิมภายใต้การเคลื่อนไหวลักษณะแบบนี้”

 

ธรรมาธรรมะสงคราม: ความรุนแรงเชิงศีลธรรม และอนารยะขัดขืน -ประจักษ์ ก้องกีรติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net