Skip to main content
sharethis

รมว.มหาดไทยของกัมพูชา จ่อชงกฎหมายหมิ่นฯ แม้ก่อนหน้านี้จะมีคนถูกดำเนินคดีเพราะหมิ่นประมาทกษัตริย์มาแล้ว นักวิชาการหวั่น กม.ใหม่ถูกใช้ปกป้อง ‘ฮุนเซน’ และปิดปากฝ่ายตรงข้าม ผอ.ฮิวแมนไรท์วอทช์เอเชียชี้ บางคนในรัฐบาลอยากเอากฎโบราณมาใช้แทนที่จะเดินหน้าสู่ศตวรรษที่ 21

(จากซ้ายไปขวา) พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์กัมพูชารัชกาลปัจจุบัน  พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ และพระราชินีโมนีก พระวรราชมารดา กัมพูชาถูกปกครองโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซนมานานกว่า 32 ปีแล้ว

21 ธ.ค. 2560 สำนักข่าวพนมเปญโพสต์ของกัมพูชา รายงานว่า ซอ เค็ง (Sar Kheng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชาได้จัดประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.) เพื่อพูดคุยกันในประเด็นการบัญญัติเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการห้ามดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ของไทย

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศการเมืองที่ตึงเครียดภายหลังจากมีการยุบพรรคฝ่ายค้าน และจับกุมผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ไปจนถึงการตรวจสอบเอ็นจีโอและสั่งปิดสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจำนวนมาก โดยแถลงการณ์ในเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทยกัมพูชาระบุว่า การประชุมดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะปกป้องพระมหากษัตริย์ โดยเขียว โสพี (Khieu Sopheak) โฆษกกระทรวงฯ ระบุว่าขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีส่วนไหนที่ระบุว่าผู้กระทำผิดจะต้องถูกจำคุกนานเท่าใด

หลายองค์กรประณามกรณีกัมพูชาจับกุมฝ่ายค้านกลางดึก 'ล้าหลังอย่างวิบัติ'

รัฐบาลกัมพูชาเผยกำลัง 'จับตา' องค์กรประชาสังคม กล่าวหาวางแผนปฏิวัติ

กัมพูชาในวันที่ไร้พรรคฝ่ายค้าน-หลังศาลยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ

2 ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อจากกัมพูชาเล่าวิกฤติ รบ. ปิดสื่อ ห่วงต่อไปแตะต้องรัฐบาลไม่ได้

พนมเปญโพสต์ระบุว่า ในรัฐธรรมนูญของกัมพูชาระบุสถานภาพของกษัตริย์ว่าเป็นผู้ที่ถูก “ล่วงละเมิดไม่ได้” แต่ไม่ได้ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ อีกทั้งการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างเฉพาะเจาะจงในกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญกัมพูชายังประกันเสรีภาพการแสดงออก ขณะที่ก็ยังมีการดำเนินคดีต่อผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยข้อหา “ยุยงปลุกปั่น (incitement)”

โสพีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในบางประเทศ เช่นไทย ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ต่างก็มีกฎหมายแบบนั้น (กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) กัมพูชาก็มีสถาบันกษัตริย์แต่กลับไม่มีกฎหมายแบบนั้น

ถึงแม้ในตอนนี้จะยังไม่มีกฎหมายหมิ่นฯ แต่ว่าอดีตรองนายกรัฐมนตรี ลู เล เซร็งก็ถูกแจ้งความด้วยสาเหตุที่เขาไปหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพรรคฟุนซินเป็ก พรรคฝ่ายสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เขาเคยสังกัด ลู เล เซร็งกล่าวถึงกษัตริย์สมเด็จนโรดมสีหนุว่าเป็น “ไก่ถูกตอน (castrated chicken)” ที่ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ทางการเมืองได้ ผ่านการสนทนาทางโทรศัพท์ส่วนตัว ซึ่งบทสนทนาดังกล่าวถูกบันทึกเสียงเอาไว้แล้วนำมาแจ้งความ ผู้ที่แจ้งความคือนายกรัฐมนตรี สมเด็จฮุนเซ็นและทางพรรคฟุนซินเป็ก

ชิน มาลิน (Chhin Malin) โฆษกกระทรวงยุติธรรมกล่าวถึงกรณีข้างต้นว่าผลของคดีดังกล่าวขึ้นอยู่กับศาลและอัยการ “แม้ว่ากฎหมายอาญาของเราจะไม่ได้ระบุถึงพระมหากษัตริย์ แต่ก็มีกฎหมายมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นบุคคลสาธารณะหรือเจ้าพนักงาน...ซึ่งข้อกฎหมายบางข้อสามารถนำมาใช้ในการกระทำผิดเช่นว่าได้”

ที่ผ่านมา การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (Lese Majeste) กลายเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีการใช้กฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และถูกใช้งานอย่างเข้มข้นขึ้นภายใต้ระบอบรัฐบาลทหาร มีกรณีของผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่โพสต์รูปสุนัขทรงเลี้ยงของพระมหากษัตริย์ในเชิงหยอกล้อก็ถูกจับกุมด้วยกฎหมายดังกล่าว

พอล แชมเบอร์ นักวิชาการชาวอเมริกันผู้สอนวิชากิจการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พนมเปญโพสต์ผ่านอีเมลว่า กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของไทย “ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง” และ “เป็นเครื่องมือที่นักการเมืองและทหารไทยใช้สร้างความชอบธรรมในการยึดกุมอำนาจในระบบการเมืองไทยเอาไว้ต่อไป”

ภายใต้บริบทของประเทศกัมพูชา พอลกังวลว่า ฮุนเซนอาจจะใช้ข้อกฎหมายหมิ่นฯ ตอบสนองเป้าประสงค์ของตนเอง  “ในกรณีกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่นายกรัฐมนตรีได้รับการรับรองจากพระมหากษัตริย์ในทางสัญลักษณ์ อาจทำให้ศาลตีความกฎหมายหมิ่นฯ ให้กินอาณาบริเวณไปถึงใครก็ตามที่พูดจาดูหมิ่นฮุนเซนและจองจำพวกเขาเหล่านั้นเอาไว้อย่างยาวนานได้”

“ถ้าหากลักษณะกฎหมายหมิ่นฯ ในแบบของไทยถูกนำไปใช้ในกฎหมายของกัมพูชา ก็สามารถคาดคะเนได้เลยว่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่าง สม รังสี (Sam Rensi) เขม โสกา (Kem Sokha) มู โสเจือ (Mu Sochua) รวมถึงฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่เป็นชาวต่างชาติจะถูกกฎหมายนี้ปิดปาก หรือไม่ก็คงจะเซ็นเซอร์ตัวเองไม่ให้พูดอะไรเกี่ยวกับฮุนเซน อีก” แชมเบอร์กล่าวเพิ่มเติม

โสก ซำ เอือน (Sok Sam Oeun) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากกัมพูชาไม่ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก แต่กล่าวว่ากฎหมายอาญาไม่สามารถมีผลย้อนหลังไปในความผิดที่กระทำก่อนกฎหมายจะออกได้ เช่นกรณีคดีของอดีตรองนายกฯ ลู เล เซร็ง ทั้งยังระบุว่า ฮุนเซนเองก็เคยมีข้อเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์เสียเมื่อปี 2548

แชมเบอร์ ระบุเพิ่มเติมว่า “เป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายหมิ่นฯ จะถูกนำมาใช้กับฮุนเซน เนื่องจากพรรคพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ได้ครอบงำระบบศาลของกัมพูชาแล้วอย่างสมบูรณ์”

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำทวีปเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ ก็เป็นหนึ่งคนที่เห็นแย้งกับข้อเสนอให้มีกฎหมายหมิ่นฯ โดยให้ความเห็นกับพนมเปญโพสต์ทางอีเมลว่า “หากมองจากประเด็นเสรีภาพการแสดงออก กฎหมายที่มีเอาไว้เพื่อพิทักษ์ชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์สร้างปัญหามาก แทนที่จะมองหาหนทางที่จะเดินหน้าไปสู่ศตวรรษที่ 21 แต่บางคนในรัฐบาลกัมพูชากลับมุ่งนำพิธีปฏิบัติโบราณในอดีตที่มองว่ากษัตริย์เป็นเทพเจ้ามากกว่าที่จะเป็นมนุษย์”

อดัมส์ยังเรียกร้องให้พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันชิงจัดการกับกฎหมายหมิ่นฯ ก่อน “สมเด็จฯ นโรดม สีหมุนีควรใช้ประสบการณ์ในฐานะอดีตทูตยูเนสโกและผู้แทนของสหประชาชาติที่ได้รับหน้าที่ให้ปกป้องเสรีภาพการแสดงออก ไปบอกเขียว โสพี และคนอื่นๆ ที่กระทรวงมหาดไทยว่ากัมพูชาไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายหมิ่นฯ”

ด้าน อุม ดาราวุธ สมาชิกสำนักพระราชวังยังคงปฏิเสธที่จะให้ความเห็นจนกว่าข้อกฎหมายจะถูกแถลงต่อสาธารณะ

แปลและเรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net