สนช.เห็นชอบร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ให้ กก.ชุดปัจจุบันอยู่จนครบวาระ 9 ปี

สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 9 ปี  พร้อมเห็นชอบตั้งกรรมาธิการฯ ตรวจสอบประวัติ 7 ว่าที่ กกต. ชุดใหม่ กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เผยหารือครบทุกมาตราแล้ว

25 ธ.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ วาระ 3 ซึ่งสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ได้ลงมติเห็นชอบในทิศทางเดียวกัน ยกเว้นมาตรา 178 ซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญที่กรรมาธิการฯ ปรับแก้ว่า ให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันอยู่ทำหน้าที่ต่อจนครบวาระ 9 ปี จากเดิมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้อยู่ต่อได้เฉพาะ ป.ป.ช.ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ลงมติด้วยคะแนน 157 เสียง แต่มีจำนวน 26 คนลงมติไม่เห็นชอบ และงดออกเสียงจำนวน 29 คน ท่ามกลางเสียงคัดค้านของ สนช.บางส่วน และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มองว่าการปรับแก้ด้วยการยกเว้นไม่ให้นำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ป.ป.ช.บางเรื่องมาบังคับใช้ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนประเด็นการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กำหนดให้ผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมีอยู่ 8 ประเภท ไม่จำกัดเฉพาะ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” อาทิ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด และนอกจากจะต้องยื่นของตนเองแล้ว ยังจะต้องยื่นของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย โดยที่คู่สมรสดังกล่าวจะรวมถึงผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยาแม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ส่วนคำนิยามหรือขอบเขตความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาจะเป็นอย่างไรให้ ป.ป.ช.เป็นผู้กำหนด
 
สำหรับประเด็นซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวาง เช่น มาตรา 37/1 ที่เพิ่มอำนาจพิเศษให้ ป.ป.ช.ล้วงข้อมูลส่วนตัวเชิงลึกของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเข้าข่ายทุจริตและร่ำรวยผิดปกติ ทั้งการดักฟังโทรศัพท์ เจาะอีเมล์และตรวจสอบแชทไลน์ กรรมาธิการฯ เสียงข้างมากยอมตัดมาตราดังกล่าวออกไป หลังจากสมาชิก สนช.อภิปรายคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และอาจกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำลายล้างคู่ต่อสู้ทางการเมือง
 
จากนั้นที่ประชุม สนช.ได้ลงมติด้วยคะแนน 198 ต่อ 1 เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต วาระ 3 โดยมีผู้งดออกเสียง 7 คน และไม่ลงคะแนน 1 เสียง  อย่างไรก็ตาม ภายหลัง สนช.ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว จะส่งให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้ กรธ. และกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาว่าจะมีคำโต้แย้งกลับมาหรือไม่ภายใน 10 วัน ก่อนส่งให้ สนช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่อีกครั้ง
 

เห็นชอบตั้งกรรมาธิการฯ ตรวจสอบประวัติ 7 ว่าที่ กกต.

นอกจากนี้ ที่ประชุม สนช. ยัง เห็นชอบให้ตั้งกรรมาธิการสามัญ จำนวน 17 คน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 7 คน จากสัดส่วนของคณะกรรมการสรรหา จำนวน 5 คน ได้แก่ 1. เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ 2. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 3. อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 4. ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฏฐ์ และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ และ 5. ประชา เตรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี และจากสัดส่วนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 2 คน ได้แก่ 1. ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ 2. ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 
 
ประชุม สนช.ได้ลงมติเห็นชอบ งดใช้ข้อบังคับการประชุมฯ ที่กำหนดเวลาการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการว่าจะต้องตรวจสอบประวัติให้เสร็จ จากเดิม 45 วัน เป็นภายใน 60 วัน ด้วยคะแนนเสียง 170 เสียง  ก่อนเสนอให้ที่ประชุม สนช.ให้ความเห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจาก สนช. จะต้องไปลาออกจากตำแหน่งเดิม ก่อนที่ประธาน สนช.จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ หรือหาก สนช.มีมติไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลใด จะส่งเรื่องกลับมาให้กรรมการสรรหาทำการสรรหาทดแทน

กมธ. ระบุหารือร่าง กม. เลือกตั้ง ส.ส. ครบทุกมาตราแล้ว

วันเดียวกัน ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. ....  ของ สนช. แถลงความคืบหน้าว่า กมธ.มีการหารือแล้วครบทั้ง 178 มาตรา กมธ.มีการแก้ไข จำนวน 17 มาตรา อาทิ ให้ กกต. สามารถมีมติ 2 ใน 3 จากจำนวนกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ กรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้ หรือการห้ามผู้สมัครจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเพื่อการเลือกตั้ง การห้ามสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริต นอกจากนี้ ได้เชิญ สนช. 4 คน ที่เสนอแปรญัตติรวม 8 มาตรา เข้าให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา ขณะที่ กมธ. ตั้งข้อสังเกตไว้ท้ายรายงานจำนวน 3 มาตรา

ทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า กมธ. ยังมีมติให้รอการพิจารณาใน 4 มาตรา คือ มาตรา 35, 68, 72 และ 129 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การตัดสิทธิผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิ หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจแจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุผลอันสมควร ผู้นั้นจะถูกจำกัดสิทธิพื้นฐาน ประการ ได้แก่ สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. และสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขณะเดียวกัน กมธ.จะพิจารณาเรื่องการจำกัดสิทธิ ระยะเวลาการตัดสิทธิเพิ่มเติม รวมทั้งการกำหนดระยะเวลาและวิธีการหาเสียงด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พบว่ายังมีข้อแตกต่างกัน ทั้งนี้ กมธ.จะนำประเด็นทั้งหมดมาหารือเพิ่มเติมเพื่อปรับแก้ไขร่างกฎหมายให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งนำความเห็นของประชาชนที่ส่งเข้ามาที่เว็บไซต์ของ สนช. ซึ่งจะครบกำหนดปิดรับฟังในวันที่ 27 ธ.ค. นี้ มาประมวลประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และเว็บไซต์วิทยุรัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท