อะไรดลใจให้ชาวเยอรมันคนหนึ่งเปิดฮอตไลน์ รับฟังกลุ่มขวาจัด

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ชาวเยอรมนีหวาดหวั่นในปีนี้คือการที่พรรคฝ่ายขวาจัดได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมาก อาลี แคน ชาวเยอรมันเชื้อสายตุรกีอยากศึกษาทำความเข้าใจว่าเหตุใดคนถึงกลัวผู้ลี้ภัย จึงจัดตั้งฮอตไลน์สายด่วนรับฟังปัญหาคาใจ ทำให้เขาได้รับรู้จิตใจของมนุษย์ได้มากกว่าแค่การตัดสินความคิดทางการเมืองแบบขาว-ดำ

26 ธ.ค. 2560 สื่ออัลจาซีรานำเสนอเรื่องที่ชายชาวเยอรมันคนหนึ่งเปิดสายด่วนรับฟังกลุ่มขวาจัดในเยอรมนี หลังจากที่เขาพบว่ากระแสต่อต้านผู้ลี้ภัยในประเทศตัวเองเป็นปัญหา

เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการรับผู้ลี้ภัยเข้าสู่ประเทศตน โดยในปี 2558 มีการรับผู้อพยพและลี้ภัยมากราว 900,000 ราย อย่างไรก็ตามก็มีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการต่อต้านคนนอกในเยอรมนีหลายเหตุการณ์ แต่ก็มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่กระตุกใจอาลี แคน ชายอายุ 24 ปี ผู้ที่ครอบครัวของเขาเป็นผู้ลี้ภัยมาจากตุรกีตั้งแต่อายุ 2 ขวบ

เหตุการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นในปี 2559 ที่มีผู้ลี้ภัย 20 คน นั่งรถบัสเข้ามาที่เมืองเคลาส์นิตซ์ เมืองทางตะวันออกของเยอรมนี แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับกลุ่มม็อบที่มาปิดถนนและตะโกนใส่ผู้ลี้ภัยที่กำลังประสบปัญหา มีการนำเสนอภาพเหตุการณ์นี้ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มต่อต้านผู้ลี้ภัย วิดีโอนี้ทำให้เคนรู้สึกไม่สบายใจ "อาจจะเป็นผมที่อยู่บนรถบัสนี้ก็ได้" เคนกล่าว

เคนอยากจะรู้ว่าความเกลียดชังนี้มาจากอะไร และทำไมคนถึงไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้เคนเริ่มออกเดินทางทัวร์เยอรมนีตะวันออกตั้งแต่เดือน มี.ค. 2559 เขาไปเยือนแหล่งของกลุ่มต่อต้านผู้อพยพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพกิดาในเมืองเดรสเดนที่ต่อต้านอิสลามโดยมีการเดินขบวนต่อต้านสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการทำให้ตะวันตกกลายเป็นอิสลาม หรือในการประท้วงอื่นๆ ด้วยความอยากรู้เคนไปพูดคุยกับพวกนีโอนาซีและกลุ่มต่อต้านผู้อพยพเหล่านี้เพราะอยากรู้ว่าพวกเขามีแรงจูงใจอะไร

แต่นั่นก็ทำให้เกิดเรื่องน่าแปลกใจเมื่อหญิงขวาจัดคนหนึ่งที่เขาพบเจอในที่ประท้วงโทรศัพท์หาเขาบอกว่าเธอเคยเจอผู้ลี้ภัยที่ทำให้เธอรู้สึกดีอย่างไร ทำให้แคนมองว่าเธอน่าจะไม่มีใครที่สามารถคุยเรื่องนี้ด้วยได้ ข้อสรุปของแคนคือผู้คนต้องได้พูดออกมา ผู้คนส่วนใหญ่มักจะมีอคติและกลัวในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้จัก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเหยียดเชื้อชาติเสมอไป

นั่นทำให้แคนโพสต์เบอร์โทรศัพท์ของตัวเองลงไปในคลิปวิดีโอประท้วงต่อต้านผู้ลี้ภัยในเคลาส์นิตซ์ระบุว่า "คุณสามารถติดต่อผมได้ด้วยเบอร์นี้ถ้าหากพวกคุณกังวลใจ โกรธ หรือมีคำถามเกี่ยวกับจำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มมากขึ้นในเยอรมนี" หลังจากนั้นเขาก็ได้รับโทรศัพท์รวมแล้วประมาณ 200 สาย โดยเขาเปิดสายด่วนรับฟัง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ละครั้งเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เขาบอกว่าบางครั้งก็มีคนโทรเข้ามามากกว่าปกติและผู้ที่โทรหาเขาก็แสดงความก้าวร้าวออกมามากขึ้น

แคนเคยเป็นคนที่เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการในการสอนผู้คนเกี่ยวกับผู้อพยพมาก่อน เรื่องที่คนโทรหาเขามักจะขอปรึกษากับเขาบ่อยๆ คือเรื่องการหลอมรวมผู้ลี้ภัยเข้ากับเยอรมนีทำให้ชาวเยอรมันหลายคนกลัวว่าเยอรมนีจะปลอดภัยน้อยลงเพราะมองว่าวัฒนธรรมของเยอรมนีไม่เข้ากับวัฒนธรรมของอิสลาม แคนสรุปได้ว่า "การเหยียดเชื้อชาติและอคติมักจะมีรากฐานมาจากความกลัวว่าจะสูญเสียการควบคุมให้กับสิ่งที่พวกเขาไม่รู้จัก รวมถึงโครงสร้างความคิดแบบเก่า" จึงควรมีการสำรวจศึกษาความกลัวของผู้คนเหล่านั้น

ตัวแคนเองกำลังศึกษาเพื่อเป็นครูสอนภาษาเยอรมัน เขาเองเคยเป็นผู้ลี้ภัยมาก่อนจึงอยู่ในสถานะที่เหมาะสมกับการขจัดความหวาดกลัวของผู้คนโดยยกตัวอย่างตนเอง "ผมเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการหลอมรวมทางวัฒนธรรมสามารถสำเร็จได้" แคนกล่าว

ในการเลือกตั้งระดับประเทศเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพรรคฝ่ายขวาจัดอย่างเอเอฟดีได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับที่ 3 ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ทำให้แคนอยากเข้าถึงกลุ่มคนพวกนี้ งานหลักๆ ของเขาคือการฟังและพยายามมองว่าเขาจะเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ผู้โทรมาปรึกษาได้หรือไม่ โดยไม่ได้เน้นการพยายามหักล้างข้อเท็จจริงของผู้ที่โทรหาเขา แต่พยายามมองว่ามีอะไรที่พวกเขามองคล้ายกันบ้าง เช่น ถ้ามีคนโทรหาเขาเพื่อบอกว่าอยากลดจำนวนการรับผู้ลี้ภัยเพราะคิดว่ามันจะทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย แคนก็จะบอกว่าเขาเองรู้สึกอยากให้ประเทศปลอดภัยเหมือนกัน

แคนมองว่าบทสนทนาเหล่านี้เน้นการสะท้อนตัวองในแบบที่มีวิจารณญาณ ไม่ใช่การพยายามสั่งสอนหรือทำให้พวกเขาเชื่อตาม แคนยังเชื่อว่าการที่ผู้คนได้พูดเกี่ยวกับความหวาดกลัวของตัวเองจะทำให้พวกเขามีโอกาสหันไปหาพวกฝ่ายขวาลดลง

โฮลเกอร์ เลงเฟลด์ นักสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไลพ์ซิกผู้ศึกษาวิจัยคนที่โหวตให้พรรคเอเอฟดีกล่าวว่า ฮอตไลน์ของแคนเป็นสิ่งที่ดี การที่ผู้คนได้พูดคุยกันเป็นเรื่องดีเสมอ คนที่มีมุมมองต่างกันควรจะได้แลกเปลี่ยนกัน "หนึ่งในรากฐานของประชาธิปไตยคือการที่คุณจะต้องรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นแม้ว่าคุณจะไม่ชอบมันก็ตาม" เลงเฟลด์กล่าว

อย่างไรก็ตามเลงเฟลด์ก็รับรู้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะเปิดกว้างกับการพูดคุยแลกเปลี่ยน นั่นทำให้เกิดภาวะหนีเสือปะจระเข้เพราะคุณจะพูดคุยกับคนที่พร้อมจะเต็มใจพูดคุยเท่านั้น

ในตอนนี้แคนกำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับฮอตไลน์สายด่วนที่เขาทำ นอกจากโทรศัพท์แล้วบางครั้งเขาก็ได้รับอีเมลหรือมีคนไปพบปะเขาเป็นการส่วนตัว เช่น มีผู้โหวตให้พรรคเอเอฟดีไปที่ร้านอาหารของพ่อแม่เขาเพื่อไปเจอกับแคนและครอบครัวหรือบางครั้งก็ไปซื้ออาหารในร้านพวกเขา

แคนบอกว่าเขาต้องการสร้างพื้นที่สีเทาๆ ให้กับสิ่งที่ถูกทำให้ดูเป็นขาว-ดำ และถึงแม้จะฟังดู "ไร้เดียงสา" แต่เขาก็เชื่อว่า "ความรักจะเข้มแข็งกว่าความเกลียดชัง" และแคนก็มองไม่ออกว่าจะมีหนทางอื่นที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้

 

เรียบเรียงจาก

Why this German man opened a hotline for the far right, Aljazeera, 25-12-2017
http://www.aljazeera.com/indepth/features/german-turk-opened-hotline-171224063904243.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท