Skip to main content
sharethis

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เตือน คสช. ยิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งต้องใช้ให้น้อยที่สุด โวยกรณีแก้กฎหมายเลือกตั้ง เป็นการจงใจกลั่นแกล้งพรรคใหญ่ ด้านรองนายกฯ วิษณุ ระบุแก้กฎหมายเพื่อเช็คจำนวนสมาชิกที่แท้จริง ยันไม่ได้เอื้อประโยนช์ให้พรรคใหม่

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2560 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีคำสั่งตามมาตรา 44 ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางธุรการได้ว่า การนำมาตรา 44 มาแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปไม่กี่เดือน และมีปัญหาก็เพราะมาตรา 44 ที่ประกาศใช้ก่อนหน้านั้น จึงทำให้รู้สึกว่าอำนาจเบ็ดเสร็จแต่ไม่ได้มีความชัดเจน ว่าจะบริหารจัดการสถานการณ์บ้านเมืองให้เปลี่ยนผ่าน แบบเป็นระบบอย่างไร ทั้งนี้ที่ผ่านมาตนไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หลายๆ เรื่อง แต่สิ่งที่มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. พยายามทำคือ การลำดับการจัดการเรื่องกฎหมาย โดยจัดทำกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน จากนั้นตามด้วยกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายการได้มาซึ่งสว.เพราะมีชัยรู้ว่าทันทีที่กฎหมาย 4 ฉบับเสร็จ และต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อต้องปฎิรูป พรรคการเมืองและ กกต. จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าไปทำให้พรรคการเมืองกับ กกต. ต้องเปลี่ยนแปลงแล้วเหลือเวลา 150 วันในการจัดเลือกตั้ง จะทำให้เกิดความโกลาหล และความยากลำบากต่อผู้เกี่ยวข้อง กรธ.จึงทำกฎหมายสองฉบับแรกออกมาเร็ว แต่อยู่ดีๆ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับนำการทำงานของพรรคการเมืองไปผูกกับกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ว่าต้องประกาศใช้ก่อน

“คำสั่งมาตรา 44 ที่ออกมาก็ยังเขียนว่าเอาเรื่องของพรรคการเมือง ซึ่งควรจะเตรียมการก่อนการเลือกตั้งไปผูกกับกฎหมายเลือกตั้งที่มีเวลาแค่ 150 วัน ซึ่งไม่มีเหตุผลอะไรเลย และที่อ้างว่าสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย ผมแปลกใจว่าอะไรที่ทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย ทำไมผู้ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จไม่มีความตระหนัก หรือรอบคอบพียงพอที่จะรู้ว่าแผนการที่วางเป็นขั้นตอนด้วยเหตุด้วยผลคืออะไร ผมไม่อยากเชื่อว่าไม่รู้ แต่กลายเป็นว่าอาจจะมีความต้องการอะไรบางอย่าง และถ้ามีความต้องการในเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้ง ทำไมไม่มีความกล้าหาญที่จะบอกอย่างตรงไปตรงมา ผมเห็นว่าเป็นชายชาติทหาร อยากจะเลื่อนการเลือกตั้งเพราะมีเหตุผลที่ดีเพื่อส่วนรวมก็บอกมาตรงๆ ไม่เอามาตรา 44 มาแก้ พอถึงเวลาเกิดขรุขระทำอะไรไม่ทันก็เอามาตรา 44 ออกมาอีก โดยที่ไม่บอกให้สังคมและประชาชนรู้อย่างตรงไปตรงมาว่าผู้มีอำนาจกำลังมองปัญหาอย่างนี้ ยิ่งทำเช่นนี้ และยิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเท่าไหร่ยิ่งต้องใช้ให้น้อยที่สุด อย่าใช้พร่ำเพื่อ อำนาจเบ็ดเสร็จแต่ไปปักอยู่บนขี้เลน มันไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ได้ปฏิรูป ทั้งที่กฎหมายทั้งหมดก็มาจาก คสช.และแม่น้ำ 5 สายทั้งนั้น มีอำนาจเบ็ดเสร็จแต่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ตามใจชอบ เปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ก็ได้ และถ้าอำนาจเบ็ดเสร็จที่ใช้ไปเพื่อประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวก ซึ่งทำได้ทั้งนั้น แต่อยากให้ระมัดระวังแล้วย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ว่าเวลาใช้อำนาจแล้วขาดความชอบธรรมผลสุดท้ายผู้ใช้อำนาจจะต้องเผชิญกับอะไร ก็อยากจะเตือนไว้เท่านั้น” อภิสิทธิ์ กล่าว

อภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า คำสั่งมาตรา 44 ที่ประกาศดังกล่าวบอกให้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 61 ใครอยากตั้งพรรคให้เริ่มต้นดำเนินการได้ ซึ่งหนีไม่พ้นต้องไปหาสมาชิกด้วย จึงเป็นเรื่องแปลกว่ากฎหมายได้อนุญาตให้เฉพาะกลุ่มคนบางกลุ่มหาสมาชิกพรรคได้ แต่ขณะที่พรรคการเมืองเก่าไม่มีสิทธ์ทำอะไรเลย และต้องรอเดือนเม.ย.เท่านั้น จึงจะเริ่มดำเนินการได้ ดังนั้นการที่คสช.ระบุว่าในระหว่างนี้พรรคเก่าไปเตรียมการกับสมาชิกพรรคเก่า ก็ต้องถามว่าทำได้หรือไม่ ในเมื่อยังมีคำสั่งคสช.ห้ามเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งคสช.ต้องบอกให้ชัด ถ้าเป็นห่วงเรื่องความวุ่นวายทางการเมือง ตนขอถามว่าทำไมคนบางกลุ่มเคลื่อนไหวได้ โดยไม่กลัวว่าจะวุ่นวาย หรือรู้อยู่แล้วว่าจะมีใครตั้งพรรคใหม่ แล้วทำไมกลุ่มคนอื่นเคลื่อนไหวแบบเดียวกันไม่ได้ เป็นเรื่องไม่มีเหตุมีผล

อภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตามคำสั่งที่ออกมา ในเดือนเม.ย.นี้ ใครเป็นสมาชิกพรรคเก่ายืนยันและชำระเงิน เพื่อยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคของตนเอง ซึ่งพรรคที่ได้รับผลกระทบก็คือพรรคที่มีสมาชิกอยู่แล้ว โดยเฉพาะพรรคที่มีสมาชิกจำนวนมาก ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกเกือบ 3 ล้านคน การจะติดต่อคน 3 ล้านคน โดยถูกห้ามเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมอยู่ และให้ 3 ล้านคนทำหนังสือยืนยันกลับมาภายใน 30 วัน ในทางปฏิบัติทำได้หรือไม่ หากไม่ยืนยันก็ต้องหลุดไป ซึ่งเหมือนกับรีเซ็ตสมาชิกพรรค ซึ่งไม่ได้เป็นศูนย์แต่กลายเป็นติดลบ เพราะสมาชิกพรรคที่หลุดไปเสียความรู้สึกกับพรรคที่เขาผูกพันอยู่ ไม่แน่ใจว่า ระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. พวกตนจะสามารถไปทำงานเชิงธุรการที่จะให้สมาชิกเก่าทำหนังสือยืนยันและชำระเงินได้กี่คน ยังนึกไม่ออกเลยว่าจะทำอย่างไรไม่ใช่ง่ายๆ แต่พรรคใหม่เขาเดินไปชักชวนใครก็ได้ ตนถึงบอกว่า ถ้ากล้าหาญพอทำไมไม่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างตรงไปตรงมา

อภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นความตั้งใจหรือไม่ที่ให้สมาชิกต้องยืนยันด้วยหนังสือ แทนที่จะให้ยืนยันทางอิเล็กทรอนิคส์ ตนไม่ได้มีปัญหาในเชิงการแข่งขัน เพราะถึงเวลาจริงๆ คือการหาคนมาลงคะแนนให้ สมาชิกเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่พูด พูดในมุมผูกพันทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ของสมาชิกและพรรคการเมือง มาทำลายตรงนี้เพื่ออะไร และถ้ามองการเมืองแค่เรื่องการเลือกตั้งจำนวนสมาชิกก็ไม่มีผลอะไรเท่าไหร่วันก่อนนายกพูดว่าการเมืองที่ดีต้องปรับปรุงระบบตัวแทนต้องมีส่วนร่วม มีความผูกพัน แต่นี่คือสิ่งที่ท่านกำลังทำลายจากการที่อยู่ดีๆบังคับให้พรรคภายใต้คำสั่งคสช.ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งจะต้องมีคนอื่นๆอีกหลายล้านคนต้องทำหนังสือยืนยัน แต่วิธีการและรูปแบบกำหนดอย่างไรในขณะนี้ยังไม่ทราบได้ เพียงเพื่ออะไรก็ไม่ทราบ จริงๆการให้อนุญาตดำเนินการตามคำสั่งไม่สุ่มเสี่ยงต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองมากกว่าหรือ เพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวในวงกว้าง

“อยากบอกกับสมาชิกพรรคที่มีหัวใจเป็นประชาธิปัตย์ ก็เป็นประชาธิปัตย์ต่อไป กฎหมายจะมากลั่นแกล้งบีบคั่นแบบนี้เพื่อให้หลุดไปก็ไม่เป็นไร แต่เชื่อว่าคนที่ยังมีอุดมการณ์ก็ยังมีอุดมการณ์อยู่ แต่การทำลายความผูกพันระหว่างสมาชิกกับพรรคแบบนี้ มองไม่เห็นประโยชน์ส่วนร่วม และทำให้ความอ่อนแอทางการเมืองมีมากขึ้น เพราะทุกอย่างจะกลายเป็นการแข่งขันเฉพาะหน้า” อภิสิทธิ์ กล่าว

ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 53/2560 เป็นการรีเซตสมาชิกพรรคการเมือง และอาจส่งผลให้โรดแมปเลือกตั้งต้องขยับออกไป ว่าไม่ใช่การรีเซต ไม่ใช่การเซตซีโร่ และอธิบายไปแล้วว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะของเดิมก่อนที่จะมีการแก้ไขระบุเอาไว้ว่าพรรคต้องยืนยันเรื่องสมาชิก อย่างไรก็ตาม ตนไม่ทราบเจตนาของเขาที่ออกมาบอกว่าเป็นการรีเซต แล้วแต่จะมองกัน แต่เจตนาของ คสช. ไม่ได้ต้องการอย่างนั้น เพราะมองว่าที่ผ่านมาหลายคนเป็นสมาชิกหลายพรรค บางคนไม่รู้ตัวว่าเป็นสมาชิก บางทีมีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไปล่าลายเซ็นมาโดยไม่ต้องเสียค่าสมาชิก หรือบางคนเป็นสมาชิกจริง แต่ระยะเวลานานจนคิดว่าพรรคคัดชื่อออกไปแล้ว เราจึงต้องการให้ตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ โดยให้สมาชิกเป็นคนยืนยันมาที่พรรค แต่ถ้าไม่อยากยืนยัน ก็ให้อยู่เฉยๆ พอพ้นเวลา 1 เดือนจะพ้นจากสมาชิกไปเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้ยืนยันสมาชิกพรรคไม่ได้เปิดช่องให้รีเซตสมาชิกอย่างที่มีการวิจารณ์ใช่หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ไม่รู้คำว่ารีเซตแปลว่าอะไร แต่ย้ำว่าไม่ใช่การรีเซต แต่เพื่อตรวจสอบสมาชิกให้ชัดเจน และยืนยันไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองใหม่ เพราะเขาต้องทำเรื่องสมาชิกเหมือนกัน แต่จะง่ายกว่าคือเริ่มนับจากศูนย์ ตั้งแต่ไม่มีสมาชิกที่ค้างสต๊อกไว้ แต่ขณะเดียวกันก็ลำบาก เพราะไม่ทราบว่าคนที่มาสมัครเป็นสมาชิกของพรรคอื่นอยู่หรือเปล่า เนื่องจากตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2550 มีความวุ่นวายเรื่องของสมาชิกพรรค ไม่รู้ว่าใครอยู่พรรคไหนอย่างไร และมีชื่อซ้ำซ้อนเป็นจำนวนมาก บางคนไม่คิดว่าเป็นสมาชิกพรรคก็มี เพราะคิดว่าการที่มานำชื่อไปเพื่อการเลือกตั้งในครั้งนั้นๆ เพียงหนเดียวแล้วจบ แต่ปรากฏว่ายังเป็นสมาชิกอยู่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

“สิ่งที่เขาเป็นกังวลอยู่ในขณะนี้คือ การให้ยืนยันสมาชิกภายใน 30 วัน จะทำไม่ทัน แต่ในความเป็นจริงไม่มีปัญหา เพราะถ้าพ้นเวลา 30 วันไปแล้ว ยังสมัครสมาชิกใหม่ได้ ไม่มีปัญหา สามารถยืดออกไปได้ตลอด จะขอขยายเป็นชาติก็ได้ ถ้าพรรคใดกลัวว่าสมาชิกจะเหลือน้อย ให้รีบติดต่อทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ไปจนถึงเดือน มี.ค. 2561 ให้สอบถามสมาชิกของตัวเองไป โทรศัพท์ หรือทางออนไลน์ สอบถามกันไป เพื่อให้วันที่ 1 เม.ย. 61 จะยื่นสมัครพร้อมกับเสียค่าสมาชิกได้ในทันที” วิษณุกล่าว

ต่อข้อถามกรณีพรรคประชาธิปัตย์จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสั่ง คสช. วิษณุกล่าวว่า ไม่เป็นไร ทำได้ ไม่มีปัญหา ไม่ว่ากัน เป็นสิทธิ และถ้ายื่นจริงจะไม่ส่งผลให้คำสั่ง คสช.ต้องสะดุด กระบวนการยังเดินต่อไปได้

เรียบเรียงจาก: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net