Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

"โบสถ์" ในที่นี้ผมหมายถึงสถานที่ทำพิธีกรรมของพระสงฆ์ในพุทธศาสนา โบสถ์นั้นเป็นพื้นที่ทางศาสนา ผมเข้าใจว่า แรกเริ่มเดิมที สถานที่ทำสังฆกรรมเป็นเพียงขอบเขตพื้นที่ภายในอารามที่สงฆ์สมมติขึ้นที่เรียกว่า "สีมา" เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม เช่น การทำพิธีอุปสมบท การฟังสวดปาฏิโมกข์ ต่อมาถึงได้มีการทำสถานที่ตรงนั้นให้มีหลังคากันแดดกันฝน เรียกว่า "โรงอุโบสถ" และได้มีการพัฒนาโรงอุโบสถเป็นตัวอาคารในรูปทรงแบบต่างๆ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน แม้สถานที่สีมาจะกลายมาเป็นอุโบสถ แต่ก็ยังคงมีจุดประสงค์เดิม คือ เป็นที่สำหรับทำพิธีกรรมของสงฆ์

ถามว่า พิธีกรรมของพระสงฆ์ในพุทธศาสนาเข้มงวดกวดขันถึงกับต้องกำหนดให้ทำภายในเขตอุโบสถเท่านั้นหรือไม่ คำตอบคือ มีระเบียบพุทธบัญญัติให้การทำสังฆกรรมต้องทำในเขตที่สงฆ์สมมติขึ้นเป็นสีมา หรือโบสถ์นั้นจริงๆ หากทำไม่ถูกที่ถูกทางตามที่พระวินัยกำหนด ย่อมมีผลทำให้สังฆกรรมเสียหาย คือ สังฆกรรมไม่สำเร็จ หรือ ใช้ไม่ได้ ผมขออภัยที่คำตอบดังกล่าวนี้อาจไม่ถูกใจใครหลายคน (inconvenient truth) กล่าวตามคำสอนของพุทธศาสนาที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเชื่อเรื่องความขลัง หรือศักดิ์สิทธิ์ การทำสังฆกรรมในเขตพื้นที่กำหนดก็เพื่อให้เกิดความถูกต้องตามที่พระวินัยบัญญัติเท่านั้นละครับ ไม่ใช่เพื่อความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ในทางอิทธิปาฏิหาริย์อะไรดังที่หลายคนอาจจะเข้าใจผิด แต่แม้กระนั้น ช่วงที่พระสงฆ์กำลังใช้ที่นั้นทำพิธีกรรมทางสงฆ์ก็จำเป็นต้องระมัดระวังไม่ให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในพิธีกรรม เข้าไปในเขตหัตถบาส หรือเขตที่พระสงฆ์กำลังนั่งรวมกันทำพิธี เพราะหากบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป จะส่งผลทำให้สังฆกรรมเสียหายได้เช่นกัน แต่ความเข้มงวดนี้ก็ใช้เฉพาะในช่วงเวลามีพิธีกรรมทางสงฆ์เท่านั้นนะครับ นอกเหนือจากช่วงเวลานั้น วัดส่วนใหญ่จะเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ากราบไหว้พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถ (หากเป็นพระอารามหลวง เรียกว่า "พระอุโบสถ") ตามปกติ ยกเว้นบางวัดที่ใช้โบสถ์เป็นที่เก็บศาสนสมบัติบางอย่างอาจจะเปิดเฉพาะช่วงที่มีพิธีสงฆ์และปิดประตูในช่วงเวลาปกติไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปเพื่อป้องกันการโจรกรรม ซึ่งก็ไม่ควรถูกมองว่าปัญหาอะไร เมื่อที่ตรงนั้นไม่เปิดประตูให้เข้าไปไหว้พระ เราก็ไปไหว้พระในโบสถ์ของวัดอื่นๆ ที่ท่านเปิดประตูไว้ก็ได้นี่ครับ

ตรงนี้อาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า เท่าที่ทราบตามคำสอนทั้งฝ่ายพระธรรมและฝ่ายพระวินัยในพุทธศาสนานั้น ไม่ปรากฏมีมนุษย์คนใดถูกห้ามไม่ให้เข้าโบสถ์ ยกเว้นกรณีพระสงฆ์ทำพิธีกรรม หรือประตูโบสถ์ปิดดังที่กล่าวมาแล้ว

ทีนี้ ผลจากความเชื่อเรื่องห้ามผู้หญิงเข้าโบสถ์จนกลายเป็นข่าวดังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์/ถกเถียงโต้แย้งกันจนดังกระหึ่มในโลกเสมือนจริงอย่างสังคมโซเชี่ยลและสังคมภายนอกโลกเสมือนจริงทั่วหัวระแหงอยู่เวลานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ดังที่ได้สรุปไปแล้ว ตามคำสอนทั้งในพระธรรมและพระวินัย ไม่ปรากฏมีมนุษย์คนใดถูกห้ามไม่ให้เข้าโบสถ์ (ผมหมายถึงการเข้าไปด้วยวัตถุประสงค์จะไหว้บูชาพระอย่างที่ชาวพุทธทั่วไปนิยมทำกันนะครับ) แต่หากสถานที่หรือชุมชนใดมีกฎระเบียบห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าโบสถ์ก็ต้องบอกว่าเป็นความเชื่อของสถานที่หรือชุมชนนั้น ไม่ใช่ความเชื่อที่มีฐานมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก แต่จะมีฐานมาจากแนวคิดความเชื่อของลัทธิใด ผมยังไม่ทราบแน่ชัด

ตามข่าวบอกว่า เหตุเกิดในวัดแห่งหนึ่งในเขตพื้นที่จังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ จริงๆ ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจำได้ว่าเคยมีกรณีห้ามผู้หญิงเข้าบางพื้นที่ภายในองค์เจดีย์ในวัดพระธาตุดอยสุเทพจนกลายเป็นข่าวดังอยู่ช่วงหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ชาวชุมชนในพื้นที่แถบนั้นอธิบายว่า ผู้หญิงมีสิ่งสกปรกอยู่ในสรีระ (เช่น กรณีผู้หญิงมีระดู) ซึ่งไม่เหมาะที่จะปล่อยให้เธอเข้าสู่พื้นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์ที่ชุมชนนับถือ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระพุทธรูปเก่าแก่ (และอื่นๆ) พิจารณาดูผมขอสันนิษฐานว่า ความเชื่อแบบนี้เดิมเป็นปรากฏอยู่ในลัทธิพราหมณ์-ฮินดูที่มองว่าระดูของสตรีสามารถส่งผลกระทบต่ออานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ของเทวรูปหรือสิ่งที่เคารพนับถืออื่นๆ สตรีจึงเป็นบุคคลต้องห้ามในเขตพื้นที่ดังกล่าว เมื่อความเชื่อนี้ซึ่งมีอิทธิพลต่อชุมชนอยู่ก่อนแล้วถูกนำมาเชื่อมโยงกับพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระพุทธรูปอันเป็นสัญญะสำคัญอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา สตรีก็เลยกลายเป็นบุคคลต้องห้ามในเขตพื้นที่ที่พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ไปด้วย

หากมองย้อนไปในอดีต เราจะพบกลิ่นอายของความเชื่อดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมภาษาบาลีของล้านนาเรื่อง "มงคลทีปนี" ที่แต่งโดยพระสิริมังคลาจารย์ด้วยเหมือนกัน ดังตอนที่กล่าวถึงพระเจ้าพิมพสารที่ถูกพระโอรสคือพระเจ้าอชาตศัตรูรับสั่งให้เจ้าหน้าที่เอามีดกรีดฝ่าพระบาทเพื่อไม่ให้พระองค์เดินจงกรมทำสมาธิได้ พระสิริมังคลาจารย์อธิบายความตอนนี้ว่ามาจากบุพกรรมในอดีต คือ (1) ในอดีตชาติ พระเจ้าพิมพิสารเคยสวมฉลองพระบาทเข้าไปในพื้นที่ลานพระเจดีย์ที่มหาชนเคารพกราบไหว้ด้วยเครื่องสักการะต่างๆ และ (2) พระองค์เหยียบเสื่อลำแพนที่ปูไว้สำหรับเป็นที่นั่งของพระสงฆ์โดยไม่ได้ทรงชำระล้างพระบาทให้สะอาดเสียก่อน

แต่ความเชื่อเรื่องบุรพกรรมในอดีตของพระเจ้าพิมพิสารนี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นปัญหาเพราะอธิบายได้ว่า เรื่องเล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างสำหรับบอกให้รู้ว่า การปฏิบัติต่อสถานที่ หรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนเคารพนับถืออย่างไม่เหมาะไม่ควรนั้นมีผลร้าย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยใครก็ตาม ไม่จำกัดเพศ วัย หรือชาติตระกูล

แต่กรณีที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้กลายเป็นปัญหาเพราะคำถามว่า ทำไมผู้หญิงจึงถูกห้ามเข้าโบสถ์ กฎการห้ามเข้าโบสถ์จะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลและเป็นที่ยอมรับถ้าเป็นกฎระเบียบที่สากลคือ บังคับใช้กับทุกคน การสงวนกฎนี้ไว้เฉพาะผู้หญิงเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าไม่สมเหตุสมผลและไม่น่าจะถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อมองเรื่องนี้ผ่านแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค 

ส่วนตัวผมไม่ได้มองว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาหนักหนาอะไร เพราะเห็นว่า ความเชื่อเรื่องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้หญิงเป็นความเชื่อเก่าแก่ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตจิตวิญญาณของผู้คนในพื้นที่ซึ่งได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดกันมายาวนาน ความหมายของผมก็คือ ความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์เป็นความเชื่อที่ถูกส่งผ่านจากโลกในอดีต ขณะที่แนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเป็นแขกหน้าใหม่ผู้มาเยือนจากต่างบ้านต่างเมืองและต่างวัฒนธรรม แม้เรื่องสิทธิฯ จะเป็นสิ่งสากลที่อารยประเทศพากันตระหนักและให้การยอมรับ แต่สำหรับสยามประเทศ พื้นที่ความเชื่อของผู้คนส่วนใหญ่ยังคงผูกติดอยู่กับโลกของอดีต

ผมคิดว่า เราคงจะได้เห็นการปะทะสังสรรค์ระหว่างอิทธิพลความเชื่อเก่าแก่กับแนวคิดใหม่ๆ ของสังคมโลกยุคใหม่เกิดขึ้นในสังคมไทยกันต่อไปอีกนาน แต่โดยส่วนอีกเช่นกัน ผมก็เชื่อว่า แนวคิดใหม่ๆ โดยคนรุ่นใหม่จะสามารถกัดเซาะวัฒนธรรมความเชื่อแบบเก่าให้สลายมลายสิ้นและประสบชัยชนะในที่สุด

ข้อเสนอสำหรับสถานการณ์ยามนี้ของผมก็คือ หากเราต้องย่างกรายเข้าไปในเขตพื้นที่ใด ก็ให้ความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนในพื้นที่นั้นโดยอาจจะต้องวงเล็บเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเอาไว้ในใจก่อนก็เท่านั้นแหล่ะครับ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net