Skip to main content
sharethis
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในฮอนดูรัสรอบล่าสุดที่ทำให้เกิดการนองเลือด สื่อสหรัฐฯ และอังกฤษได้เปิดเผยเรื่องราวที่ว่ารัฐบาลพรรครีพับลิกันของสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนรัฐบาลที่มีที่มาจากการโกงการเลือกตั้งและใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงจนเสียชีวิตอย่างไร
 
4 ม.ค. 2561 สื่อสัญชาติสหรัฐฯ เดอะเดลีบีสต์รายงานว่าในขณะที่ประชาชนในฮอนดูรัสต้องเสี่ยงตายเพื่อปกป้องหลักการอยู่ทุกวัน รัฐบาลพรรครีพับลิกันนำโดยโดนัลด์ ทรัมป์ กลับให้การสนับสนุน ฮวน ออร์ลันโด เฮอร์นันเดซ ผู้ที่สื่อเดอะเดลีบีสต์เรียกว่าเป็น "ทรราช" คนใหม่ของฮอนดูรัส หลังจากที่มีผู้คนถูกสังหารหลายสิบคนจากการปราบปรามของรัฐบาลฮอนดูรัสรวมถึงมีคนจำนวนมากได้รับบาดเจ็บและมีผู้ต่อต้านคุมขังอย่างน้อย 1,500 ราย
 
ในรายงานของเดอะเดลีบีสต์ระบุว่าฮอนดูรัสถูกใช้เป็นพื้นที่วางฐานปฏิบัติการของสหรัฐฯ มาเป็นเวลานานแล้วทั้งที่แสดงออกให้เห็นชัดเจนและทั้งที่ปิดลับ ไม่เพียงแค่รัฐบาลทรัมป์เท่านั้น ในสมัยของรัฐบาลบารัค โอบามา พรรคเดโมแครต สหรัฐฯ ก็เคยเปิดทางอนุญาตให้กลุ่มชนชั้นนำและทหารยึดอำนาจประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งอย่าง มานูเอล เซลายา ในปี 2552
 
หลังการรัฐประหารในปี 2552 ทำให้ฮอนดูรัสอยู่ในช่วงเวลาโกลาหล มียาเสพติดและแก็งค์อันธพาลข้างถนนแพร่ระบาดไปทั่ว รวมถึงกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการฆาตกรรมสูงที่สุดในโลก ทำให้มีผู้คนอพยพออกจากประเทศจำนวนหลายแสนคนไปที่สหรัฐฯ ที่พวกเขาหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า
 
เฮอร์นันเดซไม่เพียงถูกกล่าวหาเรื่องการโกงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดและใช้กำลังปราบปรามผู้คนเท่านั้น เขายังละเมิดกติกาตามรัฐธรรมนูญฮฮนดูรัสด้วยการอยู่เป็นผู้นำเกินหนึ่งวาระจากการเลือกตั้งที่เขา "ขโมยมา"
 
กองกำลังของฮอนดูรัสที่ปราบปรามประชาชนได้รับงบประมาณความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ 114 ล้านดอลลาร์ แต่สหรัฐฯ ก็เงียบเฉยต่อความโหดร้ายนี้ ขณะที่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรง 31 ราย กังวลว่าพวกเขาจะไม่ได้รับความเป็นธรรม
 
เดอะการ์เดียนรายงานว่าสำหรับญาติของเหยื่อผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของรัฐบาลฮอนดูรัสแล้วบรรยากาศช่วงเทศกาลที่ผ่านมาไม่ทำให้พวกเขารู้สึกอยากเฉลิมฉลองแต่อย่างใด เดวิด รามอส พ่อของโฮเซ รามอส ชายอายุ 22 ปีที่เสียชีวิตเดินออกแจกใบปลิวภาพลูกชายที่เสียชีวิตของเขาบนท้องถนนเขาบอกว่า "คริสต์มาสไม่มีอยู่สำหรับพวกเราอีกแล้ว ไม่ใช่ทั้งปีนี้ ไม่ใช่ปีไหนๆ"
 
องค์กรคณะกรรมการเพื่อครอบครัวผู้ถูกคุมขังและผู้สาบสูญในฮอนดูรัส (Cofadeh) ระบุว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความขัดแย้งล่าสุดทั้งหมดมีอย่างน้อย 21 รายทีถูกสังหารโดยสารวัตรทหาร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับคำสั่งมาจากกองทัพ โดยที่กองทัพฮอนดูรัสทำการข่มขู่คุกคามญาติของผู้เสียชีวิตบางคนทำให้พวกเขากังวลว่าจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ยังมีการคาดคะเนว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งอาจจะสูงมากกว่านี้เนื่องจากมีการเสียชีวิตบางส่วนที่ยังไม่มีการสืบสวน
 
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างก็ประณามการกระทำของรัฐบาลฮอนดูรัส แอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลประณามการที่รัฐบาลฮอนดูรัสใช้วิธีการที่อันตรายและผิดกฎหมายเพื่อกลบเสียงของผู้ต่อต้านรัฐบาล สหประชาชาติและคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (IACHR) ก็ประณามการทารุณกรรมผู้ต้องขังในสถานทำการของกองทัพรวมถึงเตือนเรื่องการใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม
 
อย่างไรก็ตามรัฐบาลฮอนดูรัสที่มีทางการสหรัฐฯ หนุนหลังปฏิเสธไม่ให้องค์การรัฐอเมริกัน (OAS) ส่งผู้แทนพิเศษเข้าไปสืบสวนในกรณีเหล่านี้ ทางการสหรัฐฯ ลดทอนการประท้วงโดยอ้างว่ามีพวกแก็งค์อาชญากรรมอยู่เบื้องหลังและมีการบิดเบือนการนำเสนอในสื่อกล่าวหาว่าเป็นการยิงกลุ่มติดอาวุธ ถึงแม้ว่าญาติของผู้เสียชีวิตเช่นกรณีโฮเซ รามอส จะมีหลักฐานแตกต่างจากในสื่อของฮอนดูรัสคือแสดงให้เห็นภาพของผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งขว้างปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร ขณะที่โฮเซยืนโบกธงอยู่ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เปิดฉากยิงใส่พวกเขาทำให้โฮเซและผู้ประท้วงรายอื่นๆ ที่ไม่มีอาวุธในมือเลยถูกยิงเสียชีวิต
 
แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้การช่วยเหลือด้านงบประมาณแก่กองทัพฮอนดูรัสแต่พวกเขาก็ไม่เคยออกมาประณามเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝีมือของเจ้าหน้าที่ทางการฮอนดูรัสเลย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงรวมถึงผู้บัญชาการคนใหม่อย่าง เรเน ปอนเซ ยังคงได้รับการฝึกซ้อมจากทางการสหรัฐฯ โดยที่เดอะการ์เดียนระบุว่าปอนเซมีส่วนพัวพันกับทั้งหน่วยสารวัตรทหารฮอนดูรัสและกองกำลังฟูซินา ซึ่งเป็นกองกำลังที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง เบอร์ตา คาเซเรส และทั้งสองหน่วยงานก็ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ทั้งคู่
 
นอกจากจุดที่กลุ่มเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ แล้ว ผู้คนยังกังวลในเรื่องที่หน่วยฟูซินาคอยกำกับดูแลทนายของคดีความที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารด้วย จึงน่ากังวลว่าจะมีการสืบสวนความรุนแรงเหล่านี้อย่างจริงจังหรือไม่
 
อดัม ไอแซคซัน จากองค์กรสำนักงานวอชิงตันในประเด็นละตินอเมริกาเตือนสหรัฐฯ ว่าพวกเขาควรจะกดดันให้เฮอร์นันเดซเลิกใช้อำนาจตามอำเภอใจ เพราะการที่สหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนผู้แทนที่เข่นฆ่าประชาชนฝ่ายต่อต้านจำนวนมากไม่ใชภาพลักษณ์ที่ดีเลย
 
สื่อเดลีบีสต์ยังนำเสนอเรื่องที่ฝายตรงข้ามของเฮอร์นันเดซ คือซัลวาดอร์ นาสราลลา เตือนว่าวิกฤตการเลือกตั้งของฮอนดูรัสในครั้งนี้อาจจะดึงให้ประเทศไปสู่ "สงครามกลางเมือง" ได้ ซึ่งอเล็ก เมน นักวิเคราะห์อาวุโสจากศูนย์วิจัยเพื่อเศรษฐกิจและนโยบายบอกว่าคำเตือนของนาสราลลาไม่ใช่แค่โวหารแต่มีความไม่พอใจอย่างมากจากกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮฮนดูรัสที่ดูจะไม่ยอมล่าถอยไปง่ายๆ ขณะเดียวกันการที่เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนปฏิเสธคำสั่งโจมตีผู้ประท้วงก็เป็นสัญญาณว่ามีรอยร้าวเกิดขึ้นภายในกองทัพ
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Families fear no justice for victims as 31 die in Honduras post-election violence, The Guardian, 02-01-2018
 
In Little Honduras a Loyal U.S. Client, and Tyrant, Backed by Trump and the Bananan Republicans, The Daily Beast, 31-12-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net