Skip to main content
sharethis
ในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ มักจะใช้โวหารในการหาเสียงอ้างว่ามีการ "โกงการเลือกตั้ง" อยู่ตลอดเวลาและเมื่อเขาได้เป็นประธานาธิบดีเขาก็อ้างเรื่องนี้สั่งให้จัดตั้ง "คณะกรรมการเพื่อความสุจริตในการเลือกตั้ง" โดยแต่งตั้งรองประธานาธิบดีซึ่งเป็นคนของตัวเองเป็นประธาน แต่ล่าสุดก็มีการสั่งยุบคณะกรรมการชุดนี้แล้วโดยอ้างว่ารัฐต่าง ๆ ไม่ยอมส่งหลักฐานข้อมูลเพื่อการพิพาทคดีตามกฎหมายให้กับพวกเขา
 
 
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2561 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งพิเศษให้มีการยุบหน่วยงานคณะกรรมการที่ปรึกษาประธานาธิบดีในเรื่องความสุจริตในการเลือกตั้ง (Presidential Advisory Commission on Election Integrity) ซึ่งทรัมป์เป็นผู้ก่อตั้งเองเมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2560 โดยอ้างอย่างไม่มีหลักฐานใดๆ ว่า มีผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายหลายล้านคนลคะแนนเสียงเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปี 2559 ทำให้เขาได้รับคะแนนเสียงโดยรวมหรือป็อบปูลาร์โหวตน้อยกว่าฮิลลารี คลินตัน ผู้เป็นคู่แข่ง (แต่ตามระบบคณะผู้เลือกตั้งของสหรัฐฯ ทำให้ทรัมป์ได้รับชัยชนะ)
 
อย่างไรก็ตามจากคำแถลงของทำเนียบขาวและจากทวิตเตอร์ของทรัมป์เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่ามีการยุบคณะกรรมการชุดนี้แล้วเพราะหลายรัฐไม่ส่งข้อมูลที่จะใช้ในการพิพาทคดีมาให้ ขณะที่ซาราห์ ฮัคคาบี แซนเดอร์ โฆษกรัฐบาลกล่าวว่ามีการลงนามยกเลิกคณะกรรมการนี้แล้ว "แทนที่จะปล่อยให้มีการต่อสู้คดีอย่างยืดเยื้อไม่มีที่สิ้นสุดโดยที่ใช้ทรัพยากรของประชาชนที่เสียภาษีไปเรื่อยๆ"
 
องค์กรด้านสิทธิพลเมืองหลายกลุ่มแสดงความยินดีที่มีการยุบหน่วยงานนี้ ไมเคิล วัลด์แมน ประธานศูนย์เบรนแนนเพื่อความยุติธรรม แถลงว่า คณะกรรมการเพื่อความสุจริตในการเลือกตั้งของทรัมป์เป็นสิ่งที่ "เริ่มต้นจากโศกนาฏกรรมและจบลงด้วยปาหี่" พวกเขาไม่สามารถค้นหาหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับผู้ลงคะแนนอย่างผิดกฎหมายตามที่ทรัมป์อ้าง และการยุบหน่วยงานนี้ก็แสดงให้เห็นว่าข้ออ้างของทรัมป์ว่าที่มีการโกงการเลือกตั้งเป็นเรื่องโกหก
 
ทรัมป์ยังเคยแต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมการนี้ เช่น ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และคริส โคแบต ฝ่ายการต่างประเทศของแคนซิส พวกเขาใช้เวลาทำงานของตัวเองคอยสร้างเรื่องเล่าเท็จเกี่ยวกับ "การโกงการเลือกตั้ง" การจัดตั้งคณะกรรมการนี้ทำให้กลุ่มรณรงค์เรื่องสิทธิในการเลือกตั้งไม่พอใจอย่างมาก พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลทรัมป์พยายามอ้างเรื่องการทุจริตเลือกตั้งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงมาพยายามออกกฎหมายเพิ่มความเข้มงวดในการระบุตัวตนผู้ลงคะแนนเสียงมากขึ้น ทำให้คนที่เป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมถูกกีดกันออกไปจากการเลือกตั้ง
 
เดล โฮ จากองค์กรสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) กล่าวในแถลงการณ์ว่า ปัญหาจริงๆ ของสหรัฐฯ คือการที่มีคนออกมาใช้สิทธิน้อยเพระามีอุปสรรคกีดขวางไม่ให้คนสามารถลงคะแนนได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีเครื่องจักรที่ล้าสมัยและไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการแทรกแซงจากต่างชาติได้ แต่แทนที่คณะกรรมการของทรัมป์จะพูดถึงปัญหาเหล่านี้ที่จะส่งผลกระทบต่อความแม่นยำของการเลือกตั้งมากกว่า คณะกรรมการของทรัมป์ก็มัวแต่ไล่คว้าลมในข้ออ้างเรื่องการโกงการเลือกตั้งและเป็นการใส่ร้ายคนลงคะแนนเสียงชาวอเมริกันที่พวกเขาควรจะช่วยเหลือให้มีส่วนร่วมในการลงคะแนน จึงน่าสงสัยว่าการกระทำของคณะกรรมการกลุ่มนี้จะมีเจตนากีดกันทำให้คนใช้สิทธิลงคะแนนยากขึ้น
 
ขณะที่ทรัมป์กล่าวโทษรัฐ 45 รัฐ ที่ไม่ยอมส่งข้อมูลให้กับคณะกรรมการ แต่เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ก็โต้แย้งว่าคณะกรรมการของทรัมป์ตั้งขึ้นมาจากการโกหกอยู่แล้วและทำให้เกิดความน่ากังวลว่าข้อเรียกร้องจะกระตุ้นให้พลเมืองสหรัฐฯ ยกเลิกการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของตัวเอง
 
กลุ่มผู้รณรงค์ด้านสิทธิในการเลือกตั้งและ ส.ส.พรรคเดโมแครตแสดงความยินดีต่อการยุบคณะกรรมการนี้แต่ก็เตือนว่าควรจะมีการเฝ้าระวังในเรื่องสิทธิการเลือกตั้งต่อไปเพราะในตอนนี้ทรัมป์ได้ส่งเรื่อง "การโกงการเลือกตั้ง" ไปให้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ เป็นผู้ตรวจสอบต่อ
 
วนิตา กุปตา ประธานกลุ่มสหพันธ์ผู้นำสัมมนาประเด็นสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชน (The Leadership Conference on Civil and Human Rights) กล่าวเรียกร้องให้มีการเพิ่มการคุ้มครองสิทธิในการเลือกตั้งมากขึ้นซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของปะชาชน โดยเรียกร้องให้สภาคองเกรสต้องทำให้การเลือกตั้งง่ายขึ้นและขยายการมีส่วนร่วมของพลเมืองมากขึ้น
 
ในสหรัฐฯ ผู้ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งในระดับประเทศแทบทุกรัฐต้องมีการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนยกเว้นแต่รัฐนอร์ทดาโกตา องค์กรวิจัยพิวเคยสำรวจพบว่าในปี 2555 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งร้อยละ 24 ของสหรัฐฯ ไม่ได้ไปลงทะเบียนทำให้ไม่ได้ไปใช้สิทธิ มีการศึกษาพบว่าขั้นตอนการลงทะเบียนเป็นการทำให้ผู้คนลดแรงจูงใจไปเลือกตั้งส่งผลให้มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิน้อย
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Voting Rights Groups Cheer As Trump's 'Fraudulent' Election Integrity Commission Dissolves, Common Dreams, 04-01-2018
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net