Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ภายหลังจากการประมูลช่องโทรทัศน์ดิจิตัลไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้เกิดการแข่งขันในระบบขึ้นของช่องโทรทัศน์หน้าใหม่ 'ละคร' เป็นหนึ่งในอาวุธในการต่อสู้กันอย่างดุเดือดของช่องดิจิตัล เพื่อช่วงชิงเรตติ้งให้กับช่องของตนเอง แน่นอนว่า การผลิตละครที่สามารถดึงฐานคนดู แข่งกันสร้างละครเพื่อตัดกำลังและแย่งเรทติ้งกันในหมู่ผู้กำกับและผู้จัดละคร ได้สร้างวัฒนธรรมการผลิตละครแบบใหม่ขึ้นมา ความรุนแรงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือชูโรงในการเรียกแขก ความ ‘สะใจ’ และ ‘เอามันส์ส์ส์’ ถูกดึงมาบังหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรมในสังคม ผ่านคำว่า ละครสะท้อนสังคม, ก็ชีวิตจริงมันเป็นแบบนี้ อย่าโลกสวยหน่อยเลย

(ป้องปากกระซิบ) เราไม่ได้กำลังจะพาทุกท่านเข้าสู่ทุ่งลาเวนเดอร์และฝูงม้าโพนี่คาดโบว์สีรุ้ง แต่เราต้องการชี้เห็นถึงปัญหาของการผลิตละคร ที่ทำลายวัฒนธรรมการวิพากษ์แก่สังคมไทยนั้นกำลังก่นทำลายการพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตย อย่างน้อยที่สุดละครที่ขาด ‘Awearness’ ได้ทำลายพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยไปด้วยในขณะเดียวกัน

ประเด็นการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยนั้นซับซ้อนมากเกินไปในบริบทของสังคมไทย นักวิชาการบางสายก็จะเน้นให้แก้ไขสถาบันต่างๆ ทางการเมือง แต่สิ่งที่หายไปในการต่อสู้ทางประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมาคือ ‘ชาวบ้าน’ ที่จะกลายเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง เกิดอะไรขึ้นกับชาวบ้าน เมื่อละครกลายเป็นความบันเทิง และความรู้ในการเข้าสังคม เมื่อละครกลายเป็นบรรทัดฐานให้ชาวบ้านเชื่อและเดินตาม ละครสามารถกลายมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมสร้างและทำลายประชาธิปไตยได้ในคราวเดียวกัน การผลิตซ้ำค่านิยมจากละคร ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ทำได้จริงซึ่งก็มีลักษณะที่ไม่ได้แตกต่างออกไปจาก Propaganda หรือโฆษณาชวนเชื่อเลย บทโทรทัศน์สร้างค่านิยมในสังคม  สังคมไทยก็เป็นภาพความสำเร็จของการผลิตซ้ำค่านิยมของละครเช่นกัน ... ค่านิยมความรุนแรง ... เหยียดหยาม ดูถูก และกดขี่ คนจากสถานะทางเศรษฐกิจ

ปัญหาการผลิตซ้ำค่านิยมจากละครของไทย ได้สร้างความซับซ้อนในสังคมไทย ซึ่งปัญหาความซับซ้อนนี้ส่งผลทางอ้อมกับระบอบประชาธิปไตย ตัวละครนี่เอง คือผู้ร้ายอีกตัวหนึ่งที่สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมพุทธเทียมขนาดใหญ่ และเหนียวแน่นแตกต่างจากหลักการแบบชาวพุทธแท้ อาศัยคีย์เวิร์ดทางศาสนายัดใส่ปากตัวละครในบทโทรทัศน์  อ้างถึงความดีชั่ว แต่ไม่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของตัวละครที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจการเมือง ที่นำไปสู่การตัดสินใจต่างๆ ในชีวิตของตัวละคร และสร้างสังคมที่ขาดการวิพากษ์ขึ้นมา ผ่านวิถีชีวิตและไดอาล็อคของตัวละคร ที่ไม่ได้แสดงตรรกะและการให้เหตุผลอย่างสมบูรณ์ ละครดึงผู้ชมให้ออกห่างจากวิธีคิดอย่างเป็นเห็นเป็นผล ตลอดจนสถาปนาความหรูหราผ่านสัญญะต่างๆ ในละคร บ้านที่มีขนาดมหึมา และมีคนรับใช้ (ที่สามารถเรียกจิกหัวได้ทุกเมื่อ)  สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของบทละครแย่ๆ ของไทยคือการสร้างสังคมแห่งการเหยียด เหยียดหยามผู้คน ผูกสัญญะความจนไว้กับอาชีพคนใช้ ดูหมิ่นดูแคลน ยากจน และผลิตภาพออกมาในเชิงขำขันเพื่อใช้กับกลุ่มคนที่สามารถเหยียดหยามได้ในลำดับชั้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลลัพธ์คือ ความขำ ทำให้ภาพจำคงทนมากยิ่งขึ้น

การผลิตละครจึงเป็นเครื่องมือที่สามารถเป็นได้ทั้งคุณและโทษต่อการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย

เนื่องสงครามทีวีดิจิตัลที่ร้อนแรง ทำให้บทละครโทรทัศน์มีความแตกต่างและแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงการหลุดพ้นจากขนบเดิมๆ ในการผลิตละครจากการรีเมค หรือการผลิตละครเพื่อย้ำชัดค่านิยมแบบไทยๆ อย่างในอดีต

โดยแนวโน้มของละครรุ่นใหม่ หรือละครยุคหลังอนาล็อก มุ่งไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักที่มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ตามเพศ อายุ และสถานะ  โดยเฉพาะละครที่อ้างว่าผลิตเพื่อสะท้อนสังคม ได้ปรากฏตัวละครเพศใหม่ๆ ที่ท้าทายต่อขนบทางสังคมไทยมากยิ่งขึ้น แต่ท้ายที่สุดการปรากฏตัวของเพศใหม่ในหน้าละครโทรทัศน์กลับไม่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) แต่ประการใด หากแต่เป็นการตอกฝาโลงแก่เพศอื่นที่ไม่ใช่ชายและหญิง ให้กลายเป็นผู้ร้ายและชายขอบมากเสียยิ่งกว่าเดิม

ความจริงลึกๆ ที่สังคมไทยไม่เคยยอมรับ ปรากฏผ่านบทละครเหล่านี้ บทดึงพวกเขาให้จมลงกับการเป็นตัวร้าย ให้จบลงในฐานะผู้ที่ขัดขวางความรักของพระเอกและนางเอกเสมอ  แล้วการเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนจะเป็นหมุดหมายที่สำคัญของโลกหลังอนาล็อกนี้ มันจะสำคัญยังไง ถ้าละครยังไม่สามารถสร้างสังคมที่มีการวิพากษ์ขึ้นมาได้ แต่กลับเป็นละครที่ชี้นำความคิดให้แก่สังคม มันคงดีไม่น้อยความความคิดที่ชี้นำมันถูกต้องตามหลักสากล และผ่านการทบทวนมาอย่างรอบคอบ 

การแก้ปัญหาของตัวละครเมื่อมีตัวละครกระทำความผิด ตัวละครมักจะได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง ถูกผลิตออกมาอย่างตรงไปตรงมาจนขาดความงามทางศิลปะ  และขาดความ 'สมจริง' ในการเป็นมนุษย์ (จนเผลอหัวเราะในใจถึงความเล่นใหญ่ของละครไทย) ซึ่งมันก็ตอกย้ำวัฒนธรรมศาลเตี้ย และการขาดการทบทวนรวมถึงการตระหนักรู้ในการวิพากษ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในละคร เน้นความสะใจ เน้นการนำอารมณ์เป็นสรณะมากกว่าการถกเถียงเพื่อหาเหตุผลและข้อสรุปในการแก้ปัญหา

ในช่วงที่ผ่านมางานเขียนเก่าๆ ของนักเขียนหน้าเดิมๆ ที่ถูกนำมาผลิตเป็นละครโทรทัศน์นั้นเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมทางความคิดของคนไทย และงานประพันธ์หลายชิ้นกลับวนเวียนอยู่กับการสร้างค่านิยมแบบผิดๆ ที่ผูกติดกับขนบของวัฒนธรรมไร้การวิพากษ์ของสังคมภายในละคร ตลอดจนการผลิตซ้ำชุดความคิดทางศาสนา ที่ไม่ได้รับการตกผลึกอย่างแท้จริง แต่กลับอาศัยการยืมคำ (Big word) ในการสร้างความชอบธรรมให้การกระทำของตัวละคร แต่ปราศจากพัฒนาการทางอารมณ์และวิธีคิดที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับคน แต่กลับยัดเยียดแนวคิดทางศาสนาเข้าไปโต้งๆ เพื่อให้ทำตัวละครใกล้ชิดกับศาสนามากพอที่จะอธิบายความชอบธรรมของตัวละครได้ และสิ่งที่สำคัญอีกประการคือ ลัทธิชายเป็นใหญ่ ที่บทประพันธ์เก่าๆ ไม่รู้สึกตัว และเผลอคิดว่าการนำเสนอของตนจะเชิดชูพลังของความเป็นหญิง แต่เปล่าเลย ท้ายที่สุด คำตอบสุดท้ายของนางเอกแทบจะทุกเรื่องของละครไทย ได้ย้ำชัดถึงพลังชายเป็นใหญ่ในสังคมไทย ผ่านการสมยอมสารพัดรูปแบบและยืนยันความชอบธรรมผ่านการข่มขืนของพระเอกและยอมรับความรุนแรงของพระเอกที่ทำต่อเหล่านางเอกไทยหลายต่อหลายเรื่อง

ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา อาศัยประโยคการทำละครสะท้อนสังคม กับคำพูดประเภทที่ว่า ไม่ชอบก็ไม่ต้องดู แต่มันจะไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเราผลิตละครที่สามารถสร้างวัฒนธรรมที่ศิวิไลซ์ให้กับสังคม ร่วมกันก้าวไปข้างหน้าผ่านความคิด และมีการแลกเปลี่ยนทางความคิดหลังชมละครจบ แต่ความเป็นจริง กลับมีแต่ละครที่ปราศจากความเข้าใจในการเป็นมนุษย์ของตัวละครเต็มไปหมด และยัดเยียดบทละครโทรทัศน์ที่มี สร้าง ‘ความแม่-ความแน่’ สร้าง ‘ความโดน’ ความ ‘พระเอก-นางเอก’ โดยที่ตัวละครนั่นไม่ได้มีพัฒนาการทางความคิดที่เชื่อมโยงกับบทเหล่านั้นเลย ซี่งมันส่งผลโดยตรงต่อการรับสารของผู้ชม และวิธีคิดวิพากษ์ที่หายไปในส่วนนี้

ปัญหาความเป็นประชาธิปไตยในไทยแม้จะดูยาก ดูลำบากในการไปถึงวันนั้น แต่ถ้าเราเริ่มสามารถวัฒนธรรมการคิด การให้เหตุผล จากเรื่องใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ คงจะช่วยให้การไปถึงประชาธิปไตยดูเป็นไปได้มากขึ้นซักเปอร์เซ็นต์สองเปอร์เซ็นต์ก็ยังดี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net