Skip to main content
sharethis

 

เตือนภัย !! หนุ่มแสบใช้เฟซบุ๊กหลอก 8 คนไทยไปทำงานเกาหลีใต้ ก่อนเชิดเงินหนีกว่า 1 แสนบาท

วันที่ 7 ม.ค. 2561 นางนิธิอร บุญญานุสิทธิ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ไปที่บ้านเลขที่ 208 บ้านสองห้อง หมู่ที่ 9 ต.ตลาดไทร อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา เพื่อพบกับกลุ่มแรงงานชาวไทย 8 คน ที่ถูกมิจฉาชีพใช้เฟซบุ๊กหลอกลวงว่าจะช่วยให้ไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ จนเสียทรัพย์สินกว่า 140,000 บาท โดยได้ทำการรวบรวมเอกสาร และหลักฐานของการหลอกลวง ได้แก่ บัญชีธนาคารผู้รับโอนเงิน, หน้าเฟซบุ๊กมิจฉาชีพ, สลิปการโอนเงิน, ข้อความแชทคุยกัน และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ชุมพวง ให้เร่งทำการสืบสวนหามิจฉาชีพรายนี้มาดำเนินคดี

โดยนางบุญเลิศ อาจดี อายุ 36 ปี หนึ่งในผู้ที่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2560 ได้เข้าไปพบข้อมูลในเฟซบุ๊กของชายหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อว่า “ก้องภพ ป้องคำลา” ที่มีข้อความโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถช่วยให้คนว่างงานเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ ซึ่งเป็นงานเกี่ยวกับทำการเกษตร ประกอบกับขณะนั้นตนก็กำลังหางานทำอยู่ จึงรู้สึกสนใจและลองติดต่อทางเฟซบุ๊กดู จนได้มีการทักแชทคุยกัน จึงตกลงว่าจะต้องไปทำพาสปอร์ต ส่งไปให้เขา พร้อมกับเอกสารต่างๆ เพื่อที่จะจองตั๋วเครื่องบินให้ โดยตกลงราคาค่าดำเนินการ และค่าตั๋วเครื่องบินไป คนละ 17,000 บาท จึงทำให้ตนรีบไปกู้ยืมเงินนอกระบบ รวมทั้งนำที่นาไปจำนองไว้ เพื่อเอาเงินมาใช้ในการเดินทาง ต่อมามีญาติอีก 5 คนหลงเชื่อด้วย รวมทั้งตนเป็น 6 คน จึงได้พากันโอนเงินไปให้คนละ 17,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก เลขบัญชี 408-006102-0 ชื่อบัญชี ก้องภพ ป้องคำลา ต่อมาก็มีเพื่อนบ้านที่รู้จักกันชาว จ.ขอนแก่น สนใจร่วมเดินทางไปด้วยอีก 2 คน จึงโอนเงินไปให้อีกคนละ 20,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น กว่า 142,000 บาท โดยได้มีการนัดเวลาเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 หลังจากนั้นก็ได้มีการติดต่อพูดคุยกับนายก้องภพอย่างต่อเนื่อง แต่ต่อมาเมื่อใกล้จะเดินทาง นายก้องภพก็ได้ปิดเฟซบุ๊กหนี ไม่สามารถติดต่อได้ จึงได้รู้ว่าโดนมิจฉาชีพหลอกลวงเสียแล้ว และได้เข้าไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ชุมพวง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 เพื่อให้อายัดบัญชีธนาคารไว้ พร้อมกับให้สืบสวนหาตัวคนร้ายรายนี้มาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว

ด้านนางสาวกนกพร ฉลอยฉิม อายุ 24 ปี ผู้เสียหายอีกราย เปิดเผยว่า ตนเองนั้นทำงานเป็นพนักงานโรงงานแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร แต่ด้วยความจนบังคับจึงอยากได้งานใหม่ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะต้องการนำเงินมาสร้างบ้านให้แม่อยู่อาศัย พอได้ยินข่าวจากญาติที่มาเล่าให้ฟังเรื่องไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ จึงรู้สึกสนใจ และนำสร้อยคอทองคำน้ำหนัก 2 บาท ไปขาย เพื่อที่จะได้เงินมาใช้เป็นค่าเดินทาง ต่อมาเมื่อใกล้จะเดินทาง จึงได้รู้ว่าถูกหลอก ทำให้เสียใจมาก เพราะเสียเงินเสียทองไปแล้ว หลังจากนี้ก็จะระมัดระวังตัวไว้ ถ้าอยากไปทำงานก็จะไปติดต่อที่สำนักงานจัดหางาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายดีกว่า

นางนิธิอร กล่าวว่าคดีแรงงานไทยถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศลักษณะนี้ มีให้เห็นบ่อยครั้ง ซึ่งทุกวันนี้มิจฉาชีพได้ใช้ช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่สามารถเชื่อต่อกับเหยื่อได้ง่าย รวมทั้งยังสามารถปลอมแปลงชื่อ ที่อยู่ อาชีพ เพื่อสร้างเป็นโปรไฟล์หลอกให้ดูน่าเชื่อถือ แต่สุดท้ายเมื่อหลอกเหยื่อได้เงินมาก็จะเปิดโซเชียลหนีไปอย่างลอยนวล จึงอยากฝากเตือนแรงงานไทยที่อยากจะไปทำงานในต่างประเทศ ก่อนโอนเงินไปให้ ควรตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ว่าบุคคล หรือหน่วยงานนั้นๆ ได้รับการรับรองจากกรมจัดหางานหรือไม่ ถ้าจะให้ดีก็ให้มาติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ซึ่งจะมีข้อมูลของบริษัทจัดหางานที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับติดตามข้อมูลข่าวสาร ที่จะมีการจัดนัดพบแรงงานเพื่อให้บริษัทจัดหางาน และแรงงานได้มาพูดคุยกัน ซึ่งจะทำให้สามารถได้เดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างปลอดภัย และถูกต้องตามกฎหมายด้วย

ที่มา: คมชัดลึก, 7/1/2561

องค์การลูกจ้างชี้ขึ้นค่าแรง 15 บาท อย่างเดียวไม่พอ วอนรัฐคุมค่าครองชีพ ดูแลสวัสดิการ รายได้อื่นเพิ่มด้วย

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือแรงงานด้วยการเตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 15 บาทนั้น เห็นว่าต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมราคาสินค้า ค่าครองชีพไม่ให้พุ่งสูงเป็นเงาตามตัวหลังขึ้นค่าแรง

"ต่อให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกกี่บาทก็ยังไม่พออยู่ดี ตราบใดที่ยังไม่ควบคุมราคาสินค้าไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ด้วยแค่ลำพังค่าจ้างขั้นต่ำ แต่อยู่ด้วยสวัสดิการที่เป็นตัวเงินทั้ง ค่ากะ ค่าล่วงเวลา อื่นๆ ที่ต้องไม่ให้มารวมเป็นค่าแรงขั้นต่ำ" นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวว่าหากเทียบค่าแรงที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2516-2561 อยู่ที่ 310 บาท อาจเทียบไม่ได้กับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าแรงที่เพิ่งจะ ขยับแบบก้าวกระโดดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังนั้นนอกจากค่าแรงขั้นต่ำแล้วยังต้องพิจารณาเรื่องสวัสดิการและรายได้อื่นให้สอดรับด้วย

นอกจากนี้ ยังควรปรับแก้กฎระเบียบเพิ่มเติมเรื่องค่าจ้างแรกเข้า ที่เมื่อลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี มีทักษะฝีมือแรงงานที่เพิ่มขึ้นแล้วก็ควรจะกำหนดให้เพิ่ม ค่าจ้างตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ยึดแต่เพียงค่าจ้างขั้นต่ำ ที่จะทำให้ลูกจ้างซึ่งทำงานมานานแล้วได้เงินเดือนเท่ากับลูกจ้างที่เพิ่งเข้าใหม่

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังมอบนโยบายให้กับคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงที่กระทรวงยุติธรรมว่าได้ให้ทุกกระทรวงเร่งแก้ไขปัญหาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยให้ยึดจากฐานค่าแรงขั้นต่ำมาเป็นค่าเฉลี่ย และอาจมีการช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพที่ไม่ใช่รูปแบบตัวเงินเพียงอย่างเดียว ทั้งหมดต้องเห็นความคืบหน้าภายใน 3 เดือน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ระบุว่า ได้สั่งการให้คณะกรรมการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำจากสามฝ่าย (ไตรภาคี) เรียกประชุมบอร์ดชุดใหญ่ที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน เพื่อหารือและมีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำภายในไม่เกินวันที่ 15 ม.ค.นี้ โดยค่าแรงปรับใหม่มีผลทันทีสิ้นเดือนนี้ ขณะที่นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า อาจมีการปรับค่าแรงขึ้นมากกว่า 15 บาท หลังจากไม่ได้ขึ้นมา 3 ปี โดยจะปรับขึ้นทีเดียวทั่วประเทศ

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 6/1/2561

เปิดตัว “JOBBOX” ตู้บริการจัดหางานได้ทันที

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2561 ที่โรงแรมไอ โฮเท็ล  อ.เมือง จ.นครพนม พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิด “โครงการเดือนแห่งการมีงานทำ น้อมนำศาสตร์พระราชา” ซึ่งกรมการจัดหางาน จัดขึ้น โดยมี นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวรายงาน

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลตามแนวทางประชารัฐเพื่อส่งมอบความสุขให้แก่ประชาชนในการสร้างงาน สร้างอาชีพในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยกระทรวงแรงงานได้มอบของขวัญปีใหม่ให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง นายจ้าง และประชาชนรวม 9 ชิ้นภายใต้แนวคิด 9 ชื่นบานแรงงานชื่นใจ โดยหนึ่งในของขวัญคือชื่นมื่นมีงานทำ จับคู่คนให้ตรงกับงาน จัดหางานให้ตรงใจ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ รวมทั้งผู้สูงอายุและคนพิการได้ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี

ซึ่งการส่งเสริมการมีงานทำเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ความตอนหนึ่งว่า “การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัว ให้มีความพอกิน พอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น  เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน...”

รมว.แรงงานกล่าวอีกว่าการจัดงานครั้งนี้จะส่งผลให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเอง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน นำไปสู่สังคมคุณภาพ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายประชารัฐ ส่งเสริมให้คนไทยทุกคนมีงานทำถ้วนทั่วกันทุกช่วงวัย ก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง มุ่งสู่การมีรายได้สูงอย่างมีเสถียรภาพ นำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในที่สุด

ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานและภาคเอกชน กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดนัดพบแรงงาน ซึ่งมีนายจ้างเข้าร่วมสัมภาษณ์งานประมาณ 26 แห่ง ตำแหน่งงานว่างกว่า 1,000 อัตรา การสาธิตอาชีพที่น่าสนใจแก่คนรุ่นใหม่พร้อมแนะนำแหล่งเงินทุน การทดสอบความพร้อมทางอาชีพ การแนะแนวอาชีพ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การให้คำปรึกษาด้านแรงงาน ตลอดจนการดูแลคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน นายจ้างสถานประกอบการให้ได้รับความเป็นธรรมและการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสังคม  ทั้งนี้ “โครงการเดือนแห่งการมีงานทำ น้อมนำศาสตร์พระราชา”  จะจัดขึ้นอีกในจังหวัดอื่นๆ ในทุกภาคของประเทศไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2561

"ที่สำคัญกรมการจัดหางานได้นำ “ตู้งาน” (Jobbox) ซึ่งเป็นตู้ที่อำนวยความสะดวกในการให้บริการจัดหางาน เพียงใช้บัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถค้นหาตำแหน่งงานที่ตรงกับใจและสมัครงานได้มากกว่า 1 แห่ง พร้อมกับ Matching งานได้ทันทีอีกด้วย ซึ่งสามารถจับคู่คนให้ตรงกับงาน จัดหางานให้ตรงใจได้อย่างรวดเร็วทุกที่ ทุกเวลา โดย  “Jobbox” จะไปให้บริการในพื้นที่ชุมชนทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป" รมว.แรงงาน กล่าว

ที่มา: คมชัดลึก, 6/1/2561

กพร.อบรม รปภ.หลักสูตร 60 ชม.ยกระดับปลอดภัย

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัยพ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรักษาความปลอดภัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มีมาตรฐานในการประกอบธุรกิจ ทางกระทรวงแรงงานจึงพัฒนาหลักสูตรอบรม รปภ.

สำหรับหลักสูตรฝึกอบรมจะมีการปรับให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัยพ.ศ. 2558 เบื้องต้นใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 60 ชั่วโมง ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้เบื้องต้น บทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย กฎหมายเบื้องต้น การบรรเทาสาธารณภัย การจราจร วิชาการทหาร การพัฒนาบุคลิกภาพ และการพัฒนาทักษะสื่อสาร เป็นต้น การดำเนินการของกพร.ในครั้งนี้ นอกจากจะมีส่วนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนทำงานอย่างมั่งคงแล้ว ยังมีส่วนในการสนับสนุนการช่วยเหลือให้ธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยมีความเข้มแข็งสร้างความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนได้

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 6/1/2561

ประกันสังคม พร้อมช่วยเหลือผู้ประกันตนตกงาน

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง สถานการณ์ในปัจจุบันที่สถานประกอบการบางแห่งมีการปิดกิจการ ทำให้มีลูกจ้าง ผู้ประกันตน ถูกเลิกจ้าง ในขณะที่ผู้ประกันตนบางส่วนออกจากงานเอง ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความเป็นห่วงลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ถูกเลิกจ้าง หรือลาออกจากงาน โดยได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานให้การช่วยเหลือดูแล ลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง หรือออกจากงานอย่างเต็มที่

สำนักงานประกันสังคมในฐานะที่ดูแลสวัสดิการของผู้ประกันตน จึงได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือกรณีดังกล่าว ขอให้ผู้ประกันตนไม่ต้องกังวล หากส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน ไม่ว่าจะถูกเลิกจ้างหรือลาออกก็ตาม และยังได้รับความคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน

ทั้งนี้ต้องไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ทั่วประเทศภายใน 30 วัน หลังถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงานเพื่อรับสิทธิประโยชน์ในกรณีว่างงาน หากเกิน 30 วัน จะไม่สามารถรับสิทธิประโยชน์ได้ครบถ้วน และให้เตรียมหลักฐาน ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตนไปด้วย สำหรับผู้ประกันตนว่างงาน เพราะถูกเลิกจ้างนั้น จะได้รับเงินทดแทนในระหว่างว่างงาน อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตนลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง ไว้แน่นอน ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

นอกจากนี้ หากผู้ประกันตนประสงค์จะใช้สิทธิประกันสังคมต่อไป สามารถที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 โดยยื่นแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส.1-20) ด้วยตนเองภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ออกจากงาน ซึ่งผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมต่อไปรวม 6 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายไม่เนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ โดยผู้ประกันตนจะนำส่งเงินสมทบ ในอัตราเดือนละ 432 บาท โดยผู้ยื่นคำขอต้องยื่นใบสมัครตามแบบคำขอกลับเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39 ยื่นสมัครด้วยตนเองได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ

หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

ที่มา: VoiceTV, 5/1/2561

มีเฮ! ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-15 บาทสิ้นเดือน ม.ค.นี้

วานนี้ (4 ม.ค.2561) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวา คณะกรรมการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำจากสามฝ่าย หรือ ไตรภาคี จะหารือเพื่อมีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภายในไม่เกินวันที่ 15 ม.ค.นี้โดยค่าแรงปรับใหม่มีผลทันทีสิ้นเดือนนี้ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ

โดยอัตราค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้นเท่าใดนั้น ที่ประชุมไตรภาคี จะพิจารณาจากหลายปัจจัยมาประกอบ เช่น ความเป็นอยู่ของแรงงาน ค่าครองชีพ และผู้ประกอบการ ยังมีกำไร และมีศักยภาพในการลงทุนแข่งขัน รวมถึงค่าแรงของประเทศเพื่อนบ้าน

ด้านนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว 3 ปี ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ปรับขึ้น 310 บาท เพียง 30 จังหวัดซึ่งอัตราที่บอร์ดค่าจ้างไตรภาคี เคยพิจารณาปรับขึ้นระหว่าง 2-15 บาท ซี่งครั้งนี้อาจขึ้นมากกว่า 15 บาท

ที่มา: ThaiPBS, 5/1/2561

ส.อ.ท.หวั่นขึ้นค่าจ้างกระทบผู้ประกอบการรายเล็ก

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการไตรภาคีจะพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 2-15 บาท ว่า การพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำในส่วนของ ส.อ.ท.ต้องการให้เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ยึดตามหลักเกณฑ์ที่เคยดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา และพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการที่เป็นผู้จ้างงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างกัน อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของแรงงาน และที่สำคัญ คือ ความสามารถในการจ่ายค่าแรงของผู้ประกอบการแต่ละพื้นที่ด้วย

“ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีค่าครองชีพแตกต่างกันออกไปไม่ได้เท่ากัน หากปรับขึ้นวันละ 15 บาท จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็กที่มีข้อจำกัดความสามารถที่จะจ่ายค่าแรง ที่จริงปัญหาของไทย คือ ผู้ที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่คนไทย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ แต่ไม่ได้หมายความว่า ส.อ.ท.ต้องการกดค่าแรงแรงงานต่างด้าว สำหรับภาพรวมตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมของไทยปัจจุบันยังอยู่ในภาวะขาดแรงงานมีทักษะ” นายเจน กล่าว

นายเจน กล่าวว่า ข้อเสนอของ ส.อ.ท.ในเรื่องแรงงานขณะนี้ คือ แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันกฎหมายตามประกาศ คสช. ก็สมควรที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องการนำแรงงานเข้ามาสู่ระบบให้มีความสะดวก สามารถปฎิบติได้ถูกต้องตามกฎหมาย และดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และจำเป็นต้องเข้าใจบริบทของแรงงานต่างด้าวที่ขณะนี้ประเทศไทยได้ประโยชน์ จึงถือว่าแรงงานต่างด้าวไม่ได้เป็นภาระ หรือเป็นภัยต่อความมั่นคง ยืนยันว่าแรงงานต่างชาติยังมีความจำเป็น สำหรับเรื่องความมั่นคงก็มีการดำเนินการตามระบบที่ถูกต้องต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 5/1/2561

พนักงานฟูจิคูระกว่า 1,500 คน กลับมาปักหลักเรียกร้องเงินโบนัส-สวัสดิการต่อ

4 ม.ค. 2561 พ.ต.ท.เฉลียว ปิ่นแก้ว สวป.สภ.เมืองปราจีนบุรี พร้อมด้วย ร.ต.ชาญยุทธ ทนันชัย ผบ.มว.รส.มทบ.12 และนายอลงกต เอี่ยมประไพ ปลัดอำเภอเมืองปราจีนบุรี ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ , ทหาร และ อส. ดูแลความเรียบร้อย เนื่องจากมีพนักงานบริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่งออกต่างประเทศ เลขที่ 118/2 หมู่ 11 ถนนสุวรรณศร ต.บ้านพระ อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี จำนวนกว่า 1,500 คน รวมตัวกันตั้งเต็นท์ 8 หลัง ประท้วงต่ออีกครั้งหลังก่อนหน้าเมื่อปลายปี 2560 เคยเรียกร้องขอเพิ่มเงินโบนัส ซึ่งทางบริษัทประกาศให้โบนัส 2.5 บวกเงิน 7,000 บาท แต่พนักงานต้องการ 3.0 บวกเงิน 15,000 บาท และเงินพิเศษตามอายุงานของพนักงาน

โดยวันนี้ (4 ม.ค.) หลังกลับจากภูมิลำเนา กลุ่มพนักงานได้ประท้วงเรียกร้องขอเพิ่มเงินโบนัสต่ออีกรอบ โดยรอผลการเจราจาอีกครั้งอย่างเป็นทางการจากแกนนำ / สหภาพแรงงานอยุธยา (สำนักงานใหญ่) พบมีการติดป้ายต่างๆ ใจความว่า เดินหน้าหรือถอยหลังไม่ได้อยู่ที่ขา แต่อยู่ที่ใจ ทั้งนี้ ได้เรียกร้องอย่างสงบ มีกำลังทหารชุด รส.มทบ.12 , กำลังตำรวจ สภ.เมืองปราจีนบุรี และ อส.ดูแลผู้ประท้วง

นายอธิษฐ์ ปัณณวัฒนานันท์ ตัวแทนสหภาพแรงงานบริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จะปักหลักรอฟังผลการเจรจาที่ จ.อยุธยา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ โดยตัวแทนลูกจ้างได้ยื่นข้อเสนอให้ทางบริษัทเพิ่มโบนัส (3.3 + 15,000) ก่อนหน้านี้ ได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่าง บริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับผู้แทนลูกจ้าง บริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อยุธยา

1. ผู้แทนนายจ้าง ยืนยัน การจ่ายโบนัสในอัตรา 2.8 + เงินพิเศษคนละ 7,000 บาท ตามข้อเสนอไว้วันที่ 18 ธ.ค. 60 หากลูกจ้างยอมรับข้อเสนอเรื่องโบนัสนี้ บริษัทฯ ยินดีจะพิจารณาข้อเรียกร้องอื่น

2. ผู้แทนลูกจ้าง ยืนยัน ข้อเสนอการจ่ายโบนัสตามข้อเสนอเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 60 คือ 2.8 + เงินพิเศษคนละ 7,000 บาท และขอเพิ่มโบนัสพิเศษอีกคนละ 10,000 บาท หากนายจ้างยอมรับข้อเสนอเรื่องโบนัสนี้ ทางฝ่ายลูกจ้างจึงจะเจรจาข้อเรียกร้องอื่นๆ

3. พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ขอให้ทั้งสองฝ่ายกลับไปทบทวนข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งผลการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ ได้นัดเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งต่อไปวันที่ 22 ธ.ค. 60 เวลา 10.00 น. ณ สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ

ล่าสุด เมื่อเวลา 19.45 น. มีรายงานผลการเจรจา ยังไม่เป็นที่ตกลง พนักงานทุกคนยืนยันตามข้อเรียกร้องเดิม และจะใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ขณะที่ทางโรงงานใช้สิทธิ์ปิดงานปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน ด้านพนักงานก็ใช้สิทธิ์ทางกฎหมายมาประท้วงต่อไป

ที่มา: คมชัดลึก, 4/1/2561

สมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ ชี้ส่งออกอิเล็กฯ ปี 2561 ส่งสัญญาณโตบวก

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยปี 2561 ตัวเลขยังคงเป็นบวก คาดว่าจะเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 3-6% ต่อเนื่องจากปี 2560 ที่เติบโตราว 8-9%

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญมาจากการที่เทคโนโลยีกลายเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ในทิศทางเดียวกันส่งผลให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการบริโภคชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปได้ ทั้งแนวโน้มมีความเป็นไปได้ว่านักลงทุนจะย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ กลุ่มสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ที่สอดคล้องไปกับนโยบายส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ รวมถึงการลงทุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี

นอกจากนี้ บ้านเมืองที่สงบ การเมืองที่มีเสถียรภาพส่งผลให้บรรยากาศโดยรวมเหมาะแก่การทำธุรกิจ ไม่เกิดการตั้งคำถาม อีกด้านนับว่าไทยผ่านเหตุการณ์วิกฤติมาได้หลายครั้งและไม่ได้มีผลกระทบอะไรที่รุนแรง ดังนั้นจึงถูกมองว่าเป็นประเทศที่คาดเดาอนาคตได้ง่าย

"ผมได้เห็นสัญญาณที่เป็นบวกมาตั้งแต่ครึ่งปีแรกของปีที่แล้ว พอครึ่งปีหลังยิ่งเห็นว่าเติบโตได้ดีมากขึ้น ผมเชื่อด้วยว่าด้วยบรรยากาศที่เป็นอยู่ขณะนี้จะส่งผลให้ตลาดเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้โดยทั่วไปบรรยากาศการบริโภคฝั่งคอนซูเมอร์อาจไม่แน่นอน แต่ส่วนของอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่และตลาดหลักเป็นการส่งออกไปทั่วโลกจึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ"

ส่วนความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก แต่แม้มีผลกระทบก็คงไม่นาน เนื่องจากโลกธุรกิจยังต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี จำเป็นต้องนำไปใช้เพื่อการพัฒนาสู่ยุค 4.0

ในมุมผู้ผลิต ต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลา คำนึงถึงประเด็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทุกวัน ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร คำนึงถึงความสุขของคนในองค์กร เพิ่มความเชี่ยวชาญ รวมถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีม และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ

ส่วนภาครัฐ ระยะหลังมานี้เห็นได้ชัดเจนว่ามีการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น นับเป็นช่วงเวลาที่ดี บรรยากาศน่าลงทุนอย่างมาก

“นโยบายรัฐบาลที่จะรักษาบรรยากาศให้เป็นบวกมีส่วนสำคัญอย่างมาก หากสามารถรักษาความสงบทางการเมือง การบริหารจัดการภาครัฐที่เร็วมากขึ้นได้ตลอด อุตสาหกรรมก็มีโอกาสเติบโตได้ดีต่อเนื่อง” นายสัมพันธ์ กล่าว

เขากล่าวว่า ต่างชาติยังคงเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ปัจจุบันไทยยังคงเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์อันดับ 1 ของโลก ด้วยสัดส่วนมากกว่า 50% ทุกวันนี้ยังคงสามารถรักษามาตรฐาน คุณภาพกระบวนการผลิตได้ดีมาต่อเนื่อง 30 ปี

สำหรับตัวแปรสำคัญที่จะตัดเชือกว่านักลงทุนจะตัดสินใจเข้ามาหรือไม่ หลักๆ ขึ้นอยู่กับนโยบายระหว่างประเทศซึ่งขณะนี้ชาติต่างๆ ต่างกำลังแข่งขันเพื่อดึงดูดนักลงทุนกันอยู่

ขณะที่ ตัวแปรด้านความเปลี่ยนแปลงของตลาด ย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ผู้ผลิตไม่ได้กังวลมากนัก เนื่องจากภาพที่มองเห็นเป็นบวกดังกล่าว ที่ผ่านมาได้ผ่านเหตุการณ์วิกฤติมามาก จนทุกวันนี้มีแผนงานเพื่อรองรับความไม่แน่นอน พยายามระมัดระวัง รอบคอบ และยืดหยุ่นให้ได้ตามการเปลี่ยนแปลง

ด้านการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ผู้ผลิตได้เริ่มปรับตัว เปลี่ยนแปลงตัวเองมาล่วงหน้าเป็นเวลากว่า 10 ปี เช่นการนำระบบอัตโนมัติมาปรับใช้ โดยค่อยๆ ทยอยเข้ามาเป็นระยะ ประเมินขณะนี้การปรับตัวเพื่อก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของผู้ผลิตรายใหญ่นับว่าทำได้ดีไม่ต่างกับบริษัทในยุโรปหรืออเมริกา

ปัจจุบันการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีอยู่ 2 รูปแบบหลัก คือ การย้ายฐานการผลิต และด้านเทคโนโลยี 4.0 การลงทุนไอทีที่มองกันอยู่ หลักๆ ขณะนี้คือการนำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและอนาไลติกส์มาปรับใช้ นอกจากนั้น มีการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) มาใช้มากขึ้น โดยรวมจะค่อยๆ ดำเนินการ ทำทันทีเลยไม่ได้ต้องคำนึงถึงคุณภาพและความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก

ด้านบุคลากร ต้องพัฒนาต่อเนื่องเช่นกัน บทบาทของสมาคมนายจ้างอิเล็กฯ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีแผนงานรองรับไว้ชัดเจนเสมอ เช่น การสนับสนุนด้านการฝึกอบรม พัฒนาทักษะบุคลากร โดยปกติจะต้องวางแผนล่วงหน้าระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่ง เน้นเรื่องการเพิ่มทักษะใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่าน เพิ่มสมรรถนะในงานสำคัญที่จะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ประเทศ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 3/1/2561

ห่วงคนไทยออมไม่พอเกษียณ กระตุ้นคนรุ่นใหม่วางแผนการเงิน

นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ (จำกัด) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในประเทศไทยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่พอใช้หลังเกษียณ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งยังต้องพึ่งพารายได้จากผู้อื่น เช่น ลูกหลาน สามี/ภรรยา ญาติ/พี่น้อง หรือยังต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพจากรัฐบาล ขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังคงต้องทำงานหาเงินเลี้ยงชีพแม้อายุเกิน 60 ปีไปแล้ว โดยมีประชากรประมาณร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้นที่มีเงินเก็บเพียงพอหลังเกษียณ สาเหตุหลักมาจากการที่คนไทยไม่ให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวและเพิ่งเริ่มสนใจวางแผนเมื่ออายุ 40-45 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการวางแผนเกษียณที่ดีที่จะต้องเริ่มออมและลงทุนให้เร็วที่สุด เพื่อลดภาระในการออมและการลงทุนในช่วงเวลาที่ใกล้เกษียณ

ทั้งนี้ บลจ. ทิสโก้ เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงเปิดตัวโครงการ “TISCO Smart Retirement สุขทุกวันยันเกษียณ” มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจการวางแผนการเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อการเกษียณอย่างมั่งคั่ง โดยจะเผยแพร่ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงิน อาทิ การออม/ลงทุน การใช้จ่าย และการลดความเสี่ยง ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ Smart Saving, Smart Spending, Smart Living และ Smart Insured ผ่านงานสัมมนา กิจกรรมไลฟ์สไตล์ การประกวดชิงรางวัล และเกร็ดความรู้ผ่านเฟสบุ๊ก TISCO Smart Retirement และ Line @TISCOAsset โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทิสโก้และผู้ทรงคุณวุฒิรับเชิญ ผลัดเปลี่ยนมาให้คำแนะนำการวางแผนเพื่อการเกษียณ โดยจะเริ่มจัดกิจกรรมให้แก่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การจัดการของ บลจ.ทิสโก้เป็นลำดับแรก และจะเผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไปต่อไป

นอกเหนือจากกิจกรรมด้านการให้ความรู้ด้านการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณแล้ว บลจ.ทิสโก้ยังจะเปิดตัวแอพพลิเคชั่น My PVD My TISCO ให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การจัดการของ บลจ.ทิสโก้สามารถตรวจสอบยอดเงินสะสมและเงินสมทบของตนเองผ่านทางแอพพลิเคชั่นดังกล่าว โดยสามารถดาวน์โหลดได้ตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 3/1/2561

บ.มิตซูฯ ยาหอมลูกจ้างให้โบนัส 7.2 เดือน พร้อมเงินพิเศษ หากกลับเข้าทำงาน

ความคืบหน้ากรณีบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้สิทธิประกาศปิดงาน เนื่องจากการเจรจาไกล่เกลี่ยเรื่องปรับโครงสร้างเงินเดือนพนักงานไม่ได้ข้อยุติ ทำให้พนักงานราว 1,800 คน ต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2560 นั้น

เมื่อวันที่ 3 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายโนริคาสึ อิชิคาว่า ประธานบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริคฯ ได้ออกหนังสือลงวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ถึงพนักงานทุกคนระบุว่า มีความห่วงใยพนักงานและครอบครัวของพนักงานอันเนื่องจากการปิดงาน จึงประชาสัมพันธ์ให้พนักงานรับทราบเป็นข้อมูลตัดสินใจ ทั้งนี้ การใช้สิทธิปิดงานของบริษัทจนกว่าข้อเรียกร้องสามารถตกลงกันได้ รวมถึงช่วงวันหยุดยาวตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 7 มกราคม 2561 จะไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่ได้รับสวัสดิการ เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินช่วยเหลือ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต และรางวัลพนักงานดีเด่นที่แต่ละปีละได้สร้อยคอทองคำ หากพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน มิตซูบิชิ ประเทศไทย ประสงค์ขอกลับเข้าทำงานจะคืนสิทธิให้และสวัสดิการทั้งหมดให้ รวมทั้งไม่หักค่าจ้างในวันที่หยุดให้ แต่จะต้องกรอกแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์ขอกลับเข้าทำงานส่งกลับไปที่บริษัทภายในวันที่ 7 มกราคมนี้ และเพื่อเนขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานที่ขอกลับเข้าทำงาน เบื้องต้นจะจ่ายโบนัสให้ 7.2 เดือน พร้อมเงินพิเศษ 20,000 บาท ภายในวันที่ 12 มกราคมนี้

ด้านนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ในฐานะที่ปรึกษาสหภาพแรงงาน มิตซูบิชิ ประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนอนี้เป็นเพียงยาหอมของนายจ้าง จึงเชื่อว่าพนักงานที่จะกลับเข้าไปทำงานคือกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ แต่ในส่วนของพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ จะขอรอฟังผลการเจรจากับนายจ้างในวันที่ 8 มกราคมนี้ก่อน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 3/1/2561

กระทรวงการต่างประเทศพบคนไทยตกทุกข์ในต่างประเทศลดลง แต่ยังพบปัญหาเรื่องการไปทำงานควรศึกษาให้รอบคอบ

3 ม.ค.2561 กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เปิดเผยถึงการให้ความช่วยเหลือคนไทยตกทุกข์ในต่างประเทศในปี 2560 ที่ได้รวบรวมจากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลกทั้ง 97 แห่งว่า มีคนไทยขอรับความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่รวม 10,216 ราย ลดลงกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบปี 2559 ที่มีจำนวน 14,481 ราย

ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือที่พบมากที่สุดคือ การให้ความช่วยเหลือในเรื่องการตกทุกข์ทั่วไปอย่างการทำหนังสือเดินทางสูญหาย การส่งคืนทรัพย์สินสูญหายที่ต่างประเทศคืนเจ้าของในประเทศไทย การเจ็บป่วยของคนไทย และการส่งตัวคนไทยตกทุกข์เดินทางกลับประเทศไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36 จากการให้ความช่วยเหลือทั้งหมด อันดับที่ 2 คือการช่วยเหลือแรงงานไทยตกทุกข์ โดยคิดเป็นร้อยละ 30 และอันดับที่ 3 คือการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับกุมโดยเฉพาะกลุ่มหญิงไทยที่ทำงานโดยใช้วีซ่าผิดประเภท คิดเป็นร้อยละ 18 ขณะที่ภูมิภาคที่มีผู้ขอรับความช่วยเหลือมากที่สุดคือตะวันออกกลาง โดยปัญหาที่พบเป็นส่วนใหญ่คือปัญหาหญิงไทยที่ไปลักลอบทำงานเป็นพนักงานนวดสปา

อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือจะลดลง แต่ปัญหาคนไทยตกทุกข์ในต่างประเทศก็ยังน่าห่วงกังวลและยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอฝากข้อเตือนและคำแนะนำสำหรับคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำงานในต่างประเทศหากจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ต่างประเทศขอให้ทำประกันการเดินทางไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพหรืออุบัติเหตุเพราะการรักษาพยาบาลที่ต่างประเทศมักมีค่าใช้จ่ายสูง

ส่วนที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศจะต้องตรวจสอบสัญญาว่าจ้างงานอย่างรอบคอบและควรศึกษาข้อมูลพื้นฐานทั้งกฎหมาย ระเบียบ ประเพณี ของประเทศปลายทาง เพื่อป้องกัน ปัญหาที่จะตามมาภายหลัง

ที่มา: TNN24, 3/1/2561

เหนือนำร่องคอร์สดูแลคนแก่ รับสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ

หอการค้า 5 ภาค ร่วมลงนาม MOU กับสถาบันการศึกษา เปิดหลักสูตรสร้างอาชีพแคร์กิฟเวอร์ดูแลผู้สูงอายุ เพิ่มแรงงานคุณภาพป้อนธุรกิจ รับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีก 5 ปี นำร่องการสอนภาคเหนือเป็นแห่งแรก เริ่มสอนปี 2561

นายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ เปิดเผยว่า การประชุมหอการค้าครั้งล่าสุดได้มีการทำเอ็มโอยู (MOU) ความร่วมมือกันระหว่างหอการค้าทั้ง 5 ภาค และสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 รวมถึงโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท และสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย เพื่อเปิดสอนหลักสูตรสร้างอาชีพการดูแลผู้สูงอายุแห่งแรกในภาคเหนือ ซึ่งตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) บ่งชี้ว่า ภาคเหนือจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนทุกภาคในประเทศไทย ฉะนั้นในภาคเหนือจึงมีความต้องการแรงงานในด้านนี้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ หลักสูตรที่จะเปิดสอนได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอาชีวศึกษา และสามารถเปิดสอนได้ทั่วประเทศ จึงเป็นระบบทวิภาคีที่ชัดเจน โดยจะมีสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 จังหวัดพิษณุโลก นำร่องเปิดสอนหลักสูตรนี้เป็นสถาบันแรก ซึ่งหลักสูตรนี้ไม่เพียงแต่สร้างอาชีพเท่านั้น ยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นจีดีพีได้ เช่น ธุรกิจลองสเตย์ที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่มีผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่มากถึง 4 พันคน

นางสาวรัชฎา ฟองธนกิจ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในภาคเหนือประสบปัญหาเกี่ยวกับแคร์กิฟเวอร์ หรือคนดูแลผู้สูงอายุอยู่ 2 ข้อ คือ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และไม่มีคุณภาพ เพราะกลุ่มอาชีพนี้จะต้องมีความรู้มากพอสมควร แต่ปัจจุบันระบบการศึกษาของประเทศไทยที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ มีเพียงหลักสูตรนอกโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป เมื่อเรียนครบ 420 ชั่วโมง ก็รับประกาศนียบัตรสามารถทำงานดูแลผู้สูงอายุได้ ฉะนั้นหลังจากร่วมทำ MOU กรมอาชีวศึกษาต้องรองรับบุคลากรในระดับ ปวช.และ ปวส.เท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาผู้เรียนเด็กเกินไปและวุฒิภาวะยังไม่เพียงพอ

นางสาวรัชฎากล่าวอีกว่า หากวัดตามการกำหนดระดับของสหประชาชาติ เมื่อมีผู้สูงอายุ 20% ของจำนวนประชากรในประเทศจะก้าวเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุในระดับสมบูรณ์ และตอนนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ประมาณ 18% ของประชากร 65 ล้านคน อีกประมาณ 5-6 ปีจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในปัจจุบันมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกของสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย 151 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และกระจายตัวอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก นครนายก ทั่วทุกภูมิภาค

“หลักสูตรนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก มีสถาบันการศึกษาในภาคใต้ต้องการนำหลักสูตรที่จะเปิดสอนในภาคเหนือไปใช้เพื่อผลิตแคร์กิฟเวอร์ดูแลผู้สูงอายุเช่นกัน เพราะต้องรองรับการลงทุนจากนักลงทุนที่เข้ามาทำลองสเตย์ หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสร้างลองสเตย์ของกลุ่มทุนคนไทยที่หาดกมลา จังหวัดภูเก็ต ด้วยเงินลงทุนหลายพันล้านบาท ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย คนกลุ่มนี้ก็มีศักยภาพในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านค่าครองชีพที่ถูกกว่าประเทศตัวเอง สามารถเลือกระดับมาตรฐานใช้บริการได้หลากหลายในอนาคต และภูมิศาสตร์ของประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศดีเหมาะกับผู้สูงอายุ”

นายสงวน หอกคำ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า สำหรับสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 จังหวัดพิษณุโลก เป็นสถาบันแรกที่ร่วมมือกับหอการค้า พัฒนาหลักสูตรขึ้นมา และจะเปิดสอนในภาคเรียนปี 2561 เป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีความน่าสนใจด้วยการเรียนการสอนในระบบทวิภาคี สามารถไปฝึกงานหรือปฏิบัติงานอยู่กับสถานประกอบการจริง และผู้เรียนสามารถประกอบอาชีพได้ทันทีหลังเรียนจบ

“คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้เรียนต้องมีใจรักในงานบริการ เราจะมีหลักสูตรภาษาให้เรียนทั้งภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษ เน้นพัฒนาให้สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รายได้ต่อเดือนไม่น่าจะต่ำกว่า 15,000 บาท สามารถไปทำงานต่อได้ในต่างประเทศ และสิ่งที่จะตามมาหลังจากเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนคือเรื่องของธุรกิจที่จะเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการจัดการดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจอาหารผู้สูงอายุ หรือการท่องเที่ยว นักลงทุนจะกล้ามาลงทุนมากขึ้น เพราะเราสามารถป้อนบุคลากรเข้าไปในระบบได้ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีการเติบโตได้ในอนาคต” นายสงวนกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 2/1/2561

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net