Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ผมเข้าใจว่า ปัจจุบันปัญหาราคาสินค้าเกษตร คือปัญหาที่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารแก้ไม่ตก และไม่รู้จะหาทางออกต่อปัญหานี้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรตัวไหน ต่างก็กำลังสะสมปัญหาอยู่ทั้งนั้น จนดูเหมือนรัฐบาลและหน่วยงานทั้งองคาพยพจวนจะถึงทางตัน ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือยางพารา ที่ถือเป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศไทย

จนในที่สุดเมื่อแก้ไขปัญหาแบบเรียลไทม์ ไม่ได้ก็หันมาเล่นแร่แปรธาตุเอากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ โทษโน่นตำหนินี่เอากับผู้บริหารของหน่วยงาน ทั้งๆ ที่จริงแล้วผู้ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันกับผู้บริหารหน่วยงานของรัฐก็คือ รัฐบาล อย่างเช่นปัญหาราคายางพารา ก็ไปเล่นงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย

เข้าทำนองรำไม่ดีกลับโทษปี่โทษกลอง “หาที่ลง” เชิงจิตวิทยาให้พี่น้องชาวสวนยางได้คิดว่า โอ... รัฐบาลได้สะสางปัญหาแล้ว ซึ่งมันก็เป็นการสะสางปัญหาจริง แต่เป็นการสะสางปัญหาแบบ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” ชนิดที่ปัญหาหรือขยะก็ยังซุกอยู่ใต้พรมผืนงามเหมือนเดิม



ยางก้อนของชาวสวนยางที่ถูกนำมารวมเพื่อจำหน่ายให้กับพ่อค้า ดงหลวง มุกดาหาร (ประชาไท)

เพราะปัญหาราคาสินค้าเกษตร อย่างเช่น ยางพาราตกต่ำไม่ใช่ปัญหาใหม่ หากเป็นอมตะปัญหามานานนม โดยเฉพาะสินค้าหลักสำคัญของไทย 2 ชนิด คือ ข้าวกับยางพารา ที่เป็นที่รู้กันว่าสินค้าทั้งสองรายการต่างเป็นเส้นเลือดของเศรษฐกิจไทย คือ มีความสำคัญยิ่งต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรไทย

ก็น่าแปลก ที่การเล่นแร่แปรธาตุในการแก้ไขปัญหาสินค้าสองรายการยังมีอยู่ ทั้งๆ ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เองได้ชื่อว่า เคยเป็นเซียนการตลาดมาก่อน ตอนนี้นายสมคิดเจอทั้งปัญหาข้าวและยางกลับไปไม่เป็นเอาซะงั้น

ทั้งๆ ที่ถ้ามองฐานของการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรของรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้จะเห็นว่า จุดเน้นของการแก้ไขปัญหา นอกจากมุ่งไปที่การเล่นแร่แปรธาตุ หรือการแก้ไขปัญหาเชิงจิตวิทยา ให้เกษตรกรเห็นภาพลักษณ์ที่ดีๆ ของรัฐบาลดังที่กล่าวไปแล้วก็จะเห็นได้ว่า แนวรุกเชิงการตลาดของรัฐบาลที่มีนายสมคิด เป็นผู้นำนั้นแทบไม่มีเลย อ้างว่า ไทยมีคู่แข่งไปทั่วโลก ต้นทุนเราสูงกว่าเขามาก การแข่งขันจึงสู้ประเทศคู่แข่งไม่ได้ แล้วก็เฉยเสีย หันมาเน้น งานสินค้าเชิงจิตวิทยาดีกว่า

เท่าที่สดับจากเจ้าหน้าที่ด้านพาณิชย์ ตัวแทนของรัฐไทยในอเมริกาเอง เจ้าหน้าที่บอกว่า พวกเขาไม่ได้รับคำสั่ง หรือมีแผนปฏิบัติการให้แสวงหาตลาดสินค้าเกษตรชนิดใดๆ เพิ่มเติมเป็นพิเศษ ซึ่งก็เหมือนเดิม ไม่ต่างจากปีที่แล้วหรือปีก่อนหน้าโน้น ทั้งๆ ที่ในหลายคราวไทยควรถือเป็นโอกาสในการเจรจาการค้ากับฝ่ายสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรตัวใดก็ตาม ทั้งหน่วยงานของรัฐไทยในสหรัฐอเมริกา ควรผนึกกำลังทำงานแบบ “ทีมไทยแลนด์” เหมือนที่ผ่านมา ไม่ใช่ใส่เกียร์ว่างในช่วงที่สัมพันธภาพทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไม่ค่อยดีในช่วงนี้

ซึ่งก็เป็นที่รู้ๆ กันว่า สัมพันธภาพระหว่างสองประเทศไม่ดีก็เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ทางรัฐบาลอเมริกันมิใคร่พอใจท่าทีหรือการกำหนดนโยบายของรัฐบาลไทยชุดนี้มากนัก จนถึงขนาดที่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของไทยกำลังจะกำหนดให้ปี 2561 เป็นวาระแห่งสิทธิมนุษยชน

แปลว่า การค้าการขายระหว่างไทยกับอเมริกันจะเวิร์คมากขึ้นก็เมื่อไทยปรับเปลี่ยนท่าทีเสียใหม่ ผ่อนคลายข้อจำกัดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนลงเสียบ้าง การเจรจาของเจ้าหน้าที่พาณิชย์หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของพระทรวงการต่างประเทศก็จะเป็นไปอย่างสง่างาม มีความเท่ห์มากกว่าในปัจจุบัน


ภาพการบรรทุกยางถ้วยจากสวนมายังจุดรวบรวมผลผลิตเพื่อจำหน่ายให้พ่อค้า ดงหลวง มุกดาหาร (ประชาไท)

ซึ่งก็เป็นปัญหาที่น่าหนักใจของประการสำคัญของเจ้าหน้าที่ไทยผู้ทำหน้าที่เป็นหนังหน้าไฟเจรจาการค้ากับฝ่ายอเมริกัน เพราะโดนข่มด้วยประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้ ไม่ต้องแปลกใจอะไรว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ไทยที่ทำงานเป็นหนังหน้าไฟในสหรัฐอเมริกาจึงใส่เกียร์ว่าง ทุกก้าวย่างที่เดินไปตอนนี้ ล้วนสะดุด

คำถามที่คนไทย โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีถึงนายสมคิดและรัฐบาลนายกลุงตู่ก็คือ ข้าราชการไทยใส่เกียร์ว่างแต่ยังรับเงินเดือนอยู่ทุกๆ เดือนถือว่าเอาเปรียบชาวบ้านไหม โดยที่เจ้าหน้าที่ของสถานทูตลาว เวียดนาม จีน หรือประเทศอื่นๆ ต่างก็ทำงานของตนกันไม่เว้นแต่ละวัน เช่น การพบปะกับผู้แทนการค้าของรัฐบาลอเมริกัน มีให้เห็นอยู่เสมอ พวกเขามักจัดงานเลี้ยงเล็กๆ ขึ้นในสถานทูตหรือสถานกงสุล แล้วเชิญพวกผู้แทนการค้าของอเมริกันมาสังสรรค์ กันอยู่เนืองๆ มิใคร่ขาด

ต่างจากของฝ่ายไทย ที่ไม่มีภาพแบบนี้มานานแล้ว

ขณะที่ช่วงก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ด้านพาณิชย์ของไทย เช่นเจ้าหน้าที่พาณิชย์ที่นิวยอร์ค ออกไปหาไปตลาดกับเอกชนของอเมริกันเสียด้วยซ้ำ เป็นดำเนินการกลยุทธ์เชิงรุก ซึ่งดีกว่าการตั้งรับแบบ “ไซดักปลา” ที่นับวัน ปลาจะเข้ามาติดไซยากขึ้นทุกที

ความจริงก็คือ ไม่ว่าข้าวหรือยางพารายังคงเปิดไปสู่ตลาดเมริกันได้อยู่มาก เพียงแต่เราต้องมีคนเจรจาและรู้จักสร้างเงื่อนไข ซึ่งนักการตลาดอย่างนายสมคิดน่าจะเข้าใจได้ดีกว่าใครอื่น

อย่างเรื่องยางพารา ที่ไม่ควรเล่นแร่แปรธาตุเรื่องการบริหารองค์กรเพียงอย่างเดียว หากควรมุ่งไปที่การหาตลาดเพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมการลงทุนการแปรรูปยางฯในประเทศ และการวิจัยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง

อย่างน้อยที่ผมทราบมาล่าสุด จากท่านอดีตเอกอัคราชทูตไทยประจำสหพันธรัฐรัสเซีย ท่านสุพจน์ ธีรเกาศัลย์ ก็คือ มีบริษัทเอกชนจากต่างประเทศสนใจลงทุนแปรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อยู่ไม่น้อย เพียงแต่รัฐไทยต้องรู้จุดและเชื้อเชิญเขาในโอกาสที่เหมาะสม พร้อมเงื่อนไขการลงทุนแบบผ่อนปรนฯ

ที่สำคัญ คือคีย์เวิร์ดของการแปรรูปยางพารา ซึ่งอาจถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของสินค้าประเภทนี้ของไทยเลยก็คือ “นำยางพารามาทำเป็นหมอนรถไฟ” ซึ่งก็แปลว่า ใช้ยางพาราแทนหมอนไม้รางรถไฟแบบเดิมๆ ที่เคยใช้กันมานับศตวรรษ

ก็ไหนว่า เรากำลังจะปฏิรูประบบรางไม่ใช่เหรอ?

ไม่เพียงแต่เราจะหาทางออกในการระบายสินค้ายางพาราที่มีอยู่อย่างล้นสต๊อกในตอนนี้เท่านั้น หากแต่การแปรรูปสินค้าดังกล่าว สามารถเอื้อต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แถมยังส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการอีกด้วย

หาทางเอาเอกชนเหล่านี้มาเปิดโรงงานในไทยหรือไม่รัฐก็หาทางผลิต (แปรรูป) เอาเองสิครับ...!!


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net