Skip to main content
sharethis


คนงานชุมนุมภายในวัดมาบสามเกลียว หมู่ 7 ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมืองชลบุรี
(ที่มาภาพ Paan-Bussayarut Kanchanadith)

8 ม.ค.2561 ความคืบหน้ากรณีบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้สิทธิปิดงานหลังจากเกิดข้อพิพาทเรื่องค่าจ้างกับสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ทำให้พนักงานประมาณ 1,800 คน ขาดรายได้นับตั้งแต่ปลายปี 2560 และนัดเจรจาไกล่เกลี่ยอีกครั้งในวันนี้ (8 ม.ค.61) นั้น

ล่าสุด มติชนออนไลน์ รายงานว่า สหภาพแรงงานมิตซูบิชิฯ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ระบุว่า มีสมาชิกประมาณ 1,800 คน ซึ่งนับตั้งแต่เกิดปัญหาได้มีการเจรจาข้อเรียกร้องมาตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.60 ซึ่งการเจรจาผ่านไป 10 ครั้ง แต่ไม่ได้ข้อยุติ กระทั่งมีการนัดหมายเจรจาครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2560 ที่สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แต่ตัวแทนบริษัทไม่ไปตามนัด เจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาทจึงนัดไกล่เกลี่ยในวันที่ 8 ม.ค.นี้ ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าในปี 56-60 บริษัทมีกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 56 กำไร 4,488,157,811 ล้านบาท ปี 57 กำไร 7,786,189,579 ล้านบาท ปี 58 กำไร 7,503,285,560 ล้านบาท ปี 59 กำไร 8,871,412,241 ล้านบาท และปี 60 กำไร 8,986,060,301 ล้านบาท

วันเดียวกัน สมชาย ไชยมาตย์ รองประธานสหภาพแรงงานมิตซูบิชิฯ ฝ่ายคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า วันนี้ทุกฝ่ายได้นัดเจรจาในเวลา 10.00 น. แต่ตัวแทนบริษัท มิตซูบิชิฯ ยึกยักและขอเลื่อนการเจรจาเรื่อยมา โดยมีตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นผู้ประสานงาน กระทั่งได้พูดคุยร่วมกันในเวลา 14.30 น. พร้อมอ้างว่า ชาลี ลอยสูง ในฐานะที่ปรึกษาสหภาพแรงงานฯ ไม่สามารถเป็นตัวแทนเข้าประชุมได้ แต่ไกล่เกลี่ยจนเป็นผลให้เข้าประชุมได้ตามกฎหมาย เบื้องต้น ยังไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาเพิ่มเติม ส่วนรูปแบบการเจราจานั้น ได้แยกห้องฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ประสานงาน ส่วนการพูดคุยไม่ได้กดดันหรือเคร่งเครียดแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอน เพื่อหาข้อยุติโดยเร็วและเพื่อไม่ให้สมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดงานงดจ้าง

“เนื่องจากวันนี้ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ขั้นตอนต่อไปคือ เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดได้เดินทางไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เพื่อรายงานผลให้ทราบ และเชิญให้มานั่งเป็นหัวโต๊ะหรือประธานในการเจราจาร่วมกันทั้งสามฝ่าย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทราบว่า บริษัท มิตซูบิชิฯ เริ่มได้รับผลกระทบในการผลิตเครื่องปรับอากาศแล้ว จากเดิมมีความสามารถผลิตงานได้ 30,000 ตัว รวม 21 สายการผลิต ขณะนี้สามารถผลิตได้เพียงวันละ 300 ตัวเท่านั้น” สมชาย กล่าว

ขณะที่ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า ภายในวัดมาบสามเกลียว หมู่ 7 ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมืองชลบุรี ได้มีคนงานของบริษัทมิตซูบิชิฯ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้วัด กว่า 1 พันคน ชุมนุมถือป้ายประท้วงบริษัทที่ปิดตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา และได้ชุมนุมประท้วงมาครั้งหนึ่งแล้ว จนวันนี้เป็นวันทำงาน ทางบริษัทก็ยังไม่เปิดรับคนงานกว่า 1 พันคนเข้าทำงาน โดยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยทั้งทหารและตำรวจ

เชิด นามสงคราม อายุ 47 ปี ประธานสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ ประเทศไทย กล่าวว่า ปีที่แล้วทางสหภาพได้ยื่นข้อเสนอทางบริษัท และทางบริษัทก็ยื่นข้อเสนอกลับมา มีการเจรจามา 20 ครั้งแล้ว แต่ยังตกลงกันไม่ได้ กระทั่งเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ทางบริษัทก็ใช้สิทธิ์ปิดงาน ทำให้พวกเราต้องมาอยู่ที่นี่ เพราะบริษัทไม่ให้เข้าโรงงาน ตนขอฝากบอกผู้สื่อข่าวที่ไปลงข่าวผิดๆ ว่า ทางเราไม่ได้ชุมนุมประท้วงเรียกโบนัส ซึ่งหัวข้อหลักการเจรจาคือ โครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนที่บริษัทปรับจากเดิมขึ้นค่าจ้างประจำปี เป็นเปอร์เซ็นต์ฐานเงินเดือนของใครของมัน แต่ทางบริษัทนำเสนอเป็นแบบฟิกซ์เรท โดยที่ทุกคนได้ 400 บาทเท่ากันหมด ซึ่งมันแตกต่างกับการประเมินรายได้ของบริษัท

"สหภาพแรงงานในฐานะเป็นตัวแทน รับไม่ได้ และทางบริษัทยังยื่นข้อเสนอมาให้สหภาพแรงงานรับข้อเสนอ 3 ข้อ คือ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าจ้าง การไม่หักค่าบำรุง และการทำงาน 3 กะ ทางพวกเรารับไม่ได้ อีกอย่างทางบริษัทมาปิดงานช่วงปลายปีพอดี ทำให้พวกเราเดือดร้อนมาก ข่าวที่ว่าเรียกร้องโบนัสไม่ใช่ ที่จริงคือเรารับไม่ได้กับการปรับโครงสร้างค่าจ้างประจำปี" ประธานสหภาพฯ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net