ผลสำรวจพบนักข่าวหญิงเผชิญการคุกคามทางเพศกว่า 48%

ผลสำรวจองค์กรสื่อมวลชนนานาชาติ ระบุนักข่าวหญิง 48% ต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศ โดย 45% ของผู้คุกคามเป็นแหล่งข่าว-ผู้ติดตามข่าว ส่วนอีก 38% เป็นการคุกคามจากเจ้านาย-หัวหน้างาน บ้านเราก็มีบ่อยครั้ง ตั้งแต่กรณีบิ๊กข้าราชการขี้หลีปี 2546, ผู้บริหารองค์กรสื่อถูกร้องเรียนเมื่อ ก.ย. 2560 และกรณีผู้สื่อข่าวหญิงถูกคุกคามออนไลน์เสนอเงินให้เป็นภรรยาน้อยเมื่อปลายปี 2560

ที่มาภาพประกอบ: International Federation of Journalists

เมื่อปี 2560 หลังจากมีรายงานข่าวข้อกล่าวต่อโปรดิวเซอร์ชื่อดังคนหนึ่งของฮอลลีวู้ดว่าได้ทำการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงในวงการบันเทิง ทำให้ผู้หญิงหลายล้านคนหันใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเผยเเพร่ประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับตนโดยใช้แฮชแท็ก #MeToo ซึ่งการโพสต์ข้อความเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์สร้างความตื่นตัวที่มุ่งเปิดเผยวัฒนธรรมการคุกคามและเอาเปรียบทางเพศ ที่ได้ส่งผลสะเทือนอย่างแพร่หลายและรวดเร็วในโลกอินเตอร์เน็ต

ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ผลสำรวจของ Washington Post-ABC News poll ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค. 2560 พบว่าร้อยละ 54 ของหญิงอเมริกัน เคยเจอกับการถูกล่วงเกินทางเพศโดยไม่เต็มใจในที่ทำงาน ร้อยละ 30 ระบุว่าเพื่อนร่วมงานชายเป็นผู้กระทำผิดและร้อยละ 25 ระบุว่าเพื่อนร่วมงานชายเหล่านี้ที่ล่วงเกินทางเพศต่อพวกเธอ เป็นคนที่มีอิทธิพลต่อความก้าวหน้าทางการงานของพวกเธอ

ทั้งนี้ในแวดวงสื่อมวลชนเอง ผู้สื่อข่าวหญิงก็ถือว่าตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามทางเพศ จาก ผลสำรวจสภาพการทำงานของผู้สื่อข่าวหญิงเกือบ 400 รายใน 50 ประเทศ โดยสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ (International Federation of Journalists หรือ IFJ) ที่เปิดเผยเมื่อเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 48 ระบุว่าได้รับความเดือดร้อนจากการคุกคามทางเพศในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเธอ และร้อยละ 44 เคยถูกการคุกคามทางเพศออนไลน์

สำหรับรูปแบบการคุกคามทางเพศที่พบมากที่สุดในบรรดาผู้สื่อข่าวหญิง ได้แก่ การละเมิดทางวาจา (ร้อยละ 63) การล่วงละเมิดด้านจิตใจ (ร้อยละ 41) การล่วงละเมิดทางเพศ (ร้อยละ 37) การล่วงละเมิดทางเศรษฐกิจ (ร้อยละ 21) และเกือบร้อยละ 11 เผยเผชิญกับความรุนแรงทางกาย

ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าร้อยละ 45 ของผู้กระทำผิดคือคนที่อยู่นอกสถานที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นจากแหล่งข่าวและผู้ติดตามข่าว อีกร้อยละ 38 เกิดขึ้นจากฝีมือเจ้านายหรือหัวหน้างาน แต่สองในสามหรือร้อยละ 66.15 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ถูกคุกคามกลับไม่ได้ร้องเรียนอย่างเป็นทางการ และในบรรดาผู้ที่ร้องเรียนร้อยละ 84.8 ไม่เชื่อว่าได้ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในทุกกรณีกับผู้กระทำผิดที่คุกคามทางเพศ มีเพียงร้อยละ 12.3% เท่านั้นที่พอใจกับมาตรการดำเนินการเมื่อพวกเธอร้องเรียนว่าถูกคุกคามทางเพศ ที่น่าตกใจคือมีเพียงร้อย 26 ขององค์กรสื่อที่มีนโยบายเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ

บางครั้งการคุกคามทางเพศต่อนักข่าวก็รุนแรงในระดับที่มีการข่มขืนเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น กรณีปี 2552 เหตุการซุ่มโจมตีขบวนรถนักการเมืองท้องถิ่น ในจังหวัดมากินดาเนาทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 57 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้สื่อข่าว 34 ราย มีรายงานข่าวว่าผู้สื่อข่าวผู้หญิงรวมถึงภรรยาและลูกสาวของผู้สื่อข่าวถูกข่มขืนก่อนถูกสังหาร ในปี 2554 มีรายงานข่าวว่าผู้สื่อข่าวหญิงชาวต่างประเทศเกือบถูกข่มขืนขณะปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการโค่นล้มอำนาจประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ที่ประเทศอียิปต์ และในปี 2557 ผู้สื่อข่าวหญิงวัย 19 ปี ในโซมาเลียถูกข่มขืนในห้องข่าว ต่อมาเธอถูกคุมขังถึง 6 เดือน ส่วนผู้ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนเธอกลับไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด เป็นต้น

บ้านเราก็มี(บ่อย)นะ

กรณีของ น.ส.กาลเวลา เสาเรือน ผู้สื่อข่าวสาวทีวีช่องดังแห่งหนึ่งแจ้งความตำรวจ ปอท. ถูกเสี่ยทักเฟสบุ๊คเสนอเงินเดือนละ 2.2 แสนบาท แลกเป็นภรรยาเก็บ ที่มาภาพ: สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพ วิทยุโทรทัศน์สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ในรอบกว่า 20 ปี ที่ผ่านมาในบ้านเรา ประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศต่อนักข่าวหญิงเริ่มถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในสังคม ตั้งแต่กรณีบิ๊กขี้ข้าราชการหลีที่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับผู้สื่อข่าวหญิงเมื่อปี 2546

ในปี 2549 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เคยจัดอภิปรายเรื่อง "นักข่าว (หญิง) กับภัยคุกคามทางเพศ" โดยมีการระบุจากผู้ร่วมการอภิปรายว่า ส่วนใหญ่นักข่าวไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอน บางทีเสี่ยงเพื่อที่จะได้ข่าวมา ในเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศมักไม่เกิดกับคนที่สมยอมแต่มักเกิดกับคนที่ไม่ยินยอมเรื่อยมา ที่สำคัญไม่มีการฝึกอบรมนักข่าวผู้หญิง มีเพียงแต่การสอนแบบพี่สอนน้องในการป้องกันตัวเอง

ทั้งนี้การละเมิดต่อนักข่าวหญิงในที่ทำงานว่ามีหลายรูปแบบ เช่น ความรุนแรงทางกาย การที่นักข่าวต้องเป็นหญิงแกร่ง ข่าวต้องมาอันดับหนึ่ง ต้องกินเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ถือตัว สามารถแต๊ะอั๋งได้เพื่อที่จะแลกกับข่าว นี่เป็นทัศนะของผู้ชายที่มองนักข่าวหญิง นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงทางจิตใจ เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่นักข่าวหญิงแม้มีมากกว่านักข่าวชายแต่ก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ ถ้าผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งงานเดียวกับผู้ชายจะได้เงินเดือนน้อยกว่า สามารถเลื่อนขั้นได้ง่ายกว่า ผู้หญิงถูกสอนให้ต้องพิสูจน์ตัวเองให้เห็นความสามารถในการทำงานตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่การลวนลามนักข่าวผู้หญิงโดยผู้ชายนั้นถูกทำให้เป็นเรื่องเล็ก เช่น ฝ่ายชายออกมารับผิดว่าตนเมา ขาดสติ และถ้าผู้หญิงไม่ยอมก็คงไม่มาด้วย หลังจากนั้นปัญหาก็จบเพราะว่าเป็นการเมาขาดสติ หรือการสมยอมของฝ่ายหญิง คดีการล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่จบแบบเดียวกัน คือการยอมความ อีกประการหนึ่งคือ ความรุนแรงทางสังคม ปัญหาเรื่องนักข่าวหญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศพูดกันอยู่ตลอดแต่ไม่เคยกลายเป็นประเด็นหลักเพราะสังคมมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ

ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้อีกประเด็นหนึ่งก็คือความไม่กล้าออกมาทำลายกำแพงความหวาดกลัว ในขณะที่นักข่าวหญิงเสียหายหัวหน้าผู้ชายกลับบอกว่าไม่อยากให้พนักงานตกเป็นข่าวเพราะกลัวที่ทำงานจะเสียชื่อเสียง แต่ไม่ใช่ว่าผู้หญิงจะไม่ออกมาเรียกร้องอะไร มีหลายกรณีที่ผู้หญิงกล้าออกมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเป็นกรณีศึกษาที่น่ายกย่อง เพราะทำให้เกิดบรรทัดฐานในการปฏิบัติ (อ่านเพิ่มเติม: เสวนา : นักข่าว (หญิง) กับภัยคุกคามทางเพศ)

ปี 2559 ผู้สื่อข่าวหญิงอาวุโสท่านหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ถึงประเด็นการคุกคามทางเพศในวงการข่าวว่านักข่าวหญิงมักถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นประจำทั้งจากเพื่อนร่วมงานและแหล่งข่าวที่เป็นเพศตรงข้าม เช่น ทางวาจาโดยเฉพาะกับนักข่าวผู้หญิงที่เข้าข่ายหน้าตาและบุคลิกภาพดีมักตกเป็นเป้าหมายของการล่วงละเมิดทางเพศ หนึ่งในปัจจัยของปัญหาดังกล่าวสาเหตุหลักมาจากทัศนคติของเพศชายที่ยังมองว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่มีไว้เพื่อชื่นชมในความงามน่ารัก หรือเพื่อเชยชม มากกว่าจะใส่ใจคุณค่าสมองและเห็นผู้หญิงเป็นเพื่อนร่วมงาน (อ่านเพิ่มเติม: ฟังนักข่าวหญิง-ถูกติดป้ายข่าวบันเทิง  เสี่ยงถูกล่วงละเมิด-แช่แข็งในสายงาน)

ในช่วงเดือน ก.ย. 2560 เกิดกรณีมีกระแสข่าวว่าผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่งมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศพนักงานในสังกัด จนทำให้ต้องลาออกจากองค์กรและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง จนทำให้สมาคมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยต้องตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงขึ้นมา แต่จนถึงปัจจุบัน (ม.ค. 2561) ก็ยังไม่มีการเปิดเผยผลการสอบสวนแต่อย่างใด (อ่านเพิ่มเติม: สมาคมนักข่าวฯ แจงตั้ง อนุฯ กก.แสวงหาข้อเท็จจริง ปมข่าวบิ๊กสื่อคุกคามทางเพศแล้ว)

และกรณีที่เป็นข่าวดังครั้งล่าสุด เมื่อเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา น.ส.กาลเวลา เสาเรือน อายุ 31 ปี ผู้สื่อข่าวหญิงสายสังคมของสถานีโทรทัศน์ชื่อดังแห่งหนึ่ง ได้นำหลักฐานเอกสารสำเนาคำสนทนาระหว่างคู่กรณีที่อ้างตัวเป็นเสี่ย แชตเสนอเงิน 222,000 บาท แลกกับการเป็นภรรยาน้อย เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินดดีกับชายคนดังกล่าว

โดย น.ส.กาลเวลา ระบุว่าในคืนวันเกิดเหตุมีผู้ใช้เฟสบุ๊ครายหนึ่งเพิ่มเพื่อนเข้ามา จากนั้นได้ทักแชตเข้ามาในอินบ๊อกส่วนตัวเฟสบุ๊คตน ก่อนมีการเจรจายื่นข้อเสนอเงิน 222,000 บาทต่อเดือน แลกกับการเป็นภรรยาน้อย ให้ไปนอนกับที่โรงแรมตามที่จะนัดทุกวันที่ 5 วันที่ 15 และวันที่ 25 ของเดือน หรือให้ไปมีเพศสัมพันธ์ 3 ครั้งต่อเดือน ต่อมาผู้ใช้เฟสบุ๊คดังกล่าวยังวิดีโอคอลล์เข้ามา และพยายามยามให้เปิดกล้องเพื่อดูหน้าตน เมื่อตนปฏิเสธ ก็มีการอัพค่าตัวเพิ่มให้อีก 65,000 บาท รวมเป็น 287,000 บาท แล้วก็มีการส่งรูปผู้หญิงคนอื่น ๆ แบบโป๊เปลือย ที่ชายคนดังกล่าวอ้างว่าเป็นเมียน้อยของตนเองเหมือนกัน นอกจากนี้ยังส่งรูปอวัยวะเพศชายมาให้ดูด้วย (อ่านเพิ่มเติม: นักข่าวดังช็อก! เสี่ยขอเลี้ยงเดือนละ 2 แสน ส่งรูปโป๊สาวๆ ในสังกัดมายัน-มีทุกวงการ!)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท