Skip to main content
sharethis

นักข่าวอีวาน ออสนอส ผู้มีประสบการณ์ในจีน ตามสัมภาษณ์ผู้ศึกษาจีน-สหรัฐฯ และเรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับการที่จีนพยายามผงาดขึ้นมาในเวทีโลกช่วงที่สหรัฐฯ ล่าถอยในรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ดูเหมือนว่าหลายคนยังประเมินว่าจีนจะเพลี่ยงพล้ำถ้าพยายามฉวยโอกาสเร็วเกินไป อีกทั้งการที่จีนไม่เคารพในเสรีภาพและประชาสังคมของตัวเองทำให้จีนไม่เป็นที่นับถือในสายตาของชาวโลกทั่วไป ขณะที่สหรัฐฯ ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนยังอาจจะสำรวจตัวเองและเปลี่ยนแปลงตัวเองได้

ในรายงานของนิตยสารเดอะนิวยอร์กเกอร์ฉบับวันที่ 8 ม.ค. 2561 โดยนักข่าวอีวาน ออสนอส นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการพยายามขึ้นมาเป็นผู้นำบนเวทีโลกในยุคสมัยที่สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามปิดตัวเองด้วยคำขวัญว่า "อเมริกามาก่อน" ส่วนจีนพยายามสร้างภาพให้ตัวเองดูเป็นผู้ให้ผลประโยชน์กับประเทศอื่นในเวทีโลก

ออสนอสยกตัวอย่างการนำเสนอภาพตัวเองในเวทีโลกของจีนผ่านทางภาพยนตร์ "กองพันหมาป่า" หรือ "Wolf Warrior II" ซึ่งเป็นภาพยนตร์แอคชั่นที่รายได้ถล่มทลายในจีนช่วงสองสัปดาห์แรก เรื่องราวเกี่ยวกับหน่วยรบพิเศษของกองทัพจีนที่เข้าไปปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนจีนที่ประเทศสมมติแห่งหนึ่งในแอฟริกาและมีตัวร้ายเป็นกลุ่มกบฏที่มีตะวันตกหนุนหลัง มีการพยายามสร้างภาพว่าจีนและแอฟริกา "เราเป็นเพื่อนกัน" และมีตัวร้ายเป็นนักแสดงชาวอเมริกันที่พยายามพูดดูถูกตัวเอกชาวจีนแต่ตัวร้ายก็ถูกซ้อมจนเสียชีวิตแล้วตัวเอกก็บอกว่า "นั่นเป็นอดีตไปแล้ว"

ออสนอสเคยย้ายเข้าไปอาศัยในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 2548 เขาบอกว่าเรื่องเหล่านี้สะท้อนความพยายามเข้าไปมีบทบาทในเวทีโลกด้วยปฏิบัติการทางทหารในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เช่น การส่งกองกำลังเข้าไปช่วยเหลือพลเรือนในสงครามเยเมน รวมถึงการเข้าไปตั้งฐานทัพในประเทศจิบูตี มีการตั้งข้อสังเกตว่าจากที่ก่อนหน้านี้ชาตินิยมของจีนตั้งอยู่บนแนวคิดแบบทำให้ตัวเองดูเป็นเหยื่อทั้งจากการรุกรานและจากจักรวรรดินิยม แต่การนำเสนอภาพยนตร์เรื่องกองพันหมาป่าเป็นการพยายามแสดงออกถึงความเข้มแข็งของจีนด้วยการเล่าในแบบของตัวเองไม่ต่างจากภาพยนตร์แอคชั่นในช่วงสมัยประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ

ออสนอสยังเคยพูดคุยกับอู๋จิง นักแสดงนำและผู้กำกับ Wolf Warrior II ช่วงที่เขาเดินทางมาโปรโมทภาพยนตร์เพื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ อู๋จิงบอกว่าก่อนหน้านี้ภาพยนตร์ในจีนเน้นแต่เรื่องสงครามฝิ่น เน้นแต่เรื่องที่ว่าประเทศอื่นทำสงครามกับจีนอย่างไร แต่ในตอนนี้จีนจะเล่าเรื่องในทำนองที่ว่าพวกเขาจะเป็นประเทศที่ปกป้องสันติภาพของโลกได้ อย่างไรก็ตามอู๋จิงถือเป็น "เด็กปั้น" ของรัฐบาลจีนเขาจึงไม่พูดถึงเรื่องการเซ็นเซอร์และการโฆษณาชวนเชื่อที่เกิดขึ้นในประเทศตัวเองเลย


'จีนผงาดสู่เวทีโลก' ?

รายงานในนิวยอร์กเกอร์ตั้งข้อสังเกตว่าในตอนนี้บทบาทของสหรัฐฯ และจีนดูจะกลับกัน ในขณะที่รัฐบาลทรัมป์ของสหรัฐฯ พยายามแสดงออกเสมือนลดบทบาทลงในเวทีโลก แต่เป็นจีนที่บทบาทในเวทีโลกดูเด่นขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตั้งแต่สมัยปี 2502 ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์เคยกล่าวไว้ว่าบทบาทอำนาจของรัฐไม่ควรจะมีแต่อำนาจทางทหารแต่อย่างเดียว ประเทศร่ำรวยที่เข้มแข็งทางการทหารก็เคยแพ้สงครามมานักต่อนักแล้ว สหรัฐฯ ต้องพยายามปกป้องโลกใหม่เสรีภาพและมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ควรทำให้สหรัฐฯ เป็นแค่ "ประเทศร่ำรวยในสุสานทางประวัติศาสตร์"

ขณะที่นโยบายทรัมป์พยายามตัดขาดสหรัฐฯ ออกจากเวทีโลกด้วยการยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกและนโยบายกีดกันคนจากประเทศมุสลิมเข้าเมือง เทียบกับนโยบายต่างประเทศยุคสมัยบารัก โอบามา ที่เน้น "การเป็นผู้นำอยู่เบื้องหลัง" จีนก็แสดงออกถึงความทะเยอทะยานในพื้นที่ที่เคยเป็นการวางรากฐานทางอำนาจของสหรัฐฯ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การให้ความช่วยเหลือด้านกองทุนการพัฒนาในต่างประเทศ การแผ่อิทธิพลการต่างประเทศและการทหาร รวมถึงการพยายามพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างระบบปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งจีนยังกลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำการให้ความช่วยเหลืองบประมาณแก่สหประชาชาติและกองกำลังรักษาสันติภาพ และพูดถึงปัญหาต่างๆ ในเวทีโลก

การพยายามแผ่อิทธิพลของจีนยังเกิดขึ้นจากแผนการด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานในทวีปเอเชียและแอฟริกาอย่างโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ขณะเดียวกันในเวทีโลกร้อนที่ปารีส ผู้นำจีนก็แสดงการสนับสนุนการแก้ปัญหาโลกร้อนพร้อมๆ กับวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการคุ้มครองทางการค้า (protectionism) ซึ่งดูย้อนแย้งกับจีนในอดีตที่มีนโยบายปกป้องและกีดกันสินค้าต่างชาติในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ โดยปัจจุบันจีนเองพยายามเจรจาให้เกิดสนธิสัญญาการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ที่ไม่มีสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วย

ในประเด็นด้านความมั่นคงจีนก็สอดตัวเองเข้าไปมีบทบาทในองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) ได้สำเร็จในปี 2559 โดยที่ เหมิง หงเหว่ย จากฝ่ายความมั่นคงของจีนกลายเป็นประธานตำรวจสากลคนแรกที่เป็นชาวจีน ทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนตื่นตัวในเรื่องนี้เพราะตำรวจสากลเป็นองค์การที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องให้ความช่วยเหลือรัฐบาลเผด็จการในการข่มเหงรังแกผู้ต่อต้านรัฐบาลและนักกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยในต่างประเทศ


'แบบแผนฉบับจีน'

รายงานของออสนอสประเมินว่าถึงแม้สหรัฐฯ จะยังคงมีอำนาจนำต่อไปอีกหลายปีเพราะมีกำลังทางการทหารและสนธิสัญญาด้านกลาโหมกับประเทศอื่นๆ มากกว่า 50 ประเทศ ขณะที่จีนมีเกาหลีเหนือประเทศเดียว แต่ในแง่ของความเชื่อมั่นผู้คนก็ดูจะเชื่อมั่นในสหรัฐฯ น้อยลงขณะที่จีนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ตนต้องการมากขึ้นโดยชักจูงประเด็นต่างๆ ทั้งการแข่งขันในการเลือกตั้ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างไปในทางที่ตัวเองต้องการแม้ว่าจะเป็นไปในทางทำลายสิ่งเหล่านี้ก็ตาม

ขณะที่ศูนย์วิจัยพิวเคยทำสำรวจพบว่าผู้คนไว้ใจสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนในเรื่องกิจการของโลกมากกว่าทรัมป์ แต่สีจิ้นผิงก็มีลักษณะอำนาจนิยมที่เน้นตัวบุคคลโดยเอาความคิดของตัวเองเข้าไปใส่ในหลักการรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจอย่างไม่ค่อยมีการขัดขวาง และสีจิ้นผิงก็เริ่มท้าทายระเบียบโลกใหม่ของสหรัฐฯ ด้วยการประกาศในที่ประชุมพรรคว่าจีนจะเป็น "ทางเลือกใหม่ให้กับประเทศอื่น" และเรียกทางเลือกที่นอกเหนือจากประชาธิปไตยแบบตะวันตกว่า "จงกั๋วฟางอั้น" หรือ "แบบแผนฉบับจีน"

จนถึงบัดนี้ กลุ่มชาตินิยมจีนมีความปรารถนาจะได้รับการยอมรับจากโลกภายนอก แต่พวกเขาก็กล่าวโจมตี "พวกบัวขาว" ที่หมายถึงกลุ่มเสรีนิยมจีน ขณะเดียวกันพวกเขากลับไม่สนใจความถูกต้องทางการเมืองในเวทีโลก เช่นพอมีนักแสดงพูดถึงวิกฤตผู้ลี้ภัยในประเทศอื่นเธอก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทางอินเทอร์เน็ตและถูกบีบให้ออกมาแถลงว่าไม่ได้หมายถึงอยากให้จีนรับผู้ลี้ภัย

ในรายงานยังตั้งข้อสังเกตเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับผู้นำจีนอีกว่าจากการพบปะกันหลายครั้งพวกเขาดูจะมีความชอบพอกันดีและทรัมป์เองก็กล่าวชื่นชมจีน แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยอภิปรายโจมตีว่าชาวจีนขี้โกงในการทำธุรกิจ ซ้ำยังชื่นชมความ "ชาตินิยม" แบบผู้นำจีน ทำให้มองไม่ออกว่าผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันจะคัดง้างอะไรจีนในเวทีโลก

เรื่องนี้อาจจะแสดงให้เห็นว่าจีนเริ่มพัฒนาตัวเองเรื่องการโน้มน้าวใจด้วยอำนาจอ่อนแล้วก็เป็นได้ ผู้ที่พูดเช่นนี้คือโจเซฟ นาย นักวิชาการรัฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ดผู้ประดิษฐ์คำว่า "อำนาจอ่อน" (soft power) ขึ้นมาเพื่ออธิบายการใช้แนวคิดหรือแรงดึงดูดแทนการใช้กำลังเพื่อทำให้คนเชื่อตาม ก่อนหน้านี้ประเทศที่ใช้อำนาจอ่อนคือสหรัฐฯ ผ่านทั้งทางภาพยนตร์ฮอลลิวูด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมูลนิธิของบิล เกตส์ แต่นายก็เห็นข้อด้อยของจีนในเรื่องนี้คือการที่จีนไม่เชื่อในเรื่องพลังของภาคประชาสังคม นายบอกอีกว่าความไม่เป็นที่นิยมของทรัมป์จะไม่ถึงขั้นทำให้สหรัฐฯ ถึงจุดเปลี่ยน ทรัมป์เป็นแค่ประธานาธิบดีที่ผิดแผกออกไปบ้างตามที่เคยมีในประวัติศาสตร์ เว้นแต่ถ้าหากทรัมป์นำสหรัฐฯ ไปสู่สงครามใหญ่ๆ หรือได้รับเลือกตั้งเข้ามาสร้างความเสียหายอีกครั้ง


ทำไมการให้จีนกุมบังเหียนโลกถึงน่าเป็นห่วง

ออสนอสระบุว่าสาเหตุที่เรื่องนี้น่าเป็นห่วง หนึ่งในนั้นเพราะความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยีของจีนกับบริษัทอเมริกันที่ไม่เพียงแค่เป็นเรื่องผลกำไรอย่างเดียวเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของการปั้นแต่งกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งเรื่องความเป็นธรรม สิทธิความเป็นส่วนตัว และการเซ็นเซอร์ด้วย โดยที่นอกจากจีนจะเซ็นเซอร์เว็บไซต์ชั้นนำใหญ่ๆ ของต่างประเทศแล้ว พวกเขายังมีบริษัท SenseTime ที่กำลังพัฒนาระบบการจดจำใบหน้าของบุคคลด้วย ขณะที่เรื่องเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าทำให้เกิดขัอถกเถียงอภิปรายกันในสหรัฐฯ ที่มีวัฒนธรรมการให้คุณค่าสิทธิระดับปัจเจกบุคคล แต่ในจีนที่ไม่ได้มีวัฒนธรรมแบบนี้ก็มีการถกเถียงกันเรื่องนี้น้อยมาก

รายงานในนิวยอร์กเกอร์ยังเปรียบเทียบสหรัฐฯ กับจีนว่า ขณะที่การเสนองบประมาณของรัฐบาลทรัมป์ในปี 2561 จะตัดงบการวิจัยวิทยาศาสตร์ไปมากถึงร้อยละ 15 คิดเป็นราว 11,100 ล้านดอลลาร์ แต่จีนก็กลับทุ่มทุนไปกับระบบปัญญาประดิษฐ์

อิริค ชมิดธ์ ผู้ที่เคยเป็นประธานอัลฟาเบตบริษัทแม่ของกูเกิลเคยกล่าวในที่ประชุมด้านปัญญาประดิษฐ์และความมั่นคงของโลกว่าจีนอาจจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ภายในช่วงปี 2568 ถ้าหากสหรัฐฯ ยังสั่งแบนไม่ให้ชาวอิหร่านที่มีนักวิทยาการคอมพิวเตอร์เก่งๆ เดินทางเข้าประเทศ

มีบางส่วนที่เริ่มโต้ตอบการพยายามขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็วของจีนบ้างแล้ว เช่น ออสเตรเลียมีสื่อขุดคุ้ยและสามารถเปิดโปงได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนส่งอิทธิพลต่อรัฐบาลออสเตรเลียอย่างไร ในเดือน ส.ค. ปีที่แล้วก็มีนักวิชาการแสดงความไม่พอใจที่เคมบริดจ์นำบทความที่อ่อนไหวต่อจีนอย่างกรณีการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินออกจากเว็บ รัฐบาลประเทศอื่นๆ และกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็แสดงความกังวลต่อเรื่องที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีนแผ่ขยายไปสู่นอกอาณาเขตจีน เช่นกรณีการลักพาตัวคนตีพิมพ์หนังสือวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำจีนไปจากฮ่องกงและไทย

กรณีโครงการของจีนก็มีปัญหาจากการสร้างปัญหาโดยจักรวรรดินิยมแบบจีนเองเช่นกรณีในศรีลังกาที่มีคนประท้วงต่อต้านโครงการท่าเรือน้ำลึกในเรื่องการแทรกแซงอธิปไตยศรีลังกา วิธีการทำธุรกิจของจีนเองก็มีลักษณะชอบลงโทษประเทศเล็กกว่าที่แสดงออกทางการเมืองในแบบที่จีนไม่พอใจ เช่นหลังจากที่มีการให้รางวัลโนเบลแก่หลิวเสี่ยวโป จีนก็หยุดค้าขายกับนอร์เวย์ไป 7 ปี ในช่วงที่มีการพิพาทเรื่องดินแดนกับฟิลิปปินส์ จีนก็ตัดการนำเข้ากล้วยจากฟิลิปปินส์ ช่วงที่มีข้อพิพาทกับเกาหลีใต้ก็มีการจำกัดการท่องเที่ยวและสั่งปิดห้างสัญชาติเกาหลี

นักวิเคราะห์การเมืองในวงการของจีนก็กังวลเช่นกันว่าถ้าจีนก้าวเร็วเกินไปในการพยายามเป็นผู้นำโลกช่วงสหรัฐฯ มีช่องโหว่จะเกิดผลเสียแม้แต่กับจีนเอง เจียฉิงกั่ว คณบดีภาควิชาการทูตของมหาวิทยาลัยปักกิ่งบอกว่าสหรัฐฯ ยังไม่เสียตำแหน่งการนำไปง่ายๆ แม้ว่าจีนจะพยายามขึ้นมากุงบังเหียนแต่การขาดประสบการณ์ไม่คุ้นเคยกับเวทีโลกของจีนอาจจะทำให้จีนเพลี่ยงพล้ำได้ แม้แต่มหาวิทยาลัยในจีนเองก็ผลิตคนที่เข้าใจโลกภายนอกที่ดูห่างไกลสำหรับจีนอย่างทันด่วนไม่ได้


อะไรที่ทำให้หลายคนคิดว่าสหรัฐฯ ยังจะไม่เสื่อมไปง่ายๆ

ออสนอสระบุว่าจากการสัมภาษณ์ทั้งในจีนและสหรัฐฯ ส่วนมากก็บอกว่าจีนคงจะยังไม่สามารถแทนที่สหรัฐฯ ได้ง่ายๆ เพราะอุปสรรคทางเศรษฐกิจของจีนเองและระบอบการเมืองที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการนับถือศาสนา และบั่นทอนภาคประชาสังคม ทำให้เหล่านักคิดผู้ประกอบการเก่งๆ ออกจากประเทศไปหมด ระบอบแบบสีจิ้นผิงมีแต่พวกนักเผด็จการเท่านั้นที่จะอิจฉาพวกเขาจะได้รับการชื่นชมจากประชาชนทั่วไปในประเทศอื่นๆ น้อยมาก แนวทางแก้ไขปัญหาของจีนเองก็ไม่สอดรับกับปัญหาใหญ่ๆ ในโลกเช่นสงครามกลางเมืองซีเรีย การแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ นี้มีราคาต้องจ่ายสูงมากและจีนก็ยังไม่พร้อมที่จะจ่าย

อดีตรัฐมนตรีการต่างประเทศของอินเดีย ชิฟชังการ์ มีนอน กล่าวว่าสหรัฐฯ จะยังคงความเป็นผู้นำโลกไว้ได้ สาเหตุเพราะสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจประเทศเดียวเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองผ่านกระบวนการตรวจสอบตัวเอง เช่น เมื่อสหรัฐฯ ส่งทหารไปในอิรักก็มีผู้คนทักท้วงในเรื่องนี้ว่าเรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่หรือ และในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ก็พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองหลายครั้ง

ศาสตราจารย์ในกรุงปักกิ่งคนหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อเป็นคนที่ศึกษาสหรัฐฯ มานานเปิดเผยว่าตัวเขาชอบสหรัฐฯ เคยคิดว่าพหุวัฒนธรรมแบบในสหรัฐฯ น่าจะนำมาใช้ในจีนได้ แต่มันก็ไม่สำเร็จ ทั้งนี้เขามองว่าสหรัฐฯ เองมีปัญหาเรื่องการแข่งขันเสรีของตัวเองที่ทำให้เกิดการเมืองแบบมีได้มีเสีย (Zero-sum politics) และชวนให้มองโลกในแง่ร้าย ทำให้ผลประโยชน์ของอภิชนมาก่อนแรงบันดาลใจ ที่น่าสนใจคือศาสตราจารย์ผู้นี้เห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทั้งสองประเทศต่างก็มีผู้คนที่ไม่พอใจจากช่องว่างรายได้และความไม่เท่าเทียมด้านโอกาสหันเข้าหาแนวทางแบบชาตินิยมและผู้นำแบบโหยหาอดีตมองโลกภายนอกเป็นภัยไปหมด


เรียบเรียงจาก

Making China Great Again, Evan, Osnos, The New Yorker, 08-01-2018
https://www.newyorker.com/magazine/2018/01/08/making-china-great-again

ขอบคุณภาพต้นฉบับจาก Michel Temer และ Gage Skidmore (CC BY-SA 2.0)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net