สาระ+ภาพ: วันเด็ก 2561 ในวันที่เด็กไทยน้อยลงแต่มีความท้าทายอยู่ข้างหน้า

ร่วมฉลองวันเด็ก 2561 พิจารณาสถานการณ์ประเทศไทยที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง แต่ปัญหาและสวัสดิภาพของเด็กยังไม่ดีขึ้น เด็กยังคงถูกแจ้งหายเป็นอันดับต้นๆ แม่วัยรุ่นไทยอยู่ตรงไหนกันแน่ของอาเซียน โครงสร้างครอบครัวไทยแบบพ่อแม่ลูกที่มีลูกไม่เกิน 1-2 คน รวมทั้งเทรนด์ครอบครัวใหม่แบบสังคมผู้สูงวัย และผู้คนที่เริ่มอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น รวมทั้งโครงสร้างประชากรในอนาคตที่ประชากรวัยเด็กจะมีน้อยกว่าประชากรผู้สูงอายุ

ยุคเด็กไทยเกิดใหม่ไม่ถึงปีละล้าน

จำนวนเด็กเกิดใหม่ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เข้าสู่ต้นทศวรรษ 2500 จากจำนวนการเกิดในปี 2493 คือ 525,800 คน และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนสถิติการเกิดแตะหลักล้านครั้งแรกเมื่อปี 2506 คือ 1,020,051 คน และรักษาสถิติหลักล้านจนถึงปี 2526 ที่มีจำนวนการเกิด 1,055,802 คน ทั้งนี้ในปี 2514 มีจำนวนการเกิดสูงสุดคือ 1,221,228 คน ก่อนที่ในปี 2516 จะเริ่มมีโครงการวางแผนครอบครัวในระดับชาติ และนับตั้งแต่ปี 2527 จำนวนการเกิดไม่ถึงหลักล้านอีกเลย โดยมีจำนวนการเกิดรวม 970,760 คน และในปี 2531 มีจำนวนการเกิดเหลือ 873,842 คน

ทั้งนี้ระหว่างปี 2532-2539 ที่มีการเกิดเพิ่มขึ้นจนมาแตะระดับ 9 แสนคนโดยในปี 2539 มีจำนวนการเกิด 983,395 คน อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2540 จำนวนการเกิดรวมเหลือเพียง 880,028 คน และมีแนวโน้มลดลงเป็นลำดับ จนในปี 2559 จำนวนการเกิดรวมเหลือเพียง 666,207 คน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนการเกิดเมื่อปี 2497 (เกิด 681,192 คน) หรือปี 2498 (เกิด 694,985 คน)

ที่มา: 1. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2520 - 2524 กองสถิติสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
2. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2524 - 2528 กองสถิติสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
3. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2528 - 2532 กองสถิติสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
4. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2534 - 2538 กองสถิติสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
5. สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2559 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
5. จำนวนประชากร การเกิด และการตาย ทั่วราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2536 - 2559 รายปี สำนักงานสถิติแห่งชาติ

 

อัตราเจริญพันธุ์ของมารดา

ผลจากอัตราการเกิดที่ลดต่ำ ทำให้ขนาดของครอบครัวไทยโดยเฉลี่ยลดลง หญิงไทยเคยมีจำนวนบุตรเฉลี่ย 6.1 คนในปี 2507 ปัจจุบันในปี 2558 ลดลงเหลือ 1.5 คน

ที่มา: Fertility rate, total (births per woman), World Bank

 

ขนาดครอบครัวไทย

และเมื่อพิจารณาขนาดครอบครัวไทย ในปี 2523 มีครอบครัวไทยมีขนาดเฉลี่ย 5.2 คน ปี 2533 ลดลงเป็น 4.4 คน ปี 2543 ลดลงเป็น 3.1 คน และข้อมูลของสำนักงานทะเบียนราษฎร์ล่าสุดในปี 2557 ขนาดครอบครัวไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 คน

ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย พบว่าครอบครัวไทยมีขนาดเฉลี่ยน้อยกว่าครอบครัวสิงคโปร์ที่มีสมาชิก 3.5 คน ขณะที่มีขนาดใกล้เคียงกับครอบครัวญี่ปุ่นที่มีสมาชิก 2.71 คน และครอบครัวเกาหลีใต้ที่มีสมาชิก 2.97 คน

โดยปัจจัยที่ทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากความต้องการวางแผนครอบครัวให้เอื้อต่อรายได้ที่แท้จริงของตนเอง การเลือกที่จะครองโสดมากขึ้น หรือหรือชะลอการสมรสออกไปจนกว่าจะมีการศึกษา หรือสถานภาพทางเศรษฐกิจสูงในระดับหนึ่งก่อน ทั้งนี้ คู่สามีภรรยาจำนวนมากไม่ต้องการมีบุตรด้วยเชื่อว่าเป็นภาระอันหนักอึ้งทางการเงิน นอกจากนี้ยังมีประชากรที่อยู่ในภาวะมีบุตรยากและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้

ที่มา: 1. Fertility rate, total (births per woman), World Bank
2. รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558, สศช. และ UNFPA

 

ภาพรวมครอบครัวไทย
รูปแบบครอบครัวพ่อแม่ลูกลดลง
ครอบครัวสามรุ่น ครอบครัวข้ามรุ่น อยู่ตัวคนเดียวเพิ่มขึ้น

ส่วนภาพรวมของครัวเรือนไทย จากรายงานในปี 2558 ของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมชาติ (สศช.) พบว่าในรอบ 25 ปีมานี้ ครอบครัวแบบพ่อแม่ลูกไม่ใช่รูปแบบหลักของครอบครัวไทยอีกต่อไป โดยพบว่าครอบครัวสามรุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นครอบครัวประเภทหลักในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตชนบท ส่วนครอบครัวพ่อแม่ลูก ซึ่งเคยเป็นครอบครัวประเภทหลักลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง

ขณะที่ครอบครัวคู่สามีภรรยาและไม่มีลูก เพิ่มขึ้น 3 เท่า โดยเพิ่มขึ้นในเขตชนบทสูงกว่าในเขตเมือง ส่วนครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีสัดส่วนลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 9.7 แสนครัวเรือน เป็น 1.37 ล้านครัวเรือน โดยครอบครัวข้ามรุ่นเพิ่มขึ้น 2 เท่า เช่นเดียวกับครัวเรือนคนเดียวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา

ในส่วนของครอบครัวขยายที่เพิ่มจำนวนขึ้นในรอบ 25 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท จำแนกได้เป็น 2 ประเภทได้แก่ 1. ครอบครัวข้ามรุ่นที่มีปู่ย่าตายายอาศัยอยู่ร่วมกับหลานโดยไม่มีคนวัยแรงงานอาศัยอยู่ในครัวเรือน และ 2. ครอบครัวสามรุ่น หรือครอบครัวขยายโดยทั่วไป ที่มีรุ่นปู่ย่าตายายอาศัยอยู่กับรุ่นลูก

วัยแรงงานและรุ่นหลาน ทั้งนี้ คนรุ่นปู่ย่าตายายในครอบครัวขยายนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สูงอายุอายุเกิน 60 ปี ส่วนครอบครัวสามรุ่นนั้น อาจรวมเครือญาติคนอื่นๆ หรือบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกครอบครัวอาศัยอยู่ในครัวเรือนด้วย แม้ว่าครอบครัวข้ามรุ่นจะยังคงมีจำนวนไม่มากแต่ก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา ทั้งในพื้นที่เขตเมืองและชนบท

แนวโน้มที่ครอบครัวขยายมีจำนวนเพิ่มขึ้นนี้ ดูเหมือนจะขัดกับความทันสมัยของสังคมไทยอย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังคงอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน และยังคงอยู่ในช่วงเวลาที่มีการผสมกันระหว่างประชากรรุ่นต่างๆ โดยผู้สูงอายุในปัจจุบันจำนวนมากยังคงเป็นประชากรรุ่นที่มีบุตร 3-4 คน ในขณะที่รุ่นลูกของผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีจำนวนบุตรน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ส่วนรุ่นหลานก็มีแนวโน้มว่าจะยิ่งมีบุตรน้อยลงไปอีก กระนั้นก็ยังคงถือเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่วัยสูงอายุจะมีลูกวัยผู้ใหญ่อย่างน้อย 1 คนที่อาศัยอยู่ด้วยกันหรืออยู่ในละแวกใกล้เคียง ขณะที่ลูกคนอื่นๆ อาจจะไปอาศัยอยู่ที่อื่น ส่วนเหตุผลประการอื่น เช่น การขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือความจำเป็นในการดูแลเด็กหรือเลี้ยงดูพ่อแม่ อาจทำให้บุคคลวัยแรงงานบางคนเลือกให้พ่อแม่วัยสูงอายุอาศัยอยู่กับตนเอง

ที่มา: รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558, สศช. และ UNFPA

 

สัดส่วนประชากร:
เด็กและวัยแรงงานลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

รายงานในปี 2558 ของ UNFPA และ สศช. ยังระบุด้วยว่าสัดส่วนประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปขยายตัวเพิ่มขึ้น และสัดส่วนประชากรวัยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีลดน้อยลง โดยในปี 2513 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรไทยทั้งหมด ส่วนผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น แต่ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างประชากรกลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยในปี 2553 สัดส่วนประชากรวัยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีลดลงเหลือเพียง 19.2% ขณะที่ผู้สูงอายุกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 12%

นอกจากนี้ ยังมีการคาดประมาณว่าภายในปี 2583 สัดส่วนประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จะมีสัดส่วนเหลือเพียง 15.9% ของประชากรไทยทั้งหมด ขณะที่ผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนถึง 32.1% ส่วนประชากรวัยแรงงานได้ไปถึงจุดสูงสุดแล้วคือ 50 ล้านคน และคาดว่าจะค่อยๆ ลดลงมาต่ำกว่า 38 ล้านคนภายในเวลา 30 ปี

ที่มา: รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558, สศช. และ UNFPA

 

จำนวนนักเรียนชั้น ป.1 ถึง 6 ทั่วประเทศ พ.ศ. 2514 ถึง 2558

ทั้งนี้สัดส่วนประชากรวัยเด็กที่มีสัดส่วนลดลง ยังสะท้อนผ่านจำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศด้วย โดยในปี 2514 มีจำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ทั่วประเทศ 5,393,793 คน ปี 2520 มีจำนวนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวม 6,427,769 คน และในปี 2530 มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ทั่วประเทศสูงถึง 7,100,226 คน ก่อนที่จะมีแนวโน้มลดลงในเวลาต่อมา

โดยในปี 2540 มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวม  5,927,902 คน ปี 2550 มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวม 5,564,624 คน และในปี 2558 มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวม 4,867,077 คน

ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ [1], [2]  และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ

หมายเหตุ: ข้อมูลปี 2514 และ 2520 เป็นการนับเฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 โดยไม่รวมนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 7

 

จำนวนนักศึกษาปริญญาตรีทั่วประเทศ พ.ศ. 2514 ถึง 2558

เมื่อพิจารณาจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีทั่วประเทศ จะพบว่าแม้ว่าอัตราการเกิดและสัดส่วนประชากรวัยเด็กลดลง แต่ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยที่เริ่มมั่นคงขึ้น รวมทั้งนโยบายด้านการศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้จำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีทั่วประเทศในช่วงทศวรรษ 2510-2550 ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้น จากในปี 2514 ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีจำนวนนักศึกษาทั่วประเทศ 77,753 คน ขณะที่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในปี 2520 มีจำนวนนักศึกษาทั่วประเทศ 145,161 คน

ทั้งนี้ในปี 2530 มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2520 มาเป็น 338,650 คน และในปี 2540 ซึ่งจำนวนนักเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศมีแนวโน้มลดลงแล้ว แต่จำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรียังเพิ่มขึ้นกว่า 4.3 เท่าตัวจากปี 2530 มาเป็น 1,459,489 คน ในปี 2550 จำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นเป็น 2,212,619 คน และมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย โดยในปี 2558 มีจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรี 2,181,601 คน

โดยในระยะหลังสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศต่างหาวิธีรักษาจำนวนนักศึกษา ทั้งด้วยการเปิดภาคพิเศษ และเปิดหลักสูตรนานาชาติเพื่อเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติเข้ามาทดแทนจำนวนนักศึกษาไทยที่ลดลง

ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ [1], [2] และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ

 

สาเหตุที่เปลี่ยนไปของการออกเรียนกลางคัน

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ออกเรียนกลางคันของนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาระหว่างปี 2550 และ 2558 พบว่าสถิตินักเรียนออกเรียนกลางคันลดลงต่อเนื่องเป็นลำดับจากปี 2550 มีนักเรียนออกกลางคัน 110,881 คน ปี 2555 มีนักเรียนออกกลางคัน 27,930 คน และในปี 2558 มีนักเรียนออกกลางคัน 8,814 คน

โดยในปี 2550 สาเหตุออกเรียนกลางคัน อันดับ 1 เป็นเรื่องฐานะยากจน 30.88% รองลงมาคือกรณีอื่นๆ 27.15% และอพยพตามผู้ปกครอง 14.46% ส่วนในปี 2558 สาเหตุออกเรียนกลางคัน อันดับ 1 เป็นเรื่องอพยพตามผู้ปกครอง 27.40% รองลงมาคือ มีปัญหาในการปรับตัว 22.54% และมีปัญหาครอบครัว 19.23%

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

 

เด็กหายทุกปีและมีแนวโน้มน่าห่วง

สถิติการรับแจ้งผู้สูญหายของศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา พบว่าในปี 2560 ที่ผ่านมา มีเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกแจ้งหาย 422 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 45.43 จากจำนวนผู้สูญหายทั้งหมด 929 คน โดยประเภทการแจ้งสูญหายส่วนมากเป็นการสมัครใจหนีออกจากบ้านสูงถึงร้อยละ 83.5 ซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงอายุ 11-15 ปี รองลงมาคือ พลัดหลง 8% ลักพาตัว 1% อุบัติเหตุ 0.5% อื่นๆ เช่น ขาดการติดต่อ และแย่งความปกครองบุตร 7%

ขณะที่ในปี 2559 มีเด็กและเยาวชนถูกแจ้งหาย 419 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 50.48 จากจำนวนผู้สูญหายทั้งหมด 830 คน และเมื่อพิจารณาแนวโน้มในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกแจ้งหายคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของการรับแจ้งผู้สูญหาย

โดยในปี 2556 มีเด็กและเยาวชนถูกแจ้งหาย 120 คน คิดเป็นร้อยละ 78.95 จากจำนวนผู้สูญหาย 152 คน ในปี 2557 มีเด็กและเยาวชนถูกแจ้งหาย 204 คน คิดเป็นร้อยละ 78.76 จากจำนวนผู้สูญหาย 259 คน และในปี  2558 มีเด็กและเยาวชนถูกแจ้งหาย 539 คน คิดเป็นร้อยละ 60.97% จากจำนวนผู้สูญหายทั้งหมด 884 คน

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา

 

แม่วัยรุ่นไทย: อยู่ตรงไหนของอาเซียน

ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไม่เพียงแต่เป็นปัญหาด้านสุขภาพ แต่ยังเป็นปัญหาด้านประชากรที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม โดยองค์การสหประชาชาติกำหนดให้การลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี (Adolescent birth rate) เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ที่นานาชาติต้องบรรลุให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยถือเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย

โดยเมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์แม่วัยรุ่นของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 11 ประเทศ พบว่าในปี พ.ศ. 2558 ไทยอยู่ในลำดับที่ 6 คือมีอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีอยู่ที่ 44.605 ต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่ลาวเป็นประเทศที่มีอัตราการคลอดในวัยรุ่นสูงสุดคือ 63.734 ต่อประชากร 1,000 คน ลำดับถัดมาคือฟิลิปปินส์ 62.654 ต่อประชากร 1,000 คน

สำหรับประเทศที่มีระดับการคลอดในวัยรุ่นต่ำที่สุดคือ สิงคโปร์ 3.796 ต่อประชากร 1,000 คน รองลงมาคือ มาเลเซีย 13.717 ต่อประชากร 1,000 คน

ที่มา: World Bank / United Nations Population Division, World Population Prospects และ สถิติการคลอดของแม่วัยรุ่นประเทศไทย ปี พ.ศ. 2558, สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท