Skip to main content
sharethis

กองกำลัง ARSA ระบุว่าศพชาวโรฮิงญา 10 รายที่พบในหลุมขนาดใหญ่เป็นแค่พลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับ ARSA โดยเป็นการชี้แจงหลังจากหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมพม่ายอมรับว่ามีทหารพม่าร่วมกับชาวบ้านสังหารชาวโรฮิงญา 10 ราย โดยไม่ยอมนำส่งตำรวจ แต่ก็อ้างว่าเป็นเพราะผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านี้ก่อเหตุโจมตีเจ้าหน้าที่

กรณีที่คณะกรรมการข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหมพม่า ออกมายอมรับว่ามีเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความมั่นคงร่วมกับชาวบ้าน สังหารชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัว 10 ราย และถูกฝังรวมกันในหลุมฝังศพขนาดใหญ่ที่หมู่บ้านอินดินในรัฐยะไข่ แต่ก็อ้างว่าผู้ถูกสังหารเป็นกลุ่มติดอาวุธและโจมตีเจ้าหน้าที่พม่านั้น

ล่าสุด สถานีวิทยุเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) รายงานว่า กองกำลัง ARSA ระบุว่า ศพชาวโรฮิงญา 10 ราย ที่พบดังกล่าวไม่ใช่สมาชิกกลุ่มติดอาวุธแต่เป็นพลเรือนชาวโรฮิงญาที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับกองกำลัง ARSA

เจ้าหน้าที่พม่าขุดศพ 10 ร่างขึ้นมาจากหลุมศพขนาดใหญ่ที่ค้นพบที่หมู่บ้านอินดิน ห่างจากเมืองซิตตะเหว่ เมืองหลวงรัฐยะไข่ไปทางเหนือ 50 กม. ภาพถ่ายเมื่อ 19 ธันวาคม 2560 (ที่มา: Office of the Commander-in-Chief)

สภาพของหมู่บ้านอินดิน ในรัฐยะไข่ เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีประชากร 6,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญา ขณะที่อีก 840 คน เป็นประชากรกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในภาพเป็นภาพถ่ายจากดาวเทียมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 แสดงให้เห็นสภาพของชุมชนที่ถูกเผาทำลาย (กรอบสีแดง) โดยมีชุมชนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ไม่ได้ถูกเผาทำลาย (กรอบสีเขียว) (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ที่ตั้งของหมู่บ้านอินดิน ในรัฐยะไข่ ห่างจากเมืองซิตตะเหว่ เมืองหลวงรัฐยะไข่ไปราว 50 กม.

โดยก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ของรัฐบาลพม่า รายงานเมื่อวันที่ 11 มกราคม 61 ว่า คณะกรรมการข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหมพม่าได้แถลงยอมรับเมื่อ 10 มกราคมนี้ว่า หลุมศพขนาดใหญ่ที่มีศพ 10 ร่าง พบเมื่อ 18 ธันวาคม 60 ที่หมู่บ้านอินดิน ห่างจากซิตตะเหว่ เมืองหลวงรัฐยะไข่ไปทางเหนือราว 50 กม. นั้นเป็นศพของกลุ่มมุสลิมติดอาวุธ

ทีมสอบสวนซึ่งนำโดย พล.ท.เอวิน จากกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ช่วง 20 ธันวาคม 60 ถึง 2 มกราคม 61 ได้สอบสวนทหารพม่า 21 ราย ตำรวจตระเวนชายแดน 3 ราย และสมาชิกกองกำลัง อส. กรมที่ 8 จำนวน 13 ราย ชาวบ้าน 6 ราย และเจ้าหน้าที่รัฐบาลในพื้นที่ 6 ราย

แถลงการณ์ของหน่วยงานดังกล่าวยังระบุว่า ในช่วงก่อเหตุโจมตีระลอกใหม่ของกองกำลัง ARSA เมื่อ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าเป็นคนลงมือฆ่า "หม่องนี" ชาวบ้านในหมู่บ้านอินดิน นอกจากนี้ยังข่มขู่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่มุสลิมในหมู่บ้าน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่มุสลิมได้ย้ายไปรวมกันในวัดแห่งหนึ่งของหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่กองทัพพม่าถูกส่งเข้ามาในพื้นที่เพื่อรักษาความปลอดภัย

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน มีผู้ก่อเหตุราว 200 คน พยายามโจมตีกองกำลังของรัฐบาลพม่าที่เข้ามาในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่จึงยิงปืนเตือนขึ้นฟ้าเพื่อให้กลุ่มผู้ก่อเหตุสลายตัว และจับชายที่มีอาวุธได้ 10 คน โดยชายเหล่านี้สารภาพว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย และถูกจัดตั้งมาโดยผู้นำศาสนาในพื้นที่ชื่อ "หม่อละวี" ที่มัสยิดในหมู่บ้าน

คณะกรรมการข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหมพม่า ยังรายงานด้วยว่า ผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 10 คนต้องถูกส่งมอบตัวกับตำรวจ แต่ในรายงานอ้างว่า เนื่องจากรถยนต์ 2 คันของสถานีตำรวจอินดินถูกเผาทำลายโดยผู้ก่อการร้าย และมีเหตุโจมตีของผู้ก่อการร้ายเกิดขึ้นในเวลานั้น ทำให้ทหารพม่าร่วมกับชาวบ้านบางรายสังหารผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 10 ราย

รายงานของคณะกรรมการข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหมพม่า ระบุด้วยว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎการปะทะ และจะมีการดำเนินการลงโทษต่อบุคคลเหล่านี้ นอกจากนี้จะลงโทษเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ยอมรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานบังคับบัญชาอีกด้วย

ขณะที่ อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ กล่าวเมื่อวันศุกร์นี้ (12 ม.ค.) ว่า เธอรู้สึกอุ่นใจหลังจากที่ทราบผลการสอบสวนของกองทัพพม่าที่ระบุว่าจะลงโทษเจ้าหน้าที่ซึ่งก่อเหตุสังหารดังกล่าว

"มันเป็นการก้าวไปข้างหน้าที่กองทัพพม่าได้สอบสวน และระบุว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบ ในที่สุดประเทศชาติจำต้องรับผิดชอบต่อหลักนิติธรรมในประเทศของตน" อองซานซูจีกล่าวระหว่างแถลงข่าวหลังการพบปะ ทาโร โคโนะ รมว.ต่างประเทศของญี่ปุ่น รายงานของอิระวดีระบุ

อนึ่งเกิดความรุนแรงระลอกใหม่ขึ้นในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า เมื่อกองกำลัง ARSA ซึ่งระบุว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญาบุกโจมตีป้อมตำรวจที่ชายแดนพม่า ทำให้กองทัพพม่าใช้วิธีปราบปรามแบบไม่เลือกหน้าและมุ่งเป้ามาที่พลเรือน โดยใช้ทั้งวิธีสังหารและเผาทำลายหมู่บ้าน ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในรัฐยะไข่ในพื้นที่ขัดแย้ง ก็อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลพม่าจัดให้ โดยระบุว่าถูกโจมตีจากกลุ่ม ARSA เช่นกัน

โดยผลจากการกวาดล้างของกองทัพพม่า ทำให้เกิดการอพยพของชาวมุสลิมโรฮิงญาเข้าสู่ชายแดนบังกลาเทศแล้วกว่า 650,000 คน

ด้านสหประชาชาติได้กล่าวประณามกองทัพพม่าว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ แต่ทางการพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และระบุว่าได้ดำเนินการตามกฎหมาย

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Daw Aung San Suu Kyi Encouraged by Investigation into Inn Din Killings, Irrawaddy, 12 January 2018

Villagers, security forces involved in killings of 10 armed Muslims, The Global New Light of Myanmar, 11 January 2018

ARSA says 10 found in Rakhine State grave were ‘innocent civilians’, DVB, 14 January 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net