อดีตผู้พิพากษาอิหร่านถูกฟ้องข้อหา 'อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ' ขณะรักษาตัวในเยอรมนี

กลุ่มสิทธิฯ อิหร่านและนักการเมืองเยอรมนียื่นฟ้องอดีตหัวหน้าผู้พิพากษาของอิหร่าน ข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ระหว่างที่เขามารักษาตัวในเยอรมนี ผู้พิพากษาผู้นี้อื้อฉาวในเรื่องการร่วมละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งคุมขังและประหารชีวิตผู้ประท้วงรัฐบาลในอิหร่าน ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีการจับกุม แต่ทางการเยอรมนีแถลงว่าจะมีการสืบสวนข้อกล่าวหาดังกล่าว

14 ม.ค. 2561 สื่อโกลบอลวอยซ์รายงานว่าในขณะที่อดีตหัวหน้าผู้พากษาของอิหร่าน อยาตอลเลาะห์ มาห์มูด ฮาเชมี ชาห์รูดี กำลังรับการรักษาที่สถาบันประสาทวิทยานานาชาติในประเทศเยอรมนี กลุ่มแนวร่วมองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนชาวอิหร่านก็ยื่นฟ้องต่อรัฐบาลเยอรมนีโดยกล่าวหาชาห์รูดีในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

นอกจากการฟ้องร้องโดยแนวร่วมองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนชาวอิหร่านหลายองค์กรแล้ว กลุ่มสภาต่อต้านแห่งอิหร่าน (National Council of Resistance of Iran หรือ NCRI) และ โฟลเคอร์ เบค นักการเมืองพรรคกรีนของเยอรมนีร่วมฟ้องร้องทางอาญาเพิ่มเติมต่อชาห์รูดีด้วย

พายอม อัควัน หนึ่งในผู้นำทนายความด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติเป็นผู้นำการฟ้องร้องในครั้งนี้โดยให้เหตุผลว่าผู้ที่มีอำนาจควรจะต้องรับผิดชอบต่อผู้คน ถ้าหากพวกเขาไม่มีความยุติธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ควรจะต้องเผชิญกับผลที่ตามมา

อัควันผู้ที่เป็นทั้งทนายความที่มีชื่อเสียงและเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแมคกิลในแคนาดากล่าวว่าอดีตผู้พิพากษาชาห์รูดีก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าผู้พิพากษา โดยกล่าวหาว่าชาห์รูดีมีส่วนพัวพันกับการปราบปราม คุมขัง ละเมิดสิทธิ และประหารชีวิตผู้ต่อต้านรัฐบาลอิหร่านหลายคนจากหลายเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีการประท้วงของนักศึกษาในปี 2542 ไปจนถึงการประท้วงในช่วงปี 2552

โกลบอลวอยซ์ระบุว่าถ้าหากมีการดำเนินคดีกับชาห์รูดี จะต้องมีการพิจารณาคดีตามหลักการเขตอำนาจศาลสากล (universal jurisdiction) ที่ให้ศาลในประเทศนั้นๆ พิจารณาลงโทษบุคคลที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงอันขัดกับหลักกฎหมายนานาชาติได้ หลักการนี้เองที่ให้การสนับสนุนการลงโทษอดีตผู้นำเผด็จการ ชิลีออกุสโต ปิโนเชต์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในกัวเตมาลา

ทั้งนี้ อัควันชี้ว่า การตั้งเงื่อนไขที่สูงสำหรับการให้หลักฐานเพื่อให้มีการออกหมายจับตามมาตราที่ 7 ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) ที่ระบุให้ต้องมีหลักฐานการก่ออาชญากรรมที่กระทำต่อประชาชนอย่างเป็นระบบ เป็นงานที่ต้องใช้ทรัพยากรเยอะมาก

ผู้พิพากษาชาห์รูดีเป็นที่อื้อฉาวทั้งในและนอกประเทศอิหร่านจากนโยบายการลิดรอนเสรีภาพในช่วงที่เขาเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาในช่วงปี 2542-2552 หนึ่งในนั้นคือการพิพากษายืนยันให้ประหารชีวิต เรย์ฮาเนห์ จับบารี หญิงชาวอิหร่านผู้ถูกกล่าวหาว่าสังหารอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงข่าวกรองอิหร่านหลังจากที่ชายผู้นี้พยายามข่มขืนเธอ เธอถูกให้จำคุกตั้งแต่อายุ 19 ปีและถูกประหารชีวิตเมื่ออายุเพียง 26 ปี ซึ่งองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่าการตัดสินลงโทษจับบารีตั้งแต่ปี 2542 มาจากการสืบสวนที่มีข้อบกพร่องอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีญาติของเหยื่อรายอื่นๆ ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ เช่น ลูกชายของช่างภาพข่าวชาวอิหร่าน-แคนาดา ซาห์รา คาเซมี ผู้ที่เสียชีวิตในเรือนจำของอิหร่านหลังจากถูกจับกุมได้ 19 วัน

การเรียกร้องในเรื่องนี้มีขึ้นในช่วงเดียวกับที่เกิดการประท้วงลุกลามไปทั่วอิหร่านในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนถูกจับกุมจำนวนมากและมีรายงานข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตในเรือนจำ ถึงจะถูกปราบปรามแต่ก็ยังมีกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลเดินขบวนประท้วงอยู่นอกเรือนจำเอวีน ที่กรุงเตหะรานเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ประท้วงที่ถูกคุมขังในเรือนจำ

อัควันกล่าวว่าการเรียกร้องให้มีการเอาผิดรัฐบาลตามกฎหมายนานาชาติจะส่งผลบวกต่อการเคลื่อนไหวภายในประเทศและเป็นการที่ชาวอิหร่านพลัดถิ่นและประชาคมโลกจะสามารถแสดงการสนับสนุนผู้ต่อต้านรัฐบาลอิหร่านได้และเป็นการแสดงให้รู้ว่าคนที่ดูเหมือนจะไม่สามารถเอาผิดได้อาจจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่กระทำลงไปตามกระบวนการพิจารณาคดีเช่นกัน โดยอัควันเชื่อว่าจะป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยได้

สื่อเยอรมนีรายงานตามการกล่าวอ้างของแหล่งข่าวที่เป็นตำรวจเยอรมนีว่า ชาห์รูดีเดินทางออกจากเยอรมนีช่วงกลางวันของวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมาหลังจากได้รับการรักษาแล้วแม้ว่าจะมีการเรียกร้องจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนอิหร่านให้จับกุมตัวเขา ด้านสำนักงานอัยการรัฐบาลกลางเยอรมนีแถลงต่อเรื่องนี้โดยย้ำว่าพวกเขามีพันธกิจต้องสืบสวนเกี่ยวกับการร้องเรียนนี้อย่างแน่นอนไม่ว่าชาห์รูดีจะยังอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่ก็ตาม

เบค นักการเมืองพรรคกรีนของเยอรมนีสัมภาษณ์ต่อสื่อดอยเซอเวลเลอในกรณีการรักษาตัวของชาห์รูดีและสาเหตุที่เขาร้องเรียนต่ออัยการเยอรมนีในประเด็นนี้ว่า "เยอรมนีไม่ควรจะเป็นแหล่งกบดานของอาชญากร"

เรียบเรียงจาก

While Iran's Former Head of Judiciary Receives Medical Treatment in Germany, Activists Urge his Prosecution for Crimes Against Humanity, Global Voice, 11-01-2018
https://globalvoices.org/2018/01/11/while-irans-former-head-of-judiciary-receives-medical-treatment-in-germany-activists-urge-his-prosecution-for-crimes-against-humanity/

Iranian ayatollah Shahroudi in Hanover - 'Germany should not be a haven for criminals', De
http://www.dw.com/en/iranian-ayatollah-shahroudi-in-hanover-germany-should-not-be-a-haven-for-criminals/a-42109121

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท