'7 เจ้าของรางวัลโนเบล' เสียใจจุฬาฯ ลงโทษตัดคะแนนนิสิตเดินออกพิธีถวายสัตย์ฯ ชี้ลิดรอนเสรีภาพ

7 ผู้ได้รับรางวัลโนเบล นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน ส่งแถลงการณ์ถึง จุฬาฯ ระบุเสียใจกรณี 8 นิสิตที่เดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณถูกตัดคะแนน ชี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพ แนะหาทางออกที่ดีกว่านี้ 

15 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่ามี 7 ผู้ได้รับรางวัลโนเบล รวมทั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัย นักวิชาการการศึกษา ต่างประเทศ ส่งแถลงการณ์ถึง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ธงทอง จันทรางศุ ประธานและคณะกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์นิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงคว่มรู้สึกเสียใจต่อกรณีที่พวกเรารู้สึกเสียใจที่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งแปดคนซึ่งได้เดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณถูกตัดคะแนน ทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้อีก โดยระบุว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพ พร้อมเรียกร้องให้หาทางออกที่ดีกว่านี้ เพื่อสนทนาทำความเข้าใจระหว่างความเห็นที่แตกต่างกว่าการใช้ทัณฑ์ ซึ่งนอกจากจะสร้างความเกลียดชังให้ร้าวลึกยังส่งผลต่อภาพลักษณ์และระดับทางวิชาการของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

รายงานข่าวเพิ่มเติม : ต่อมา 16 ม.ค. 2561 เวลา 20.00 น.  เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หนึ่งในนิสิตจุฬาฯ ที่ถูกลงโทษตัดคะแนน เปิดเผยกับ 'ประชาไท' ถึงที่มาของจดหมายฉบับนี้ว่า ตนได้รับจดหมายจากเพื่อนนักเรียนไทยในต่างประเทศ รวมถึงอาจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือ ซึ่งตนรู้จักท่านเป็นการส่วนตัว พวกเขาแจ้งตนว่าได้รวบรวมรายชื่อนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากเพื่อช่วยตนและเพื่อนในการอุทธรณ์ เพื่อความเป็นธรรมที่นิสิตพึงได้รับและอาจารย์ชาวต่างประเทศก็ทราบข่าวนี้กันดีอยู่จากที่เคยเป็นประเด็น

รายละเอียด : 

แถลงการณ์จากผู้ได้รับรางวัลโนเบล อธิการบดีมหาวิทยาลัย นักวิชาการการศึกษา ถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรียน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ. ธงทอง จันทรางศุ ประธานและคณะกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์นิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พวกเรา ผู้ได้รับรางวัลโนเบล นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน ได้เห็นและทราบข่าวของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งแปดคนซึ่งได้เดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ 

พวกเราเห็นว่าวัฒนธรรมหนึ่งๆ ก็สำคัญ แต่สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกที่แตกต่างในรั้วของมหาวิทยาลัยก็เป็นสิ่งที่สำคัญเสมอกัน เพื่อให้ความงอกงามทางความคิดและการเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงบวกได้มีพื้นที่ทดลองเกิดขึ้น 

พวกเรารู้สึกเสียใจที่นิสิตทั้งแปดคนถูกตัดคะแนน ซึ่งมีผลทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้อีก การกระทำเช่นนี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพ

พวกเราคิดว่ามหาวิทยาลัยน่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้ ที่เป็นการสนทนาเพื่อทำความเข้าใจระหว่างความเห็นที่แตกต่างกว่าการใช้ทัณฑ์ ซึ่งนอกจากจะสร้างความเกลียดชังให้ร้าวลึกยังส่งผลต่อภาพลักษณ์และระดับทางวิชาการของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

พวกเราขอให้ทางคณะกรรมการอุทธรณ์โปรดพิจารณาสิ่งที่พวกเราเสนอ

ผู้ลงนาม

1. Dudley Herschbach ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 1986 : นิสิตกลุ่มนี้ได้ประพฤติตัวไว้อย่างน่ายกย่อง คณะกรรมการที่(ตัดคะแนน)ในมหาวิทยาลัยต่างหากที่ประพฤติตัวได้อย่างน่าอัปยศ มหาวิทยาลัยที่แท้จริงย่อมสนับสนุนนิสิตแบบนี้

2. Sir Richard Roberts ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ประจำปี 1993 : ทุกเสียงควรได้รับการรับฟังโดยปราศจากความเสี่ยงที่ต้องถูกจองจำกักขัง เมื่อนั้นเท่านั้นที่นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้มีการศึกษาและพร้อมสำหรับบทบาทในสังคมของพวกเขา

3.John Mather ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2006 : การลงโทษผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นของพวกเขา มีแต่จะทำให้สถาบันนั้นเสื่อมเสียชื่อเสียง และส่งเสริมชื่อเสียงของผู้ที่ถูกลงโทษ

4. Roy Glauber ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2005 : การลงโทษต่อการแสดงเสรีภาพทางความคิดไม่สามารถแก้ต่างได้ด้วยข้ออ้างใดๆ

5. Jerome Friedman ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2000 : มหาวิทยาลัยที่ลงโทษนักศึกษาจากความคิดเห็นของพวกเขา แทนที่จะให้โอกาสเปิดวงถกประเด็น ถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เพิกเฉยต่อความรับผิดชอบทางการศึกษาที่มี และจำกัดเสรีภาพทางการศึกษา ซึ่งเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับจุดประสงค์ของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยกย่องใดๆ

6. Sheldon Lee Glashow ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 1979

7. Brian Josephson ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 1973

8. Gerhard Casper ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านนิติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา :  ในฐานะของอดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผมรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินการทางวินัยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กระทำกับนักศึกษาทั้งแปดคน เนื่องจากพวกเขาเดินออกจากพิธีถวายสัตย์ที่จัดขึ้นประจำปี นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต้องมีเสรีภาพในการคัดค้านประเพณีเก่าแก่ที่มีมาแต่ดั้งเดิมโดยสงบ และพวกเขาต้องมีเสรีภาพในการแสดงมุมมองความเห็นของพวกเขาอย่างง่ายๆ และตรงประเด็น ในฐานะมิตรของประเทศไทย ผมรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่การกระทำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะทำให้ชื่อเสียงในฐานะของสถาบันการศึกษาชั้นนำต้องเสื่อมเสียไป

9. Gráinne de Búrca, ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก

10.  Herbert C. Kelman,  ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านจริยศาสตร์สังคม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

 

11. James McGaugh ศาสตราจารย์กิตติเมธีด้านประสาทชีววิทยาและพฤติกรรม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์

12. Erica Chenoweth ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ : เสรีภาพในการแสดงออกเป็นหัวใจสำคัญของสถาบันระดับอุดมศึกษา

13. Peter McLaren ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยแชมปแมน : เสรีภาพในการพูดและการแสดงออกเป็นสิทธิพื้นฐานของปัจเจกชนทุกคน เสรีภาพมิใช่เงื่อนไขที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ หากแต่เป็นการตั้งมั่นในศีลธรรมที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมในสังคม

14. Philip Zimbardo ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด : พวกเราต้องธำรงไว้ซึ่งหลักประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษา!

15. Sidney Harring ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยเมืองนิวยอร์ก (CUNY) : เสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งแรกที่มหาวิทยาลัยทุกที่ต้องมี – นั่นคือสิทธิที่จะถกเถียงทุกประเด็นได้อย่างเต็มที่โดยเสรี

16. Henry Giroux ศาสตรเมธาจารย์ มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ : การลงโทษนักศึกษาจากการใช้สิทธิในการเห็นแย้ง เป็นการขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยในฐานะของการเป็น “ปริมณฑลสาธารณะ” (Public sphere) ตามหลักของประชาธิปไตย ในกรณีของการลงโทษนี้ มหาวิทยาลัยนี้ได้ละเมิดหนึ่งในหลักที่ไม่ควรละเมิด นั่นคือเสรีภาพในการแสดงความเห็น และสิทธิในการเห็นแย้ง

17. Shirley Steinberg ศาสตราจารย์กิตติเมธีด้านเยาวชน มหาวิทยาลัยแคลกะรี

18.Antonia Darder, ศาสตราจารย์ด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยโลโยลา เมรีเมาส์

19.Chandler Davis, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยโทรอนโต

20.John Braithwaite, ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

21.Kenneth Saltman, ศาสตราจารย์ด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยแมสซาซูเซส ดาร์ทเมธาส์

22.Michael W. Apple, ศาสตราจารย์ด้านการวางหลักสูตรและนโยบายการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน

23.David Graeber ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน : ประเด็นนี้เป็นเสมือนประเด็นพื้นฐานของความเหมาะสมในการเป็นมนุษย์ ผมขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยนี้ปฏิบัติตามหลักการที่พวกเขาอ้างว่าได้สอน ได้ปกป้อง และได้ทำตัวเป็นตัวอย่าง

24.Lawrence Lessig ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด : มหาวิทยาลัยอบรมบ่มเพาะนักศึกษาด้วยถ้อยคำและการกระทำ บทเรียนครั้งนี้ถือเป็นความอดสูต่อประเพณีของการศึกษาในทุกๆที่ ประเทศไทยมีดีกว่านี้ และมหาวิทยาลัยของประเทศนี้ก็ควรจะทำตัวให้ดีเยี่ยงคนในประเทศด้วย

25.Diane Ravitch ศาสตราจารย์กิตติเมธี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก : ดิฉันขอสนับสนุนเสรีภาพที่จะได้ศึกษาและเอ่ยวาจาโดยปราศจากความหวาดกลัว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท