Skip to main content
sharethis

ประชุมบูรณาการงบสุขภาพ ปี 62 เคาะ 6 หน่วยงาน เสนอของบ 3.2 แสนล้าน เผย กรมบัญชีกลางขอเพิ่ม 1.6 หมื่นล้าน  'ประกันสังคม' ขอปรับเพิ่ม 5 พันล้าน พร้อมขอทวงหนี้รัฐบาลจ่ายค้างสมทบกองทุนร่วม 2.3 หมื่นล้านบาท ด้านบัตรทองปรับเพิ่ม 2.2 หมื่นล้านบาท สธ.ปรับเพิ่ม 6 ร้อยล้าน สพฉ.ปรับเพิ่ม 9.1 ร้อยล้านบาท ส่วน สรพ.ปรับเพิ่ม 20 ล้านบาท

16 ม.ค. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2561โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบ “กรอบแนวทางและข้อเสนอแผนและงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2562 แผนงานบูรณาการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ” เป็นกรอบงบประมาณเพื่อนำเสนอสำนักงบประมาณของ 6 หน่วยงานด้านสุขภาพ ประกอบด้วย กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) และ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.)

iกรอบงบประมาณของ 6 หน่วยงาน ที่นำเสนอมีวงเงินทั้งจำนวน 320,134.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 68,197.12 หรือร้อยละ 27.07 โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.กรมบัญชีกลาง (สวัสดิการรักษาข้าราชการ) 79,081.74 ล้านบาท 2.สำนักงานประกันสังคม 43,082.47 ล้านบาท 3.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 194,133.83 ล้านบาท 4.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1,951.07 ล้านบาท 5.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน 1,855.13 ล้านบาท และ 6.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล 30 ล้านบาท

ทั้งนี้งบประมาณที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของผู้แทนกรมบัญชีกลางซึ่งดูแลกองทุนรักษาสวัสดิการข้าราชการ ได้ชี้แจงถึงการจัดทำงบประมาณในปี 2562 ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึง 16,022.97 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.41 เป็นการจัดทำงบที่อ้างอิงจากจำนวนงบประมาณปี 2560 ที่ได้มีการเบิกจ่ายจริง รวมทั้งได้การปรับเพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาล

ในส่วนของผู้แทนสำนักงานประกันสังคม ได้ชี้แจงถึงการปรับเพิ่มงบประมาณปี 2562 ของกองทุนประกันสังคม โดยงบที่นำเสนอจำนวน 43,082.47 ล้านบาท แยกเป็น 2 ส่วน โดยเป็นงบประมาณสมทบกองทุนปี 2562 จำนวน 20,200 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 5,129.57 ล้านบาท และงบประมาณในส่วนที่รัฐบาลยังค้างจ่ายสมทบกองทุนของปีก่อน จำนวน 22,869.63 ล้านบาท

รายงานข่าวระบุด้วยว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ปี 2562 นำเสนอที่จำนวน 194,133.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 22,602.49 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.18 ในจำนวนนี้แยกเป็นเงินเดือนภาครัฐจำนวน 47,314.96 ล้านบาท โดยเป็นงบที่เข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 146,607.17 ล้านบาท เป็นผลจากการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ และจำนวนผู้มีสิทธิ์ที่เข้ารับบริการเพิ่มขึ้น

สำหรับในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอปรับเพิ่มงบปี 2562 ที่จำนวน 628 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.51 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เสนอปรับเพิ่ม 911.93 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 96.53 และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เสนอปรับเพิ่มขึ้น 20 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 200

รายงานระบุอีกว่า ในการประชุม พล.อ.ฉัตรชัย ได้กล่าวเป็นห่วงงบประมาณค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ภาพรวมอยู่ที่จำนวน  213,590 ล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่จำนวน 251,937 ล้านบาท และในปี 2562 ได้ขยับนำเสนอเพื่อของบประมาณกว่า 320,000 ล้านบาท โดยกำชับทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคควบคู่ที่ต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะเผชิญต่อปัจจัยการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การปรับเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ ทั้งนี้เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net