Skip to main content
sharethis

“มันวนกัน มันวน มันวน เออ…”  นี่คือคำตอบของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลังจากที่เหล่าผู้สื่อข่าวติดตามถามถึงที่มาของนาฬิกาหรูเรือนต่างๆ ที่ถูกขุดคุ้ยขึ้นทุกๆ วัน โดยเพจ CSI LA ข้อมูลล่าสุด (17 ม.ค. 2561) พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 25 เรือน รวมมูลค่า 39.5 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้อยู่ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.

โดยพลเอกประวิตรให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 ว่า นาฬิกาหลายๆ เรือนที่เป็นเรื่องคาใจคนในสังคมอยู่นี้ ไม่ได้เป็นของตนแต่อย่างใด แต่มีเพื่อนให้ยืมมาทั้งหมด และได้เอาคืนเพื่อนไปหมดแล้ว พร้อมระบุด้วยว่าอย่างกังวลกับการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. เพราะเป็นองค์กรใหญ่ และหากมีการลงมติชี้มูลว่าตนเองมีความผิดก็พร้อมที่จะลาออก

เท่ากับว่าตอนนี้คำตอบที่สังคมไทยเฝ้ารอจากพลเอกประวิตรก็ได้ถูกเปิดเผยแล้ว แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยคลายความสงสัยลงไปเลย เพราะจากคำตอบของพลเอกประวิตรได้ทำให้เกิดคำถามตามมาอีกมากมาย เช่นว่า ใครเป็นเพื่อนที่ใจดีของพลเอกประวิตรบ้าง และจริงๆ แล้วนาฬิกาที่เพื่อนได้เอามาให้ยืมนั้นมีทั้งหมดกี่เรื่อน เพื่อนที่ว่าจะได้ไปชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ด้วยหรือไม่ และคำถามที่สำคัญที่สุดคือ ยืมเขามา แต่คืนแล้ว มีความผิดหรือไม่

เอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการกฎหมาย ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวผ่านทางเฟสบุ๊คไลฟ์ Ekachai chainuvati โดยได้อธิบายถึง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 103 ซึ่งเป็นเรื่องการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า

“ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ตามหลักเกณฑ์และจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด”

เอกชัยอธิบายว่า การยืมของราคาแพงจากบุคคลอื่นนั้น ถือว่าเป็นการได้รับผลประโยชน์อื่นใด แม้ท้ายที่สุดจะได้คืนของเหล่านั้นให้เจ้าของแล้วก็ตาม เพราะโดยปกติแล้วการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนนั้น หากมีความต้องการที่จะใส่นาฬิกาที่ชอบ โดยปกติแล้วก็จะต้องใช้เงินเดือนซื้อมาใส่เอง การที่ไปหยิบยืมคนอื่น หรือมีคนนำมาให้ยืมนั้นเท่ากับว่าเป็นการรับผลประโยชน์อื่นใด ซึ่งก็คือการได้ใส่นาฬิกา โดยไม่ต้องเสียเงิน แม้สุดท้ายจะได้นำนาฬิกาคืนเจ้าของไปแล้วก็ตาม ก็ยังถือว่ามีความผิดอยู่ เพราะการรับผลประโยชน์ได้เกิดขึ้นแล้ว

ทั้งนี้ ในมาตรา 103/1 ได้ระบุให้ความผิดตามมาตรา 103 เป็นความผิดฐานทุจริต ต่อหน้าที่หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย และมาตรา 103/9 ระบุว่า ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดให้มีการเปิดเผยกระบวนการและขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ โดยให้มีการจัดทําข้อมูลดังกล่าวไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ของสํานักงาน ป.ป.ช. ทั้งนี้ โดยคํานึงถึงการคุ้มครองสิทธิของบุคคลและผลกระทบต่อรูปคดีด้วย

 

อ่านประกอบ

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

คู่มือ แนวทางการปฏิบัติสําหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เรื่อง การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 103

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net