Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คงกำลังคิดว่าตนทำพลาดไปที่ยกมือขวาขึ้นมาบังแดดระหว่างรอถ่ายรูปหมู่กับคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 กลายเป็นชนวนให้ถูกขุดคุ้ยว่านาฬิกาและแหวนเพชรมาจากไหน อยู่ในรายการสินทรัพย์ที่ยื่นให้แก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่

ภายหลัง คอลัมน์หมัดเหล็กในไทยรัฐออนไลน์ รายงานอ้างแหล่งข่าวคนใกล้ชิดพล.อ.ประวิตร ว่า แหวนเป็นของมารดา นาฬิกายืมเพื่อน

แม้จะมีการชี้แจงเช่นนั้น แต่กระแสความคลางแคลงก็แพร่กระจายไปเกินกว่าจะหยุด ซ้ำเติมสถานการณ์ด้วยการเปิดเผยข้อมูลนาฬิกาหรูเรือนอื่นๆ บนข้อมือ พล.อ.ประวิตร ของเพจ CSI LA จนถึงวันที่ 17 มกราคม 2561 เพจดังกล่าวเปิดข้อมูลนาฬิกาหรูเป็นเรือนที่ 25 แล้ว รวมมูลค่า 39.5 ล้านบาท เป็นเรื่องเชื่อยากอยู่เหมือนกัน หากนาฬิการาคาแพงกว่า 20 เรือนจะเป็นของที่ยืมเพื่อนมาทั้งหมด

เหตุการณ์ยกมือบังแดดเกิดขึ้นวันที่ 4 ธันวาคม 2560

พล.อ.ประวิตร ส่งหนังสือชี้แจง ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560

1 เดือนต่อมา วันที่ 5 มกราคม 2561 วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องแหวนเพชรและนาฬิกา ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งก็มีบางประเด็นที่วรวิทย์เลี่ยงที่จะให้ข้อมูลสื่อมวลชน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มกราคม พล.อ.ประวิตรตอบคำถามสื่อว่า นาฬิกานั้นเพื่อนเอามาให้ใส่ และคืนเพื่อนไปหมดทุกเรือนแล้ว
 

ป.ป.ช. ที่เป็นอิสระ?

ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญปี 2540 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือ ป.ป.ป. แต่การที่ ป.ป.ป. มักถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองและยังถือเป็นข้าราชการในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ใต้การบังคับบัญชาของประมุขฝ่ายบริหาร การทำงานของ ป.ป.ป. จึงไม่มีประสิทธิภาพ

รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงสร้าง ป.ป.ช. ขึ้นมาแทนให้มีสถานะเป็น ‘องค์กรอิสระ’ ตามรัฐธรรมนูญ

คำถามมีอยู่ว่าที่ผ่านมา ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรอิสระมีประสิทธิภาพเพียงใด แม้จะมีผลงานที่สามารถเอาผิดนักการเมืองใหญ่ได้อย่างกรณีการทุจริตยาหรือบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน แต่ต้องยอมรับว่าการทำงานของ ป.ป.ช. ไม่เคยเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองอย่างแท้จริง

ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ป.ป.ช. ชุดแรกถูกแทรกแซงโดยการครอบงำสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งกติกากำหนดให้เป็นผู้คัดเลือกคณะกรรมการ หรือกรณียกคำร้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กรณีสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติเมื่อปี 2553

จนมากรณีนาฬิกาและแหวนเพชร ซึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการครอบครองนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตรว่า อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลให้ครบทุกด้าน ยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้า แต่ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ยิ่งประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน ยิ่งต้องดำเนินการให้รอบคอบ จึงไม่ได้กำหนดกรอบเวลา เพราะมีแนวทางทำงานอยู่แล้ว ส่วนจะต้องนำส่งนาฬิกาทุกเรือนให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบหรือไม่ เป็นแนวทางการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ และต้องตรวจสอบภาพที่ พล.อ.ประวิตร สวมนาฬิกาว่าเกิดขึ้นเมื่อใด 

‘การดำเนินการให้รอบคอบ’ ที่ประธาน ป.ป.ช. กล่าวควรมีข้อมูลประกอบด้วยว่า พล.ต.อ.วัชรพล เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้แก่ พล.อ.ประวิตร ก่อนได้รับเลือกเป็นประธาน ป.ป.ช.
 

คกก.สรรหาองค์กรอิสระด้วยการสานต่อตุลาการภิวัตน์

ย้อนดูรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา 15 คน ได้แก่ ฝ่ายตุลาการ 3 คน ฝ่ายวิชาการ 7 คน และฝ่ายการเมือง 5 คน โดยมาจากผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละ 1 คนแล้วเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าการมีคณะกรรมการสรรหาจากฝ่ายการเมืองถึง 5 คนอาจเป็นเหตุให้เกรงอกเกรงใจที่จะตรวจสอบฝ่ายการเมือง

เหตุนี้ หลังการรัฐประหารปี 2549 รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงมีการปรับโครงสร้างกรรมการสรรหาใหม่ โดยลดจำนวนคณะกรรมการสรรหาจาก 15 คนลงเหลือเพียง 5 คน ประกอบด้วย ฝ่ายการเมือง 2 คนคือประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้าน อีก 3 คนยังคงฝ่ายตุลาการเช่นเดิมคือประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด ด้วยเหตุผลว่าเพื่อป้องกันการครอบงำจากฝ่ายบริหาร และตัดคณะกรรมการสรรหาจากฝ่ายวิชาการออกทั้งหมด

โครงสร้างคณะกรรมการสรรหานี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงในขณะนั้นว่า เป็นการดึงเอาฝ่ายตุลาการเข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมืองมากจนเกินไป แต่อีกด้านก็สนับสนุนวิธีการนี้เพราะเชื่อมั่น เชื่อถือ และไว้วางใจได้ในความดี ความซื่อสัตย์สุจริตของฝ่ายตุลาการ และถือเป็นการสานต่อ ‘ตุลาการภิวัตน์’

เพิ่มสเป็ก แต่ไม่เซ็ตซีโร่ หลังพิง คสช. ในอนาคต

แต่แล้วรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ถูกฉีกอีกครั้งจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขียนรัฐธรรมนูญปี 2560 ขึ้นใหม่ โดยกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการสรรหาเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่เพิ่มกรรมการสรรหาซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งองค์กรละ 1 คน  รวม 9 คน

ในแง่คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็น ป.ป.ช. ทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เขียนไว้เหมือนกันว่าต้องเป็นผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตราที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ

แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 แตกต่างออกไปอย่างชัดเจน นอกจากจะระบุว่า ‘ต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์’ แล้ว ยังเพิ่มเติมด้วยว่า

มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด  ดังต่อไปนี้ด้วย

1.รับราชการหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกลาง หรืออธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

2.รับราชการหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

3.เป็นหรือเคยเป็นผู้ดํารงตําแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

4.ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่าห้าปี  และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์

5.เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพโดยประกอบวิชาชีพ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ และได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น

6.เป็นผู้มีความรู้ความชํานาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจํากัดมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี

7.เคยเป็นผู้ดํารงตําแหน่งตามข้อ 1 2 3 4 หรือ 6 รวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี

ยังไม่นับลักษณะต้องห้ามต่างๆ ที่เป็นการวางคุณสมบัติ ป.ป.ช. ไว้สูงมาก หากว่ากันตามเนื้อหาแล้วจะทำให้ พล.ต.อ.วัชรพล ในฐานะประธาน ป.ป.ช. และวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. จะต้องหลุดจากตำแหน่ง แต่ สนช. ก็มีมติ 157 เสียง เห็นชอบตามกรรมาธิการวิสามัญเสียงข้างมากให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดเดิมดำรงตำแหน่งต่ออีก 7 ปี จนครบวาระ 9 ปีตามมาตรา 178 ในบทเฉพาะกาลของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.…

หมายความว่า ป.ป.ช. ชุดนี้ที่แต่งตั้งโดย สนช. ซึ่งถูกแต่งตั้งโดย คสช. อีกทอดหนึ่ง จะเป็นหลังพิงอย่างดีให้กับ คสช. ภายหลังการเลือกตั้งหากมีการร้องเรียนกรณีทุจริตในยุค คสช. ส่งเข้าไปยัง ป.ป.ช.
 

ลดอำนาจตรวจสอบ ป.ป.ช. ของสภาผู้แทนราษฎร

ในแง่การตรวจสอบและร้องเรียนการทำงานของ ป.ป.ช. รัฐธรรมนูญ 2540 วางกลไกว่าต้องใช้จำนวนเสียงในสภาเท่าไหร่ในมาตรา 299 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อ... และมาตรา 300 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภามีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา...

ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุไว้ในมาตรา 248 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน... และมาตรา 249 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา... จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ได้เพิ่มกลไกประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้สามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อร้องเรียนได้

แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 กลับตัดเหลือเพียงมาตราเดียวคือ มาตรา 236 ที่ระบุว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ...

แม้จะยังคงให้สิทธิประชาชน 2 หมื่นชื่อตรวจสอบ ป.ป.ช. ได้ แต่ก็สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่า กลไกที่สภาผู้แทนราษฎรจะตรวจสอบ ป.ป.ช. เป็นไปได้ยากขึ้น เพราะต้องรวมเสียงให้ได้ 150 เสียงของทั้งสองสภา หากดูตามแนวโน้มที่เป็นอยู่เวลานี้ พรรคทหารบวกพรรคขนาดกลางและเล็กกับ ส.ว. 250 เสียงที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. การตรวจสอบและถอดถอน ป.ป.ช. ผู้เป็นหลังพิงของ คสช. ในอนาคตอาจไม่ใช่เรื่องง่าย
 

ห่วงโซ่ความชอบธรรมที่ขาดหาย-แผ่ขยายรัฐราชการ

เห็นได้ว่านับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรอิสระดูเหมือนจะไม่ได้มีความเป็นอิสระจริงตามวัตถุประสงค์ เพราะมักเอนเอียงไปตามอำนาจทางการเมืองในห้วงยามนั้นๆ เสมอ และเปลี่ยนแปลงไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ร่างกฎหมายที่แฝงโจทย์การเมืองเอาไว้เบื้องหลังเสมอ

ในแง่กติกาและโครงสร้างของ ป.ป.ช. จากรัฐธรรมนูญปี 2540 ถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 จะพบลักษณะสำคัญประการหนึ่งคือ ห่วงโซ่แห่งความชอบธรรมหรือการเชื่อมโยงกลับไปสู่ประชาชนเจ้าของอำนาจนั้นหดหายลงไปตามลำดับ ตัวแทนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกจากประชาชนมีสัดส่วนในการเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระน้อยลงเรื่อยๆ

ตรงกันข้าม องค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. กลับมีอำนาจเพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็สอดคล้องกับกลไกและกับดักจำนวนมากในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ คสช. เขียนขึ้นเพื่อต้องควบคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้งในอนาคต

จุดที่น่าสังเกตอีกจุดหนึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2560 คือคุณสมบัติที่ระบุไว้ข้างต้นนั้นเสมือนว่าจะเปิดช่องให้ ‘อดีตข้าราชการ’ มีที่ทางใน ป.ป.ช. เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สอดคล้องกับทิศทางการแผ่ขยายขอบเขตความเป็น ‘รัฐราชการ’ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องภายใต้รัฐบาล คสช.

โจทย์สำคัญที่ต้องขบคิดคือ ห่วงโซ่แห่งความชอบธรรมที่เลือนหายไป ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความรังเกียจการเมืองและนักการเมืองที่สั่งสมมาตลอดสิบกว่าปี ละเลยการเชื่อมโยงกับเจ้าของอำนาจที่แท้จริง เป็นองค์กรอิสระจริงๆ คืออิสระจากประชาชน แล้วหยิบยื่นอำนาจตรวจสอบการทุจริตไปให้กับเครือข่ายกองทัพและข้าราชการที่ตรวจสอบได้ยากกว่า จะช่วยป้องกันและปราบปราบการทุจริตคอร์รัปชันได้จริงหรือไม่

ดูเหมือนคำตอบก็เห็นๆ กันอยู่แล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net