สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 15-21 ม.ค. 2561

 

เตรียมเรียกผู้ประกอบการ 100 รายหารือด่วน กรณีตรึงราคาสินค้าจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เตรียมเชิญผู้ผลิตสินค้า และผู้ประกอบการภาคบริการจำนวนกว่า 100 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาหารือและรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย หากไม่มีผลกระทบมากก็ขอให้ตรึงราคาไปก่อน

ขณะที่ทางภาคอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เคาะออกมานั้นถือว่าสูงกว่าอัตราที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านั้นมาก จากที่มองว่าค่าแรงขั้นต่ำน่าจะปรับขึ้นอีกไม่เกิน 5-15 บาท แต่ล่าสุดกลับปรับขึ้น ตั้งแต่ 5-22 บาท ถือเป็นการปรับค่าครองชีพ และมีผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ซึ่งเรื่องนี้  ส่งผลกระทบต่อนายจ้างโดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดที่มีการปรับขั้นต่ำที่ 330 บาท  คือที่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และภูเก็ต  อย่างจังหวัดชลบุรีกับระยอง ซึ่งเป็นศูนย์ รวมของการลงทุนในอุตสาหกรรมหลากหลาย ที่เดิมได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 308 บาทต่อวัน ล่าสุดปรับเป็น 330 บาทต่อวัน เท่ากับค่าแรงได้รับการปรับเพิ่มขึ้นถึง 22 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.14  โดยกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (ส.อ.ท.) ระบุว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 330 บาท กระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จำนวนมากที่อยู่ในชลบุรีและระยอง ซึ่งมีโรงงานมากกว่า 100 ราย และส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีเป็นซัพพลายเชนให้กับค่ายรถยนต์ในพื้นที่

ที่มา: TNN24, 21/1/2561

ปรับค่าจ้างดัน ‘รับสร้างบ้าน’ ขึ้นราคา 5%

หลังคณะกรรมการค่าจ้าง ประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 7 อัตรา ระหว่าง 8-22 บาท มีผล วันที่ 1 เม.ย.2561  ส่งผลต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น  

นางศิริพร สิงหรัญ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่าธุรกิจรับสร้างบ้าน ปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะชะลอตัวในครึ่งปีแรก หลังจากนั้นเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง จากเศรษฐกิจมีทิศทางเติบโตชัดเจนทั้งการส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐและตลาดหุ้นปรับขึ้นสูง ส่งผลให้ปี 2560 ตลาดรับสร้างบ้านเติบโตราว 5% มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท  ในจำนวนนี้สมาชิกสมาคมฯ พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีส่วนแบ่ง 20% มูลค่าราว 1.05  หมื่นล้านบาท

จากแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ คาดการณ์จีดีพี เติบโต 4%  อีกทั้งยังมีปัจจัยการเลือกตั้ง ที่จะช่วยกระตุ้นการวางแผนลงทุนของภาคเอกชน จากเดิมบางส่วนอยู่ในภาวะชะลอตัว

ประกอบกับการประกาศขึ้นอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำทั่วประเทศ ที่ส่งผลให้ธุรกิจที่ใช้แรงงานมีต้นทุนเพิ่มขึ้น  รวมทั้งธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่มีทั้งกลุ่มแรงงาน ,กลุ่มแรงงานมีทักษะ  รวมทั้งธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ที่มีต้นทุนแรงงานเพิ่ม ที่อาจจะพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้า

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจรับสร้างบ้านมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งด้านแรงงานและวัสดุก่อสร้าง ดังนั้นในไตรมาส2 ราวเดือน เม.ย.นี้  กลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านจะพิจารณาปรับขึ้นราคาประมาณ 5% หลังจากไม่ปรับราคาในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว

“ปกติในจังหวะที่เศรษฐกิจขยายตัว ธุรกิจรับสร้างบ้านจะพิจารณาปรับราคา จากต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ปีนี้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เข้ามาเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มอีกประการ ผู้ประกอบการจึงพิจารณาขึ้นราคาในไตรมาส 2 นี้ แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบลูกค้า เพราะเป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น”

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 20/1/2561

รวบหนุ่มประจวบ หลอกชาวบ้านไปทำงานเกาหลี

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 20 ม.ค. 2561 ที่หน้าสำนักงานตำรวจภูธรภาค 3 นครราชสีมา พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบช.ภาค 3 พร้อม พล.ต.ต.วัชรินทร์ บุญคง ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา ,นายปรีชา อินทรชาธร จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม แถลงจับกุม นายก้องภพ ป้องคำลา อายุ 20 ปี อยู่บ้านเลขที่ 181 หมู่ 1 ต.ทับใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้ต้องหาก่อเหตุหลอกลวงพาคนไปทำงานที่เกาหลีใต้ โดยมีบรรดากลุ่มผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อหลายรายเดินทางมาชี้ตัวยืนยัน

พล.ต.ต.วัชรินทร์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้ามีผู้เสียหายในพื้นที่ อ.ชุมพวง หลายราย ถูกนายก้องภพ หลอกลวงว่าเป็นนายหน้าจะช่วยพาไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการด้านเอกสารบางส่วนรายละ 1-2 หมื่น และต้องโอนเงินเข้าบัญชีนายก้องภพ เพื่อเป็นใช้จ่ายในการดำเนินการเบื้องต้น มีคนหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อกว่า 10 ราย มูลค่าความเสียหายเกือบ 2 แสนบาท หลังจากที่จ่ายเงินดังกล่าวไม่ได้เดินทางไปทำงานตามที่ตกลงไว้ถึงได้รู้ว่าถูกหลอกจึงเข้าแจ้งความที่ สภ.ชุมพวง ให้ช่วยติดตามจับกุม ดำเนินคดีในข้อหา “ จัดหางานให้คนงานเพื่อไปทำงานยังต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จัดหางาน หรือหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานต่างประเทศได้ และการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง และฉ้อโกงทรัพย์ ” ขอเตือนประชาชน ที่ต้องการไปทำงานหารายได้ต่างประเทศ ขอจงอย่าหลงเชื่อ ให้ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรง ที่ สนง.จัดหางานจังหวัด ฯ จะได้ข้อมูลที่ดีกว่า

นายปรีชา กล่าวว่า อย่าหลงเชื่อบุคคลที่มาแอบอ้างทุกรู้แบบ การไปทำงานต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป และไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ไม่สมเหตุผล ทางจัดหางานโคราช ได้กำหนดจัดกิจกรรมสอบคัดเลือกคุณสมบัติแรงงาน ไปทำงานที่ประเทศเกาหลี ในวันที่ 2 -4 ก.พ. ที่ห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า จอมสุรางค์ฯ หรือติดต่อสายด่วนจัดหางาน 1694 หากพบเบาะแส หรือการหลอกลวง

ด้าน น.ส.บุญเลิศ อาจดี อายุ 37 ปี หนึ่งในผู้เสียหาย บอกเล่าความรู้สึกว่า ได้รู้จักจากเพื่อนบ้าน ว่านายก้องภพ สามารถช่วยเหลือให้สามารถเดินทางไปทำงานที่เกาหลีได้ ตนก็ต้องการไปทำงานเนื่องจากได้ค่าจ้างมากว่าอยู่ประเทศไทย จึงขอเป็นเพื่อนทางเฟสบุ๊ค ก่อนติดต่อกันและจ่ายเงินไปให้หมื่นกว่าบาท แต่ไม่สามารถเดินทางไปได้ และมารู้ว่าหลายคนก็ไม่ได้เดินทางไปเช่นเดียวกันจึงพร้อมใจเข้าแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว เมื่อเข้าหน้าที่สามารถติดตามจับกุมนายก้องภพ ได้แล้ว รู้สึกดีใจขอให้กลุ่มผู้เสียหายกลุ่มนี้เป็นเหยื่อรายสุดท้าย ไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับใครอีก

ด้านนายก้องภพ ผู้ต้องหา อ้างว่า ตั้งใจเดินสายหลอกลวง ตั้งแต่แรก โดยความเป็นจริงไม่มีหน้าที่เป็นนายหน้าหาคนไปทำงานต่างประเทศแต่อย่างใด เพียงแต่ใช้ประสบการณ์ ที่เคยไปทำงานต่างประเทศ ในการหาช่องทางหลอกลวงให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จะเรียกรับจากเหยื่อ รายละ 1-2 หมื่นบาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่มาก ก็เพราะทราบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มีเงินไม่มากนัก จึงไม่กล้าหลอกเอามากมายนัก มีผู้ตกเป็นเหยื่อหลายรายก่อนที่จะถูกติดตามจับกุมตัว เงินที่ได้มานำไปใช้จ่าย ส่วนตัว และบ่อยครั้งจะนัดหมายรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะกลุ่มชายรักชาย จัดงานปาร์ตี้กัน

ที่มา: ข่าวสด, 20/1/2561

เร่งกวาดจับแรงงานต่างด้าวค้าขายที่เปิดแผงค้าขาย ล่าสุดรวบแล้วกว่า 60 ราย

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าตามที่พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมการจัดหางานเร่งดำเนินการกวดขัน ปราบปราม จับกุม แรงงานต่างด้าวที่แย่งอาชีพคนไทย ซึ่งก่อความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบอาชีพคนไทยเป็นจำนวนมาก สำหรับช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานทั่วประเทศ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าว และได้จับกุมแรงงานที่ขายสินค้า ขายอาหาร ตามแผงต่างๆ รวมทั้งใช้รถเข็นเร่ขายอาหารไปแล้วจำนวน 65 คน โดยส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมา 59 คน รองลงมาลาว 4 คน และเวียดนาม 2 คน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำแรงงานต่างด้าวส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ในข้อหาเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และข้อหาทำงานผิดเงื่อนไขในใบอนุญาตทำงานกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560

อย่างไรก็ตามหากพบเห็นคนต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมายขอให้แจ้งข้อมูลมาที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าตรวจสอบดำเนินคดีตามกฎหมาย

ที่มา: ไทยรัฐ, 19/1/2561

กระทรวงแรงงานเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ "นายจ้าง-ลูกจ้าง" พร้อมชี้แจงเหตุผลการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราใหม่

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 นั้น กสร.เตรียมความพร้อม โดยได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศเร่งลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ และเข้าไปทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ นายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างค่าจ้างตามอัตราที่ปรับเพิ่ม ตลอดจนชี้แจงเหตุผลการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีผลกระทบต่อทั้งลูกจ้างเก่าและลูกจ้างใหม่

อธิบดี กสร.กล่าวต่อไปว่า ช่วงก่อนที่ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่จะมีผลบังคับใช้ กสร.จะมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจและชี้แจง รวมไปถึงรับฟังปัญหาเพื่อให้โอกาสนายจ้างปรับตัว และเน้นการบริหารจัดการเพื่อช่วยให้นายจ้างและลูกจ้างอยู่ได้ หลังจากที่อัตราค่าจ้างดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว จะกำกับดูแลให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 19/1/2561

พาณิชย์เผยปรับค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 กระทบต้นทุนสินค้าเฉลี่ย 0.05% ยันผู้ผลิตใช้เป็นเหตุผลขึ้นราคาไม่ได้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ศึกษาผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 ที่ได้มีการปรับขึ้นทุกจังหวัด แต่ไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยพบว่าปรับขึ้น 3.4% หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.50 บาท มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำสุด 0.0008% และสูงสุดอยู่ที่ 0.1% หรือมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.05% ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนไม่มาก ผู้ผลิตจะใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ได้

“ในสัปดาห์หน้ากระทรวงพาณิชย์จะนัดหารือภาคเอกชนทุกกลุ่มสินค้าอีกครั้ง เพื่อแจ้งให้ทราบว่าผลการวิเคราะห์ต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำกระทบต่อต้นทุนสินค้าเท่าไร และภาคเอกชนมีความเห็นอย่างไร ถ้าพบว่าไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า ก็จะขอความร่วมมือให้ตรึงราคาจำหน่ายต่อไป แต่ถ้ามีผลกระทบ มีผลกระทบเท่าไร มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องมาหารือพูดคุยกันก่อน

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ยังได้วิเคราะห์ผลการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อภาคการผลิต โดยพบว่า ต้นทุนค่าแรงในภาคการผลิตและบริการจะเพิ่มขึ้น 10,006 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.07% ของจีดีพี โดยภาคบริการที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงมากสุด 3 อันดับแรก คือ การก่อสร้าง การขายส่งและการขายปลีก , การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ , โรงแรมและบริการด้านอาหาร ส่วนภาคอุตสาหกรรม คือ ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม , การฟอกและตกแต่งหนังฟอก , เครื่องจักรสำนักงานโลหะขั้นมูลฐาน

ส่วนผลกระทบต่อการส่งออก จะทำให้ต้นทุนการส่งออกเพิ่มขึ้น 0.022% หรือมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 167 ล้านบาทต่อปี โดยสาขาที่มีสัดส่วนต้นทุนเพิ่มมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การพิมพ์ เครื่องหนัง เครื่องแต่งกาย โลหะประดิษฐ์ และเฟอร์นิเจอร์ ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ และยานยนต์

สำหรับผลกระทบต่อเงินเฟ้อ พบว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.08% และทำให้กรอบคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2561 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดิม 0.6-1.6% เพิ่มเป็น 0.7-1.7%

ทั้งนี้ หากพบเห็นว่ามีสินค้าหรือบริการใดปรับขึ้นราคา ขอให้ประชาชนแจ้ง /ให้ร้องเรียนเข้ามาได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบให้ทันที และยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบประชาชน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 18/1/2561

เคาะแล้ว ค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 ปรับเพิ่มทั่วประเทศ 5-22 บาท

วันที่ 17 ม.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงแรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ครั้งที่ 2/2561 โดยหารือประเด็น การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ใช้เวลาประชุมนาน 7 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 แบ่งเป็น 7 อัตรา คือ ตั้งแต่ 5-22 บาท ได้แก่

-ปรับขึ้นเป็น 308 บาท 3 จังหวัด คือ จ.นราธิวาส จ.ยะลา จ.ปัตตานี

-ปรับขึ้นเป็น 310 บาท 22 จังหวัด คือ จ.สิงห์บุรี จ.นครศรีธรรมราช จ.ตรัง จ.แม่ฮ่องสอน จ.ลำปาง จ.ลำพูน จ.เชียงราย จ.สุโขทัย จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.อุทัยธานี จ.ศรีสะเกษ จ.ตาก จ.ชัยภูมิ จ.อำนาจเจริญ จ.แพร่ จ.ราชบุรี จ.ระนอง จ.มหาสารคาม จ.ชุมพร จ.หนองบัวลำภู จ.สตูล

-ปรับขึ้นเป็น 315 บาท 21 จังหวัด คือ จ.ร้อยเอ็ด จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.นครสวรรค์ จ.สระแก้ว จ.พัทลุง จ.อุตรดิตถ์ จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ จ.เพชรบุรี จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.ชัยนาท จ.เลย จ.ยโสธร จ.พะเยา จ.บึงกาฬ จ.น่าน จ.กาญจนบุรี จ.อ่างทอง

-ปรับขึ้นเป็น 318 บาท 7 จังหวัด คือ จ.จันทบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.นครนายก จ.กาฬสินธุ์ จ.ปราจีนบุรี

-ปรับขึ้นเป็น 320 บาท 14 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.สุพรรณบุรี จ.สระบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.หนองคาย จ.ลพบุรี จ.ตราด จ.ขอนแก่น จ.สงขลา จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา จ.พังงา

-ปรับขึ้นเป็น 325 บาท 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.นครปฐม จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร จ.ฉะเชิงเทรา

-ปรับขึ้นเป็น 330 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี จ.ระยอง

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในที่ประชุมได้เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น การลดหย่อนภาษี ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2561 เป็นต้นไป ซึ่งจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบในสัปดาห์หน้า

ที่มา: ThaiPBS, 17/1/2561

ครม.เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้าง

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ในวันนี้ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร โดยให้ปรับเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไป ของผู้มีเงินได้หรือของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป โดยให้หักลดหย่อนได้เพิ่มอีก 30,000 บาท รวมเป็น 60,000 บาท ต่อคนต่อปีภาษี และให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 61 ที่จะต้องยื่นรายการในปี 62

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรส สามารถนำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์ไม่เกิน 60,000 บาท โดยมาตรการดังกล่าวนั้น เพื่อรองรับโครงสร้างของประเทศที่ปรับเปลี่ยนเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากตัวเลขพบว่า ในปี 2579 ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุถึง 30% โดยมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้รัฐสูญรายได้ประมาณปีละ 2,500 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมครม.ยังได้เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้าง สำหรับสถานประกอบการของบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริงและสามารถหักได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้แก่ลูกจ้าง และถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของลูกจ้างด้วย โดยให้สามารถนำค่าใช้จ่ายในรอบระยะบัญชีที่เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2561-31 ธันวาคม 2563

โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าว จะส่งผลให้รัฐสูญรายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี หรือไม่เกิน 60 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีของมาตรการดังกล่าว

นายณัฐพร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังได้อนุมัติมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สถานพยาบาลตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล สำหรับการบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการบริจาคเพื่อการดำเนินงานของสถานพยาบาล โดยคาดว่ามาตรการนี้จะมีผลต่อการจัดเก็บภาษีลดลงเพียงเล็กน้อย แต่มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐในด้านสาธารณสุข สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานพยาบาลนั้น จะให้บุคคลธรรมดา หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่นๆ

ขณะที่บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้หักเป็นรายจ่ายได้เป็น 2 เท่าของการบริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่เป็นการจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศล สาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/1/2561

สั่งจัดการกรณี “แรงงานต่างด้าว” แย่งงานคนไทย

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ชี้แจงถึงกรณีที่มีข่าวว่าขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เข้ามาประกอบอาชีพแย่งงานคนไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในย่านพัทยา จังหวัดชลบุรี และระนอง ว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มิได้นิ่งนอนใจโดยได้สั่งการให้กรมการจัดหางานเร่งตรวจสอบติดตาม กวดขันอย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้คนไทยได้รับความเดือดร้อน ซึ่งอาชีพขายของหน้าร้าน หรือเร่ขายของ เช่น ขายผลไม้ ดอกไม้ เป็นต้น เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามกฎหมาย ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา ช่วงเดือนตุลาคม 2559-กันยายน 2560 กรมการจัดหางานได้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวไปแล้ว ซึ่งมีผลการดำเนินงานทั่วประเทศคือ ตรวจสอบนายจ้างและสถานประกอบการ จำนวน 3,564 ราย แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม จีน อินเดีย บังกลาเทศ และอื่นๆ จำนวน 2,397 คน และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมายจำนวน 246 ราย แรงงานต่างด้าว จำนวน 1,609 คน

“ขอเตือนนายจ้างให้จ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงานและทำงานตรงกับประเภทงาน และกับนายจ้าง ท้องที่หรือเงื่อนไขในการทำงานตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงาน ขณะเดียวกันแรงงานต่างด้าวต้องมีใบอนุญาตทำงานและทำงานตรงกับที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำงานรวมทั้งห้ามทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย” นายอนุรักษ์กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/1/2561

กสร.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลดภาระหนี้ลูกจ้าง

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน มีมติเห็นชอบให้กองทุนฯจัดทำโครงการเงินกู้เพื่อวิถีแห่งคุณภาพชีวิตที่ดีตามศาสตร์พระราชา เปิดโอกาสให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจกู้ยืมเงินผ่านกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี และนำไปให้ลูกจ้าง พนักงานที่เป็นสมาชิกกู้ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้น้อย (รายได้ต่อเดือนไม่เกิน 35,000 บาท) สามารถเข้าถึงบริการของกองทุนฯ และนำไปใช้ปลดเปลื้องหนี้สินนอกระบบ หนี้บัตรเครดิต ตลอดจนนำไปพัฒนารายได้ของตนเองและครอบครัว

สำหรับโครงการเงินกู้เพื่อวิถีแห่งคุณภาพชีวิตที่ดีตามศาสตร์พระราชาการ มีงบประมาณในการดำเนินการ 50 ล้านบาทปล่อยกู้ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ในรัฐวิสาหกิจสูงสุด ไม่เกินสหกรณ์ละ 10 ล้านบาท

ทั้งนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถยื่นคำขอกู้เงินจากกองทุนฯ พร้อมรายละเอียดโครงการและหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ตั้งแต่วันนี้ (15 ม.ค.) เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 ม.ค.2561

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 15/1/2561

ก.แรงงาน รับสมัครชายไทยไปทำงานช่าง ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานกับนายจ้างบริษัท CROWN Emirates Company Ltd. ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตำแหน่งช่าง 15 อัตรา ระยะเวลาจ้างงาน 3 ปี นายจ้างจัดอาหารให้วันละ 3 มื้อ พร้อมจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับ หากทำงานครบตามสัญญาจ้าง สมัครฟรีตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 มกราคม 2561

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า กรมการจัดหางานรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานกับนายจ้างบริษัท CROWN Emirates Company Ltd. ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตกระป๋องเครื่องดื่ม จำนวน 4 ตำแหน่ง 15 อัตรา คือ 1. ช่างไฟฟ้า จำนวน 2 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 2,750 ดีแรมห์ (AED) หรือประมาณ 24,405 บาท 2. ผู้ช่วยช่างบำรุงรักษาเครื่องจักรกล จำนวน 8 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 2,500 ดีแรมห์ (AED) หรือประมาณ 22,187 บาท 3. ช่างเครื่องกล จำนวน 4 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 2,500 ดีแรมห์ (AED) หรือประมาณ 22,187 บาท 4. เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ จำนวน 1 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 2,500 ดีแรมห์ (AED) หรือประมาณ 22,187 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 3 มกราคม 2561) ระยะเวลาการจ้าง 3 ปี นายจ้างจัดอาหารให้วันละ 3 มื้อ พร้อมจัดหาที่พักให้ตามความเหมาะสม ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน หรือ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และจ่ายค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเที่ยวไปและกลับประเทศไทยเมื่อทำงานครบสัญญาจ้าง คุณสมบัติเป็นเพศชาย สัญชาติไทย อายุระหว่าง 20-35 ปี วุฒิการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือปริญญาตรี

นายอนุรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สนใจสามารถติดต่อสมัครงานด้วยตนเอง พร้อมหลักฐานการสมัครได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนา สำเนาทำเบียนบ้าน สำเนาวุฒิการศึกษา สำเนาขึ้นทะเบียนทหาร (สด.8 สด.9 หรือสด.43) รูปถ่าย 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) ใบรับรองการผ่านงาน (ถ้ามี) สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 มกราคม 2561 ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่1-10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ภายในบริเวณกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการจัดส่งไปทำงานต่างประเทศโดยรัฐจัดส่ง คนหางานไม่ต้องเสียค่าสมัครหรือค่าบริการใดๆ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2245 1034 หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 15/1/2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท