Skip to main content
sharethis
ศรีสุวรรณ ยกบรรทัดฐานคดี 'สุพจน์ ทรัพย์ล้อม' เผยกรณีร้องเรียนนาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร ยังไม่คืบหน้า และเดาไม่ออก แต่กังวลมากมาย เช่น ประธาน ป.ป.ช. เคยอดีตหน้าห้อง พล.อ.ประวิตร พร้อมประเมิน 2 ปี ป.ป.ช.ชุดนี้ ส่วนใหญ่มักไม่มีมรรคผล ลดยึดโยงประชาชน หวั่นกลายเป็นระบบข้าราชการอีกระบบหนึ่ง

แฟ้มภาพ ศรีสุวรรณ ขณะยื่นเรื่องร้องเรียนกับ ป.ป.ช. ในวาระต่างๆ 

24 ม.ค. 2561 หากนึกถึงผู้ที่ทำงานใก้ชิดกับองค์กรอิสระโดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชื่อ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย คงเป็นอันดับต้นๆ ที่นึกขึ้นมาได้ ด้วยสถิติตเฉพาะปี 2560 ยื่นเรื่องร้องเรียนทั้งองค์กรอิสระและนายกรัฐมนตรี ไปประมาณ 30 กว่าเรื่อง และหนึ่งในองค์กรหลักที่ยื่นร้องเรียนคือ ป.ป.ช. 

หนึ่งในเรื่องที่เป็นประเด็นที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมการเมืองขณะนี้คือเรื่อง นาฬิกาหรู ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหมและรองนายกฯ นั้น ศรีสุวรรณ ก็เป็นคนแรกๆ ที่ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ทั้งประเด็นการปกปิดบัญชีทรัพย์สินและการร่ำรวยผิดปกติ ในโอกาสเกือบเข้าเดือนที่ 2 ของการยื่นเรื่อง รวมถึง 2 ปี ป.ป.ช. ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากเคยเป็นอดีตทีมงานของ พล.อ.ประวิตร เองด้วย ประชาไทจึงสัมภาษณ์ ศรีสุวรรณ เพื่อประเมินประเด็น นาฬิกาหรู ของ พล.อ.ประวิตร รวมถึงการทำงานของ ป.ป.ช.ชุดนี้

นาฬิกายังไม่คืบหน้า เดาไม่ออกแต่กังวลมากมาย

ศรีสุวรรณกล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มยื่นคำร้องตั้งแต่ต้นเดืน ธ.ค.60 และ 15 ธ.ค.60 ยื่นครั้งที่ 2 ล่าสุด ป.ป.ช.เชิญให้ตนไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า หรือยังไม่ได้รับแจ้งอะไรจาก ป.ป.ช.เลย

สำหรับการประเมินผลในท้ายที่สุดแล้วการยื่นเรื่อง ป.ป.ช. กรณีนาฬิกานี้ ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ไม่สามารถคาดเดาออกว่าจะมีผลสรุปเป็นอย่างไร แต่มีข้อกังวลมากมาย เนื่องจากมีหลายเรื่องที่มาพร้อมกันในสถานการณ์ ณ วันนี้ หนึ่ง ประเด็นที่ สังคสงสัยกันมากคือเรื่องของการยกร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วย ป.ป.ช. ฉบับล่าสุด ที่โดยปกติ ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการหรือ สนช. หลายๆ คนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยู่ในยุคปฏิรูป ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ก็น่าจะให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การยกร่าง พ.ร.ป. ขององค์กรอิสระอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือแม้แต่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทุกอย่างก็จะเน้นย้ำเรื่องของเจตนารมให้เป็นไปตามรัฐธรรม คือมีการรีเซตกันทุกองค์กร แต่ ป.ป.ช. นี้ สนช.กลับไปเขียนบทเฉพาะกาลยืดอายุของ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันจากที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า 7 ปี ขยายให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.เมื่อปี 2542 ซึ่งกำหนดอายุของ ป.ป.ช. ไว้ 9 ปี ขณะเดียวกันก็ไปเขียนยกเว้นการนำคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ม.232 มาเป็นข้อยกเว้นไม่ให้นำเอาคุณสมบัติต้องห้ามที่กำหนดในบทบัญญัติดังกล่าวมาบังคับใช้กับ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน มันกลายเป็นที่สงสัย และกรณีนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร จึงเป็นเรื่องที่ผนวกมาเป็นข้อสงสัยของชาวบ้าน

แฟ้มภาพ ศรีสุวรรณ ขณะยื่นเรื่องร้องเรียนกับ ป.ป.ช. ในวาระต่างๆ 

ประธาน ป.ป.ช. จาก อดีตหน้าห้อง สู่ผู้ตรวจสอบอดีตนาย

ศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันประธาน ป.ป.ช. คนปัจจุบันก็เป็นอดีตรองเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ พล.อ.ประวิตร ก็คืออยู่หน้าห้อง พล.อ.ประวิตร มาก่อน ดังนั้นความรู้สึกในเชิงอุปถัมภ์ สังคมไทยก็คิดคำนึงและครหาในเรื่องนี้ ดังนั้นเมือง 2 เรื่องมาพร้อมกันนี้ ในที่สุดเมื่อ ป.ป.ช.จะพิจารณาเรื่องของคำร้องเรื่องนาฬิกาไปอย่างไร แม้แต่ตัวตนเองในฐานะผู้ร้องก็ให้ความวิตกกังวลว่าเรื่องเหล่านี้จะหลายเป็นมวยล้มต้มคนดู และในที่สุดก็ไม่สามารถที่จะเอาผิดกับ พล.อ.ประวิตร ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นการปฏิรํปการเมือง ข้ออ้างของการเข้ามาสู่อำนาจของ คสช. ก็แทบจะไม่มีเหตุผลอะไรรองรับ เพราะข้ออ้างเหล่านั้นก็กลายเป็นลมปากไปวันๆ โดยไม่มีมรรคผลใดๆ 

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า เรื่องของ พล.อ.ประวิตร มันสะท้อนให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมาย สะท้อนให้เป็นถึงการบริหารราชการแผ่นดิน สะท้อนให้เห็นถึงจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากมาย ฉะนั้นอาจจะส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาล ในฐานะหัวหน้า คสช. กระทบต่อภาพลักษณ์รัฐบาล กระทบภาพลักในอนาคตถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จะหวนกลับมาเปล่าการเมือง นี่ก็เป็นผลกระทบระยะยาว ซึ่งอย่างไรเสียก็ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล ต่อ คสช. หรือแม้แต่ตัวของ พล.อ.ประวิตร เลย

ป.ป.ช.ชุดนี้ ส่วนใหญ่มักไม่มีมรรคผล

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ในปี 60 ที่ผ่านมายื่นเรื่องกับองค์กรอิสระและนายกฯ ประมาณ 30 กว่าเรื่อง และแต่ละเรื่องถูกยุติข้อร้องเรียนแบบที่อาจจะไม่มีเหตุผลมากนัก เช่น กรณีร้องเรื่องการที่สมาชิก สนช. ประมาณ 7 คนไม่เข้าร่วมประชุม สนช. ตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่ในที่สุดเรื่องนี้ก็เงียบหายไป หรือกรณีเรื่องของบ้านหลังใหม่ของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ป.ป.ช.ก็มีหนังสือมาถึงตนว่าไม่เข้าข่ายความผิดในประเด็นที่ตนร้องเรียน โดยอ้างว่าตนร้องเรียนเรื่องของการปกปิดบัญชีทรัพย์สิน แต่ไม่ได้ร้องเรียนเรื่องของการร่ำรวยผิดปกติ ตนก็ยังแปลกใจว่าปกติเรื่องเหล่านี้มันจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องร้องเรียนให้ตรงประเด็นเป๊ะๆ และหากร้องเรียนไม่ตรงประเด็น ป.ป.ช.ก็จะไม่สอบหรือ ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลก

“จริงๆ แล้ว ป.ป.ช.สามารถหยิบยกข้อประเด็นปัญหาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมมาพิจารณาได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีคนร้องเรียน” ศรีสุวรรณ กล่าว พร้อมระบุว่า ในเรื่องที่ตนร้องต่อ ป.ป.ช. นั้น ส่วนใหญ่มักไม่มีมรรคผลในทางที่สังคมคาดหวัง เรื่องส่วนใหญ่ก็ยังคงเงียบและไม่มีฟีดแบคอะไรกลับมา

แฟ้มภาพ ศรีสุวรรณ ขณะยื่นเรื่องร้องเรียนกับ ป.ป.ช. ในวาระต่างๆ 

คำตอบอยู่ที่ นาฬิกา พล.อ.ประวิตร

“คำตอบมันอยู่ที่นาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร การมาประชาสัมพันธ์หรือชี้แจงพี่น้องประชาชนว่าในยุคปฏิรูปมีรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงขึ้นมาแล้ว และมีการจัดกิจกรรมเรื่องของการรณรงค์โตไปไม่โกง รณรงค์การปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง แต่คำตอบที่แท้จริงก็คือการเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร เพราะการปราบโกง หรืออ้างรัฐธรรมนูญปราบโกง ผมคิดว่ามันเป็นเพียงแค่มอตโต้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้คนที่ไม่รู้ในเล่ห์กลทางการเมืองหรือประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามกลไกทางการเมืองได้ผิดหลงเข้าใจผิดจนคิดว่าเป็นความจริง แต่ว่าผมในฐานะที่ติดตาม เกาะติดเรื่องของการทุจริตการคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมในแวดวงข้าราชการและนักการเมืองมาโดยตลอดจึงเห็นว่าการนำกฎหมายในรัฐธรรมนูญมาเพื่อปราบโกงหรือจัดการกับผู้ที่มีพฤติการทุจริคอร์รัปชั่น มันไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลยกับรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ฉบับ 40 หรือ ฉบับ 50 เพราะฉะนั้นจะมาอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงนั้น ในวันนี้ผมยังไม่ให้คะแนนอะไร เพราะว่ามันยังไม่ได้ชี้ชัดว่ารัฐบาล หรือ คสช. จะเอาจริงเอาจังกับประเด็นปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะเรื่องของ นาฬิกา พล.อ.ประวิตร จะเป็นตัวชี้วัดการเอาจริงเอาจังในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่นว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไร” ศรีสุวรรณ กล่าว

ทำไมถึงร้องปมนาฬิกา

สำหรับข้อร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. กรณี นาฬิกา พล.อ.ประวิตร นั้น ศรีสุวรรณ์ กล่าวว่า ตนร้องไป 2 ประเด็น 1 เรื่องของการปกปิดบัญชีทรัพย์สินของตัวเอง และประเด็น 2 เรื่องการร่ำรวยผิดปกติ ต้องร้องทั้ง 2 เรื่องเพื่อไม่ให้ ป.ป.ช.ดิ้นออกไปในทางใดทางหนึ่ง โดยเฉพาะประเด็นปกปิดบัญชีทรัพย์สินนั้นชัดเจนว่าในเอกสารรายงานบัญชีทรัพย์สินที่ พล.อ.ประวิตร ยื่นกับ ป.ป.ช.ทั้งหมด 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 51 สมัยเป็น รมว.กลาโหม รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 54 สมัยหมดวาระ รัฐบาล อภิสิทธิ์ และปี 55 หลังจากที่ออกจากรัฐบาล อภิสิทธิ์ มาครบรอบ 1 ปี และมาถึงปี 57 ในขณะที่เข้าดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม  นั้น พล.อ.ประวิตร ไม่ได้รายงานว่ามีทรัพย์สินที่เป็นนาฬิกาและแหวนที่มีมูลค่าเกิดกว่า 2 แสนบาทเลย ในเอกสารบัญชีเหล่านั้น แต่รูปธรรมที่ปรากฏในสื่อออนไลน์คือ พล.อ.ประวิตร มีนาฬิกาเกินล้านใส่ ไม่ต่อกว่า 25 เรือนแล้ว ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำว่า 40 ล้านบาท

และหากพิจารณาเรื่องรายได้ของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นนายทหารมาตลอดชีวิตและมีเงินเดือนหลังจากที่ปลดเกษีณอายุราชการแล้วก็มีเงินบําเหน็จบํานาญปีหนึ่งก็ประมาณ 9 แสนกว่าบาทเท่านั้นเอง ส่วนรายได้จากการที่มาดำรงตำแหน่ง รมว.หรือรองนายกฯ เฉลี่ยต่อปีก็ประมาณล้านกว่าบาท ดังนั้นรายได้รวมของ พล.อ.ประวิตร ต่อปีก็อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2 ล้านกว่าบาทเท่านั้นเอง แต่เหตุใด พล.อ.ประวิตร มีเงินในบัญชีทรัพย์สินของตัวเองตั้งแต่ปี 51 มีไม่ถึง 50 ล้านบาท แต่ปี 57 เมื่อแสดงบัญชีทรัพย์สินกลับมีเงินหรือทรัพย์สินเพิ่มเข้าไปถึง 80 กว่าล้านบาท จึงเป็นเรื่องที่ผิดไปจากการประกอบวิชาชีพโดยปกติ เรื่องนี้จึงเป็นที่สงสัยของสาธารณะชน

พล.อ.ประวิตร ในฐานะ รมว.กลาโหม และรองนายกฯ ก็เป็นผู้นำในการผลักดันงบประมาณของรัฐให้กับกระทรวงกลาโหมได้อย่างมากมายมหาศาล ติด 1 ใน 5 ของกระทรวงที่ได้รับงบประมาณในแต่ละปีมากที่สุด และที่สำคัญมีการผลักดันในเรื่องของการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับทั้ง 3 เหล่าทัพ ซึ่งมีมูลค่าหายหมื่นหายแสนล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นที่ข้อครหาของประชาชนว่าอาจจะมีลักษณธของการช่วยเหลือเกื้อกูลหรือการได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นจากการจัดซื้ออาวุธเหล่านี้จากบุคคลที่ 3 หรือจากพ่อค้าเหล่านี้หรือไม่

สำหรับคำชี้แจงเรื่องนาฬิกาของเพื่อนให้ยืมใส่และมีการคืนหมดแล้วนั้น ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าข้ออ้างนี้ได้ทำเป็นหนังสือชี้แจงกับ ป.ป.ช.หรือไม่ แต่หากเป็นไปตามนี้ แม้จะเป็นนาฬิกาของเพื่อนและวนกันใส่ก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะไปพิสูจน์ว่านาฬิกาเหล่านั้นเป็นของเพื่อนจริงหรือไม่ เพราะนาฬิกาแต่ละเรือนที่ พล.อ.ประวิตรใส่มันมีมูลค่าแต่ละเรือนนับล้านบาท จึงไม่ใช่นาฬิกาทั่วไปที่ใครอยากจะมาหมุนเวียนเปลี่ยนใส่กันได้ และที่สำคัญนาฬิกาแต่ละเรือนเป็นรุ่น limited edition จัดทำขึ้นเฉพาะตามใบสั่งเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้การผลิตก็ให้พอดีกับผู้สั่งทำแต่ละคน เพื่อนของ พล.อ.ประวิตรมีข้อมือเท่ากับ พล.อ.ประวิตร ทุกเรือนเลยหรือ จึงเป็นข้อสงสัยที่ ป.ป.ช. ต้องไปสืบ และเรียกเจ้าของนาฬิกาเหล่านั้นมาแสดงต่อ ป.ป.ช.ในการพิสูจน์เรื่องนี้

นาฬิกาเรือนแพงเหล่านี้ ปกติจะไม่นิยมหมุนเวียนกันใส่เพราะนาฬิกาเรือนเหล็กการขยับข้อนาฬิกาก็มีมูลค่าในการดำเนินการครั้งละไม่ต่ำกว่าหลายหมื่น หรือนาฬิกาสายหนังส่วนใหญ่ก็จะทำให้เกิดกลิ่นจากเหงื่อไคล ซึ่งก็จะไม่นิยมให้คนอื่นมาใส่ของตน ซึ่งเป็นประเด็นที่ ป.ป.ช. สามารถตรวจสอบได้ง่าย และอีกประเด็นนาฬิกาไม่ว่าจะของ พล.อ.ประวิตรหรือเพื่อนนั้นได้นำเข้ามาเสียภาษีศุลกากรถูกต้องหรือไม่ ซึ่ง ป.ป.ช. ก็สามารถตรวจสอบได้

ยกกรณีตัวอย่าง สุพจน์ ทรัพย์ล้อม

ศรีสุวรรณ์ กล่าวต่อว่า การเวียนนาฬิกากันใส่นั้นจะไปเข้าการให้ของขวัญสิ่งของกันเกิน 3,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้ตนตีความเป็นเรื่องของ “ประโยชน์อื่นใด” ในที่นี้หากเราสามารถเทียบเคียงก็เหมือนเป็นการไปเช่าชุดเครืองประดับมาใส่ในงานพิธีกรรมต่างๆ ซึ่ง ณ วันนี้มูลค่าของการเช่าตนคิดว่าแม้แต่ชุดครุยก็ราคา 5,000-6,000 บาทแล้ว ดังนั้นเครื่องนาฬิกาที่มีมูลค่านับล้านบาท ถ้าเอามาใส่ แม้แต่ยืมใส่ก็สามารถตีค่าเป็นมูลค่าออกมาได้ ตนชื่อว่ามันเกินมูลค่าที่ ป.ป.ช. ประกาศ

ขณะเดียวกันเรื่องนี้ก็มีกรณีที่ ป.ป.ช. เคยทำเป็นมาตรฐานในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินระดับสูง ล่าสุดกรณี สุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งอ้างว่ายืมรถของเพื่อนมาใช้ แต่ ป.ป.ช. ไม่เชื่อ ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาฯนักการเมืองพิพากษาและ ศาลก็พิพากษาว่าไม่เชื่อว่าเป็นทรัพย์สินของเพื่อนหรือขอคนอื่น เพราะฉะนั้นบรรทัดฐานตรงนี้มีอยู่แล้ว ตนจึงเชื่อมั่นว่า ป.ป.ช.และศาลจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา

ลดยึดโยงประชาชน ชี้จะกลายเป็นระบบข้าราชการอีกระบบหนึ่ง

ศรีสุวรรณ์ กล่าวว่า ป.ป.ช.เคยได้รับความไว้วางใจและเชื่อถือจากประชาชนจำนวนมากก่อนหน้านี้  แต่มา ป.ป.ช. ชุดนี้ กลับไม่สามารถอธิบายหรือดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ หรืออธิบายกับสังคมได้กระจ่างชัดในประเด็นข้อสงสัยของสาธารณะชน ทำให้ประชาชนเองก็เคลือบแคลงสงสัย เพราะประธาน ป.ป.ช. ก็เคยเป็นอดีตรองเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งมีข้อร้องเรียนและกล่าวหากันในมือของ ป.ป.ช. ในขณะนี้ ดังนั้นหาประธาน ป.ป.ช. คนปัจจุบันยังงดำรงตำแหน่งนี้ แม้ว่าโดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ประธาน ป.ป.ช. จะขาดแล้ว แต่ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่อาจจะเป็นการทำลายหรือภาพลักษณ์ของ ป.ป.ช. ที่เคยเป็นที่ไว้วางใจเชื่อถือของประชาชนเสื่อมลงและลดความไว้วางใจลง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

"การยึดโยงประชาชนก็อาจจะลดความสำคัญลงไป จะกลายเป็นระบบข้าราชการอีกระบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ใช่เจตนารมที่แท้จริงที่รัฐธรรมนูญพยายามจะออกแบบในเรื่องขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและใช้ประชาชนเป็นตาสับประรดหรือเป็นกลไกสำคัญในการที่จะร่วมไม้ร่วมมือกันในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจประชาชนไว้" ศรีสุวรรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net