Skip to main content
sharethis

ศาลรับฟ้องคดีที่อัยการสั่งฟ้อง 'สุเทพ - 8 แกนนำ กปปส.' ข้อหากบฏ และให้ประกันตัวคนละ 6 แสน นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 มี.ค.นี้

ที่มาภาพเพจ Banrasdr Photo

24 ม.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ เมื่อเวลา 15.30 น. ศาลอาญาให้ประกันตัว สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. พร้อมแกนนำรวม 9 คน หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องในความผิดฐาน ร่วมกันก่อกบฎ ก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจรมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง จากการชุมนุมชัตดาวน์กรุุงเทพ เมื่อปี 2556-2557 โดยศาลตีราคาคนละ 600,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งหมดออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

แถนนำทั้ง 9 คนนอกจาก สุเทพ แล้ว ประกอบด้วย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ชุมพล จุลใส พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อิสสระ สมชัย วิทยา แก้วภราดัย ถาวร เสนเนียม ณัฐพล ทีปสุวรรณ เอกนัฎ พร้อมพันธุ์ โดยทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหา กบฏ อั้งยี่ ซ่องโจร และข้อหาอื่นๆ รวม 8 ข้อหา และ ชุมพล อัยการแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 1 ข้อหาคือ ร่วมกันก่อการร้าย
 
ไทยพีบีเอส รายงานด้วยวา ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาในคดีนี้มีทั้งหมด 58 คน อัยการไม่สั่งฟ้อง 1 คน โดยจะส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ก่อน ส่วนผู้ต้องหาอีก 34 คน ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนเข้ารับฟังคำสั่งคดี แต่อัยการยังเปิดโอกาสมาให้เข้าพบจนถึงเวลา 16.30 น. จนถึงตรวจสอบเหตุผลประกอบการเลื่อนขอเข้าฟังคำสั่งคดีด้วย ขณะที่จะขอศาลออกหมายจับผู้ที่ไม่มารับฟังคำสั่งคดีหรือไม่ ขณะนี้อัยการยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้
 
และศาลประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว และจะนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 มี.ค.นี้ โดยจำเลยและฝ่ายอัยการจะต้องมาขึ้นศาลเพื่อตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้
 
เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งว่า ตามที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เรียกผู้ต้องหาในสำนวนคดีพิเศษที่ 261/2556 หรือคดีร่วมกันเป็นกบฏในการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกรวม 57 คน เป็นผู้ต้องหามาเพื่อรายงานตัวเเละฟังคำสั่งคดีในวันที่24มกราคม โดยการนัดฟังคำสั่งดังกล่าว ทางอัยการมีคำสั่งว่าตัวผู้ต้องหาทุกคนจะต้องเดินทางมาฟังคำสั่งด้วยตนเอง เนื่องจากอัยการจะมีคำสั่งเลยว่าจะฟ้องผู้ต้องหารายใดเเละข้อหาใดบ้าง ตัวผู้ต้องหาจะต้องมีการเตรียมหลักทรัพย์มาให้พร้อม เพราะหากมีคำสั่งฟ้องทางอัยการจะนำตัวผู้ต้องหาที่มีความเห็นสั่งฟ้องไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาตามที่อัยการมีคำสั่งนั้น  ล่าสุดสำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งระบุว่า คดีไม่มีหลักฐานและข้อเท็จจริงใหม่ที่สำคัญอันจะกลับความเห็นและคำสั่งเดิมของคณะทำงานตามคำสั่งสำนักงานคดีพิเศษที่ 14/2557 เสนออธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ขณะนั้นได้ทั้งนี้ ตามความเห็นและเหตุผลที่คณะทำงานตามคำสั่งสำนักงานคดีพิเศษที่ 28/2560 เสนอจึงมีความเห็นและคำสั่ง ตามความเห็นและคำสั่งของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษเดิม ดังนี้
 
(1) สั่งฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ต้องหาที่ 1 สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ผู้ต้องหาที่ 2 ชุมพล จุลใส ผู้ต้องหาที่ 3 พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ต้องหาที่ 4 อิสสระ สมชัย ผู้ต้องหาที่ 5 วิทยา แก้วภราดัย ผู้ต้องหาที่ 6 ถาวร เสนเนียม ผู้ต้องหาที่ 7 ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 8 เอกนัฎ พร้อมพันธุ์ ผู้ต้องหาที่ 9 นางอัญชะลี ไพรีรัก ผู้ต้องหาที่ 10 นิติธร ล้ำเหลือ ผู้ต้องหาที่ 11 อุทัย ยอดมณี ผู้ต้องหาที่ 12 เรือตรีแซมติน เลิศบุศย์ ผู้ต้องหาที่ 13 พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ ผู้ต้องหาที่ 14 สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ผู้ต้องหาที่ 15 ยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ ผู้ต้องหาที่ 16 สุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์ ผู้ต้องหาที่ 17 นางสาวจิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี หรือ กฤดากร ผู้ต้องหา 19 เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ต้องหาที่ 25 ถนอม อ่อนเกตุพล ผู้ต้องหาที่ 28 พลเอกปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ผู้ต้องหาที่ 31 สุริยะใส กตะศิลา ผู้ต้องหาที่ 32 อมร อมรรัตนานนท์ หรือรัชต์ชยุตม์ ศิรโยธินภักดี ผู้ต้องหาที่ 37 สมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้ต้องหาที่ 34 พระสุวิทย์ ทองประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ สาธิต เซกัล (MR.SEHGAL SATISH) ผู้ต้องหาที่ 42 กิตติชัย ใสสะอาด ผู้ต้องหาที่ 43 คมสัน ทองศิริ ผู้ต้องหาที่ 44 พิเชษฐ์ พัฒนโชติ ผู้ต้องหาที่ 46 มั่นแม่น กะการดี ผู้ต้องหาที่ 47 ประกอบกิจ อินทร์ทอง ผู้ต้องหาที่ 48 นัสเซอร์ ยีหมะ ผู้ต้องหาที่ 49 พานสุวรรณ ณ แก้ว ผู้ต้องหาที่ 50 สุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ต้องหาที่ 51 รังสิมา รอดรัศมี ผู้ต้องหาที่ 54 ทยา ทีปสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 55 พลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนี ผู้ต้องหาที่ 56 พลเรือเอกชัย สุวรรณภาพ ผู้ต้องหาที่ 57 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันร่วมกันปิดงานหยุดงาน กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบแผ่นดิน หรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ หรือผู้มีหน้าที่สั่งการและเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแล้วไม่เลิก, ร่วมกันบุกรุก โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน และร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้สามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางการเลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกตั้งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 113, 116, 117, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 76, 352 ตามความเห็นและคำสั่งเดิมของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ (สั่ง ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2557)
 
(2) เฉพาะ สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ต้องหาที่ 1 และ ชุมพล จุลใส ผู้ต้องหาที่ 3 นอกจากสั่งฟ้องตามข้อ (1) ข้างต้นแล้วให้สั่งฟ้องฐานร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135/1,83 เพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ ตามความเห็นและคำสั่งเดิมของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ (สั่ง ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2557)
 
(3) สั่งฟ้อง แก้วสรร อติโพธิ ผู้ต้องหาที่ 24, กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ต้องหาที่ 27, ไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ต้องหาที่ 30, พิภพ ธงไชย ผู้ต้องหาที่ 33 และ ถวิล เปลี่ยนศรี ผู้ต้องหาที่ 58 ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกบฏ และเป็นผู้สนับสนุนในความผิดตามข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้ ยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงานร่วมกันปิดงานงดจ้าง, อั้งยี่, ซ่องโจร มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองผู้กระทำคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ เป็นหัวหน้าหรือ ผู้มีหน้าที่สั่งการและเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแล้วไม่เลิก ร่วมกันบุกรุก โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน และร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้ผู้เลือกตั้งสามารถใช้สิทธิหรือขัดขวางหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้งหรือเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเลือกตั้ง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,86,113,116,117,209,210,215,216,362,364,365 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 76,152 ตามความเห็นและคำสั่งเดิมของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ (สั่ง ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2557)
 
(4) เฉพาะ นิติธร ล้ำเหลือ ผู้ต้องหาที่ 11, อุทัย ยอดมณี ผู้ต้องหาที่ 12 และศิร โยธินภักดี หรือ อมร อมรรัตนานนท์ ผู้ต้องหาที่ 37 นอกจากสั่งฟ้องตามข้อ (1) ให้สั่งฟ้องร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,359 เพิ่มเติมอีก เนื่องจากพยานหลักฐานยืนยันว่าได้ร่วมกันบุกรุกกระทรวงต่างประเทศ ทำให้เสียทรัพย์ โดยทำให้ประตูรั้วได้รับความเสียหายทั้งนี้ให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่ผู้ต้องหาที่ 11, ที่ 12 และที่ 37 ให้ครบก่อนฟ้องคดีด้วย และให้จัดการตามเสนอ
 

ที่มา : มติชนออนไลน์ไทยพีบีเอส  และเพจ Banrasdr Photo

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net