Skip to main content
sharethis

8 ผู้จัดกิจกรรมเดินมิตรภาพ เข้ารับทราบพร้อมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ที่ สภ.คลองหลวง เหตุถูกดำเนินคดีฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. นักการทูตและองค์กรสิทธิระหว่างประเทศหลายองค์กรร่วมสังเกตการณ์ ด้านตำรวจนัดส่งสำนวนให้อัยการ 26 ก.พ.นี้ 

 
ที่มาภาพ : เพจ Banrasdr Photo
 
31 ม.ค. 2561 ที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง 8 ผู้จัดกิจกกรมเดินมิตรภาพ ของเครือข่าย People Go Network ได้เดินทางมาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการแจ้งความฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามมั่วสุม ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน จากการเปิดงานเดินมิตรภาพเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2561 ที่มหาวิทยาธรรมศาตร์ ศูนย์รังสิต 
 
ผู้ที่ถูกนายทหารยศพันโท ซึ่งรับมอบหมายตามคำสั่งของ คสช. ทั้ง 8 คน ซึ่งทั้งหมดยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหา ประกอบด้วย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา, อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์, สมชาย กระจ่างแสง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, แสงศิริ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัม 4 ภาค, อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก และจำนงค์ หนูพันธ์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางมาตามหมายเรียกครั้งนี้มีประชาชนราว 200 คน ได้เดินทางมาให้กำลังใจที่บริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจ ขณะที่เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) อาทิ พิชิต ลิขิตสมบูรณ์กิจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิติ ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะมนุษยวิทยาและสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมราว 20 คน ได้ทำกิจกรรมเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มายังสถานีตำรวจภูธรคลองหนึ่ง มีระยะประมาณ 4 กิโลเมตร เพื่อมาให้กำลังใจกับทั้ง 8 คนที่ถูกเรียกสอบปากคำ และอ่านแถลงการณ์ขอให้ยุติการดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ  
 
นอกจากนี้ยังมีนักการทูตจากสหภาพยุโรป EU, นอร์เวย์, ฟินแลนด์, เยอรมนี, โปแลนด์, สหราชอาณาจักร, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม, สวีเดน, สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (The office of the United Nations High Commissioner for Human Rights - OHCHR) และตัวแทนคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลร่วมสังเกตการณ์ด้วย
 
คิงส์ลี่ย์ แอ๊บบ็อต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประทศอาวุโส คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลระบุว่า
ประเทศไทยควรหยุดการดำเนินควรหยุดการดำเนินคดีอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งแปดของ People Go Network ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุม และคบค้าสมาคมโดยทันที 
 
"ไม่มีเหตุผลใดที่จะสามารถนำมาใช้เพื่อคงไว้ซึ่งคำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปได้ โดยคำสั่งดังกล่าวรวมถึงคำสั่งและประกาศของคสช. อื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทยควรถูกยกเลิกหรือแก้ไข"
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างรอการสอบปากคำยังคงมีประชาชนรวมตัวให้กำลังใจอยู่บริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจ จนกระทั่งเสร็จสิ้นกระบวนการสอบปากคำ ผู้จัดกิจกรรมทั้ง 8 คน เจ้าหน้าตำรวจได้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขประกันตัว พร้อมนัดส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 26 ก.พ. นี้ 
 
สำหรับการรณรงค์ We Walk เดินมิตรภาพ เป็นการร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายประชาชน 4 กลุ่มคือ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, เครือข่ายเกษตรทางเลือก, เครือข่ายทรัพยากร และเครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมายที่ติดตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง และการละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยจะเริ่มออกเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ในวันที่ 20 นี้ จนไปสิ้นสุดที่จังหวัดขอนแก่น
 
โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมเพื่อบอกเล่าเรื่องราวและรณรงค์ใน 4 ประเด็นสำคัญของสังคมไทย ดังนี้
 
(1) นโยบายและกฎหมายที่ไม่นำไปสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการที่สร้างความสุขให้แก่สังคมโดยรวม ดังเช่นความพยายามแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อยกเลิกบัตรทอง
 
(2) นโยบายและกฎหมายที่ทำลายพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารด้วยการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชเพื่อให้บรรษัทข้ามชาติผูกขาดเมล็ดพันธุ์
 
(3) นโยบายและกฎหมายที่ลดทอนหลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนอันเป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่สร้างมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาวะอนามัยของประชาชน
 
(4) รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ลดทอนหัวใจสำคัญในด้านสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ กฎหมายและนโยบายต่างๆ ถูกบังคับใช้ โดยประชาชนไม่สามารถนำเสนอความคิดเห็น หรือสะท้อนข้อกังวลห่วงใยอะไรได้  ทั้งนี้ผลกระทบที่จะตามมา สุดท้ายประชาชนนั่นแหละที่ต้องรับผลกรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net