Skip to main content
sharethis

พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ (DYP) ม.เชียงใหม่ สโมสรนักศึกษารัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี และเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยฯ ม.เกษตร ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการละเมิดสิทธิพลเมือง และเรียกร้องให้ตำรวจ สน.ปทุมวัน ยุติการดำเนินคดีต่อประชาชน 39 รายที่ร่วมกิจกรรม "นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง"

กิจกรรม "นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง" เมื่อ 27 ม.ค. 2561 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

3 ก.พ. 2561 กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวันออกหมายเรียกประชาชน 39 รายจากการร่วมกิจกรรมนัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง ที่สกายวอล์คบริเวณห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง (MBK) เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ให้มารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ม.116 และ พ.ร.บ.การชุมนุม ที่ สน.ปทุมวัน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2 ก.พ.) จนเกิด แฮชแท็ก #MBK39 ซึ่งถูกพูดถึงจำนวนมาก จนติดเทรนด์อันดับสามของทวิตเตอร์ ประเทศไทยนั้น

 

พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ ม.เชียงใหม่ กังวลการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานพลเมือง

ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 2 ก.พ. พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ (DYP) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกแถลงการณ์ "เรื่อง การแสดงจุดยืน และข้อกังวลต่อการออกหมายเรียกประชาชนตามการกล่าวอ้างว่าขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 / 2558" โดยมีรายละเอียดดังนี้

"เนื่องจากเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2561 ณ บริเวณ สกายวอล์ค เขตปทุมวัน ได้มีการจัดกิจกรรม “นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.” โดย กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และเพื่อนนักศึกษาจำนวนมาก เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อการเลื่อนการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม คือ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2561 ไปเป็น เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2562 และกรณีความไม่โปร่งใสเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กำลังเป็นที่ตั้งข้อสังเกต และเกิดคำถามเป็นวงกว้างทั้งในสังคมออนไลน์ และสังคมไทยในขณะนี้ ซึ่งในกิจกรรมนั้น ได้มีประชาชน และนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 100 คน

ภายหลังการจัดกิจกรรมพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลเขตปทุมวัน ได้ออกหมายเรียกประชาชน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา จากกรณีขัดขืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 / 2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ทว่าในความเป็นจริงประชาชนกลุ่มดังกล่าวเพียงกระทำการไปภายใต้สิทธิ และเสรีภาพในฐานะพลเมืองในรัฐ เป็นการแสดงพลังในฐานะพลเมือง แสดงหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่ตื่นตัวในการแสดงสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของตน ตลอดจนเพื่อเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบในความไม่โปร่งใสของรัฐบาล ที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ เช่นเดียวกันกับกรณีเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบรัฐบาลชุดต่าง ๆ เช่นในอดีต อีกทั้งการกระทำต่าง ๆ ในกิจกรรมนี้ก็มิได้สร้างความเสียหาย ตลอดจนทำลายความมั่นคงใด ๆ ในรัฐเลย

ในฐานะเยาวชนของราชอาณาจักรไทย พวกเรารู้สึกถึงความอยุติธรรมในสังคมที่ปรากฎในเหตุการณ์นี้ เราเชื่อมั่นในการกระทำของประชาชนชาวไทย เพื่อนนักศึกษา และเยาวชน ว่ากระทำไปภายใต้ขอบเขตในสิทธิ และเสรีภาพในฐานะพลเมืองในรัฐ การออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา จึงเสมือนหนึ่งเป็นการคุกคามต่อการแสดงออกในสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของพลเมืองที่ตื่นตัวในรัฐต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในรัฐ

พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ จึงขอแสดงความกังวลต่อการล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่มีจุดยืน และความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล ตลอดจนกังวลถึงการที่รัฐมาบังคับใช้กฎหมายกับพลเมืองที่แสดงความคิดเห็นต่อการเลื่อนการเลือกตั้ง และการเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบความโปร่งใสของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วกิจกรรมดังกล่าว ตลอดจนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวพึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ ตลอดจนขอเรียกร้องให้ยกเลิกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาในกรณีดังกล่าวด้วย

ท้ายที่สุด พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทบทวนบทบาทของตน ที่ได้ล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง จากการกระทำดังกล่าว และพึงระลึกถึงหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองตามที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตลอดจนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

“เชื่อมั่นในนักศึกษา ศรัทธาในผองชน”
พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์
องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2 กุมภาพันธ์ 2561"

 

สโมสรนักศึกษารัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดี

โดยก่อนหน้านี้ในช่วงบ่าย สโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การเรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีต่อผู้ใช้สิทธิเสรีภาพ เช่นกัน

โดยตอนหนึ่งระบุว่า

"ทางสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อกรณีดังกล่าว ที่ล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มีจุดยืนเห็นต่างจากรัฐบาลและขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีกับนักศึกษา คณาจารย์ และประชาชน ทั้ง 39 คน และเคารพต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชน เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ซึ่งอาศัยอำนาจมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 นั้นขัดต่อมาตรา 34 และ 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมไว้ จึงใคร่ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงประชาชนและกติกาในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพื่อแสดงความตั้งใจจริงของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ประชาธิปไตย ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้แก่ปวงชนชาวไทย ทางสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงขอยืนยันและยืนหยัดต่อเสียงสะท้อนของ ”ภาคประชาชน” ที่จะนำพาประเทศชาติสู่การพัฒนา ด้วยเจตนารมณ์ที่ยึดมั่นในคำปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกดังพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ว่า " ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัว เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง"

"อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน สโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์"

 

เครือข่ายนักกิจกรรม ม.เกษตร เรียกร้องยุติดำเนินคดีกับผู้รวมตัวสกายวอล์คแยกปทุมวัน

นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ "เรื่อง ยุติการดำเนินคดีกับประชาชน นักวิชาการ และนิสิตนักศึกษา ที่ออกมารวมตัวกันบริเวณ Skywalk แยกปทุมวัน" โดยท้ายแถลงการณ์มีองค์กรลงชื่อประกอบด้วย 1. กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ 2. กลุ่มเสรีนนทรี 3. ประชาคมเกษตรศาสตร์เพื่อประชาชน 4. เพจ KU ไม่ลืม และมีผู้ร่วมลงชื่ออีก 33 รายชื่อ (อ่านแถลงการณ์)

โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้

"เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 เวลา 17:30 น. ได้มีประชาชน นักวิชาการ และนิสิตนักศึกษาร่วมกันจัดกิจกรรม “นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.” ขึ้นบริเวณ Skywalk แยกปทุมวัน ซึ่งเป็นการชุมนุมตามสิทธิ์ที่ได้ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ต่อมาพันเอกบุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เพื่อดำเนินคดีกับประชาชนจำนวน 7 คน ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 และมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา และต่อมาในวันที่ 30 มกราคม 2561 พันตำรวจโทสมัคร ปัญญาวงศ์ รองผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีเพิ่มเติมกับประชาชนจำนวน 39 คน ในข้อหาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พุทธศักราช 2558 มาตรา 7 วรรคแรก ซึ่งในจำนวนนี้ได้มีนิสิต และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รวมอยู่ด้วย

เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอยืนยันในสิทธิเสรีภาพของ การแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมของคนไทยทุกคน การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มีจุดยืนต่างจาก คสช. โดยใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่ มาบังคับใช้เป็นกฎหมายกับประชาชนย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่ม และบุคคลซึ่งเป็นศิษย์เก่า นิสิตปัจจุบัน และคณาจารย์ ตามรายชื่อแนบท้าย ได้มีความเห็นและข้อเรียกร้องดังนี้

1. คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้ขัดต่อมาตรา 34 และมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมไว้ การที่กลุ่มประชาชน นักวิชาการ และนิสิตนักศึกษาได้ออกมารวมตัวกันนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญด้วย ฉะนั้นทางเครือข่ายจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการคุกคามและดำเนินคดีกับประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม “นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.”

2. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการรัฐประหาร เพื่อเข้ามาบริหารประเทศเป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปี โดยได้ให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความสมานฉันท์ให้กับทุกคน แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คสช. กลับสร้างปัญหาความทุกข์ยาก ปิดกั้น ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เมื่อประชาชนและนักวิชาการจัดกิจกรรมเพื่อบอกกล่าวถึงปัญหา คสช. และรัฐบาลกลับคุกคาม สกัดกั้น และในบางครั้งได้แจ้งความเอาผิดกับประชาชน ซึ่งทางเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความเห็นว่า ระยะเวลาที่ คสช. เคยขอโดยไม่ถามความเห็นประชาชนนั้น ได้ล่วงเลยมาเกือบ 4 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่นานเกินไปแล้ว ทางเครือข่ายจึงขอเรียกร้องให้คืนอำนาจนั้นกลับสู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน โดยการจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นภายในปีนี้

3. การที่ คสช. ไม่รักษาคำพูดที่เคยให้ไว้กับประชาชน ย่อมทำให้อำนาจที่ คสช. เคยมีเสื่อมสลายลงไป และทำให้ประชาชนไม่สามารถเชื่อถือคำสัญญาที่ คสช. จะให้อีกต่อไปได้ ทางเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงขอเรียกร้องให้ คสช. คืนอำนาจกลับสู่ประชาชนโดยเร็ว และยุติการสืบทอดอำนาจของพวกพ้องตนเองอีกต่อไป ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง และยืนยันเจตนารมณ์ที่จะไม่ต้องการให้ คสช. กลับมาเป็นรัฐบาลอีก

เครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

3 กุมภาพันธ์ 2561"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net