Skip to main content
sharethis
รัฐมนตรีพลังงาน ประกาศชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และ เทพา ออกไปอีก 3 ปี โดยจะให้กฟผ.ใช้ระยะเวลาช่วงปี 2561-2563 จัดทำ EIA และเปิดรับฟังความเห็นชาวบ้านให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน คู่ขนานกับการศึกษาโรงไฟฟ้าก๊าซจาก LNG นำเข้า 
 
 
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มาภาพ: Energy News Center
 
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Energy News Center รายงานว่านายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากระทรวงพลังงานมีมติให้ชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา  จ.สงขลา ออกไปอีก 3 ปี  โดยในช่วงปี2561-2563 ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะไปดำเนินกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)โรงไฟฟ้ากระบี่ และสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงเปิดรับฟังความเห็นประชาชนอย่างเต็มที่ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา นั้นนอกจากจะดำเนินกระบวนการ EIA แล้ว กฟผ.ยังต้องศึกษาความเหมาะสมพื้นที่อื่น ๆ นอกจากเทพา รวมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ก๊าซ LNG นำเข้าเป็นเชื้อเพลิงด้วยทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เพื่อเป็นทางเลือกเปรียบเทียบกันในอนาคต
 
ทั้งนี้เมื่อครบ 3 ปีแล้ว กระทรวงพลังงานจะร่วมกับทุกฝ่าย ตัดสินใจอีกครั้งว่าทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ยังมีความจำเป็นที่ต้องสร้างอยู่หรือไม่ โดยหากพบว่าการสร้างโรงไฟฟ้าจาก LNG ในเวลานั้นทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศถูกลงเพราะราคาเชื้อเพลิงถูกลง โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาอาจจะไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างก็ได้
 
สำหรับในช่วง 3-5 ปีนี้ กระทรวงพลังงานจะดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ โดยจะผลักดันให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขนาดรวม 300 เมกะวัตต์ โดยจะให้ก่อสร้างภายใน 2-3 ปีนี้ เพื่อทดแทนการดึงไฟฟ้าจากภาคกลางมาใช้ ซึ่งปัจจุบันมีการดึงมาใช้อยู่ 460 เมกะวัตต์ โดยรัฐบาลจะลงทุนในลักษณะของโครงการประชารัฐและ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการสร้างระบบสายส่งให้  
 
พร้อมกันนี้จะให้ กฟผ.ดำเนินการลงทุนสร้างระบบสายส่งจากโรงไฟฟ้าหลักของภาคใต้ คือโรงไฟฟ้าขนอมและโรงไฟฟ้าจะนะ ไปยังแหล่งพื้นที่ความต้องการใช้หลักโดยตรง คือ พื้นที่ จ.สุราษฎ์ธานี ไปถึง พื้นที่ จ.ภูเก็ต รวมถึงขยายระบบสายส่งไฟฟ้าจาก 300 KV ที่มีอยู่ให้เป็นขนาด 500 KV เพื่อให้รองรับไฟฟ้าจากภาคกลางได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังจะนำมาตรการส่งเสริมการลดใช้ไฟฟ้าภาคสมัครใจ (DR) มาใช้ในพื้นที่ภาคใต้อย่างจริงจังด้วย 
 
นายศิริ กล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพในภาคใต้ขนาด 300 เมกะวัตต์ จะไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับสูงเกินไป เนื่องจากการประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของเอกชนรายเล็ก (SPP Hybrid Firm) ที่ผ่านมา พบว่าเอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาถูกเพียง 2.44 บาทต่อหน่วยเท่านั้น 
 
อย่างไรก็ตามภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ในปี 2560 อยู่ที่ 2,624 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตอยู่ 2,400 เมกะวัตต์ และดึงไฟฟ้าจากภาคกลางอีก 460 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าจากพลังน้ำอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกว่า 50 เมกะวัตต์ แต่เนื่องจากสายส่งไม่พอทำให้การผลิตไฟฟ้าได้จริงเพียง 2,024 เมกะวัตต์  ทำให้ภาคใต้เกิดความเสี่ยงไฟฟ้า ดังนั้นหากขยายระบบสายส่งไฟฟ้าสำเร็จจะลดความเสี่ยงไฟฟ้าลงได้มาก 
 
นายศิริ กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำอยู่นั้น จะบรรจุโรงไฟฟ้าถ่านหินไว้เป็นทางเลือกเท่านั้น แต่ไม่อยู่ในแผนหลักเหมือนที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนประเภทเชื้อเพลิงได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net