คุยกับ ‘เดินมิตรภาพ’: ทีมเดิน “อยากสื่อสารเพราะเราไม่มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญเลย”

การเดินเท้าระยะทางกว่า 800,000 ก้าว 450 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยกลุ่ม ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ ของเครือข่าย People Go Network ที่เริ่มต้นวันแรก (20 ม.ค. 61) ก็โดนขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 8 คน ก็ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการแจ้งความฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามมั่วสุม ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

แม้ท้ายสุดกลุ่มเดินมิตรภาพจะออกเดินต่อได้ แต่ช่วงแรกของการเดินก็เต็มไปด้วยความตึงเครียดและกดดัน ทั้งการส่งเจ้าหน้าที่กว่า 200 นาย มาตั้งด่านตรวจค้น ถ่ายบัตรประชาชนของผู้เข้าร่วมทุกคน การติดตามและบันทึกภาพตลอดทางอย่างใกล้ชิด การกดดันวัดที่ทางกลุ่มประสานไว้ไม่ให้รับกลุ่มเข้าพัก จนกระทั่งทางกลุ่มตัดสินใจฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อศาลปกครอง และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ที่สุดศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น (ชั่วคราว)

ประชาไทชวนคุยกับ ชุทิมา ชื่นหัวใจ กลุ่มรักษ์บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง ผู้ร่วมเดินในกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ ตั้งแต่วันแรก เล่าประสบการณ์การเดินในทุกสภาพถนน “บางทีเป็นเนิน ไม่มีฟุตบาท สิบล้อพุ่งลงมาแล้วเบรกแรง เราก็ตกใจ เฉียดเราไปเลย” และประเด็นที่เธออยากสื่อสารให้สังคมรับรู้ “ทุกวันนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญเราไม่มีส่วนในการร่างเลย ซึ่งมันก็ส่งผลมายังกฎหมายลูกทั้งเรื่องหลักประกันสุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องทรัพยากร”

มีอุปสรรคอะไรบ้างตอนที่เดิน

เราเป็นคนนอกพื้นที่ เป็นคนบ้านนอก ไม่เคยเดินบนถนนไกลขนาดนี้ อย่างที่เราเจอตรงจุดก่อสร้างมอเตอร์เวย์ มันไม่มีฟุตบาท อันนั้นเราจะกังวลมาก ชาวบ้านที่เป็นรุ่นแม่ๆ 50-60 เขาก็จะแอบกลัวนิดๆ ตอนรถพุ่งมาเร็วๆ เราต้องหลบแต่มันมีแบริเอ้อขวาง ก็หลบได้ไม่เต็มที่ หรือบางทีเป็นเนิน ไม่มีฟุตบาท สิบล้อพุ่งลงมาแล้วเบรกแรง เราก็ตกใจ เฉียดเราไปเลย แล้วเราเป็นคนถือธง จะสังเกตว่าธงปลิวว่อน แล้วตรงปลายมันจะยุ่ยหมดเลย เพราะลมสิบล้อมันพัด

อีกเรื่องคือเรื่องอากาศ ช่วงบ่ายจะร้อนมาก อากาศที่นี่ (สระบุรี) กับที่ลำปางร้อนแตกต่างกัน ที่ลำปางไม่ร้อนเยอะขนาดนี้ สระบุรียิ่งร้อน คอนกรีตเยอะ สิ่งก่อสร้างเยอะ บ้านเราไม่มีเลย มีแต่ต้นไม้ แต่ตอนหลังเหมือนเราปรับสภาพได้ เราคุ้นชินกับอากาศแล้ว ก็เดินได้เฉยๆ แป๊บเดียวสามกิโลแล้ว แต่ทีมที่มากับเราก็จะมีพวกแม่ๆ มาด้วย เรากลัวเขาจะป่วยจะไข้ จะร้อน
เวลาเดินเสร็จก็ต้องรีบพุ่งไปถามเขาก่อน เขาก็จะบอกว่า แม่ไหวลูก แม่ไหว แม่อยู่บ้านแม่ก็ทำไร่ทำนาอยู่แล้ว แล้วเขาก็ไม่เป็นอะไรจริงๆ มีแม่อยู่สองคนที่เดินไปสองรอบ คือเดินรอบแรกเสร็จแล้วก็เสนอตัวเองขอเดินอีกรอบ (เพื่อเลี่ยงการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ทีมเดินมิตรภาพแบ่งการเดินออกเป็นครั้งละ 3-4 คน รอบละ 3 กม.-ประชาไท) แล้วเขาก็เดินไหว เขาบอกว่าแม่ตั้งใจมาแล้ว เขาอยากเป็นคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนสื่อสารประเด็นออกไป เขามีความภูมิใจที่มาทำกิจกรรมนี้

แต่มีอยู่คนหนึ่งเป็นแม่ๆ ในกลุ่มเรา เป็นชาวไร่ชาวนานี่แหละ เราคิดว่าเขาเดินเร็วแน่ๆ เลย เพราะเขาเดินขึ้นเขา เดินเข้าป่าตลอด เราก็ไม่สนใจเขา พอหันกลับไปมองอีกทีเขาเดินรั้งอยู่ข้างหลัง เหงื่อแตกซ่ก เขาบอกว่าทำไมมันร้อน ร้อนไม่เหมือนบ้านเราเนอะ เราก็จะคอยดูถ้าเขาหอบๆ หน้าแดงๆ เราก็จะเดินช้าลง
 

ประเด็นส่วนตัวที่เราอยากสื่อสารให้สังคมรู้

ประเด็นหลักของเราเป็นเรื่องทรัพยากรและกฎหมายสิ่งแวดล้อม  ของเราเป็นเรื่องที่บริษัทจะมาสร้างเหมืองแร่ แต่ยังอยู่ระหว่างขอสัมปทาน ก็สู้เรื่องนี้กันมาตลอด

แต่ในความจริงแล้วทั้ง 4 ประเด็นเกี่ยวข้องกับเราหมด อย่างเรื่องบัตรทอง บ้านแหง ส่วนมากใช้บัตรทองกัน เขาก็กังวลว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงไป กลัวเรื่องการจ่ายร่วม เพราะปัญหาสุขภาพเดี๋ยวนี้โรคเรื้อรังก็เยอะ ค่าใช้จ่ายก็มากตาม แล้วบ้านเรา 90 เปอร์เซ็นต์ ปลูกข้าวโพดเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เราก็ไม่ปฏิเสธว่าทุกวันนี้เราก็ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ของเขา เศรษฐกิจที่ต้องแข่งขันสูง ต้องรีบทำ ต้องส่งลูกหลานเรียน ต้องผ่อนเงินที่กู้มา เราก็ต้องเอาเมล็ดพันธุ์ที่โตเร็ว แข็งแรง เราก็กังวลกันเรื่องการผูกขาดเมล็ดพันธุ์หรือเรื่องกฎหมายที่อาจจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อไม่ได้ ส่วนรัฐธรรมนูญอันนี้ยิ่งเป็นหลักเลย ทุกวันนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญเราไม่มีส่วนในการร่างเลย ซึ่งมันก็ส่งผลมายังกฎหมายลูกทั้งเรื่องหลักประกันสุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องทรัพยากร ซึ่งพวกแม่ๆ เขาก็รู้

คาดหวังจากการเดินครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน

ก่อนหน้านี้ก็มีการคุยกันมาก่อนว่าที่เราเดินอย่าไปหวังผลร้อยเปอร์เซ็นต์ เราอยากสื่อสาร อย่างน้อยให้สังคมรับรู้ว่าเรารู้เรื่องนี้นะ ไม่เอาแบบนี้นะ ต้องการแสดงออกแบบนี้นะ ก็เตรียมการว่าใครจะไป แต่ช่วงนี้ที่บ้านกำลังทำการเกษตรอยู่ ปลูกกระเทียม ช่วงนี้ต้องสูบน้ำใส่กระเทียม กระเทียมกำลังสวย แล้วก็มีเก็บถั่วดำ ที่เขาเอาไว้ไถกลบ แต่ปีนี้ถั่วดำแพง ก็ต้องเก็บเอาไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ปีหน้าต่อ บางคนถ้าเก็บได้เยอะก็ขาย ดังนั้นภาระเขาก็เยอะ การเดินทางก็ไกล ตอนแรกเหมือนจะไม่มีใครมา ใครๆ ก็ห่วงหน้าพะวงหลัง ห่วงครอบครัว ชุดแรกมาไม่ถึง 7 วัน ก็ต้องกลับไปก่อน

พอมีกระแสจากโซเชียล จากข่าวในทีวี หนังสือพิมพ์ มีบางส่วนก็กลัวที่เห็นตำรวจเยอะ แต่เราก็ไปคุยให้ฟังว่ามันยังไม่เกิดอะไรขึ้น จนเขาก็ยอมมา พอมาแล้วเขาก็เล่าให้คนที่บ้านเขาฟังว่าเขาภูมิใจที่ได้มาเดิน แล้วเรื่อง 4 ประเด็นหลักถ้ากฎหมายผ่านมันกระทบกับเราเยอะนะ เราต้องมาทำตรงนี้นะ เขาก็เชิญชวนกัน มีการอธิบายกันเองได้มากขึ้นเพราะเขามาแล้วเข้าใจจากกิจกรรมนี้ จากวงคุย วงเสวนา แล้วเขาก็บอกว่าไม่เห็นมีอะไรเลย ก็เดินเฉยๆ ตำรวจจะถ่ายรูปก็ปล่อยเขาไป เขาก็ไม่ได้จับ พอมาคราวนี้เช็คไปทางบ้าน ก็อาจจะเกี่ยวกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครองด้วย ปรากฏว่าอยากมากันเยอะ จนเราต้องเพิ่มรถ แต่งบเราก็จำกัด

เราใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ เราได้สัมผัสได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ตอนอยู่ที่บ้านเรารับรู้จากแค่สื่อที่ออกไป มีสื่อมาถ่ายทำเราทั้งวันแต่เอาไปตัดต่อเหลือนาทีสองนาที ก็ไม่มีใครรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของเราจริงๆ ตัวเราเท่านั้นที่จะรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น พอเขาได้มาสัมผัสกับที่นี่จริงๆ เขาก็ลดความกลัวความกังวล แล้วก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนเรื่องพวกนี้

มีประสบการณ์ยังไงกับเจ้าหน้าที่บ้าง

วันที่สองเราเจอ เรานอนกันอยู่เขาก็มาเรียก เรานั่งอยู่ในรถคันแรกที่ออกมา เจ้าหน้าที่ก็เอาบัตรประชาชนของคนขับไปถ่ายรูป และทำบันทึก แล้วปล่อยไป หลังจากนั้นเราก็โดนตามเข้มข้นมาตลอด แต่เราอยู่รวมกลุ่มกันเลยไม่มีความกลัว เขาก็ตามเพราะเป็นหน้าที่ของเขา แต่เวลาจะขับไปถึงที่พักจะต้องดูว่ามีใครตามมาไหม เพราะเราจะไม่เปิดเผยที่พัก บางทีเขาก็มาถามเราว่าจะเดินไปไหน จะพักที่ไหน เราก็จะพยายามไม่ตอบเรื่องที่พัก ส่วนใหญ่เขาก็จะถ่ายรูปทุกคน พวกแม่ๆ ก็ไม่กลัว เพราะเขาก็มีประสบการณ์มาแล้วจากในพื้นที่ของเราเอง เคยปะทะกับตำรวจมาแล้ว เคยไปชุมนุมที่ตัวจังหวัดมาแล้ว เขาก็มีความแกร่งของเขาอยู่ ไม่กลัวเจ้าหน้าที่รัฐเท่าไหร่แล้ว

มีความประทับใจอะไรบ้างในการเดินครั้งนี้

ประทับใจคนที่เจอระหว่างทาง มีคนหนึ่งเอาของมาให้ บอกว่าพ่อดูไลฟ์จากเพจแต่มาไม่ได้ เลยฝากลูกสาวเอารองเท้ามาให้แทน เป็นรองเท้ามือสอง ยารักษาโรค สบู่ แชมพู ยาสีฟัน

ส่วนทีมที่เดินด้วยกันก็ห่วงใย ไถ่ถาม เอาน้ำไหม หรือทีมสื่อเขาต้องเป็นคนไลฟ์ไปด้วย เดินไปด้วย พูดไปด้วย มีคนมาให้น้ำให้สปอนเซอร์ระหว่างทางบางทีทีมสื่อก็ต้องเป็นคนแบกด้วย เราจะช่วยเขาก็บอกว่าไม่เป็นไร พี่เดินไปเหอะ สุดท้ายคนที่เดินก็ช่วยกันแบก กระจายกันไป

ตอนพักก็มีวงแชร์ เล่าปัญหาของพื้นที่ตัวเอง เขาก็สนใจ ถามไถ่ว่าจะช่วยเหลือกันยังไงได้บ้าง

และที่ประทับใจอีกอย่างคืออาหารการกินดีมาก อร่อยมาก เยอะมาก แทนที่มานี่จะลดความอ้วน แต่ไม่เลยกินมื้อละสองจานสามจาน ชื่นชมฝ่ายอาหารมาก

 

 

คลิกที่ภาพเพื่ออ่าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท