Skip to main content
sharethis

จบไปเป็นครั้งที่ 72 แล้วสำหรับฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ สิ่งที่สังคมจับโฟกัสนอกจากผลเสมอของทีมฟุตบอลในสนามคือสิ่งที่เกิดขึ้นรอบผืนหญ้าเขียวของสนามศุภชลาศัย ขบวนสะท้อนสังคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขบวนล้อการเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสิ่งที่หลายคนรอคอย ไม่ว่าจะเป็นการรอดูว่านิสิตนักศึกษาสองสถาบันจะหยิบจับประเด็นอะไรมาเล่นอย่างแหลมคมมากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นการรอลุ้นว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะหยิบจับหุ่น หรือป้ายผ้าในขบวนออกจากขบวนที่เตรียมตัวเข้าสนาม

ขบวนของสะท้อนสังคมของจุฬาฯ ในปีนี้ที่หยิบประเด็นการศึกษา ปัญหาครอบครัว ตั้งข้อสงสัยกับการใช้งบประมาณอันมาจากภาษีประชาชนของรัฐบาล และหุ่นที่จัดว่าเป็นหมัดเด็ดคือหุ่นชายนิรนามใส่เสื้อฮาวายและท่ามือบังหน้าที่โด่งดังที่มาพร้อมกับป้ายผ้า ใจความว่า "ห้ามล้อนาฬิกา เข้มบอลประเพณี ทำหุ่นคล้าย 'ผู้นำ' ก็ไม่ได้ นิสิตโวยโดนเซ็นเซอร์ อ่านต่อหน้า 15"

ภายใต้บรรยากาศความกดดันที่เห็นตามหน้าสื่อเรื่องการล้อเลียนนาฬิกา แหวนเพชรและตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำลังเป็นข่าวอื้อฉาวกรณีเครื่องประดับที่ปรากฏชิ้นใหม่มาเรื่อยๆ และหนังสือของทางสำนักบริหารกิจการนิสิตจุฬาฯ เรื่องข้อปฏิบัติ 4 ข้อ ที่ขอให้นิสิตทำกิจกรรมให้อยู่ในกรอบกฎหมาย คำนึงถึงชื่อเสียงมหาวิทยาลัย และเชื่อฟังบุคลากรของมหาวิทยาลัย การทำขบวนออกมาเช่นนั้นนับว่าเหนือความคาดหมาย

ในวันนี้แม้สนามศุภชลาศัยจะร้างผู้คน หุ่นที่ถูกนำไปเดินขบวนทั้งหลายหมดสิ้นแล้วซึ่งหน้าที่ แต่คำถามเรื่องเส้นทางก่อนที่ขบวนสะท้อนสังคมของจุฬาฯ จะปรากฏสู่สายตาสาธารณชนยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกพูดถึงมาก ประชาไทจึงชวน 'ณัฐนันท์ กำแพงสิน' นิสิตคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 4 อุปนายกฝ่ายกิจการมหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ที่ควบตำแหน่งประธานขบวนสะท้อนสังคม มาเล่าเรื่องว่าด้วยความยาก กระบวนการ ‘คัดกรอง’ เนื้อหาจากทั้งนิสิตและผู้ใหญ่ และทรรศนะของเธอที่บอกว่าขบวนสะท้อนการเมืองสามารถไปได้ไกลกว่านี้ หากแต่โครงสร้างสำหรับการทำขบวนสื่อสารเพื่อสะท้อนปัญหาสังคมของทางจุฬาฯ ไม่ถูกสถาปนาให้มีความต่อเนื่องในรั้วสีชมพู

 

ประชาไท: งานจบแล้วรู้สึกอย่างไร สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ไหม

ณัฐนันท์: มันก็เป็นไปตามแผน เราวางแผนไว้ว่าจะพยายามพลิกแพลง เอานาฬิกา เอาแหวนไปใส่ พอวันจริงหุ่นทุกตัว ป้ายผ้าทุกผืนสามารถเอาเข้าไปได้ แผนที่จะเพิ่มออปชั่นในสนามก็ทำได้โดยที่ไม่มีใครเป็นอะไร ถือว่ามันโอเค เป็นไปตามแผนทั้งหมด กระแสตอบรับค่อนข้างดี เลยรู้สึกว่ามันก็โอเคในระดับหนึ่ง

 

อะไรคือความยากในการทำขบวนสะท้อนสังคม

เอาจริงๆ มันยากมากๆ หนึ่ง ระบบของเราต่างจากขบวนล้อการเมืองของธรรมศาสตร์ ที่มีโครงสร้างองค์กรที่ทุกคนรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร ค่อนข้างอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อ อมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) หรือองค์กรใดๆ เลยของมหาวิทยาลัย จะดีลกับทางผู้ใหญ่ที่เป็นสปอนเซอร์ได้เลย ไม่มีใครสามารถแทรกแซงเนื้อหาได้ แต่เขาก็ทำในกรอบของเขา ในทางกลับกันของจุฬาฯ ด้วยระบบที่ไม่มีการจัดตั้งเป็นองค์กรที่เป็นอิสระขนาดนั้น แต่ละปี ขบวนฯ จะถูกประมูลไปตามคณะแต่ละปี (การประมูลคือการที่ตัวแทนแต่ละคณะเข้าไปอาสารับหน้าที่ต่างๆ จากการประชุมกลาง การประมูลอาจใช้การพูดคุย ต่อรองกันระหว่างตัวแทนแต่ละคณะ อาจจะใช้ทรัพยากรที่แต่ละคณะมีเช่น คณะที่ทำงานศิลปะเก่งก็อาจจะประมูลเอางานที่มีการออกแบบ เป็นต้น - ประชาไท) ทำให้การทำงาน การสร้างสรรค์ไม่มีความต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับว่าคณะอะไรทำ และไม่มีความเป็นอิสระ เพราะขึ้นตรงกับ อบจ. (องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) บอร์ดจัดงานที่เป็นนิสิต ขึ้นตรงกับทางผู้ใหญ่ข้างใน ทำให้เราไม่มีอิสระในการรังสรรค์เนื้อหาที่เราอยากจะทำได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่แรก ตอนแรกก็โดนกรอบมาเลยว่า ไม่ทำการเมืองนะ อย่าทำแบบการเมืองจ๋า เราเป็นขบวนสะท้อนสังคมนะ ไม่ใช่ขบวนการเมือง จริงๆ เราอยากทำมาก มีประเด็นหลายเรื่องมากที่เราสามารถทำได้และเป็นกระบอกเสียงได้ เช่น การจัดการภาษีก็น่าทำ ทำไมพี่ตูนต้องออกมาวิ่ง เรื่องน้ำท่วม เลื่อนเลือกตั้ง มีประเด็นหลายอย่างที่เราคิดว่าควรนำมาพูดถึงในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม แต่เขากลับมองว่ามันเป็นการเมืองมากเกินไป ซึ่งมันหลุดคอนเซปต์ขบวน ทำให้การทำเนื้อหายากตั้งแต่แรก

เขายังอยากให้เนื้อหาเป็นเนื้อหาที่ต่อกันทั้งขบวน ซึ่งต่างจากของขบวนล้อฯ เพราะเขาสามารถทำหุ่นขึ้นมาตัวหนึ่งที่มีเนื้อหาในตัว และไม่จำเป็นต้องต่อกันทั้งขบวน แล้วเขาก็พูดเรื่องนโยบาย หรือพูดถึงปัญหาต่างๆ ในหุ่นตัวนั้น แต่เราไม่ได้ ต้องมีธีม ต้องต่อกันทั้งขบวน เขาจะได้รู้ว่าสังคมตอนนี้เป็นอย่างไร
 

แล้วช่วงหลังๆ ของการทำงานดีขึ้นไหม

ช่วงหลังเราก็เริ่มมาหยวนๆ กัน ขอให้มีตัวหนึ่งสะท้อนสังคมในเรื่องการเมืองที่ควรต้องพูด แล้วพยายามยัดทุกอย่างเข้าไป เรายัดพี่ตูน ยัด ม.44 ยัดประเด็นคอร์รัปชัน เรื่องผู้นำเข้าไปในหุ่นตัวนี้แล้วบอกว่า นี่คือ element หลักของสังคมในปัจจุบัน เราก็บอกเขาว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เราไม่พูดถึงไม่ได้ นอกจากนั้นก็ยังมีหุ่นอื่นเช่นเรื่องครอบครัว เรื่องระบบการศึกษาที่ทั้งหมดคือสังคม แต่คุณปฏิเสธไม่ได้ว่าหุ่นใส่ชุดฮาวายที่เป็นหุ่นตัวสุดท้ายเป็นตัวการเมืองที่ค่อนข้างจะเป็นประเด็นที่ใหญ่ แล้วก็เราก็รู้สึกว่ายังไงก็ต้องมี เขาก็บอกว่าโอเค

ช่วงหลังๆ มีสกรีน(คัดกรอง)คำพูด มีสกรีนกลอน เหมือนเขาจะมีคีย์เวิร์ดที่เวลาเราแต่งกลอนส่งไปเขาจะบอกว่า เปลี่ยนไหม เปลี่ยนนะ เพราะมันมีคีย์เวิร์ดที่เขาไม่อยากให้มีคำที่รุนแรงเกินไป เช่น คำว่า ‘รัฐ’ ‘ผู้นำ’ ‘กะลา’ แบบนี้ไม่ได้ บางคำก็สมเหตุสมผล เช่นคำว่า ‘กะลา’ มันอาจจะแรงไปที่เด็กจุฬาฯ จะมาพูดว่าประเทศไทยเป็นกะลา แต่บางคำมันก็เกินไป เช่นคำว่า ‘รัฐ’ ‘ผู้นำ’ ทำไมเราพูดไม่ได้ ทำไมต้องสั่งแก้

มีช่วงหนึ่งที่เขาสั่งมาแล้วก็ให้เขียน มีกลอนหนึ่งที่เขาบอกว่าให้แก้ตามนี้ เขียนตามนี้ หนูก็จะฟิวส์ขาดแล้ว แต่ไหนๆ น้องก็พยายามขนาดนี้แล้วเราก็ยอมเขาไปแล้วกัน หลังๆ เราก็ทำกันเอง แล้วค่อยไปบอกเขาว่าทำไม่ทัน ไม่ค่อยส่งอะไรให้เขาดูเท่าไหร่จนเขามาถาม เขาก็คงเข้าใจว่ามันคงไม่ทัน เพราะมันส่งแล้วแก้กันไปมาเป็นอาทิตย์ บางทีมันก็ไม่ได้สมเหตุสมผลขนาดนั้น หนูเลยบอกว่าไม่เป็นไร ทางเขาก็บอกว่าถ้าไม่ทำตามนี้เดี๋ยวจะมีปัญหานะ หนูก็บอกว่าไม่เป็นไร ค่อยไปลุ้นหน้าสนามเลยแล้วกัน เพราะมันไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงขนาดนั้น และใจความก็ไม่ได้แตกต่างกันหนักหนาขนาดนั้น แค่คีย์เวิร์ดไม่กี่คำเอง หน้างานมีสื่อ มีกล้อง เขาไม่กล้าทำอะไรหรอก
 

เวลาพูดว่า เขาหมายถึงใคร ลำดับการสั่งการเป็นอย่างไร

เท่าที่รู้คือจะมี สนจ. (สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ) เป็นบอร์ดฝั่งผู้ใหญ่ เขาจะร่วมมือกับ อบจ. แล้วใน อบจ. ก็จะมีบอร์ดของนิสิต ที่จะมีฝ่ายเนื้อหา ซึ่งขบวนสะท้อนสังคมสังกัดในฝ่ายเนื้อหา ตัวกรรมการในเนื้อหาน่าจะทำงานกับกิจการนิสิต น่าจะมีอาจารย์ที่คอยดูเนื้อหาส่วนนี้ทั้งหมด น่าจะเป็นอย่างนั้นเพราะหนูไม่เคยเข้าไปคุยเอง เคยขอเข้าไปคุยเองเขาก็บอกว่าไม่ต้อง เดี๋ยวคุยให้

ป้ายดำที่มาพร้อมหุ่นเสื้อฮาวายมีที่มาที่ไปอย่างไร

หนูเห็นข่าวนั้น (ห้ามล้อนาฬิกา แหวน) แล้วก็คุยกับประธานล้อการเมือง มธ. ที่โดนสื่อมาสัมภาษณ์ แต่ประธานล้อฯ ก็บอกว่าสื่อพาดหัวเกินจริงไปมาก แต่หนูก็บอกว่าทางหนูโดนแบบนี้จริงๆ คือห้ามใส่นาฬิกา ห้ามใส่แหวน ล้อฯ ก็บอกว่าจริงเหรอ ฝั่งล้อฯ ไม่โดน เดี๋ยวจะแก้ข่าวให้ ป้ายผ้าดำนั้นเตรียมเอาไว้เป็นแผนสำรองในกรณีที่หุ่นเข้าไม่ได้ก็จะให้น้องๆ ถือเข้าไป แต่พอวันจริงก็ไม่ได้หนักหนาอะไรขนาดนั้น ก็ให้ถือป้ายหน้าหุ่นเลย ให้คนรู้ว่าเราใส่นาฬิกาเข้ามาไม่ได้จริงๆ เขามาสกรีนหุ่นเราหน้างานตอนกลางคืน มีทหารนอกเครื่องแบบเยอะพอสมควรในวันก่อนหน้า ตอนที่ล้อฯ เอาหุ่นทุกตัวมาลง ตอนเช้าก็มาสกรีน มาถามว่า อันนี้ไม่ได้ซ่อนอะไรไว้ใช่ไหม ไม่ได้ติดนาฬิกาไว้ใช่ไหม หนูก็บอกว่าไม่มี ไม่ได้ติด

เขาค่อนข้างอ่อนไหวมากเลย มาตรวจข้างในหุ่น มาถามว่าด้านในซ่อนหุ่นไว้อีกตัวหรือเปล่า หัวเปิดออกมาจะเป็นหน้าคนอื่นไหม หนูก็บอกว่าเปิดไม่ได้ ก็ให้เขาทำดู เขาก็โทรรายงานว่า พี่ครับมีหุ่นตัวนี้ที่สุ่มเสี่ยง แต่ผมว่าไม่น่ามีอะไร มันเปิดไม่ได้ เราก็พยายามซ่อนอุปกรณ์ไว้เพราะรู้เลยว่าถ้าติดไปแต่แรกยังไงก็เข้าไม่ได้
 

มีความพยายามในการกดดันจากภาครัฐส่วนอื่นบ้างไหม

ไม่แน่ใจว่าจากภาคไหน หนูไม่เคยได้ยินจากหูตัวเอง แต่บอร์ดข้างในเขาใช้คำว่าผู้ใหญ่กับทหาร หนูก็ไม่รู้ว่าอันไหนผู้ใหญ่ อันไหนทหาร แต่วันที่มาตรวจ เขาก็เหมือนมากับกิจการนิสิตของเรา ใส่เสื้อเชียร์มา ไม่รู้ว่าเป็นตำรวจหรือทหาร แล้วก็มีบัตรที่ดูเป็นทางการมากเขียนว่า ‘กิจการนิสิต’
 

แล้วเขาให้เหตุผลอะไรบ้าง

เขาบอกว่า มันเป็นมาตรการ เขามาตรวจหุ่นทุกตัว เข้าใจว่าขบวนสื่อแนวคิดของงานบอล ขบวนเฉลิมพระเกียรติก็โดนตรวจเหมือนกัน แต่หุ่นของเราค่อนข้างที่จะชัดเจนว่าเป็นหุ่นที่ถูกสร้างมาเพื่อสิ่งนี้ เขาก็มาเช็คค่อนข้างละเอียด


การที่จุฬาฯ กับ มธ. ได้มาแสดงออกทางการเมืองในงานบอล เหมือนโฟกัสสังคมมันขยับมาอยู่กับเรา คิดว่าเป็นเอกสิทธิ์ไหม ที่อื่นควรมีพื้นที่แสดงความเห็นเท่านี้หรือเปล่า

เห็นด้วย รู้สึกว่าทุกคนควรมีสิทธิและอิสระในการแสดงออก มันไม่ใช่สิ่งที่ผิด จุฬาฯ กับธรรมศาสตร์ค่อนข้างโชคดีที่เรามีพื้นที่ตรงนี้ ธรรมศาสตร์เองก็ทำการบ้านมาดีทุกปี ส่วนจุฬาฯ ในอนาคตควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีด้วยซ้ำ หนูไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรื่องที่ทำไปปีนี้จะได้รับการสานต่อในปีหน้าหรือเปล่า เพราะเรื่องระบบข้างในมันอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลง อยากให้น้องๆ นิสิตตระหนักว่าเรามีพื้นที่แสดงความเห็นโดยเสรี ภายใต้กฎหมาย มันควรเป็นสิ่งที่เป็นของนิสิตทุกคน ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นก็เคยได้ยินเหมือนกัน เช่น ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีการแปรอักษร หนูก็คิดว่าถ้ามหาวิทยาลัยอื่นสามารถทำได้ ก็จะเป็นการแสดงพลังของคนรุ่นใหม่ ถ้ามันแข็งแรงมากพอ ผู้มีอำนาจ ผู้ใหญ่ ผู้มีอิทธิพลในสังคมตอนนี้ก็คงเห็นว่าคนรุ่นใหม่ในสังคมคิดอย่างไร ก็คิดว่าคงมีการเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง
 

อะไรทำให้เรารู้สึกว่าขบวนสะท้อนสังคมไม่ได้รับความสำคัญพอที่จะทำเป็นสถาบันเหมือนที่คฑากร ผู้นำเชียร์ หรือชมรมเชียร์เป็น

คิดว่าผู้บริหารเขาคงไม่อยากให้จุฬาฯ มีภาพลักษณ์เหมือนธรรมศาสตร์ที่สปอตไลท์ทุกตัวฉายไปที่ขบวนล้อการเมือง แต่ฝั่งจุฬาฯ ไม่ใช่ คงเพราะฐานคิดที่ว่า จุฬาฯ ก็ซอฟต์ๆ มีภาพลักษณ์ให้รักษา

แต่หนูคิดว่าเราก็ทำได้ในขอบเขตที่เรามี ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบล้อฯ ก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องมีพื้นที่บางอย่างให้นิสิตในการแสดงออก ในการสะท้อนว่าเราเห็นอะไรและทำอะไรกับสังคมได้บ้าง มันควรที่จะมีการเปลี่ยนแปลง การโยนภาระนี้ให้คณะใดคณะหนึ่งมันค่อนข้างจะจำกัด และตีกรอบเขามาก ถ้าปีหน้าระบบไม่เปลี่ยนก็จะกลายเป็นว่าทุกคณะจะจ้องมาที่คณะรัฐศาสตร์ว่า ทำไมคุณไม่ทำ สิ่งนี้มันเหมาะกับคุณที่สุดแล้ว ถ้าเราไม่สามารถจัดตั้งองค์กรที่เป็นอิสระที่จะส่งต่อรุ่นสู่รุ่นได้ ก็จะทำให้คณะรัฐศาสตร์ผูกขาดหน้าที่ทำขบวน ซึ่งบอกตรงๆ ว่าไม่สามารถการันตีได้ว่าสโมฯ ทุกรุ่นจะประมูลมา ทำให้เราไม่สามารถมั่นใจว่าจะส่งต่ออะไรได้เหมือนที่ทางล้อฯ ทำได้ทุกปี

ปีนี้ก็ได้เปิดรับทีมงานนอกคณะดูก็ได้คนที่มีคุณภาพมา แต่ถ้ามันมีความหลากหลายตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นอิสระพอที่จะทำอะไรได้ตามที่ตกลงกันไว้แต่แรก ไม่มีการสั่งแก้ทีละขั้นตอน มีน้องที่จะให้ส่งต่องาน หนูคิดว่าขบวนมันไปได้ไกลกว่านี้เยอะ ประหยัดงบประมาณได้เพราะจะมีความรู้สะสม เรื่องเนื้อหา ระบบงาน การดีลกับคนข้างในก็จะง่ายขึ้นเยอะ ดีกว่าเริ่มใหม่หมดทุกปี
 

ทีมขบวนสะท้อนสังคมมีแกนหลักทำกันมากน้อยแค่ไหน

แรกเริ่มมีทีมเนื้อหา 10 คน ตัวหลักๆ มีประมาณ 2-3 คน แต่พอมาทำหุ่นจริงๆ กลายเป็นว่าเราขาดทักษะเยอะมาก ก็ได้เพื่อนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ที่รับผิดชอบขบวนอื่นด้วยกันก็มาช่วยกัน หลังๆ ก็มีการเปิดรับน้องๆ จากคณะอื่นมา ทำให้ได้รับความหลากหลายทางความคิดและทักษะเยอะมาก จนน้องๆ เหล่านั้นกลายมาเป็นแกนหลัก ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ในวันจริงก็สปิริตแรงมาก ทุกคนมาช่วยกัน

 

คิดอย่างไรกับหนังสือของจุฬาฯ ว่าด้วยข้อปฏิบัติ 4 ข้อ

เห็นครั้งแรกคือวันที่ 2 ก.พ. คือกลัวมาก ต้องขึ้นไปคุยกับกิจการนิสิตคณะนานมาก เพราะโดนกำชับจากข้างในเรื่องแหวนกับนาฬิกา เรื่องไม่เปิดเผยหน้ามาหนักมาก ซึ่งตอนแรกหุ่นทำมามีทั้งแหวน นาฬิกา เปิดหน้า แล้วก็โดนสกรีนกลับมา ก็แก้ด้วยการปิดหน้า ให้ใส่ปี๊บคลุมแทน แหวนกับนาฬิกาก็ไม่ใส่ เหมือนคุยกับน้องในทีมว่าจะเอาไปใส่ข้างใน แต่หนูก็กลัวมากว่า ถ้าทำแบบนั้นกันจริงๆ น้องๆ จะปลอดภัยหรือเปล่า จะมีใครมาทำอะไรน้องๆ เราไหม ไหนจะเรื่องป้ายผ้าที่ซ่อนเอาไว้ ก็กลัวเหมือนกัน ก็เลยคุยกับอาจารย์ กับกิจการนิสิตว่าควรทำอย่างไร เพราะหนังสือเองก็เปิดไว้ให้ตีความได้กว้างมาก แบบไหนคือไม่เชื่อฟังบุคลากรมหาวิทยาลัย แบบไหนคือทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียง หนูไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำลงไปมันเข้าข่ายหรือเปล่า แล้วเขาจะทำอะไรเราได้หรือเปล่า ก็คุยกับอาจารย์มา แล้วก็ดีที่คืนก่อนหน้านั้นมีรุ่นพี่ที่เคยเป็นบอร์ดจัดงานเก่าๆ โทร. มาให้คำปรึกษาเรื่องเทคนิคการพลิกแพลงเพื่อเอาสิ่งของเข้าสนาม ขั้นตอนการเจรจากับคนหน้าประตู ก็เลยได้ขอร้องให้มีอาจารย์บางคนเข้าไปอยู่กับขบวนด้วย อยู่กับขบวนเลย เพื่อให้เห็นว่ามีอาจารย์ มีฝ่ายกิจการนิสิตมาด้วย ก็เลยคิดว่าเขาคงไม่ทำอะไร
 

ปีนี้ประสาน พูดคุยกับทางล้อฯ ของ มธ. บ้างไหม

มี ปีนี้ค่อนข้างจะประสานงานกันเยอะพอสมควร ตอนแรกมีเพื่อนในสโมฯ รู้จักกับประธานล้อฯ แล้วล้อฯ เขาชวนมาทำหุ่นร่วมกัน ก็มีไปหากันคนละครั้ง คุยกันมาตลอดเรื่องหุ่นตัวสุดท้ายของขบวนล้อ (พานรัฐธรรมนูญยักษ์หาม) เราก็บอกว่าเรามีข้อจำกัดเยอะมาก เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร ลองโยนไอเดียว่าอะไรจะมีแรงกระเพื่อมในสังคมมาก แล้วลองมาแบ่งงานรับผิดชอบกัน ก็ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ คอนเซปต์ก็ประมาณว่ารัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ให้ผู้ร่างมากๆ แล้วก็แบ่งงานกันซึ่งทางเราก็บอกไปว่าทำหุ่นไม่ไหว ไม่มีทักษะ ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร งบประมาณจำกัด ล้อฯ ก็รับทำหุ่นให้ ส่วนเรารับทำป้ายผ้าสีแดงที่ประกอบในสนาม คือให้เป็นพรมแดงประกอบกับหุ่นเพื่อไปประกอบในสนาม


 

เงินและงบประมาณมีผลกับทิศทางการทำขบวนไหม

มี ตอนแรกของบไปก็โดนตัดมาครึ่งหนึ่งเลย หุ่นก็ค่อนข้างที่จะได้แค่สามตัว ซึ่งก็เกินงบแล้ว แต่ก็เข้าใจว่าทั้งงานก็โดนตัดงบทุกฝ่าย หุ่นสามตัว รวมงบอื่นๆ ก็เจ็ดหมื่นเกือบแปดหมื่น เดี๋ยวต้องไปดูว่ามีฝ่ายที่ใช้เงินไม่ถึงหรือเปล่า ก็อาจจะมีการโยกงบมาโปะ
 

ผลตอบรับตอนนี้เท่าที่ได้ยินเป็นอย่างไร

ตอนนี้ค่อนข้างเป็นไปในทางบวก จากนักข่าวเองก็มองว่าจุฬาฯ ได้ขยับขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง หนูก็ดีใจที่เขาไม่ได้เอาขบวนเราไปเปรียบกับขบวนล้อฯ ทุกอย่าง เขาก็ค่อนข้างรู้ว่าจุฬาฯ ทำได้ขนาดไหน ซึ่งเท่านี้ก็ถือว่าได้แสดงออกในระดับหนึ่งแล้วถ้าเทียบกับที่ผ่านๆ มา เมื่อกี้ก็เพิ่งคุยกับอาจารย์ เขาก็บอกว่าอธิการบดีฯ ก็ฝากมาชมว่าขบวนดี ไม่เบาและไม่แรงไป
 

ขบวนสะท้อนสังคมทำหน้าที่อะไรให้กับมหาวิทยาลัยและสังคมข้างนอก

มันคือการสะท้อนสังคม เหมือนเขาอยากให้เราเป็นตัวปลุกสปิริต ตามธีม Our Rise ใช้สิทธิของเราในการบอกกับสังคมภายนอกว่าสังคมมีปัญหาอะไร และเราสามารถทำอะไรได้บ้างในฐานะคนรุ่นใหม่ ขบวนสะท้อนน่าจะสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วอย่างน้อยก็เรียกร้อง ชี้แนะให้คนที่เห็นมาร่วมกันแก้ปัญหา
 

คนทำงานในทีมเชื่อมโยงตัวเองกับการเมืองติดไหม

น้องๆ หลายคนที่มาทำในขบวนก็เป็นนักกิจกรรม บางคนที่มาจากคณะอื่นที่ไม่ได้สนใจการเมืองแต่พอมาทำงานด้วยกันแล้วเขาก็บอกว่าสนุก ตอนวันจริงหนูกลัวมากเลยถามน้องๆ ว่า ไหนๆ ก็มีป้ายผ้าสีดำแล้ว เราจะไม่ติดนาฬิกาดีไหม ห่วงความปลอดภัยของน้อง แต่น้องๆ ที่มาจากคณะอื่นก็ตอบมาว่า ไหนๆ ก็มาขนาดนี้แล้วพี่ ทำให้สุดไปเลย เราก็รู้สึกว่า หรือเราก็สามารถทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งนี้มันสำคัญกับเขา กับสังคม กับคนที่มองเห็น ก็คงเป็นจุดเริ่มต้นให้คนที่ไม่สนใจการเมืองเชื่อมตัวเองกับการเมืองและสังคมภายนอก

 

แล้วคิดอย่างไรเวลาได้ยินว่านักศึกษาไม่รักชาติ

เราเข้าใจว่าเราเติบโตมาคนละยุคกัน โลกของเขาคงไม่ได้ตั้งอยู่บนตรรกะเดียวกันกับเรา แต่เอาจริงๆ ถ้าทุกคนมีเจตนาดีต่อประเทศเหมือนกันหมด ถ้ามีวิธีสื่อสารที่สร้างสรรค์คิดว่าเขาคงเปิดใจยอมรับและเข้าใจบ้าง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net