Skip to main content
sharethis

ในปาเลสไตน์มีนักกิจกรรมหญิงอายุ 21 ปี คนหนึ่งที่ให้พื้นที่หญิงปาเลสไตน์พูดถึงการล่วงละเมิดทางเพศในนาม #NotYourHabibti (#ไม่ใช่หวานใจของคุณ) ซึ่งมีมาก่อนกระแส #MeToo นอกจากนี้เธอยังใช้วิธีการที่ต่างกันโดยการใช้เครื่องพิมพ์ดีดแทนการโพสต์ลงโซเชียลมีเดียโดยตรง ซึ่งเครื่องพิมพ์ดีดเป็นทั้งสัญลักษณ์และสิ่งที่ผูกโยงชาวปาเลสไตน์ไว้ด้วยกัน และการได้รับฟังกันและกันนอกโลกโซเชียลก็ทำให้ผู้หญิงรู้สึกสื่อถึงกัน-ส่งเสริมกันและกันได้มากขึ้น

ช่วงบ่ายวันอาทิตย์ ยาสมีน มยาลลี นักกิจกรรมสิทธิสตรีชาวปาเลสไตน์-อเมริกันจะมาอยู่ที่ใจกลางเมืองรามัลลาห์ เมืองหลวงชั่วคราวของเขตเวสต์แบงค์ คุณจะพบเธอนั่งอยู่หน้าพิมพ์ดีดสีดำที่เธอบอกว่ามันเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวปาเลสไตน์รู้จักดี เพราะเครื่องมือที่ชาวอิสราเอลใช้อนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์เข้าออกประเทศได้คือเครื่องพิมพ์ดีด 

แต่เครื่องพิมพ์ดีดของมยาลลีไม่ได้มีไว้ให้อนุญาตเช่นนั้น มันคือเครื่องมือที่ใช้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดกับผู้หญิงในเขตพื้นที่ชาวปาเลสไตน์ในนาม #NotYourHabibti ที่แปลว่า "ไม่ใช่หวานใจของคุณ" เธอชวนให้ผู้หญิงทลายกำแพงข้อห้ามออกมาแชร์เรื่องราวที่เธอเคยประสบมาได้ หลังจากนั้นเธอจะนำเรื่องราวเหล่านี้ไปนำเสนอในโซเชียลมีเดียเพื่อให้เสียงของพวกเธอมีคนได้ยิน และไม่ทำให้พวกเธอรู้สึกโดดเดี่ยว

"สำหรับฉันแล้ว การพิมพ์เรื่องราวของผู้หญิงแต่ละคนเป็นหนทางที่อนุญาตให้พวกเธอเริ่มออกเดินไปบนท้องถนนได้อย่างอิสระอีกครั้ง" มยาลลีกล่าว

หลังจากที่สื่อนิวยอร์กไทม์เผยแพร่เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในวงการฮอลลิวูดเมื่อ ต.ค. ที่ผ่านมา จนเกิดเป็นกระแส #MeToo ที่คนออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองทั่วโลก ในปาเลสไตน์และในตะวันออกกลางก็มีผู้หญิงอยากออกมาพูดเรื่องนี้เช่นกัน

มยาลลีกล่าวว่ามีผู้หญิงเข้ามาหาเธอเพราะต้องการพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่ในการได้รับการสนับสนุน เธอหวังว่าจะนำโครงการของเธอเข้าไปในพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย หรือคาเฟ่ได้ เธอบอกว่าการเคลื่อนไหว #MeToo ที่ใช้แฮชแท็กอยู่หลังหน้าจออาจจะทำให้รู้สึกเชื่อมโยงความรู้สึกกับผู้หญิงได้ไม่ดีเท่า ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกยกระดับกันและกันมากเท่า

โครงการ #NotYourHabibti ยังมีมาก่อนหน้า #MeToo โดยเริ่มจากการวาดสโลแกนลงบนเสื้อยืดและเสื้อแจ็กเก็ตที่ตัดเย็บโดยผู้หญิงทั่วเวสต์แบงค์และฉนวนกาซา ซึ่งในเวลาไล่เลี่ยกันหลังจากนั้นก็มีกระแส #MeToo เกิดขึ้น เธอจัดงานอีเวนต์แบบนี้มาหลายงานแล้วและยังคงวางแผนจัดต่อในอีกปีถัดไป

เอ็มมา ยาคอบส์ นักศึกษาชาวอังกฤษที่ใช้ชีวิตในอิสราเอลมา 9 เดือน บอกว่ามยาลลีเป็น "สัญลักษณ์ของความหวังในอนาคต" ว่าความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้ในปาเลสไตน์

อย่างไรก็ตามมีคนคิดเห็นโต้ตอบในเรื่องของ #NotYourHabibti ต่างออกไป หลายคนที่เดินผ่านไปมาไม่สนใจหญิงอายุ 21 ปีที่เต็มไปด้วยรอยสักและเครื่องพิมพ์ดีดผู้นี้ มีบางคนที่รู้สึกแปลกใจกับความคิดนี้และบอกกับเธอว่าการล่วงละเมิดทางเพศไม่เป็นปัญหาสำหรับที่นั่น หรือบางครั้งแม้กระทั่งผู้หญิงเองที่บอกให้ยอมทนต่อเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามมีบางคนที่นั่งลงพูดคุยกับเธอบอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเธอบ้าง หรือบางส่วนก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับสมาชิกครอบครัวพวกเธอเอง หลายคนแสดงออกด้วยความกลัวหรือความสะเทือนใจที่ไม่สามารถนำตัวผู้ก่อเหตุเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้

มีบางเรื่องที่ฟังดูน่าตะลึงมาก เช่น มัลก์เพื่อนของมยาลลีเล่าว่ามีกรณีที่ผู้หญิงรายหนึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศในขณะที่เธอเดินทางมาที่บูธของมยาลลี มีตำรวจอยู่ที่นั่นแต่ก็ไม่ทำอะไร และถึงแม้ว่าจะมีแรงต้านแม้แต่จากผู้หญิงด้วยกันเองที่ยังขาดความเข้าใจเรื่องความรุนแรงทางเพศ แต่มัลก์ก็บอกว่ามันทำให้มีการพูดคุยในเรื่องนี้มากขึ้น มีผู้ชายบางคนที่แสดงออกว่าเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น เช่น ชายอายุ 80 ปีรายหนึ่งบอกว่าก่อนหน้านี้พวกเขามองผู้หญิงเป็น "ของเล่น" หรือเป็น "สิ่งของ" แต่ในตอนนี้พวกเขาเห็นผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือเด็กชายอายุ 8 ปี ที่พูดในเชิงส่งเสริมสิทธิของแม่และน้องสาวของเขา

มยาลลีเปิดเผยอีกว่าเรื่องราวที่เธอได้ยินยังสะท้อนให้เห็นการขาดทรัพยากรทางสังคมในพื้นที่ปาเลสไตน์ ไม่ว่าจะเป็นฮอตไลน์สายด่วนที่ให้คำปรึกษาคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย และการให้คำปรึกษาสำหรับเหยื่อที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงแนวคิดฝังรากทางสังคมที่ทำให้ผู้หญิงต้องแบกรับภาระเรื่อง "เกียรติยศ" แม้ว่าเธอจะถูกกระทำก็ตาม

นอกจากนี้ สภาพการเมืองก็เอื้อให้ชาวอิสราเอลใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงปาเลสไตน์โดยเฉพาะกับนักกิจกรรมและนักโทษการเมือง ขณะเดียวกันจำนวนตัวเลขการใช้ความรุนแรงทางเพศในปาเลสไตน์เองก็ถูกบันทึกไว้น้อยทำให้เกิดภาพลวงตาว่าไม่มีปัญหาเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อห้ามทางวัฒนธรรมหรือ Taboo ที่ทำให้มีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยด้วย ส่งผลให้ผู้ก่อเหตุน้อยรายที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ถึงแม้ว่าประเด็นการที่ปาเลสไตน์ถูกกดขี่จากการยึดครองของอิสราเอลจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่มยาลลีก็มองว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ประเด็นนี้มากลบเกลื่อนปัญหาอื่นๆ ทำให้พวกมันถูกกวาดไปไว้ใต้พรม

นอกจากการรับฟังเรื่องราวของผู้หญิงแล้ว มยาลลียังจัดให้มีกลุ่มให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้เข้าร่วมจำนวนหนึ่งด้วย สำหรับข้อความทั้งหลายของ #NotYourHabibti นั้นมยาลลีวางแผนจะเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียและพิมพ์ออกมาเผยแพร่ตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ รอบรามัลลาห์ 

#NotYourHabibti ในทวิตเตอร์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net