'นักกฎหมายสิทธิฯ' ร่อน จม.ถึงประธานศาลฎีกา หวังทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล คสช.

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกจดหมายถึงประธานศาลฎีกาและเลขาธิการ สนง.ศาลยุติธรรม หวังทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรมของ ประกาศ คำสั่ง คสช. และเรียกเงินประกันตัวให้เหมาะสมกับประชาชนที่ถูก คสช.เล่นงาน

 

7 ก.พ.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะสถาบันที่ใช้อำนาจตุลาการ หนึ่งในอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตย เป็นที่พึ่งของประชาชน โดยการอำนวยความยุติธรรม และทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรมของการกระทำของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะบรรดาประกาศ คำสั่ง หรือกฎหมายที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันเป็นบทบาทและคุณค่าสำคัญของสถาบันตุลาการตามหลักนิติธรรมและนิติรัฐ ในการสร้างสมดุลระหว่างการใช้อำนาจรัฐจำกัดสิทธิประชาชน กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นบทบาทที่ศาลพึงกระทำเพื่อให้สมกับเจตนารมณ์แห่งสถาบันตุลาการที่สังคมและประชาชนเชื่อถือไว้วางใจ

พร้อมทั้งขอให้ศาลใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก จากกรณีประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหารแล้วถูดำเนินคดี โดยการเรียกหลักประกันให้เป็นไปตามความเหมาะสมเพื่อให้ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งพึงได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ได้เข้าถึงความยุติธรรมและสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ 

รายละเอียดจดหมาย : 
 

จดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในฐานะสถาบันที่ใช้อำนาจตุลาการ หนึ่งในอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตย

เผยแพร่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561
 
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับแต่มีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการออกประกาศ คำสั่ง และกฎหมายที่จำกัดลิดรอน ตลอดจนละเมิดสิทธิประชาชนจำนวนมาก และเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่ารัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้ คสช. พยายามอาศัยอำนาจศาล ผลักภาระให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งต่างๆ ออกมาในทางจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ในหลายกรณีพนักงาสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่มีประกันได้ แต่พนักงานสอบสวนกลับเลือกที่จะใช้ดุลพินิจนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขังต่อศาล อันเป็นการผลักภาระให้ศาล รวมถึงเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนที่จะต้องหาหลักประกันมายื่นต่อศาลเพื่อให้ตนเองได้รับอิสรภาพระหว่างการสอบสวนและต่อสู้คดี หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยอำนาจศาลในการสร้างเงื่อนไขต่างๆ ให้ประชาชนต้องปฏิบัติตาม โดยมีความมุ่งหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหารซึ่งครองอำนาจมาเกือบสี่ปีแล้ว รวมถึงเรียกร้องสิทธิและการมีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเอาผิดดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก และขั้นตอนอันดับแรกที่ถือได้ว่าเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือโดยมีเจตนาเพื่อสร้างภาระให้กับประชาชน คือการนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงมีความห่วงกังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจในการอนุญาตให้ฝากขังของศาล ตลอดจนดุลพินิจในการกำหนดวงเงินประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตลอดจนข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548 ซึ่งให้ศาลใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวเป็นหลัก และการเรียกหลักประกันให้เป็นไปตามความเหมาะสมเพื่อให้ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งพึงได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ได้เข้าถึงความยุติธรรมและสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
 
แต่บางกรณีมีข้อมูลปรากฏว่าศาลบางแห่งกลับใช้ดุลพินิจในการกำหนดวงเงินประกันตัวสูงกว่าที่ข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ ให้อำนาจไว้ นอกจากนี้กรณีที่ใช้ตำแหน่งบุคคลเป็นประกัน ศาลส่วนใหญ่กลับวางแนวปฏิบัติว่าผู้ใช้ตำแหน่งประกันตัวต้องเป็นบิดา มารดา หรือญาติพี่น้องของผู้ต้องหาหรือจำเลย ทั้งที่โดยความเป็นมนุษย์แล้วมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ซับซ้อนกว่านั้น แต่แนวปฏิบัติส่วนใหญ่ของศาลกลับปฏิเสธไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ซึ่งกรณีดังกล่าวผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การใช้ตำแหน่งบุคคลเป็นช่องทางหรือโอกาสที่เท่าเทียมให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนหรือไม่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอจะประกันตัวสามารถได้รับการปล่อยชั่วคราวได้
 
ดังนั้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในภาวะที่บ้านเมืองเกิดช่องว่างแห่งความสมดุลของอำนาจ ประชาชนถูกจำกัด ลิดรอนวิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยไม่ชอบธรรม สถาบันตุลาการย่อมอยู่ในตำแหน่งแห่งที่อันเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นที่พึ่งของประชาชน โดยการอำนวยความยุติธรรม และทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรมของการกระทำของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะบรรดาประกาศ คำสั่ง หรือกฎหมายที่ออกโดย คสช. อันเป็นบทบาท/คุณค่าสำคัญของสถาบันตุลาการตามหลักนิติธรรม/นิติรัฐ ในการสร้างสมดุลระหว่างการใช้อำนาจรัฐจำกัดสิทธิประชาชน กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นบทบาทที่ศาลพึงกระทำเพื่อให้สมกับเจตนารมณ์แห่งสถาบันตุลาการที่สังคมและประชาชนเชื่อถือไว้วางใจ
 
 
ด้วยความเชื่อมั่นในความยุติธรรม
 
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท