Skip to main content
sharethis
เครือข่ายไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จี้รัฐบาลยกเลิกรายงาน EHIA ฉบับที่กำลังจะเข้าที่ประชุม กก.สิ่งแวดล้อม ระบุเนื้อหา รัฐไม่สามารถเยียวยาผลกระทบชุมชนจากโรงไฟฟ้าได้
 
 
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา เวลา 13.00 น. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.),  เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมภาคใต้, เครือข่ายประชาชนภาคใต้ และ เครือข่ายเปอร์มาตามัส(ชายแดนใต้) แถลงข่าวหยุดถ่านหินภาคใต้ ณ ห้อง 203 ตึกกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีตัวแทนจากตัวแทนนักวิชาการ องค์การภาคประชาสังคม และชาวบ้านผู้ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ร่วมกล่าวแถลงการณ์ครั้งนี้ โดยมีประเด็นสำคัญของแถลงการณ์มี 3 ข้อ ได้แก่
 
1. รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องยกเลิกรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ฉบับที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เนื่องจากในเนื้อหาระบุไม่สามารถเยียวยาผลกระทบชุมชนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินได้
 
2. การจัดทำแผนบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ (PDP) ฉบับใหม่ จะต้องดำเนินไป บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน มีความรอบคอบและไม่เร่งรัดในกระบวนการ อีกทั้งต้องจัดทำแผนพลังงานทางเลือก เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมของประชาชนทั้งประเทศ
 
3. รัฐบาลต้องสั่งถอนฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน 17 คน ที่ถูกดำนินคดีในกรณีเดินทางมายื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ด้วย เนื่องจากการแสดงจุดยืนในการปกป้องสิทธิชุมชนกระทำอย่างสันติ ไม่ได้มีเจตนาสร้างความรุนแรงแต่ประการใด
 
กลุ่มที่แถลงข่าวครั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตถึงการชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตามที่มีมติกระทรวงพลังงานออกมาเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าการที่การไฟฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในพื้นที่ได้นั้น เป็นการแสดงความไม่ชัดเจนในการแก้ปัญหา เพราะรัฐสามารถดำเนินการได้ในขณะที่ประชาชนถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกมาปกป้องชุมชน 
 
ผู้สื่อข่าวสอบถาม นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณากิจ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม เพิ่มเติมถึงความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในประเด็นที่จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจประเทศให้พัฒนาได้หรือไม่นั้น สุภัทร อธิบายว่าเป็นความจริงที่การพัฒนาเศรษฐกิจในต่างประเทศมีการใช้อุตสาหกรรมหนักเช่นถ่านหินมาก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด แต่ในกรณีประเทศไทยจะพบว่าที่ผ่านมาการลงทุนอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่ต่างๆ ทั้งกรณีท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา จังหวัดสตูล หรือที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี, กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ หรือกรณีอุตสาหกรรมหนักอื่นทั้งโครงการที่อยู่การดูแลโดยภาครัฐหรือเอกชน ถูกต่อต้านโดยคนในชุมชนมาตลอด ดังนั้นรัฐควรพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมประเด็นการท่องเที่ยวในชุมชนมากกว่าการลงทุนด้านอุตสาหกรรมหนักเนื่องจากกระทบต่อวิถีชุมชน
 
สุภัทร ยังกล่าวต่อว่าหากมีการแก้ไขปัญหาการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินผ่านการทำประชาพิจารก็ต้องทำอย่างเป็นระบบ มีการพิจารณาผลกระทบด้านต่างๆ ร่วมกับชุมชนก่อนดำเนินนโยบาย เมื่อได้ข้อตกลงที่เหมาะสมจึงสามารถทำประชาพิจารได้ แต่ในบรรยากาศทางการเมืองระดับประเทศและปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เนื่องด้วยมีบังคับใช้กฏหมาย ทั้งการใช้อำนาจตามมาตรา 44 หรือประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการกดดันสิทธิการแสดงความเห็นของประชาชนต่อนโยบายการพัฒนาของรัฐโดยไม่ผ่านการตกลงร่วมกับประชาชนมาก่อน ทางกลุ่มจึงเห็นว่าการออกมาคัดค้านอย่างสันตินี้เองเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า กลุ่มประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาฯ ยังคงเดินหน้าปักหลักข้างทำเนียบรัฐบาลต่อไปหากไม่มีการตอบรับข้อเสนอจากรัฐบาล โดยกลุ่มประชาชนผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เข้าปักหลักกดดันข้างทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา  เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้รัฐบาลยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีประชาชนจำนวนมากจากหลากหลายกลุ่มได้เข้าเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง
 
สำหรับ อัฐพล ปิริยะ ผู้รายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 2/2560 จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความสนใจด้าน One Piece, Star Wars, วรรณกรรม, การเมืองวัฒนธรรม และการศึกษา 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net