Skip to main content
sharethis

เปิดนิทรรศการภาพ ‘เอ็กโซดัสเดจาวู’ ที่ BACC หวังเกิดการตั้งคำถามประเด็นผู้อพยพลี้ภัย ที่คุ้นๆ คล้ายๆ ว่าเคยเกิดขึ้นแล้ว และก็ยังเกิดขึ้นอีก

 
 
 
ค่ำวันที่ 6 ก.พ. 2561 Visioncy หน่วยงานเอกชนด้านศิลปะและวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย, หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร, Asylum Access Thailand และ แอมเนสตี้ อินเตอร์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดนิทรรศการภาพถ่ายสัญจร ‘Exodus Déjà-Vu’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอปัญหาผู้อพยพลี้ภัยผ่านศิลปะภาพถ่าย โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานผู้ร่วมจัดกล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งการนำเสนอภาพถ่ายจากศิลปิน 7 รายและนิทรรศการเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ของผู้อพยพโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ภายในงานมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมากทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
 
ตัวแทนจากหน่วยงานผู้ร่วมจัดต่างเน้นว่า ปัญหาผู้อพยพลี้ภัยในภูมิภาคต่างๆ จะแก้ได้ด้วยการตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างประเทศ ผ่านการทำข้อตกลงความร่วมมือในภูมิภาค ขณะที่ สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ตัวแทนช่างภาพ เล่าว่า ผลงานของเขาเป็นภาพถ่ายผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงญา โดยใช้เวลาถ่ายตั้งแต่ปี 2552 เพื่อสะท้อนถึงความยากลำบากของชาวโรฮิงญาในการอพยพลี้ภัยจากเมียนมาร์และบังกลาเทศมายังไทยและมาเลเซีย ทั้งยังได้กล่าวถึงปัญหาผู้อพยพลี้ภัยว่าเกิดจากสภาวการณ์โลกที่มีผลจากวิกฤตทางการเมืองและสิ่งแวดล้อม พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติตระหนักถึงปัญหาและสร้างความร่วมมือในการแก้ไข โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประเด็นปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และสถานการณ์ผู้ลี้ภัยโดยส่วนใหญ่ยังคงอพยพอย่างผิดกฎหมาย
 
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับประชาไทถึงที่มาและความสำคัญของงานนี้ว่า อยากให้ผู้คนเกิดการตั้งคำถามต่อปัญหาผู้อพยพลี้ภัย โดยคำว่า Déjà-Vu ในชื่องานนั้นคือสภาวะที่รู้สึกว่าเคยเกิดขึ้นแบบเดียวกันมาก่อนและเกิดขึ้นอีกครั้ง งานนี้จึงต้องการสื่อถึงปัญหาผู้อพยพลี้ภัยว่าจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาตลอด ไม่ว่าในกัมพูชา หรือซีเรีย และเพื่อเป็นการตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องนี้จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
 
ปิยนุช ยังกล่าวต่อว่าปัญหาผู้อพยพลี้ภัยเกิดมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะถูกนำเสนอออกไปเพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ ได้ตระหนักถึงปัญหา และมีความเข้าใจต่อผู้อพยพลี้ภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์ ผ่านสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายที่มีการนำเสนอ หรือข้าวของเครื่องใช้ที่ติดมากับผู้อพยพในการอธิบายเรื่องราวและความรู้สึกผ่านสิ่งของเหล่านั้น
 
นอกจากนิทรรศการภาพถ่ายแล้วยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การนำชมนิทรรศการ,วงพูดคุยเสวนา, และกิจกรรมเวิร์กช้อป เพ้นท์เฮนน่า (Henna) โดยนิทรรศการและกิจกรรมจะเปิดให้เข้าร่วม จนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561
 
 
ของส่วนตัวของผู้อพยพที่ถูกนำมาแสดง เช่น เสื้อผ้าที่ส่วนใหญ่เป็นชุดประจำชาติ ซึ่งถูกเก็บไว้ในสภาพสมบูรณ์รอโอกาสที่จะได้หยิบขึ้นมาใช้, กระดาษโน้ตที่เขียนเบอร์โทร.ติดต่อ, กำไล, ธนบัตรประเทศต้นทาง 
 
 
สำหรับ อัฐพล ปิริยะ ผู้รายงานเสวนาชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 2/2560 จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความสนใจด้าน One Piece, Star Wars, วรรณกรรม, การเมืองวัฒนธรรม และการศึกษา 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net