Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา ในคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงปัญหาของประเทศไทยด้านการศึกษาของไทยที่เชื่อมโยงไปถึงภาคอุตสาหกรรม ตอนหนึ่ง ประมาณว่า หน่วยงานด้านการศึกษาของไทย คือกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้ผลิตบุคลากร ผลิตบุคลากรซึ่งก็คือนักเรียนนักศึกษา ในลักษณะที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อตลาดแรงานไทยในปัจจุบันมากนัก กล่าวคือ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังต้องการการแรงงานจำนวนมาก แต่ฝ่ายการศึกษา คือ กรมอาชีวศึกษา ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ดีพอ ดังนั้นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างเช่น กระทรวงศึกษาธิการควรเน้นการผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองดีมานด์แรงงานในตลาดแรงงานของไทยให้มากขึ้นส่วนหนึ่งของวิธีการแก้ปัญหาก็คือ การแสวงหาครูอาชีวะเข้ามาและอยู่ในระบบให้มากขึ้น

นัยหนึ่งก็คือ นายวุฒิชัยชี้ปัญหาไปที่ การขาดแคลนครูอาชีวศึกษาของประเทศไทย (https://www.facebook.com/MatichonOnline/videos/10157091930152729/)

สิ่งที่นายวุฒิชัยพูดจริงล่ะหรือ? ในแง่ที่ว่า มันตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทยได้จริงฤา?  ถ้าแก้ไขได้  เป็นการแก้ไขสักแต่พอพ้นๆ ตัว หรือเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว แล้วถ้าข้อเสนอของนายวุฒิชัย ตอบโจทย์ก็ดีไป แต่ถ้าไม่ล่ะ?

เพราะสิ่งที่นายวุฒิชัยพูดถึง คือการเน้นการผลิตคนหรือแรงงานเพื่อสนองตอบต่อความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทยนั้น เสมือนการเดินย้อนยุคกลับไปเหมือนยุค 3.0 หรือยุคสายพานอุตสาหกรรมแบบเก่า  นี่ก็น่าทำให้นึกภาพ แรงงานในยูนิฟอร์มเดียวกันเข้าแถวยาวรอตอกบัตร ในบางพื้นที่ที่มีโรงงานเยอะๆ เช่น นวนคร ปทุมธานี บางพลี สมุทรปราการ เป็นต้น ซึงผมว่า นั่นมันเป็นภาพเมื่อประมาณ  20-30 ปีที่แล้วกระมัง

เอาให้ชัด บริบทที่นายวุฒิชัยพูดถึงก็คือบริบทความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับสัมฤทธิ์ผลของมัน หมายความว่า ประเทศไทยกำลังผลิตคนตรงกับตลาดแรงงานหรือไม่ ถ้าผลิตไม่ตรงก็หมายถึงว่า นักเรียนนักศึกษาที่จบออกไป มีสิทธิ์เคว้ง ไร้งานทำ เหมือนที่มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วยุคหนึ่งในอดีตจากรั้วมหาวิทยาลัย จากสำนวน “เตะฝุ่น”

นั่นเองเป็นเหตุให้ในปัจจุบัน คนในรัฐบาล ตั้งแต่ท่านผู้นำลงมา พากันตกอกตกใจว่า สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ผลิตคนออกมาแบบไม่ตอบสนองต่อตลาดแรงงาน จนถึงขั้นมีความคิดจะรื้อสายวิชาศิลป์ (สังคม) เช่น มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ปรัชญา ศาสนา เป็นต้น ออกไปเสียจากระบบการศึกษาไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า เรียนไปก็เท่านั้น ไม่คุ้มทุน เพราะไม่ตอบสนองต่อตลาดแรงงานที่ว่าไปแล้ว ตลาดแรงงานไทยขาดแคลนคนในตำแหน่งงานวิทยาศาสตร์มากกว่าสายสังคมศาสตร์

โดยลืมไปว่า วิชาสายสังคมศาสตร์นั้น เป็นรากฐานของทุกรายวิชา เป็นฐานเป็นหลักในการคิด การวิเคราะห์ การใช้เหตุใช้ผล

ที่สำคัญ คือ การมุ่งผลิตคน หรือแรงงานด้านเทคนิค เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานโดยถ่ายนั้น หากมองดูเทรนด์ ของโลกและของประเทศไทยแล้ว มันใช่หรือไม่? ในขณะที่โลกกำลังถูกกลืนาหยเข้าไปอยู่ในยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่กระทำสิ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลและคนในกระทรวงศึกษาธิการของไทยพยายามจะทำ นั่นคือ เอา AI มาใช้แทนแรงงานหรือแทนคน

ลองนึกภาพดูนะครับ ถ้ากรมอาชีวศึกษามีความพร้อมในการผลิตคนออกมามากๆ ในตอนนี้  แล้ววิธีการผลิต เช่น หลักสูตรการศึกษา ครู เป็นต้น ยังเหมือนเมื่อ 20 ปี่ที่แล้ว ถามว่า คนที่ถูกผลิตออกมาเหล่านี้จะไปทำมาหากินอะไร จะไปอยู่ที่ไหน เพราะเท่าที่ผมสัมผัสกับเจ้าของกิจการโรงงาน ตอนนี้พวกเขาต่างพยายามลดจำนวนแรงงานลงทั้งสิ้น หันมาใช้เทคโนโลยี AI แทน ด้วยเหตุที่ว่าประเมินแล้วคุ้มค่ามากกว่าการใช้แรงงานเป็นไหนๆ ดังนั้น การมุ่งผลิตแรงงานที่กระทรวงศึกษาฯ ไทยทำแบบเดิมๆ เห็นทีจะไม่ตอบโจทย์สายพานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

เอาเข้าจริงๆ ถ้ามองจากเทรนด์ของโลก นอกเหนือไปจากเทรนด์สตาร์ทอัพ เทรนด์นวัตกรรมต่างๆ (ที่ไม่ใช่เทรนด์โรงงาน) อีกเทรนด์หนึ่งก็คือ เทรนด์ของการที่มนุษย์หันมาศึกษา และทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น  เช่น เทรนด์สุขภาพกายสุขภาพใจ หรือแม้แต่เทรนด์สุนทรียะ ซึ่งเทรนด์เหล่านี้ เลยพ้นออกไปเสียจากเทรนด์วิทยาศาสตร์เชิงอุตสาหกรรม 3.0 แบบเดิมๆ ผมไม่แน่ใจว่า เราจะผนวกเทรนด์เหล่านี้ให้อยู่ในส่วนของสังคมศาสตร์ที่รัฐบาลปฏิเสธที่จะให้ความสำคัญได้หรือไม่?

และปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ คนในคณะรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง แม้แต่ผู้คนในวงการศึกษาไทย ยังติดภาพหรือยังเก็บมโนภาพยุคอุตสาหกรรมแบบ 3.0 เอาไว้อยู่หรือไม่? ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ การผลิตคนในสถานศึกษาอย่างกรมอาชีวศึกษาก็ไม่ต่างจากการผลิตคนเพื่อป้อนโรงงานในยุค 3.0 สมัย 20-30 ปีที่แล้ว ขณะที่ในสมัยนี้โรงงานฯ สเกลใหญ่ก็จริงแต่อาจใช้แรงงานไม่เกิน 5 คนเอาด้วยซ้ำ ซึ่งหากกะเกณฑ์กันแบบที่นายวุฒิชัยพูด การผลิตแรงงานแนวเดิมๆ นี้มิเท่ากับสูญเปล่าดอกหรือ เพราะมันไม่ตอบโจทย์แรงงาน 4.0

หากสิ่งที่ภาครัฐ คือกระทรวงศึกษาธิการ ต้องทำการบ้านเพื่อตอบโจทย์ปัญหาแรงงานในปัจจุบันมากที่สุดก็คือ ทำอย่างไรแรงงานเหล่านี้จึงจะเข้าใจระบบและวิธีคิดแบบ 4.0 เช่น เข้าใจว่าอัตลักษณ์ ความขัดแย้ง ความแตกต่างการแสดงออก สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Speech) ฯลฯ คืออะไร ซึ่งว่าไปแล้วมันก็คล้ายๆ การเรียนปรัชญา

หากเป็นประเทศตะวันตก การทำความเข้าใจถึงความหมายของคำเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก คนส่วนใหญ่เข้าใจดีถึงความเป็นส่วนตัว ความเป็นตัวของตัวเองและความคาบเกี่ยวระหว่างตัวตน (ปัจเจก) กับสังคม อย่างไร เพราะนี่ไม่ใช่โลกแบบสายพานอุตสาหกรรมเดิมๆ อีกต่อไป

การผลิตและผลิตผล (productivity)  ก็จะออกมาอีกรูปแบบหนึ่งไม่ว่าจะเป็นผลิตผลจากด้านการศึกษาหรือผลิตผลจากอุตสาหกรรมแบบใหม่ (สามารถจินตนาการถึงภาพของซิลิคอนวัลเลย์ในสหรัฐอเมริกา)

ซึ่งก็หมายความว่า ตั้งแต่สถาบันการศึกษาทุกระดับยันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนแนวคิด วิธีการและความสัมพันธ์ต่อกัน รับกับโครงสร้างทางสังคมแบบใหม่ สถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง  เป็นเอกเทศตามที่เคยตั้งปณิธานเชิงนโยบายกันไว้แต่เดิม คือ การออกมาเป็นอิสระ เหมือนมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดและคาเนกี้เมล่อน สัมพันธ์กับกลุ่มอุตสาหกรรมซิลิคอนวัลเลย์ยังไงยังงั้น เพราะทั้งสถาบันการศึกษาและบรรษัทอุตสาหกรรมในวัลเลย์ใช้ห้องเรียนเดียวกันมานานหลายปี

และเพราะมหาวิทยาลัยคุณภาพในสหรัฐฯ แห่งนี้ อาศัยหลักการที่ว่า “ศรัทธาเท่านั้นที่ทำให้สถาบันอยู่ได้”

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net