Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนวานรนิวาสส่งหนังสืออุทธรณ์คำสั่งกับประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร หลังอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร ปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลเหมืองแร่โปแตชวานรนิวาส ระบุการดำเนินโครงการต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ

13 ก.พ. 61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มะลิ แสนบุญศิริ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนวานรนิวาส ได้ส่งหนังสือ อุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชในท้องที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ไปยังประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ หลังจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร มีหนังสือปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ตามหนังสือขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชในท้องที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ของบริษัท ไซน่า หมิงต๋า โปแตชคอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ของเครือข่ายประชาชนวานรนิวาส

วันนี้ตัวแทนชาวบ้านได้เดินทางไปส่งจดหมายถึงสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่ทำการไปรษณีย์ อ.วานรนิวาส เพื่อขอให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ พิจารณาให้เปิดเผยข้อมูลโครงการเหมืองแร่โปแตชในท้องที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร กับประชาชน พร้อมทั้งระบุด้วยว่า แม้จะพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่ให้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ ตั้งแต่พ.ศ. 2540 แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า ประชาชนยังคงถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร การดำเนินโครงการต่างๆ ของทั้งภารัฐและเอกชน ที่จะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ที่จำเป็นต้องเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน การปกปิดข้อมูลเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งของประชาชน เมื่อถูกละเมิดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ย่อมทำให้ชาวบ้านเกิดความสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของภาครัฐ ว่าปฏิบัติหน้าที่เพื่อใคร โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้

เครือข่ายวานรนิวาสได้ใช้สิทธิขอข้อมูลข่าวสารในหนังสือฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2560 ถึงสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชในท้องที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ของบริษัท ไซน่า หมิงต๋า โปแตชคอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 มีรายการดังต่อไปนี้

รายการที่ 1 เอกสารแผนผังการสำรวจแร่โปแตช ตามอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 1-12/2558 และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมทั้งแผนที่ประกอบตามรายการดังกล่าวด้วย

รายการที่ 2 เอกสารอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 1-12/2558 และแผนที่แนบท้ายอาชญาบัตรพิเศษ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องรายการอื่นๆ ด้วย

ต่อมาทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครมีหนังสือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร เลขที่ สน 0033(4.1)/85 ลงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561 ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2 โดยชี้แจงดังนี้

1. แผนผังการสำรวจแร่โปแตล ตามอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช 
คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 1-12/2558 และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมทั้งแผนที่ประกอบตามรายการดังกล่าวด้วย

2. อาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 1-12 /2558 และแผนที่แนบท้ายอาชญาบัตรพิเศษ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องรายการอื่นๆ ด้วยทั้งนี้ขอให้แจ้งผลเป็นลายลักษณ์อักษรมายังที่อยู่ที่ปรากฏบนหนังสือฉบับนี้ ภายใน 15 วัน นั้น

สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร พิจารณาเห็นแล้วว่า เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูล เอกสารแผนผังการสำรวจแร่โปแตช ตามอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น(ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 1-12/2558 และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆรวมทั้งแผนที่ประกอบตามรายการดังกล่าว พร้อมทั้งอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 1-12/2558 และแผนที่แนบท้ายอาชญาบัตรพิเศษ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องรายการอื่นๆ อาจมีรายละเอียดข้อมูลที่กระทบถึงผลประโยชน์ได้เสียของบุคคลอื่น จึงไม่อาจสำเนาให้ท่านได้ 

ดังนั้นการที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร มีหนังสือปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามรายการที่ 1-2 ข้างต้นนั้น ข้าพเจ้าในนามผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนวานรนิวาส และภาคีเครือข่ายประชาชนวานรนิวาส ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ดังกล่าวและอาจจะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการดำเนินการเจาะสำรวจตามอาชญาบัตรพิเศษของบริษัทเอกชนดังกล่าว จึงอาจจะได้รับความเสียหายจาก คำสั่งปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารข้างต้นนั้น จึงมีความประสงค์อุทธรณ์โต้แย้ง คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังนี้

ข้อ 1) อาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัดถือเป็นใบอนุญาตให้ทำการสำรวจแร่ ซึ่งออกให้โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม นับเป็นใบอนุญาตให้สิทธิสำรวจแร่ทางธรณีวิทยาในขั้นรายละเอียด โดยกำหนดเงื่อนไขการเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจแร่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อน และต้องทำการฝังกลบพร้อมฟื้นฟูพื้นที่หลังเสร็จสิ้นการสำรวจ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแทชให้แก่บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จำนวน 12 แปลง เนื้อที่รวม 116,875 ไร่ อาชญาบัตรพิเศษมีอายุ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 สิ้นอายุวันที่ 
4 มกราคม 2563 โดยได้กำหนดเงื่อนไขการเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจแร่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อนที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มเข้าสำรวจแต่ได้มีการดำเนินการเจาะสำรวจแร่ในพื้นที่โดยไม่มีการแจ้งแก่ประชาชนทราบ เช่น ได้มีการเจาะสำรวจในที่ราชพัสดุ โดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งก่อความเสียหายมาแล้ว และได้ทำการขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อการสำรวจแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จังหวัดสกลนคร ชี้ว่าบริษัทมีความผิดจริงเพราะมิได้ขออนุญาตขุดเจาะน้ำบาดาลดังกล่าว ดังนี้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมบัติสาธารณะดังที่เคยเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนรวมติดตามตรวจสอบ
การสำรวจแร่ดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จึงถือเป็นสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการสำรวจแร่ดังกล่าวโดยละเอียดถูกต้อง

ข้อ 2) เอกสารแผนผังการสำรวจแร่โปแตช ตามอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (รายการที่ 1) และเอกสารอาชญาบัตรพิเศษของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 1-12/2558 และแผนที่แนบท้ายอาชญาบัตรพิเศษ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องรายการอื่นๆ (รายการที่ 2) ซึ่งประกอบด้วยเอกสารประกอบการออกอาชญาบัตรพิเศษได้แก่

2.1 แผนงานและวิธีการสำรวจแร่ เหมือนกับการขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่
2.2 รายละเอียดเกี่ยวกับคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ คำขออาชญาบัตรพิเศษ และคำขอ ประทานบัตร แปลงอื่นๆ ที่ผู้ขอได้ยื่นคำขอไว้ก่อนแล้ว หรือที่ผู้ขอถืออยู่ในขณะยื่นคำขอ
2.3 ข้อผูกพันสำหรับการสำรวจแร่ โดยแจ้งจำนวนเงินที่จะใช้เพื่อการสำรวจในแต่ละปี ตลอดอายุของอาชญาบัตรพิเศษ
2.4 รายการข้อเสนอผลประโยชน์พิเศษที่ประสงค์จะให้แก่รัฐ เมื่อได้รับมอบอาชญาบัตรพิเศษ
2.5 หลักฐานแสดงทุนทรัพย์ในการสำรวจแร่ โดยใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ตามวงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายในการสำรวจแร่ ซึ่ง กพร. ได้กำหนดไว้ 30-60 บาทต่อไร่ ขึ้นอยู่กับวิธีการที่ยื่นขอสำรวจ หลักฐานนี้จะใช้ในขั้นตอนก่อนรับมอบอาชญาบัตรพิเศษภายหลังจากได้รับอนุญาตแล้ว

ดังนั้นเอกสารรายการที่ 1 และ 2 พร้อมเอกสารประกอบอื่น ๆ ที่ร้องขอให้มีการเปิดเผยซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร จึงถือเป็นเอกสารข้อมูลข่าวสารของราชการที่ต้องเปิดเผยแก่ประชาชนได้ตาม พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 มาตรา 9 (6) “สัญญาสัมปทาน สัญญาที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ” และตามประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เรื่อง การกำหนดให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามมาตรา 9 (8) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 ข้อ 11 “สัญญา สัมปทนา ใบอนุญาต ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการหรือการดำเนินการที่มีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และหรือสังคม รวมทั้งสัญญา สัมปทาน และหรือใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการใช้หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติด้วย” ซึ่งหน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการดังกล่าวไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ดังนั้นข้อมูลข่าวสารที่ร้องขอยกเว้นสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้านซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลนั้น อุตสาหกรรจังหวัดสกลนครซึ่งมีข้อมูลข่าวสารดังกล่าวในครอบครองจึงจะต้องเปิดเผยแก่ประชาชนได้ตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ผู้อุธรณ์ขอเรียนว่าพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มีเจตนารมณ์ที่กำหนดเป็นหลักการสำคัญว่า“ข้อมูลข่าวสารของราชการ” จะต้องเปิดเผยเป็นการทั่วไป ส่วนการปกปิดไม่เปิดเผยเป็นเพียง “ข้อยกเว้น” ซึ่งความหมายว่า ในกรณีที่หน่วยงานรัฐจะมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารใด จะต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้โดยชัดแจ้ง หรือหากเป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจหน่วยงานรัฐผู้ครอบครองข้อมูลข่าวสารสามารถใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยข้อมูลนั้น ก็จะต้องระมัดระวัง กล่าวคือ ต้องตีความข้อยกเว้นให้กระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงขข้อมูลข่าวสารประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งข้อมูลที่อุทธรณ์ได้ขอไปนั้น เป็นข้อมูลที่มีความจำเป็นต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบอย่างทั่วกัน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อสิทธิประชาชนและชุมชนในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและข้อมูลข่าวสารดังกล่าวยังมิใช่ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ข้อมูลความลับทางการค้าที่มีกฎหมายห้ามเปิดเผยหรือข้อมูลที่การเปิดเผยจะกระทบต่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอันต้องสอบถามยินยอมจากผู้มีส่วนได้เสียนั้นก่อน ตรงกันข้ามกลับเป็นข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะและสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนและประโยชน์สาธารณะด้วย

ดังนั้น การที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร มีหนังสือลงวันที่ 19 มกราคม 2561 ปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครอง โดยอ้างเอกสารที่ร้องขออาจกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของบุคคลจึงมีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้อง ขัดต่อข้อกฎหมายและเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ผู้อุทธรณ์จึงขอให้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา 18 แห่ง พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพื่อให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารพิจารณาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ มีคำวินิจฉัยสั่งให้อุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร เปิดเผยเอกสารทั้ง 2 รายการโดยให้สำเนาเอกสารดังกล่าวแก่ผู้อุทธรณ์ตามคำขอทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสร้างบรรทัดฐานที่ดีเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้หน่วยยึดถือปฏิบัติต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net