ใบตองแห้ง: บานปลาย! ตั้งเลขาฯ ศาลปกครอง

 

สำนักข่าวอิศราตีข่าว เลือกเลขาฯ สนง.ศาลปค.ใหม่วุ่น! ปิยะ สั่งล้มคกก.สรรหา ชงชื่อ'จำกัด'ปาดหน้า 'อติโชค'  สรุปความได้ว่า ท่านปิยะ ปะตังทา (ชื่อเดิม เกษม คมสัตย์ธรรม) ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองคนใหม่ แทนนายไกรรัช เงยวิจิตร ที่ลาออกไป แต่ปรากฏว่า หลังจากคณะกรรมการเปิดรับสมัคร ให้ผู้สมัครเข้าสอบสัมภาษณ์ แสดงวิสัยทัศน์ จนลงมติเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม และส่งชื่อมาให้ท่านประธานแล้ว ท่านกลับเสนอชื่ออีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งไม่ได้สมัครเข้ารับคัดเลือกด้วยซ้ำ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ลงมติเห็นชอบ

ก.ศป.ไม่ยอมรับ โดยแย้งว่าท่านประธานจะทำเช่นนี้มิได้ เพราะเมื่อท่านตั้งคณะกรรมการคัดเลือกแล้ว ก็ต้องทำให้จบกระบวนการ มิใช่ผลการคัดเลือกยังค้างเติ่งอยู่ ก็มาเสนอบุคคลอื่น

วันรุ่งขึ้น ท่านประธานจึงลงนามในคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ เสีย และเตรียมจะเสนอชื่ออีกทีในการประชุม ก.ศป.ครั้งต่อไปวันพุธ วันแห่งความรักนี่เอง

เรื่องยังบานปลายอีกว่า การแต่งตั้งเลขาธิการศาลปกครองครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังการแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาณาคดีปกครองครั้งล่าสุด ซึ่งเพิ่มมาตรา 78 /1 “เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองอาจแต่งตั้งจากตุลาการศาลปกครองโดยความเห็นชอบของ ก.ศป.” พูดง่ายๆ ก็คือ เพิ่มตัวเลือกจากมาตรา 78 เดิม ที่ตั้งจากข้าราชการฝ่ายสำนักงานศาลปกครอง มาเป็น “อาจ” แต่งตั้งจากฝ่ายตุลาการ โดยมีข้อแตกต่างว่า เลขาธิการซึ่งตั้งตามมาตรา 78 มีวาระ 4 ปี เลขาธิการซึ่งมาจากตุลาการตามมาตรา 78/1 มีวาระ 2 ปี

แล้วก็บังเอิญ สำนักข่าวอิศราเผยว่า ในการคัดเลือกครั้งนี้ มีผู้สมัคร 3 ราย ได้แก่ นายประเวศ รักษพล ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น นายเกียรติภูมิ แสงศศิธร ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น และนายอติโชค ผลดี รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองอันดับ 1

แล้วคณะกรรมการซึ่งมีนายนพดล เฮงเจริญ รองประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน ลงมติ 6-1 เลือกนายอติโชค แต่ท่านประธานกลับเสนอชื่อนายจำกัด ชุมพลวงศ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้นอีกคน ซึ่งไม่ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเลย

อำนาจประธาน ไหงทำให้งง

นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด โฆษกศาลปกครอง ชี้แจงว่า กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุดในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เพียงต้องเสนอ ก.ศป.ให้ความเห็นชอบเท่านั้น

ชี้อำนาจเลือกอยู่ที่ ปธ.ศาล ปค.สูงสุด! โฆษกรับ 'ปิยะ' สั่งล้ม คกก.สรรหาเลขาฯ สนง.ใหม่

ใช่เลยครับ ก็เป็นอย่างท่านชี้แจง ก.ศป.ไม่มีอำนาจเลือก ท่านประธานเลือก แล้วมาให้ ก.ศป.เห็นชอบ แต่ถ้า ก.ศป.ไม่เห็นชอบ ท่านก็ต้องเสนอคนใหม่

“กฎหมายไม่ได้กำหนดวิธีการคัดเลือกเลขาธิการของประธานศาลปกครองสูงสุด ว่าต้องดำเนินการโดยวิธีใด และไม่ได้กำหนดให้ต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือก ดังนั้นหากมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกก็เป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่ประธานจะนำมาประกอบการพิจารณา โดยประธานไม่จำต้องคัดเลือกตามข้อเสนอของคณะกรรมการ”

อันนี้ก็ใช่อีก ท่านประธานไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือก ท่านจะจิ้มชื่อใครมาเสนอ ก.ศป.ก็ได้ ก็ยังงงกันอยู่ไง งงทั้งศาลปกครอง ว่าท่านตั้งกรรมการขึ้นทำไม ตั้งมา 7 ท่าน เป็นตุลาการผู้ทรงเกียรติทั้งนั้น มีรองฯ นพดลเป็นประธาน ทั้ง 7 ท่านอุตส่าห์เปิดรับสมัคร ให้แสดงวิสัยทัศน์ สอบสัมภาษณ์ ลงมติเสร็จสรรพ ท่านกลับไม่ใช้ผลการคัดเลือกนั้น เออ แล้วจะตั้งมาทำไม

คำถามคือแม้เป็นอำนาจของท่าน แต่เมื่อตั้งแล้ว มีผลผูกพันการตัดสินใจไหม เพราะนักกฎหมายบางคนก็ยกหลักกฎหมายปกครองข้อหนึ่งว่า “ฝ่ายปกครองต้องเคารพหลักเกณฑ์ที่ตนเองตั้งขึ้น”

ผมก็ตอบไม่ได้ ขอตั้งปุจฉาทิ้งไว้ดีกว่า เป็นข้อสอบวิชากฎหมายปกครอง สมมตินะ สมมติ อธิบดี ก.มีอำนาจแต่งตั้งหัวหน้ากอง โดยกฎหมายไม่กำหนดขั้นตอนไว้ อธิบดีอยากตั้งใครก็ได้ แต่ดันไปตั้งคณะกรรมการคัดเลือก คณะกรรมการมีมติเลือกนาย ข. แล้วอธิบดีกลับไม่เอาตาม อธิบดีกลับข้ามไปตั้งนาย จ. ถามว่าถ้านาย ข.ฟ้องศาลปกครอง ศาลจะตัดสินอย่างไร อธิบดีผิดหรือไม่

ท่านโฆษกยังชี้แจงด้วยว่า “ก.ศป. มีข้อสังเกตว่า ก่อนที่ประธานจะเสนอชื่อผู้อื่น ประธานควรยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก และแจ้งผู้สมัครทราบก่อน ประธานจึงขอถอนเรื่องดังกล่าวออกจากการประชุมหลังจากนั้น ประธานจึงมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก”

ประเด็นนี้ก็ฟังแล้วงงกันไป เพราะไม่เห็นจำเป็นที่ท่านประธานจะต้องยุบคณะกรรมการ ซึ่งทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว คัดเลือกบุคคลแล้ว สิ่งที่ท่านต้องทำ ก็แค่ทำให้จบกระบวนการ คือเปิดเผยผลการคัดเลือกต่อผู้สมัคร แจ้งให้เขาทราบ แต่ใช้อำนาจประธานสรุปว่าไม่เห็นด้วยกับผลการคัดเลือก เท่านั้นก็จบ

ทำไมต้องเจาะจงตุลาการ

โฆษกศาลยังชี้แจงอีกตอนหนึ่งว่า “การคัดเลือกเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองในครั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกได้เสนอผลการคัดเลือกตามความเห็นของเสียงข้างมาก แต่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือก และความเหมาะสมของผู้ที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอ รวมทั้งมีข้อเรียกร้องให้การแต่งตั้งเลขาธิการในครั้งแรกหลังจากมีการแก้กฎหมาย ควรแต่งตั้งจากตุลาการ ประธานศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว จึงไม่เสนอชื่อบุคคลที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอ และได้คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการจากบุคคลอื่นที่มีความเหมาะสมมากกว่าและไม่มีข้อด่างพร้อยใดๆ เสนอต่อ ก.ศป. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561”

คำชี้แจงของท่านข้อนี้ แทนที่จะยุติปัญหา อาจทำให้บานปลาย ในเมื่อสำนักข่าวอิศราเผยออกมาแล้วว่า คณะกรรมการคัดเลือกรองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองอันดับ 1 แต่ท่านโฆษกแถลงว่ามีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกและ “ความเหมาะสม” จึงได้คัดเลือกบุคคลอื่นที่ “มีความเหมาะสมมากกว่าและไม่มีข้อด่างพร้อยใดๆ”

ขณะเดียวกันก็ผสมประเด็นที่มา ว่าการแต่งตั้งครั้งแรกหลังแก้กฎหมาย “มีข้อเรียกร้องให้” แต่งตั้งจากตุลาการ โดยอ้างถึงการแก้ไขกฎหมายว่า ต้องการให้การปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการสอดคล้องเป็นทิศทางเดียวกับการพิจารณาคดีของศาล โดยเทียบเคียงการแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมที่กฎหมายกำหนดให้ต้องตั้งจากผู้พิพากษาเท่านั้น

โดยท่านยังอ้างอีกว่า ครั้งนี้ถ้าตั้งตุลาการ ก็จะอยู่ในวาระแค่ 2 ปี ซึ่งท่านประธานปิยะจะหมดวาระพอดี ใครมาเป็นประธานคนใหม่ก็จะได้คัดเลือกเลขาธิการใหม่ เทียบเคียงแนวปฏิบัติศาลยุติธรรมที่เมื่อเปลี่ยนประธานศาลฎีกา เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมก็จะขอโอนกลับไปเป็นผู้พิพากษาเพื่อให้ประธานศาลฎีกาคนใหม่คัดเลือกเลขาธิการใหม่

ฟังแล้วก็ไม่ทราบว่าข้าราชการสำนักงานศาลปกครองจะรู้สึกอย่างไร เพราะเหมือนการยืนยันว่ายังไงๆ รองเลขาธิการก็ไม่ได้เป็นแหงๆ โดยไม่ใช่แค่เรื่องที่มา ที่อ้างว่าเมื่อแก้กฎหมายแล้วก็ควรแต่งตั้งจากฝ่ายตุลาการ แต่ยังพาดพิงตัวบุคคลว่า มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับความเหมาะสม จึงคัดเลือกบุคคลอื่นที่เหมาะสมกว่าและ “ไม่มีข้อด่างพร้อยใดๆ”

คำถามมีอยู่ว่า ถ้าจะเอาอย่างศาลยุติธรรม ทำไมไม่แก้กฎหมายให้สะเด็ดน้ำเสียเลยละครับ ว่าให้เลขาธิการมาจากตุลาการเท่านั้น ข้าราชการสำนักงานไม่มีวาสนา แต่การแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 78/1 กลับใช้คำว่า “อาจ” และกำหนดวาระเพียงกึ่งหนึ่งคือ 2 ปี

เจตนารมณ์ของกฎหมายคืออะไร ตีความแบบบ้านๆ ก็เห็นได้ว่า เขียนเผื่อให้ตั้งตุลาการได้ในกรณีไม่มีบุคคลที่เหมาะสม แต่ถ้ามีบุคคลที่เหมาะสมแล้วก็ไม่จำเป็น นี่ตีความแบบบ้านๆ นะครับ ถ้าตีความแบบมือกฎหมายก็สามารถใช้คำว่า “อาจ” เป็นช่องแต่งตั้งตุลาการไปชั่วกัลปาวสาน

ก็ไม่ทราบเขียนกฎหมายมาอย่างนี้ทำไม ไม่คิดหรือว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งเปล่าๆ

เก้าอี้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งมาเกือบปีแล้ว หลังจากนายไกรรัช เงยวิจิตร ลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว มีผลเมื่อเดือน พ.ค.2560 ตอนนั้นก็ตั้งรักษาการไว้ก่อน กระทั่งกฎหมายใหม่ประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อ 26 ก.ย.2560 ท่านประธานก็ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2560 คณะกรรมการเปิดรับสมัคร สอบสัมภาษณ์ ให้แสดงวิสัยทัศน์ และมีมติตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.2560 ซึ่งท่านประธานจะต้องนำชื่อเสนอ ก.ศป.เพื่อให้ความเห็นชอบ (หรือไม่ก็ใช้อำนาจของท่าน ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการคัดเลือก)

แต่ปรากฏว่า นายเกียรติภูมิ แสงศศิธร ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองชั้นต้น หนึ่งในผู้สมัคร ทำหนังสือร้องเรียนว่า นายนพดล เฮงเจริญ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พูดจาโน้มน้าวต่อคณะกรรมการ โดยอ้างความเห็นบุคคลระดับสูงในศาลปกครองว่า ข้าราชการฝ่ายสำนักงานไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ตุลาการมาดำรงตำแหน่ง เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้า และอาจไม่ได้รับความร่วมมือสนับสนุนการทำงานเท่าที่ควร ในการประชุมวันที่ 20 ธ.ค.ท่านประธานจึงนำหนังสือร้องเรียนมาเสนอต่อที่ประชุม ก.ศป. แต่ที่ประชุมทักท้วงว่า การพิจารณาหนังสือร้องเรียน เป็นอำนาจหน้าที่ของประธาน ที่ประชุมไม่รับพิจารณา และเห็นว่าเมื่อท่านตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นแล้ว ก็ต้องพิจารณาว่าเห็นชอบกับมติคณะกรรมการหรือไม่ ท่านก็ถอนเรื่องกลับไป และค้างคามาจนนำเข้าที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 7 ก.พ. แล้วก็ต้องเสนอใหม่ในวันแห่งความรัก

ผลการประชุมครั้งนี้ออกมาอย่างไร ไม่ใช่เรื่องเล็กแน่ เพราะเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้ว อย่างน้อย รองประธานศาลปกครองสูงสุด ก็ถูกกล่าวหา คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาก็ถูกยุบ ขณะที่ข้าราชการฝ่ายสำนักงานจะมีปฏิกิริยาอย่างไร หากรู้สึกว่ามีการ “ตั้งธง” ให้ฝ่ายตุลาการมาเป็น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าอ่านตามข่าว ก็จะเห็นว่า ก.ศป.หลายคนไม่เห็นด้วยกับกระบวนการตัดสินใจของท่านประธาน แต่จะเป็นเสียงข้างมากข้างน้อยและส่งผลอย่างไร คงได้รู้กัน

   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท