Skip to main content
sharethis
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้รัฐบาลทหารประกาศ สิทธิมนุษยชนของ เป็นวาระแห่งชาติจะปราศจากความหมาย หากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน และฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย
 
ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล
 
14 ก.พ.2561 ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ออกความเห็นเนื่องในจาก เมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าภาพในงาน ซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมวาระสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีการรับรองเมื่อเดือน พ.ย.60 โดยมีผู้เข้าร่วมงานหลายร้อยคน รวมทั้งผู้แทนการทูตจากต่างประเทศและตัวแทนจากหน่วยงานระหว่างประเทศและพหุภาคี 55 คน
 
“ผู้นำรัฐบาลทหารของไทยไม่ควรคิดว่า การเข้าร่วมงานตามมารยาทของนักการทูต ในเวทีส่งเสริมวาระสิทธิมนุษยชนเช่นนี้ จะทำให้พวกเขาเชื่อว่า ประเทศไทยปลอดจากการกดขี่ปราบปรามทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว พร้อมระบุว่า แทนที่จะฟื้นฟูการเคารพสิทธิมนุษยชน และนำพาประเทศกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลทหารกลับคุกคามผู้วิพากษ์วิจารณ์และผู้เห็นต่าง ห้ามการชุมนุมสาธารณะอย่างสงบ เซ็นเซอร์สื่อ และกดดันการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น
 
 
แถลงของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า ในวันงาน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงสูตร “4+3+2+1” ของรัฐบาล ที่จะส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน และสร้างสันติสุขในสังคม โดยวาระดังกล่าวประกอบด้วยการสร้างจิตสำนึก การมีระบบติดตามตรวจสอบ นวัตกรรม และเครือข่าย รวมทั้งการปรับปรุงฐานข้อมูล ทัศนคติ และกฎหมายที่หนุนเสริมให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามวาระสิทธิมนุษยชน และลดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน
 
รัฐบาลทหารเคยให้สัญญาแบบเดียวกันตั้งแต่รัฐประหารเดือน พ.ค.57 แต่ไม่เคยทำตามอย่างจริงจัง ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว พล.อ.ประยุทธ์ยังคงใช้อำนาจของตนอย่างกว้างขวางและปราศจากการตรวจสอบ โดยขาดการกำกับดูแลจาก รัฐธรรมนูญที่หนุนหลังโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน มี.ค.60 ทั้งนี้เพื่อประกันว่าสมาชิก คสช. จะไม่ถูกตรวจสอบและต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิใด ๆ นับแต่การยึดอำนาจ ทั้งยังเป็นการสืบทอดอำนาจควบคุมอย่างเข้มข้นของกองทัพต่อรัฐบาล แม้จนภายหลังการเลือกตั้งซึ่งรัฐบาลทหารสัญญาจะจัดให้มีขึ้นในปี 2561 
 
นับแต่รัฐประหาร คสช.เซ็นเซอร์และสั่งห้ามสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองของทหาร สื่อมวลชนต้องเผชิญการคุกคาม การลงโทษ และการสั่งปิด หากเผยแพร่ความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือมีการเสนอประเด็นใด ๆ ที่คสช.มองว่ากระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งการรายงานข้อกล่าวหาว่ากองทัพเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา Peace TV ถูกสั่งให้งดการออกอากาศเป็นเวลา 15 วัน เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองของทหาร
 
ทางการไทยได้คุกคามผู้วิพากษ์วิจารณ์และผู้เห็นต่าง โดยการดำเนินคดีอาญาในข้อหายุยงปลุกปั่น และ ความผิดทางคอมพิวเตอร์ โดยเป็นผลมาจากการแสดงความเห็นอย่างสงบ และมีกฎหมายห้ามการชุมนุมสาธารณะของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป รวมทั้งกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร ทางการได้ดำเนินคดีกับ นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย 39 คน ในข้อหาชุมนุมโดยผิดกฎหมาย หลังเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะจัดการเลือกตั้งในปี 2561 โดยในจำนวนนี้มีอยู่จำนวนเก้าคนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นเนื่องจากการปราศรัยระหว่างการชุมนุม
 
แถลงของฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาหลายพันคนได้ถูกเรียกตัวเข้าพบ และถูกกดดันให้ยุติการแสดงความเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับรัฐบาลทหาร คสช.อ้างว่าการแสดงความเห็นทางการเมืองที่หลากหลายทำให้ขาดความสามัคคีในสังคม และมักจะสั่งห้ามการอภิปรายสาธารณะ เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทยภายใต้การปกครองของทหาร
 
กองทัพมักใช้การควบคุมตัวแบบลับกับผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง โดยสามารถควบคุมตัวบุคคลได้นานถึงเจ็ดวันโดยไม่มีการแจ้งข้อหา และมีการสอบปากคำพวกเขาโดยไม่ให้เข้าถึงทนายความ หรือไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบ
 
รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะประกันว่า บุคคลและองค์กรต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สามารถปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนได้ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐ รวมทั้ง บริษัท เอกชนมักตอบโต้กับบุคคลซึ่งรายงานข้อกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งการฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญา และการหาทางดำเนินคดีในข้อหาการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์กับพวกเขา
 
ในวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา คนงานพม่า 14 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากเข้าร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าถูกนายจ้างละเมิดสิทธิแรงงาน ในวันที่ 9 ก.พ.61 กองทัพภาคสี่ซึ่งดูแลรักษาความสงบในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ได้ยื่นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาททางแพ่งเรียกร้องเงินค่าเสียหายจำนวน 10 ล้านบาทจากสำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ เนื่องจากรายงานที่กล่าวหาว่ามีการทรมานผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบระหว่างการควบคุมตัวของทหาร
 
“แม้จะมีการประกาศรับรองสิ่งที่เรียกว่า ‘วาระสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ’ แต่ยังไม่มีวี่แววว่าระบอบเผด็จการทหารจะยุติลงในเร็ววัน เนื่องจากรัฐบาลทหารยังคงปราบปรามเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และชะลอการคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนต่อไป” อดัมส์ กล่าว และระบุด้วยว่า บรรดาพันธมิตรจำเป็นต้องกดดันประเทศไทยอย่างเร่งด่วน เพื่อยุติการกดขี่ปราบปราม และเพื่อฟื้นฟูความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net