ซุยหมิง – สมบัด สมพอน 'ความรักไม่เคยหายไป'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ฉันตั้งคำถามในหัวว่าเธอจะทำยังไงถ้าฉันหายไป ถ้ากลับกันคนที่หายไปเป็นฉัน เธอก็คงทำแบบเดียวกัน เธอจะไม่ปล่อยให้ฉันหายไป เธอจะไม่มีทางปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปแน่นอน เพราะการที่เราตื่นมาแล้วพบว่าใครอีกคนนึงหายไปมันเจ็บปวดมากกว่าที่จะรู้ว่าเขาตายจากไป และฉันแน่ใจว่าเขาเองก็จะทำอย่างที่ฉันทำตอนนี้

เธอเล่าน้ำตารื่นอยู่ในตา แต่ทว่าไม่มีทีท่าว่าจะไหลออกมา

เราเดินทางไปเวียงจันทน์ เมื่อกลางปีที่แล้ว เพื่อพบกับผู้หญิงคนหนึ่ง และสิ่งที่เราได้กลับมาคือ บทสนทนาที่แสนล้ำค่าและทรงพลัง

เขาหายไป 5 ปีแล้ว เธอเล่าน้ำตารื้น หลังจากที่เราถามคำถามว่าเพราะอะไรถึงยังไม่หยุดตามหาสามีของเธอ “สมบัด สมพอน” นักสิทธิมนุษยชนชาวลาวที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2560 นับตั้งแต่มีคนพบเจอสมบัดเป็นครั้งสุดท้ายกับครอบครัว ในวันที่ 15 ธ.ค. 2555 กล้องวงจรปิดของสถานีตำรวจที่กรุงเวียงจันทน์มีการบันทึกภาพเจ้าหน้าที่รัฐลักพาตัวสมบัดจากบนถนน มีการหยุดรถจี๊ปของเขาก่อนที่จะพาตัวเขาส่งขึ้นรถบรรทุก ซุยหมิง ภรรยาชาวสิงคโปร์ของสมบัดเปิดเผยว่ามีพยานพบเห็นสมบัดและรถจี๊ปของเขาในที่กักขังของตำรวจ

เรากลับมาเริ่มบทสนทนาถึงจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง เธอมองไปข้างหน้า ที่ที่ผลิตภัณฑ์จากชาวบ้าน หัตถกรรมฝีมือแม่หญิงในลาวตั้งเรียงรายรอลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อในร้านของสมบัด ที่ที่เป็นที่ของเขา ...... เธอคิดนิ่งนาน ก่อนจะเริ่มเล่า

“เราเจอกันที่ฮาวาย (มหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา) ความสัมพันธ์เริ่มต้น เราเป็นเพียงผู้ร่วมต่อต้านสงครามด้วยกัน ทั้งเขาและฉันได้ไปเรียนที่นั่นเพราะผลกระทบของสงคราม ทั้งในเวียดนามและลาว ในยุคนั้นมีนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านสงครามกันมาก และทุกๆ การเคลื่อนไหว ล้วนสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางการเมืองโลก มันคือความตื่นตัวของคนในรุ่น (Generation) ของฉัน มันคือการที่ผู้คนแสวงหาองค์ความรู้ใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศ และมีไม่กี่คนที่ได้ออกไปเรียนต่างประเทศ โจทย์ของพวกเขาก็คือทำอย่างไรให้ได้กลับไปพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น สมบัดเรียนด้านการเกษตร ซึ่งไม่ได้มีอะไรที่เป็นการเมืองเลย และเขาระวังตัวเสมอที่จะไม่ทำอะไรที่เกี่ยวกับการเมือง”

เธอยังเล่าด้วยว่า ในเมืองไทยก็ยังมีคนตื่นตัวมากมาย แม้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ต่อต้านสงคราม แต่ในยุคสมัยแห่งวัยเยาว์ การนำเสนอทางเลือกและแนวคิดเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งใด

สำหรับสมบัดเขาเป็นคนที่ชัดเจนและตั้งใจจะกลับมาลาว แม้ว่าเพื่อนบางคนเลือกที่จะไม่กลับมาหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในลาว “เขาเป็นลูกชาวนา เขาอยากจะกลับมาที่บ้าน มาหาพ่อแม่ พัฒนาคนลาวหลังภาวะสงคราม เมื่อเขาตัดสินใจเช่นนั้น ฉันจึงตัดสินใจที่จะมากับเขา เราใช้ทุกอย่างที่เรามีทำทุกอย่างที่เราทำได้ และรับผิดชอบต่อสิ่งเล็กๆ ที่เรามีร่วมกัน”

นี่คือจุดเริ่มต้นของการมาใช้ชีวิตที่ลาว ซุยหมิง ซึ่งถือสัญชาติสิงคโปร์ เกิดและเติบโตแบบเด็กในเมือง

“ตอนที่ฉันมาที่นี่ ฉันไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับประเทศลาว ทั้งภาษา และวัฒนธรรม ประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ในหมู่บ้าน เพราะฉันโตในเมือง แต่มันมีปัจจัยหลายอย่างให้ฉันเรียนรู้ที่นี่ ฉันมาที่นี่กับเขา เพราะฉันอยากเห็นสถานที่ที่เขาเติบโตด้วยตาของฉันเอง อยากดูว่า เขาทำอะไรบ้าง เขาอยู่อย่างไร เขากินอย่างไร มันเป็นการท้าทายมาก ที่ฉันจะต้องเรียนภาษาลาว เพราะไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษกับฉันเลย และไม่มีใครพูดภาษาของฉันเลย"

"ความจริงแล้วมันก็ไม่ได้ยากมากนักในการปรับตัว เพราะว่าคนลาวเป็นคนเปิด และใจดีมาก พวกเขายอมรับฉันมากๆ ในทางกลับกันฉันเองก็เป็นความท้าทายของครอบครัวสมบัดเช่นกัน”

น้ำเสียงของเธอดูมีความสุข ใบหน้าเปื้อนยิ้ม ทำให้ชวนคิดถึงภาพหญิงสาวคนหนึ่งในยุคที่ผู้คนต่างชาติต่างภาษาเป็นความแปลกใหม่ของผู้คน ที่จะต้องปรับตัวและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาได้เป็นอย่างดี

“พวกเขาไม่เคยหัวเราะเยาะเวลาที่ฉันพูดภาษาของเขาผิด พวกเขามีความสุขที่เห็นฉันเรียนรู้” ทุกๆ ครั้งที่เธอพูดถึงลักษณะเฉพาะของคนลาว ใบหน้าของเธอจะมีรอยยิ้มระเรื่อขึ้นมาเสมอ

น่าเสียดายที่หลังจากที่สมบัด กลับมาจากการศึกษาต่อ เขากลับไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล (หลังจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแล้วในช่วงปี พ.ศ. 2524) สิ่งที่เขาทำได้คือการทดลองทำสิ่งต่างๆ อยู่ภายในบ้าน ซุยหมิงเริ่มทำงานเป็น NGOs ด้านการพัฒนาผู้หญิงและการศึกษา และสมบัดเข้ามามีส่วนร่วมในงานวิจัยต่างๆ เพราะเขาเองเป็นคนในพื้นที่ เป็นคนลาว ย่อมรู้ถึงรากของปัญหาต่างๆ มากกว่าเธอ

“เขาเป็นคนพื้นที่ ที่นี่คือบ้านของเขา เขาย่อมรู้จักมันดีกว่าใครๆ มันคือการที่เราสองคนแลกเปลี่ยนแนวทางใหม่ๆ ต่อกันและกัน เขาไม่เคยบอกปัญหากับทางครอบครัวเรื่องที่เขาไม่ได้รับการไว้ใจจากรัฐ เขาเคยบอกฉันว่าบอกไปก็ช่วยอะไรไม่ได้ และไม่อยากให้คนในครอบครัวทุกข์ใจ แม้แต่กับฉันเองเขาก็ไม่ค่อยจะยอมปริปาก ตอนนั้นฉันเองก็คอยแนะนำเขากับคนอื่นๆ ด้วย ให้เขามีเครือข่าย และเห็นความเป็นไปได้ของการทำงาน” เธอเล่าด้วยแววตาภูมิใจที่ได้เผชิญกับปัญหาต่างๆ ร่วมกัน

“การไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาล ทำให้เราแบ่งปันมุมมองร่วมกันมากขึ้น ฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกัน เราให้กำลังใจกันและกันเสมอ เพราะเราเชื่อว่า เราเอาชนะได้ เราเปิดใจมากสำหรับการเรียนรู้มัน ทำให้เรามีความรักให้กันมากขึ้น”

จนในที่สุดความพยายามก็เป็นผล

งานแรกที่สมบัดได้ทำคือ การอบรมวิธีการทำเกษตรอย่างยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยของอาหารที่มาจากการเกษตร นอกจากนี้เขายังเป็นผู้บุกเบิกการใช้เทคนิคการประเมินในชนบทแบบมีส่วนร่วม ( Participatory Rural Appraisal PRA ) ในลาวด้วย ในปี พ.ศ. 2539 เขาได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการของประเทศลาวให้ทำการก่อตั้งศูนย์อบรมร่วมพัฒนา (PADETC) เพื่อฝึกการอบรมให้กับชาวลาววัยหนุ่มสาวและเจ้าหน้าที่พัฒนาท้องถิ่น

- เคยคิดจะกลับไปอยู่บ้านเกิดไหมคะ

เราเอ่ยถามขึ้นจากประสบการณ์ที่เคยเห็นมา แต่คำตอบกลับทำให้เรารับรู้ได้ถึงความทุ่มเทและความมั่นคงที่มีจนต้องเอามือทาบอกตัวเองเพื่อประคองความรู้สึกแห่งคุณค่านี้ไว้

“ฉันเองไม่คิดว่าฉันจะกลับไปที่บ้านของฉันอีกเพราะอยู่ที่นี่ฉันทำงานที่นี่ เริ่มต้นเป็น NGOs ทำงานกับยูนิเซฟที่นี่ มันทำให้เรามีเหตุผลที่ดี ที่จะอยู่ที่นี่ เราต้องเป็นมืออาชีพและต้องอยู่ที่นี่ต่อไป ที่ที่มีงาน เป็นพื้นที่ที่มีความหมาย และมีเขาอยู่ที่นี่”

ซุยหมิงเล่าถึงความท้าทายในการทำงานที่ลาว เพื่อที่จะค้นหาพื้นที่การทำงานแห่งใหม่ และเพิ่มความเป็นมืออาชีพให้เธอกับสามี

“สมบัดเริ่มรวมกลุ่มคน เด็กๆ แม่บ้าน พวกเค้าก็ค่อยๆทำงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จนในที่สุดสมบัดก็ได้ตั้งองค์กรของตัวเอง นั่นคือการพัฒนาไปร่วมกัน กับ Partner ของเรา”

สมบัดทำงานร่วมกับผู้คนหลากหลาย ทั้งกลุ่มผู้หญิง เยาวชน และพระ เรียนรู้ร่วมกันจนนำไปสู่การร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ เธอเล่าอีกว่า สมบัด ชอบที่จะแลกเปลี่ยนและสนใจแนวคิดของ ส.ศิวลักษณ์ และประเทศไทยเป็นต้นแบบหลายๆ อย่างในลาว ทั้งการที่จะเริ่มต้นทำงาน NGOs และงานที่ต้องประสานความร่วมมือกับรัฐ “

สมบัดพยายามทำงานกับคนรุ่นใหม่อยู่เรื่อยๆ พวกเขามีพลัง เราคิดว่าจะต้องเอาพลังนั้นมาใช้ในทางที่ถูก การศึกษาเป็นมากกว่าโรงเรียน ทุกๆ ที่คือการเรียนรู้ไม่ใช่แค่ในหนังสือ แต่เรียนจากประสบการณ์ของผู้คน ทำยังไงจะเปิดพลังของคนรุ่นใหม่ เด็กๆ มาที่ออฟฟิศของเรา สมบัดจะเป็นคนรับฟังอยู่เงียบๆ ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นใคร และเขาปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม” แววตาของเธอส่องประกายเมื่อพูดถึงผู้ชายที่ใครๆบอกว่าเขาหายไป

“สมบัดเชื่อว่าเราจะต้องทำงานร่วมกันไม่สามารถที่จะเป็นศัตรูกันได้ทั้งหมด ทั้งกับรัฐและเอกชนมันคือการเป็นพาร์ทเนอร์กัน ไม่ใช่ศัตรู ตัวสมบัดเองเชื่อในความไม่รุนแรง เชื่อในความสันติวิธีและเขาจะคิดอยู่เสมอว่าทำยังไงให้เกิดสิ่งดีๆ ได้โดยไม่มีความรุนแรง”

- เคยทะเลาะกันไหมคะ เราเริ่มคำถามใหม่

“ 35 ปี ที่เราแต่งงานกันมา การทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติของความรัก ไม่มีทางเห็นด้วยกับทุกๆอย่างหรอก แต่เราก็ต้องเคารพกัน”

เธอยิ้ม .... น้ำตารื้นคลอเบ้า สายตาเหม่อมองไปก่อนจะตอบคำถามว่า “เพราะอะไรถึงเลือกผู้ชายคนนี้”

“เขาเป็นผู้ชายที่อ่อนโยนมาก ไม่เคยห้ามหรือใช้อำนาจแบบที่ผู้ชายเอเชียชอบทำเลย สิ่งที่เขาทำคือการสนับสนุน ทุกๆ อย่าง เขาไม่เคยห้ามที่ฉันจะต้องไปทำงานในหลายๆ ประเทศ เขาเข้าใจและสนับสนุนเสมอ”

เธอยังคงนิ่งคิด และทิ้งช่วงการตอบคำถาม คำตอบเริ่มขาดช่วง เราไม่อาจเดาได้ว่าคำตอบที่จะออกมานั้นจะเป็นเช่นไร ทำได้เพียงแต่รอให้เธอตอบออกมา

“ที่สำคัญคือ....ฉันโชคดีมากๆ ที่เจอผู้ชายอย่างเขา มันไม่ยุติธรรมเลยที่ผู้ชายอ่อนโยนและรักสงบแบบเขาจะถูก "อุ้ม" เขาคือสามีของฉัน ความรักของเรายังคงอยู่ตลอดเวลา มันต้องไม่ใช่แค่การหายไปเฉยๆ ฉันต้องการคำตอบ ฉันอยากรู้ความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเขา ฉันปล่อยให้เรื่องมันผ่านไปเงียบๆ ไม่ได้ มันคือความรับผิดชอบของฉันที่มีต่อคู่ชีวิต ฉันพยายามที่จะค้นหาเขา ไม่รู้ว่านานเท่าไหร่แล้วที่ข้อเรียกร้องของฉันไม่ได้รับการรับฟังจากรัฐบาล พวกเขาต้องรับผิดชอบ เพราะสมบัดคือพลเมืองของที่นี่”

ไม่ใช่คำพูดที่พร่ำพรูพร้อมกับหยาดน้ำตา แต่เป็นวาจาที่เข้มแข็ง มีพลังแฝงอยู่ในทุกถ้อยคำ

“หากว่าเรารู้ว่าเขาตาย หรือมีอุบัติเหตุ หรือโดนฆ่า นี่คือสิ่งที่ฉันจะรับรู้ว่ามันเกิดขึ้น แต่นี่ฉันไม่รู้อะไรเลยเขาแค่หายไปเฉยๆ และสิ่งที่ฉันจะต้องตามหาคือ ความจริง ตราบเท่าที่ฉันมีลมหายใจ มีชีวิต ฉันจะต้องค้นหา ในโลกนี้มีผู้คนมากมายที่หายไปครอบครัวของพวกเขาก็ยังคงตามหา และสำหรับฉัน สมบัดไม่เคยหายไป”

เราไม่สามารถถามคำถามใดต่อไปได้ จนเธอให้สติเรา ก่อนจะบอกว่ามีสิ่งที่อยากจะฝากไปถึงคนรุ่นใหม่

“ขอให้พวกเธอใช้ทุกอย่างที่มีใช้เพื่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม ที่สำคัญจงถามตัวเองอยู่เสมอว่าคุณอยากอยู่ในสังคมแบบไหนและคุณจะกลายเป็นอะไร ฉันมีเพียงความหวังถึงสังคมในอนาคตที่ดีขึ้น ฝากไว้ให้กับพวกคุณ”

เรายิ้ม กอด และบอกลา คุณค่าแห่งบทสนทนายังตราตรึงอยู่ในหัวใจของเรา เราเดินออกจากร้าน สมบัดช็อป ร้านที่สมบัดรวบรวมเอาผ้าทอมือของหญิงชาวชนบทมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างอาชีพให้แม่หญิงลาว โดยไม่ต้องไปทำงานในโรงงาน และได้อยู่ดูแลลูกๆ และครอบครัวที่บ้าน

ที่ที่ซุยหมิง จะยังคงดูแลรักษามันต่อไป รอคอยคนที่เธอรักกลับมาเห็นการพัฒนาของมัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท