'ฮิวแมนไรท์วอทช์' ขอกองทัพถอนฟ้องคดี 'อิสมาแอ เต๊ะ' หลังแฉปมซ้อมทรมานผ่าน Thai PBS

องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เรียกร้องให้กองทัพไทยควรถอนฟ้องคดี 'อิสมาแอ เต๊ะ' หลังแฉปมซ้อมทรมานผ่าน Thai PBS ชี้สิทธิของเหยื่อที่จะร้องเรียนเมื่อเกิดการซ้อมทรมาน และสอบสวนโดยพลันไม่ลำเอียง ได้รับการคุ้มครองตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี 

ภาพจากคลิปรายการนโยบาย By ประชาชน ซึ่ง อิสมาแอ เต๊ะ กล่าวไว้ในนาทีที่ 14.58 เป็นต้นไป https://youtu.be/JaNsOqR6AbA?t=898

15 ก.พ.2561 จากกรณีวานนี้ (14 ก.พ.61) แผนกฎหมาย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้รับมอบหมายจาก พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดี กับ อิสมาแอ เต๊ะ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย ผ่านรายการนโยบาย by ประชาชน ออกอากาศทางช่อง Thai PBS เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 ยื่นเอกสารและข้อมูลที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับหน่วยความมั่นคงต่อ พ.ต.ท .ถนัด ค่ำควร รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี เพื่อฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งและอาญา ทั้งปวง เอาผิดตามกฎหมายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องดังกล่าว อันส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อ กองทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นั้น

ล่าสุดวันนี้ (15 ก.พ.61) ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แสดงท่าทีเรียกร้องให้กองทัพไทยควรถอนฟ้องคดีดังกล่าว 

“กองทัพไทยกำลังตอบโต้เหยื่อการซ้อมทรมานและสื่อมวลชน ซึ่งรายงานข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง แทนที่จะลงโทษเจ้าหน้าที่ของตนเอง” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว พร้อมระบุว่า รัฐบาลทหารไทยซึ่งมีอำนาจควบคุมกองทัพ ควรสั่งการให้ถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทนี้ และให้ดำเนินการสอบสวนอย่างไม่ลำเอียงและจริงจังต่อการตอบโต้ที่ไร้เหตุผลเช่นนี้

แถลงของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุด้วยว่า กองทัพไทยจับกุมอิสมาแอและควบคุมตัวเขาที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานีในปี 2551 โดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก อิสมาแอบอกว่าทหารที่สอบสวนเขาได้ใช้ไฟฟ้าช็อต ชกเขา เตะเขา และใช้ไม้กระบองตีเขาจนเขาสลบไป ทั้งเจ้าหน้าที่ยังราดน้ำใส่เขาเพื่อให้เขาหายใจไม่ออก อิสมาแอบอกว่า เจ้าหน้าที่ใช้วิธีซ้อมทรมานเขาเพื่อบังคับให้รับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ในเดือน ต.ค. 2559 ศาลปกครองสั่งให้กองทัพชดใช้ค่าสินไหมชดเชยความเสียหายให้แก่อิสมาแอเป็นจำนวนเงิน 305,000 บาท สำหรับความเสียหายด้านอารมณ์และร่างกายที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงรายใดถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเนื่องจากการทรมานและการปฏิบัติมิชอบต่ออิสมาแอ

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ย้ำว่า สิทธิของเหยื่อที่จะร้องเรียนเมื่อเกิดการซ้อมทรมานและการปฏิบัติมิชอบ และการร้องขอให้มีการสอบสวนโดยพลันและไม่ลำเอียง ได้รับการคุ้มครองตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี รวมทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี  และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นอกจากนั้น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยืนยันข้อห้ามที่จะไม่ตอบโต้เอาคืน ไม่ข่มขู่และไม่คุกคามบุคคลซึ่งดำเนินการอย่างสงบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพและนอกเหนือจากนั้น
 
ในเดือน มิ.ย. 2557 คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (CAT) เสนอแนะ ให้ประเทศไทย “ดำเนินตามมาตรการทั้งปวงที่จำเป็นเพื่อ (ก) ยุติการคุกคามและการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว และผู้นำชุมชนโดยทันที และ (ข) สอบสวนอย่างเป็นระบบต่อรายงานว่ามีการข่มขู่ การคุกคามและการทำร้าย ทั้งนี้โดยุม่งให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีและการลงโทษผู้กระทำความผิด และประกันให้ผู้เสียหายและครอบครัวได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผล"
 
จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลไทยยังไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีจนสำเร็จกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติมิชอบต่อชาวมุสลิมเชื้อสายมาลายู และถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 คนนับแต่ปี 2547 นอกจากนั้น ประมวลกฎหมายอาญาของไทยยังไม่มีฐานความผิดทางอาญาต่อการทรมาน นอกจากปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทรมานและการปฏิบัติมิชอบที่ร้ายแรงอย่างอื่นแล้ว กองทัพไทยยังร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้ร้องเรียน โดยกล่าวหาว่าพวกเขาให้ข้อมูลเท็จ และมีเจตนาทำชื่อเสียงของตน
 
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้ด้วยว่า ความพยายามของกองทัพในการใช้คดีหมิ่นประมาท เพื่อตอบโต้เหยื่อการซ้อมทรมาน ตรงข้ามกับสิ่งที่เรียกว่า วาระสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ของนายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คำสัญญา อีกมากมายของเขาที่จะเอาผิดกับการทรมาน ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
 
“การแจ้งความดำเนินคดีของกองทัพไทยต่อนักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชน ซึ่งเปิดโปงปัญหาการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เท่ากับเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของข้ออ้างของรัฐบาลที่ว่า การปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนใต้ของตนเป็นไปอย่างสอดคล้องกับกฎหมาย” อดัมส์กล่าว และระบุว่า ความพยายามต่อต้านปฏิบัติการที่โหดร้ายของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมทรมานและอาชญากรรมที่ร้ายแรงอย่างอื่น
 
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้ายังได้แจ้งความคดีหมิ่นประมาททางแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 10 ล้านบาทจากสำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ จากการรายงานข่าวกรณีของอิสมาแอ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท