ความล้มเหลวของการต่อต้านคอร์รัปชัน 3: ระบบที่ออกแบบไว้ เมื่อ คสช.พ้นอำนาจไปแล้ว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อคสช.ไปแล้ว ระบบที่เป็นผลจากคำสั่งคสช. ยังมีอะไรบ้าง

คสช.จะพ้นจากอำนาจไป เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ารับหน้าที่ ระบบและกลไกต่อต้านคอร์รัปชั่นที่มีหัวหน้า คสช. เป็นประธานก็จะหมดหน้าที่ไปโดยปริยาย

แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ ได้แก่ คำสั่งที่ให้ยกเว้นการรับผิดทางกฎหมายและการยกเว้นการใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับโครงการใหญ่ๆบางโครงการ เป็นต้น นอกนั้นระบบและกลไกที่ คสช.สร้างไว้ในส่วนอื่น จะยังอยู่และมีสถานะที่ชอบด้วยกฎหมาย

ที่สำคัญ คือ ระบบและกลไกลของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจสอบดูแลการทุจริตคอร์รัปชันในส่วนของราชการประจำหรือส่วนที่นอกเหนือจากนักการเมือง เช่น ศูนย์ต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่อ้างคำสั่ง คสช.ด้วย ตั้งให้เลขาธิการ ปปช. เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมาจากองค์กรอิสระ มาเข้าร่วมเป็นกรรมการในองค์กรของรัฐบาล เรื่องนี้จะกลายเป็นความลักลั่นสับสนมาก

องค์กรอิสระ จะยังคงความเป็นอิสระอยู่ได้หรือไม่ องค์กรอย่าง ปปช.ซึ่งจะถูกเน้นบทบาทไปที่การตรวจสอบนักการเมืองยังจะมีบทบาทในการดูแลตรวจสอบดูแลการราชการประจำมากน้อยแค่ไหน และจะแบ่งหน้าที่กันกับกลไกที่สังกัดรัฐบาลและองค์กรอิสระอื่น อย่างเช่น  คตง.อย่างไร ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจน องค์กรต่างๆทั้ง ปปช.และองค์กรอื่นๆจะประสานและบูรณาการการทำงานกันอย่างไร ? โดยใคร? ก็ยังไม่มีใครทราบ

ระบบและกลไกที่ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญ

สาระสำคัญของระบบที่ออกแบบไว้สำหรับป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในอนาคต เมื่อคสช.พ้นจากหน้าที่ไปแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐธรรมนูญ

ในรัฐธรรมนูญที่อวดอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงนั้น มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน คือ เน้นการตรวจสอบและเอาผิดนักการเมือง รวมทั้งการเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ ได้แก่ กกต. ปปช.และศาล

มีการเพิ่มคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง

เพิ่มมาตรการในการกำจัดนักการเมืองที่เชื่อได้ว่า ทุจริตการเลือกตั้งออกจากการแข่งขัน คือ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง กกต.มีอำนาจ "แจกใบแดงชั่วคราว” ซึ่ง ก็คือ การสั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี ทั้งนี้ อำนาจการระงับสิทธิชั่วคราวให้เป็นที่สุด

หลังประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้านักการเมืองโกงให้เป็นหน้าที่ของศาลฏีกา โดยศาลฎีกาสามารถเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลาสิบปี

ให้มีการยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองที่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม โดยให้ ส.ส. หรือ ส.ว.สามารถ ร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ และมีการเพิ่มเติมเรื่องถอดถอนนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณ โดยให้สส.หรือสว.เสนอควมเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากพบว่า กระทำความผิดก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้นักการเมืองคนดังกล่าวพ้นจากสมาชิกภาพ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

และหากพบว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีมีส่วนรู้เห็นหรือรับรู้ แต่มิได้ทำการยับยั้ง ทั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. ก็สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเพื่อขอให้คณะรัฐมนตรีพ้นไปทั้งคณะก็ได้อีกด้วย

มีการกำหนดคุณสมบัติ อาทิ กรณีเคยถูกลงโทษในเรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตเป็นลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆอีกจำนวนมาก

ส่วนที่เกี่ยวข้องมากๆกับองค์กรและกลไกในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ก็คือ การเพิ่มอำนาจให้แก่ กกต.และปปช.

การยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองโดยองค์กรอิสระ

กกต. มีอำนาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อถอดถอนนักการเมืองได้ หากเห็นว่านักการเมืองคนใดขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ก็สามารถที่จะร้องต่อศารัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้บุคคลดังกล่าว ต้องพ้นไปจากตำแหน่งทางการเมืองได้ โดยไม่ต้องรอให้สส.หรือสว.เสนอ

ส่วน ปปช.สามารถ ยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม และสามารถยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองที่มีความผิด ฐานมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปรกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้หน้าที่และอำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

กำหนดให้องค์กรอิสระเป็นผู้กำกับเรื่องวินัยการเงินการคลัง

กำหนดให้ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ทำหน้าที่เป็นผู้คอยให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำหรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน และสามารถลงโทษทางปกครองได้ รวมทั้งดำเนินการร่วมกับกกต.และปปช.ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ

เมื่อกำหนดบทลงโทษหนักขึ้นมากและให้องค์อิสระ เช่น ปปช.เป็นต้น มีอำนาจมากขึ้นด้วยแล้ว ระบบตามรัฐธรรมนูญนี้ ก็เน้นเรื่องการรกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์ต่างๆเหล่านี้ไว้อย่างเข้มงวดที่เรียกกันว่า “ขั้นเทพ” เลยทีเดียว เช่น ที่เคยกำหนดว่า ต้องเคยเป็นอธิบดีหรือเทียบเท่ามาไม่น้อยกว่า 1 ปีก็เพิ่มเป็น 5 ปี ถ้าเคยเป็นข้าราชการการเมืองมาก่อน ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นต้น

ตรรกะของระบบในการปราบการทุจริตคอร์รัปชันในรัฐธรรมนูญปราบโกง ก็คือ กำหนดโทษให้หนัก เพิ่มอำนาจองค์กรที่ทำหน้าที่ในการปราบโกง แล้วกำหนดคุณลักษณะของบุคคลที่จะมาทำหน้าท่ีปราบโกงให้เข้มงวดเป็นพิเศษ ซึ่งคือ จุดเด่นที่ใช้มาอวดอ้างกันอยู่เสมอ

แต่จากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น 'จุดเด่น' กลับกลายเป็น 'จุดตาย'

ดังที่ทราบกันแล้ว คสช.เข้าแทรกแซงการตั้งกรรมการปปช.ที่หมดอายุลง กรรมการบางคนที่ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเก่า จึงขาดคุณสมบัติ เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันและกฎหมายใหม่ แต่สนช.ก็มาออกกฎหมายเล่นแร่แปรธาตุ จนทำให้กรรมการปปช.ชุดเดิมอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระอีก 7-8 ปีข้างหน้า ทั้งที่หลายคนขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามอย่างชัดเจน

ที่ทำให้เรื่องเลวร้ายยิ่งขึ้น ก็คือ มาเกิดเรื่องนาฬิกาเจ้าปัญหา แล้วพบว่าประธานปปช.เกิดเป็นคนที่คสช.เข้าแทรกแซงในการแต่งตั้งมาตั้งแต่ต้น และยังบังเอิญว่า เพิ่งพ้นจากตำแหน่งข้าราชการการเมืองมาไม่นาน ทั้งยังเป็นผู้ใกล้ชิดกับบุคคลสำคญในรัฐบาลที่กำลังจะต้องถูกปปช.สอบอยู่ด้วย

ระบบอันสวยหรูที่ออกแบบและคุยโอ้อวดกันมาตลอดก็พังทลายลงในพริบตา ไม่นับว่า ยังมีปัญหาอื่นๆของระบบนี้ มีอีกมากดังที่กล่าวมาแล้ว

จากนี้ไป ประเทศนี้จึงจะต้องอยู่กับระบบการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่เชื่อถืออะไรไม่ได้เลยว่า จะสุจริต โปร่งใสและตรงไปตรงมา เป็นระบบที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้และไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่มีหลักประกันใดๆว่า ระบบที่มุ่งจัดการอย่างเอาเป็นเอาตายกับคนในบางอาชีพจะไม่เกิดการเลือกปฏิบัติ

เมื่อระบบปราบการทุจริตคอร์รัปชันพิกลพิการเสียแล้ว การทุจริตที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้อาจไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างถูกต้องจริงจัง และยิ่งนานไปการทุจริตคอร์รัปชันก็จะเกิดขึ้นมากมายมหาศาลอย่างไม่ต้องสงสัยเลย

หมายเหตุ: เขียนมา 3 ตอน น่าจะสามารถสรุปเป็นข้อสังเกตได้พอสมควร ขอเป็นตอนหน้า ซึ่งจะเป็นตอนสุดท้ายแล้ว จะเขียนให้สั้น กระชับ และเป็นประโยชน์ครับ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท