Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ข่าวการจับกุมนายเปรมชัย กรรณสูตร เจ้าของธุรกิจก่อสร้างยักษ์ใหญ่ ได้สร้างพึงพอใจให้กับสังคมในการปกป้องชีวิตสัตว์ป่า ด้วยความหวังว่าทุกคนเท่าเทียมตามกฎหมาย ในปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ และนายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก ได้รับการยกย่องจากสังคมอย่างสูง

ในขณะที่ กรมอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตกเข้าควบคุมตัวนายเปรมชัย และเพื่อน ที่มีอาวุธร้ายแรง เช่น ปืนไรเฟิล อย่างสงบ แต่ก่อนหน้านี้ไม่นาน หน่วยงานนี้มีการปฏิบัติการรุนแรงกับชาวบ้านด้วยการซุ่มยิงชาวบ้านที่ออกไปหาของป่า

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 เจ้าหน้าที่อุทยานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก ที่มีนายวิเชียร ชิณวงษ์ เป็นหัวหน้าหน่วย ได้ไปซุ่มยิงชาวบ้านห้วยเสือ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ ที่ไปหาของป่า ตายหนึ่ง บาดเจ็บหนึ่ง

Thai PBS มีสกู๊ปเรื่องนี้ เหตุการณ์นี้ได้นำไปสู่การประท้วงของชาวบ้านกว่า 100 คน ร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับผู้ตายจากการทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่อุทยานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในวันที่ 13 พฤศจิกายน หน่วยงานนี้ชี้แจงว่ามีเหตุจำเป็นในการยิงชาวบ้าน

ก่อนหน้านั้นหนึ่งปี ในเดือนพฤศจิกายน 2559 เจ้าหน้าที่อุทยานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งใหญ่นเรศวร เช่นเดียวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก ได้ซุ่มยิงชาวบ้านที่ไปเก็บเห็ดเสียชีวิต ที่บ้านไกเกียง สรุชา บุญเปี่ยม สปริงนิวส์ เคยทำรายงานเรื่องนี้ และติดตามความคืบหน้า ล่าสุดญาติผู้เสียชีวิตกำลังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่

พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งแต่ปี 2525 เจ้าหน้าที่อุทยานยิงชาวบ้านแถบนี้ตายอย่างน้อย 5 คน ชาวบ้านที่ถูกยิงตายเป็นชาวกะเหรี่ยง รวมถึงคนตายรายล่าสุด แต่ไม่ปรากฎเป็นข่าวเพราะยังไม่มีเฟสบุ๊ค ถ้ามีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากพื้นที่อื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนี้ จำนวนรวมอาจจะมากกว่านี้ การไม่เคยเป็นข่าวก่อนหน้ายุคเฟสบุ๊ค ย่อมแสดงว่าพวกเขาเป็นผู้ถูกหลงลืมไปสังคมไทย ได้ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แถบนี้มานานกว่าสองร้อยปี

ข่าวเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ สื่อจะรายงานเฉพาะจากฝ่ายกรมอุทยานแห่งชาติเท่านั้น ไม่มีความพยายามใดๆ ในการหาข้อเท็จจริงจากฝ่ายชาวบ้าน ถ้าไม่มีเฟสบุ๊ค เหตุการณ์ครั้งหลังสุดนี้ก็เหมือนจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น

หลังการแพร่กระจาย การยิงชาวกะเหรี่ยงไกเกียงบนเฟสบุ๊ค ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ผู้ไม่เคยพูดถึงการคุกคามชาวกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร แต่ได้ปกป้องการกระทำเจ้าหน้าที่อุทยาน ด้วยแชร์ผู้ใช้เฟสบุ๊ค “ปุณพจน์ ศรีเพ็ญจันทร์” ที่เล่าว่า เจ้าหน้าที่ยิง เพราะชาวบ้านมีอาวุธเล็งมาที่เจ้าหน้าที่อุทยาน จึงจำเป็นต้องยิง เหมือนกับคำอธิบาย การซุ่มยิงชาวบ้านห้วยเสือทองผาภูมิของเจ้าหน้าที่อุทยานทุ่งใหญ่ตะวันตก

ผมได้เขียนถาม ศศิน ว่า “ทำไมคุณไม่เล่าเหตุการณ์จากฝ่ายชาวบ้านด้วย ทำแบบนี้เท่ากับปกป้องการกระทำเกินกว่าเหตุ”

ศศิน ตอบ “จะให้ผมทำยังงัย”

เมื่อบุคคลที่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่อุทยาน ได้มาตอบและบอกว่าชาวบ้านเลว ล่าสัตว์ ยิงเจ้าหน้าที่ พวกเขาอดทนอดกลั้น

ผมถามไปว่า “ถ้าพวกคุณรู้จักชาวบ้านและพื้นที่ดี ช่วยอธิบายว่าชื่อห้วยขาแข้งมาจากไหน”

เขาตอบว่า “เ...ย”

ผมไม่สามารถแคปเจอร์หน้าจอมาได้ เพราะศศิน ได้อันเฟรนด์ไปแล้ว

สื่อส่วนใหญ่จะเผยแพร่ผลงานการจับกุม ทำให้เห็นกรมอุทยานแห่งชาติเป็นหน่วยงานแสนดี และหลีกเลี่ยงการรายงานการคุกคามชาวบ้าน การรายงานข่าวก็มักเกิดขึ้นจากการแพร่กระจายบนเฟสบุ๊ค เมื่อมีการแพร่กระจายบนเฟสบุ๊คแล้ว สื่อส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่ให้หน่วยงานรัฐชี้แจงฝ่ายเดียว ไม่ให้น้ำหนักกับเสียงชาวบ้าน แน่นอนบทบาทของสื่อในยุคปัจจุบันไม่มีความสำคัญอีกแล้ว เพราะชาวบ้านมีเครื่องมือการสื่อสารยุคใหม่ที่ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาสื่ออีกต่อไป

ด้วยข้ออ้างปกป้องผืนป่าของทางการ แล้วชี้ว่าชาวบ้านกะเหรี่ยงเหล่านี้บุกรุกป่าย่อมไม่ถูกต้อง เพราะพวกเขาอยู่ที่นี่มายาวนาน จากเว็บบ้านจอมยุทธ สรุปว่า พวกเขาตั้งถิ่นฐานมานานตั้งแต่สมัยพระไชยราชา

ในประวัติศาสตร์ ชุมชนชาวกะเหรี่ยงสังขละบุรีต้องส่งเครื่องบรรณาการให้ผู้ปกครองไทย ย่อมแสดงฐานะเป็นประเทศราช สังขละบุรีเป็นรัฐกันชนไทยกับพม่า พวกเขามีส่วนปกป้องราชอาณาจักรไทยจากสงครามระหว่างรัฐไทยกับรัฐพม่า จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าให้ เจ้าเมืองสังขละบุรี มีตำแหน่งพระศรีสุวรรณคีรี เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย

จากวรรณคดีขุนช้างขุนแผน ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นยุคต้นกรุงรัตนโกสินธ์ แต่อาจจะเป็นเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยา เมื่อขุนไกร ถูกลงอาญาของพระเจ้าอยู่หัว นางทองประศรีพาขุนแผนไปอยู่ในพื้นที่กาญจนบุรีและสามารถพ้นราชภัยได้ ย่อมแสดงว่า ราชอาณาจักรไทยยุคนั้น มีพรมแดนสิ้นสุดที่สุพรรณบุรีเท่านั้น

ชาวกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่มีความเชื่อของตัวเองที่เรียกว่า ฤาษี หรือ เพอเจะ ในภาษาปกาเกอะญอ มีตำนานบอกว่า พวกเขาต้องอาศัยอยู่ในทุ่งใหญ่นเรศวร  หรือเซซาโว่ ชื่อในภาษาโพล่ง เพื่อเข้าสู่สังคมพระศรีอารยะ เรื่องนี้ดูเหมือนว่า มีศักดิ์สิทธิ์ปกป้องความเชื่อนี้

ตำนานฤาษีได้เล่าช่วงเวลาย้อนไปหลายร้อยปี เล่าถึงฤาษีองค์แรก ได้มาถึงเซซาโว่ ประกาศความเชื่อและมีอุปสรรคขัดขวาง จนวันหนึ่งฤาษีองค์นี้ประกาศว่า ในเมื่อส่งเสริมให้คนทำดีไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม แล้วกระโจนเข้าสู่กองไฟ เผาตัวตาย

ถ้าพูดถึงอาถรรพ์ทุ่งใหญ่นเรศวร พวกเราอาจจะนึกถึงเหตุการณ์คดีล่ากระทิงป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในปี 2516 แต่เหตุการณ์เหลือเชื่อเกิดขึ้นเมื่อมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน ในปี 2522 เสียงคัดค้านเป็นอย่างกว้างขวาง ในปี 2526 เกิดแผ่นดินไหวที่กาญจนบุรี ความรุนแรงมากกว่า 5 ริกเตอร์หลายครั้ง แรงสั่นสะเทือนรับรู้ถึงกรุงเทพฯ นี่น่าจะเป็นสาเหตุทำให้มีการทบทวนแผนการก่อสร้าง หลังจากนั้นแผ่นดินไหวที่กาญจนบุรีมีความถี่น้อยลงเป็นหลายปีต่อครั้ง และความรุนแรงไม่เกิน 4 ริกเตอร์ ด้วยเครื่องวัดที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ปัจจุบันเครื่องวัดของไทยรับรู้ได้ถึงการเคลื่อนไหวที่ระดับ 1 ริกเตอร์

เหตุการณ์คดีล่ากระทิงป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อาจจะไม่ใช่อาถรรพ์จากการล่าสัตว์โดยตรง แต่เป็นอาถรรพ์จากการสร้างเขื่อนเขาแหลม และเขื่อนศรีนครินทร์ ที่คุกคามพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวร แต่เรื่องอาถรรพ์ทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นเพียงเรื่องเล่าและความเชื่อเท่านั้น ไม่อาจจะพิสูจน์ได้

ชาวกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวรที่อุ้มผาง ที่รวมตัวในเชื่อกลุ่ม “ต้นทะเล” ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง เคยเสนอกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออกว่า พวกเขาควรจะให้เก็บสมุนไพรจากป่า เช่น กระวาน มะอิ เพื่อการจำหน่าย เพราะนี่จะทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับ จะได้ช่วยกันรักษาสภาพป่าไว้ ตัวอย่างเช่น ที่บ้านม่งคั๋วะหรือหม่องคั๋วะ ใน ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง มีพื้นที่ราบที่เหมาะสมกับต้นมะอิ แต่ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์จึงแปลงสภาพจากทุ่งมะอิเป็นที่นาแทน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับข้อเสนอนี้และยินยอมให้เก็บผลผลิตมะอิ แต่ทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก มีความเป็นมาบางประการที่เจ้าหน้าที่ยอมผ่อนปรนมากกว่าที่อื่น

ชาวกะเหรี่ยงกลุ่ม “ต้นทะเล” ได้รับรางวัล “คนค้นฅนอวอร์ด” ในปี 2555

การคุกคามชาวกะเหรี่ยงและที่ทำกินที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ไม่ใช่พื้นที่เดียว เรื่องนี้ทำให้คิดถึงการบุกขับไล่และเผายุ้งข้าวชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ของเจ้าหน้าที่อุทยานนำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และทหารติดอาวุธ เหตุการณ์ครั้งนั้น ปรากฎว่าเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงกำลังพลและเฮลิคอปเตอร์ค้นหาตก ทำให้มีการวิจารณ์ของชาวกระเหรียงว่านี่เป็นอาถรรพ์ของการเผายุ้งข้าว

เมื่อพูดถึงทุ่งใหญ่นเรศวร ต้องคิดถึงสืบ นาคะเสถียร คุณสืบมีอุดมการณ์ปกป้องป่าและสัตว์ป่า แต่ความสิ้นหวังของเขาไม่ใช่ปัญหาการปกป้องจากบุคคลภายนอก ทว่าสิ้นหวังกับผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน ที่นำไปสู่การทำอัตวินิบาตกรรม

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้รับการยกย่องจากสื่อจำนวนมาก ครั้งหนึ่ง มาโนช พุฒตาล เคยทำสกู๊ป ผู้ปกป้องผืนป่าตะวันตก ออกอากาศช่อง Thai PBS ยกย่องเจ้าหน้าที่อย่างเลอเลิศในฐานะผู้ปกป้องผืนป่า

เกี่ยวกับหน่วยงานนี้ มีพระธุดงค์รูปหนึ่ง ที่ธุดงค์ทุ่งใหญ่นเรศวรหลายครั้ง เล่าให้ฟังว่า เจ้าหน้าที่อุทยานเป็นตัวการล่าสัตว์ มีครั้งหนึ่งเดินผ่านหลังสำนักเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีซากสัตว์เพิ่งชำแหละเสร็จมาทิ้งไว้ พระรูปนี้ไม่มีเหตุโกรธเคือง จึงไม่มีเหตุอะไรจะต้องปั้นเรื่องเท็จ ซึ่งเป็นบาปใหญ่หลวงกับผู้ทรงศีล

ในสกู๊ปนั้น มาโนช พุดตาล ไม่ได้พูดถึงหน่วยงานนี้อย่างรอบด้าน และไม่มีการรายงานถึงการสังหารชาวบ้านในพื้นที่รับผิดชอบด้วยเช่นกัน

ทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และหน่วยอื่นๆ ของกรมอุทยานต่างปฏิบัติอย่างรุนแรงกับชาวบ้าน ละเมิดต่อสิทธิการดำรงชีวิต ละเมิดต่อทรัพย์สินด้วยเข้าครอบครองอย่างไม่ชอบธรรม เห็นชาวบ้านเป็นศัตรู คุกคาม และสังหาร มาโดยตลอด จนเป็นนโยบายแท้จริงในเชิงพฤตินัย

ถ้าฝ่ายรัฐจัดการผืนที่ป่าที่มีผู้ครอบครองมาก่อนด้วยการให้มีส่วนรวม เช่น ตามแนวทางหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ย่อมนำไปสู่การรักษาป่าที่ยั่งยืน เพราะชาวบ้านไม่ใช่แค่ผู้อยู่อาศัย ที่ไม่มั่นใจว่าจะถูกขับไล่เมื่อไร มาเป็นผู้ที่ตั้งถิ่นฐานถาวร พวกเขาย่อมจะพยายามรักษาผืนป่าอย่างเข้มแข็ง เหมือนข้อเสนอของกลุ่มกะเหรี่ยง “ต้นทะเล” เจ้าหน้าที่อุทยานย่อมจะได้รับการสนับสนุนกับคนในที่พื้นที่

การยอมให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมย่อมเกิดขึ้นยาก เพราะการบังคับใช้กฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ให้อำนาจเด็ดขาดกับพวกเขาตามระบบอำนาจนิยม

การจับกุมนายเปรมชัย กรรณสูตร ของนายวิเชียร เป็นเรื่องถูกต้อง กรมอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตกสมควรได้รับการยกย่องอย่างยิ่ง ในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

แต่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งสองแห่งสังหารชาวบ้านเป็นกระทำเกินกว่าเหตุ กรมอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องรับผิดชอบและทบทวนการเลือกปฏิบัติ กรมจะต้องปฏิบัติกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่การจับกุมกับคนกลุ่มหนึ่ง และยิงทิ้งคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับเดียวกัน

ในเมื่อสังคมจะเรียกร้องความเป็นธรรมให้สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ก็ต้องเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวบ้านทุ่งใหญ่นเรศวรด้วย

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net