Skip to main content
sharethis

ประเด็น “กลไกการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ระบอบ คสช.” ของ สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ และธีรวัฒน์ ขวัญใจ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมคำถามเราสอนนักกฎหมายกันแบบไหนที่ทำให้มองกฎเกณฑ์ของ คสช.เป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่อาจโต้แย้งได้

“กลไกการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ระบอบ คสช.” ช่วงการนำเสนอโดยธีรวัฒน์ ขวัญใจ

ธีรวัฒน์ ขวัญใจ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

18 ก.พ.2561 ในการเสวนาวิชาการ "ตุลาการธิปไตย ศาล และรัฐประหาร" จัดที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่วงเสนอบทความ “กลไกการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ระบอบ คสช.” ของ สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ และธีรวัฒน์ ขวัญใจ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่ง ธีรวัฒน์ เป็นตัวแทนนำเสนอ ดังนี้

ตอนนี้ คสช.เป็นผู้ทรงอำนาจที่เปลี่ยนความเชื่อของเราก่อนหน้านี้ไปโดยสิ้นเชิง ก่อนปี 2557 เราคงไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะอยู่ในจุดอย่างทุกวันนี้ได้ คณะบุคคลครองอำนาจและใช้อำนาจอย่างเต็มที่มานานจนจะครบ 4 ปี อะไรที่ทำให้อำนาจของ คสช.แม้จะถูกต่อต้านแต่ยังดำรงอยู่มั่นคง มันคงไม่ใช่แค่ความกลัว แต่ต้องมีอะไรมากกว่านั้น คสช.นั้นอ้างอยู่เสมอว่า การดำเนินการของ คสช.เป็นไปตามกฎหมาย ประเด็นที่ “น่าจะ” สะกิดใจนักกฎหมายก็คือ มันเป็นกฎหมายอย่างไร เป็นกฎหมายของใคร และดำเนินการโดยกลไกใด ภาคส่วนใดสนับสนุน เราจึงศึกษาเพื่อหารูปแบบหรือตรรกะในการใช้กฎหมาย

“กฎหมายก็เป็นไปตามกฎหมาย กฎหมายละเว้นไม่ได้ จะปล่อยตัวได้อย่างไร ทุกอย่างมีขั้นตอนมีกระบวนการ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพูดถึงกรณีจับนักกิจกรรมประชามติ เป็นการพูดกับนิสิตมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ภาคอีสาน

ตัวหลักที่ใช้ในช่วงแรกหลังการรัฐประหารคือ ประกาศ คสช.ที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยใช้ควบคู่กับกฎอัยการศึกที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วันก่อนส่งพนักงานสอบสวน เมื่อยุติการประกาศใช้กฎอัยการศึกก็ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 แต่เราจะเห็นว่าคำสั่งทั้ง 2 ฉบับไม่ได้ถูกนำมาใช้กับการแสดงออกทุกกรณี หลายกรณีมีการเลือกเอากฎหมายในระบบปกติที่มีอยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ชุมนุม และมีการนำกฎหมายที่ไม่มีใครคิดมาก่อนว่าจะใช้คือ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเรียบร้อยของบ้านเมือง และพ.ร.บ.ควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียง

จะเห็นได้ว่าในบรรดาคดีทั้งหมดที่ควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน มีการนำกฎหมายมาใช้มากและหลากหลาย จนอาจจะหารูปแบบและตรรกะค่อนข้างยาก จึงเริ่มต้นจากการสำรวจคดีนับตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจจนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีคดีทั้งหมด 77  คดี นับกรณีที่มีกฎหมายบังคับใช้ส่วนการดำเนินการไม่จำเป็นต้องถึงชั้นศาล อาจจบที่ชั้นเจ้าหน้าที่ที่เปรียบเทียบปรับก็ได้ ตัวเลขอาจคลาดเคลื่อนไปบ้างเพราะตกหล่นและบางกรณียังใช้กฎหมายทับซ้อนกัน ในจำนวนนี้มี 44 กรณีที่บังคับควบคุมเสรีภาพในการชุมนุม มี 15 กรณีที่เป็นเรื่องประชามติ และเสรีภาพสื่อที่ถูกควบคุมโดยใช้คำสั่ง คสช.โดยตรงมี 6 กรณี แต่ที่ใช้อำนาจผ่าน กสทช.ยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่ได้รวมเข้ามา ส่วนอีก 15 กรณีเป็นการควบคุมเสรีภาพในสื่อสังคมออนไลน์ และกรณีย่อยอื่นๆ อีก 15 กรณี

หากแยกเป็นหมวดจะพบว่ามีการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมมากที่สุด แยกเป็นตามประกาศ 7/57 ทั้งหมด  17 กรณี หลังจากนั้นมีคำสั่ง 3/58 มี 16 กรณี อีก 8  กรณีเป็นการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุม และมี 2 กรณีที่ใช้พ.ร.บ.ความสะอาด กับอีก 2 กรณีใช้กฎหมายเครื่องขยายเสียง

คดีส่วนใหญ่จะถูกกำหนดให้ต้องไปอยู่ในอำนาจของศาลทหาร คดีชุมนุมทั้งหมดไปศาลทหารยกเว้นคดีคุณอภิชาติและคุณวีรยุทธ (ประท้วง คสช.หน้าหอศิลป์วันที่ 23 พ.ค.2557)

ช่วงประชามติมีคดีเยอะ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกประชาชนที่ร่วมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ถูกบังคับตามคำสั่ง 3/58 มีหลายจังหวัดที่โดน และที่อิมพีเรียลเวิร์ลด์ แกนนำ นปช.ก็โดนด้วยโดยได้สิทธิย้อนเอาประกาศ 7/57 มาใช้ทั้งที่ถูกแทนด้วยคำสั่ง 3/58 แล้วเพราะโทษสูงกว่าหนึ่งเท่าตัว แล้วก็มีกลุ่มดาวดิน กลุ่มประชาธิปไตยใหม่

กรณีของการจำกัดเสรีภาพสื่อสังคมออนไลน์ มีทั้งหมด 15 กรณี อยู่ในอำนาจศาลทหาร 6 กรณี ศาลยุติธรรม 8 กรณี อีก 1 กรณีอยู่ในชั้นสอบสวน เหตุที่จำนวนหนึ่งขึ้นศาลทหารเพราะเป็นพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ + ม.116  

ภาพรวมทั้งหมด ในช่วงต้นจะมีการใช้คำสั่ง คสช.จำนวนมาก ใช้อำนาจพิเศษเยอะ แต่ช่วงหลังกลับปล่อยให้จัดกิจกรรมได้แล้วแจ้งความดำเนินคดีในภายหลัง

คำถามคือ ตัว คสช.มีอำนาจเต็ม ทำไมไม่ใช้อำนาจเต็มให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว หลายกรณีกลับใช้กระบวนการยุติธรรมทั้งหมด อาจเป็นไปได้ว่าช่วงแรก คสช.อาจไม่มั่นใจก็เลยใช้กลไกพิเศษในการบังคับตามกฎอัยการศึก หลังจากนั้นพอเริ่มเห็นความเป็นไปในกระบวนการยุติธรรม เห็นคำพิพากษาในหลายคดี เข้าใจว่าน่าจะเกิดความไว้วางใจมากขึ้นว่า ใช้กระบวนการยุติธรรมปกติก็ควบคุมการแสดงออกได้ ไม่มีอะไรติดขัด ช่วงหลัง คสช.จึงใช้คำสั่งพิเศษเพียงกรณีที่สำคัญจริงๆ

ศาลทำอะไรบ้างในระหว่างนี้ หากไม่นับรวมคดี 112  จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะขึ้นศาลทหารกับศาลยุติธรรม สถิติคดีศาลทหารมี 15 คดี เป็นการชุมนุม 11 คดี ทั้งหมดนี้พิพากษาลงโทษตามฟ้อง มีกรณีที่ยกฟ้องคือ กรณีของคุณชัชวาลย์นำเสนอข่าวการต่อต้านรัฐประหาร ศาลพิพากษาว่าไม่มีเจตนากระทำผิดตามฟ้อง ศาลพลเรือนมีกรณีหลากหลายมากกว่าศาลทหาร จะเห็นความแตกต่างนิดหนึ่งเพราะไม่ได้ลงโทษทั้งหมด โดยในกรณีที่ใช้กฎหมายปกติ เช่น พ.ร.บ.ชุมนุ หรือพ.ร.บ.ประชามติ ศาลยุติธรรมมีดุลยพินิจที่จะปรับใช้บทกฎหมายให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ตัวอย่างกรณีประชามติ “ลุงสามารถ” แจกใบปลิวที่เขียนว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ ศาลเชียงใหม่ยกฟ้องบอกว่าข้อความไม่ได้สื่อถึงร่างร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง หรือแม้สื่อถึงร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง คนลงประชามติมีวุฒาภาวะพอที่จะเลือกออกเสียง แต่ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งศาลจังหวัดอุบลราชธานีลงโทษ “คุณวิชาญ” ที่พูดว่าร่างรัฐธรรมนูญวิปริต เฮงซวย แม้คุณวิชาญบอกว่าเป็นการพูดกับพ่อค้าที่รู้จักกันแต่ศาลบอกว่าพูดเสียงดังในที่คนผ่านไปมา ถือว่าเชิญชวน แม้มีความแกว่งในการพิพากษาอยู่แต่อย่างน้อยก็มีช่องให้ผู้ต้องหาต่อสู้ป้องกันสิทธิตนเอง แต่กรณีชุมนุมที่ขัดคำสั่ง คสช.นั้นตัดสินว่ามีความผิดทั้งหมด มันจึงยากมากที่จะปลดเปลื้องหรือต่อสู้เพราะศาลไปยอมรับเสียแล้วว่าเป็นคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ยังไงก็มีผลบังคับใช้

บทบาทของศาลจะค่อนข้างแน่นอนว่า เรื่องการชุมนุมศาลจะบังคับให้ตามคำสั่งของ คสช. อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดที่คดีจำนวนมากยังค้างอยู่ทั้งสองศาล ทำให้ยังวิเคราะห์ไม่ได้แน่ชัดว่าทั้งสองศาลอยู่ในฐานะผู้พิทักษ์สิทธิหรือผู้บังคับใช้คำสั่งคสช.

เมื่อพิจารณาคำพิพากษาในหลายกรณี มุมมองของผู้พิพากษาคือ ความถูกต้องนั้นคือความถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มองว่ามีความชอบธรรมอีกหลายประการที่จะกำกับความชอบธรรมของกฎหมาย กฎหมายไม่ใช่ความชอบธรรมอันเดียว และดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่เกี่ยวพันกับความชอบธรรมอื่น ตัวอย่างเช่น ความชอบธรรมเชิงสังคม ความชอบธรรมในเชิงศีลธรรม เราสอนนักกฎหมายกันแบบไหนที่ทำให้ไปมองกฎเกณฑ์ของ คสช.ว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่อาจโต้แย้งได้โดยสมบูรณ์ นี่น่าจะเป็นปัญหาร่วมของสังคม

ตุลาการธิปไตย ศาลและรัฐประหาร

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมทางวิชาการ “ตุลาการธิปไตย ศาลและรัฐประหาร” โดยเป็นส่วนหนึ่งในชุดการเสวนาวิชาการ “ประเทศไทยไม่ทำงาน” (Dysfunction Thailand) ของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง จัดที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2560 สนับสนุนโดยสถานทูตอังกฤษ สถานทูตแคนาดา และมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ จากเยอรมนี 

เยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชี้แจงความเป็นมาว่า "ศูนย์ทนายฯ นอกจากเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแล้วยังรวบรวมบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุคนี้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป การแก้ไข การเยียวยา"

"จากการทำงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่างๆ เรามีข้อมูลอยู่จำนวนหนึ่ง ที่ทำให้เห็นว่าครั้งนี้คสช.ไม่ได้ใช้อำนาจทหารเพียงลำพัง แต่มีการใช้กระบวนการทางกฎหมาย ทั้งประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. กฎหมายปกติ กระบวนการยุติธรรม และอำนาจตุลาการที่เข้ามารับรองการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารของคสช. ละเมิดและจำกัดสิทธิของประชาชน ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ทั้งประชาชนธรรมดา นักข่าว นักวิชาการ ทนาย ก็สามารถตกเป็นผู้ต้องหาได้โดยไม่รู้ตัว"

นอกจากนั้นหลังรัฐประหารยังมีประกาศใช้ศาลทหารกับพลเรือน แม้ภายหลังคสช.จะยกเลิกการใช้ศาลทหารกับพลเรือนในวันที่ 12 กันยายน 2559 แต่ก็ยังมีคดีของประชาชนที่ยังดำเนินการที่ศาลทหารอยู่ เช่น คดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก คดีประชามติ ในช่วงสิงหาคม 2559

"เราจึงเห็นว่าควรทำงานร่วมกับนักวิชาการ เพื่อเปิดมุมมองว่าเบื้องหลังข้อเท็จจริงและเหตุการณ์มันเกิดอะไรขึ้น โดยร่วมมือกับนักวิชาการสถาบันต่างๆ เป็นที่มาของการนำเสนอบทความ 5 บท และภาพรวมของรัฐประหาร และศาล"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net