Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




บทความฉบับก่อนของผมเรื่องกระบวนการสันติภาพ [1] จบลงด้วยความคาดหวังสูงว่าจะมีการทดลองใช้ “พื้นที่ปลอดภัย” เป็นโครงการนำร่องในช่วงต้นปี 2560 แต่สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ได้เกิดขึ้น  นี่คือการแสดงว่ากระบวนการสันติภาพนั้นไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ เปราะบาง และไม่เคยที่จะไม่มีอุปสรรค  คณะทำงานทางเทคนิคร่วม (Joint Technical Team/JTT) ของทั้ง Party A และ Party B ได้ทำงานเพื่อร่างกรอบทั่วไปสำหรับพื้นที่ปลอดภัย (General Framework for the Safety Zones/GF-SZ) มาตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2559 ร่างเสร็จสิ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และได้เสนอไปยังที่ประชุมคณะทำงานร่วมที่สาม-กระบวนการพูดคุยสันติสุข (Third Joint Working Group - Peace Dialogue Process /JWG-PDP) เพื่อให้การรับรองเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในกระบวนการสันติภาพ  น่าสนใจยิ่งที่วันที่นั้นตรงกันกับวันพิธีลงนามแห่งประวัติศาสตร์ของฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Consensus on the Peace Dialogue Process) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อสี่ปีก่อน 

Party B ได้เสนอพื้นที่ห้าอำเภอให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้เลือกเป็นโครงการนำร่องหนึ่งพื้นที่ นั่นคือสองอำเภอใน จ.นราธิวาส  สองอำเภอใน จ. ยะลา และอีกหนึ่งอำเภอใน จ.ปัตตานี 

ชื่อของอำเภอเหล่านี้ไม่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ  หลังจากที่มีการรับรองกรอบทั่วไปฯ แล้ว คณะทำงานทางเทคนิคร่วมได้พัฒนารายละเอียดองค์ประกอบ กฎระเบียบ และการดำเนินการต่างๆ ของตัวกรอบฯ ต่อไป  สิ่งที่สำคัญของวาระการทำงานก็คือการปล่อยนักโทษ ระเบียบทางกฎหมายและนัยยะต่างๆ การตั้งเซฟเฮาส์ให้เป็นศูนย์ประสานงาน และการตั้งคณะกรรมการปฏิบัติการร่วม (Joint Action Committee /JAC) ในพื้นที่ปลอดภัยที่กำหนด

คณะทำงานทางเทคนิคร่วมประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 6 เมษายน 2560 เพื่อตั้งคณะประเมิน (Assessment Team/AT) ขึ้นมาสำรวจและระบุเขตอำเภอที่จะเริ่มทำโครงการนำร่อง  ทว่า ในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 27 เมษายน 2560 นั้น ประเด็นคณะประเมินได้ตกไปเนื่องจาก Party B ได้รับสิทธิในการเลือก “อำเภอหนึ่ง” ในช่วงเริ่มขั้นเตรียมการ  การประชุมจึงดำเนินไปกับการอภิปรายเรื่องเซฟเฮาส์ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานที่จะมีคณะทำงานท้องถิ่นร่วมเป็นผู้ดำเนินการ (7 คนจากแต่ละฝ่าย) ที่จะมาช่วยและประสานงานการก่อตั้งคณะกรรมการปฏิบัติการร่วมในพื้นที่ปลอดภัย

เอกสารต่างๆ เกี่ยวกับพื้นที่ปลอดภัยยังคงถูกปิดเป็นความลับเช่นเดียวกันกับข้อตกลงภาระงาน (Terms of References) นี่ทำให้เกิดคำถามและการคาดการณ์ไปมากมาย  ช่วงเวลาที่ “ไม่มีการประชุม” อยู่เกือบสี่เดือนทำให้เกิดคำถามมากขึ้นไปอีก  พวกเขากำลังมีปัญหาที่โต๊ะเจรจาหรือ? กระบวนการนั้นเป็นไปได้และกำลังขับเคลื่อนไปหรือเปล่า? และมีคำถามเกี่ยวกับตัวพื้นที่ปลอดภัยเอง มันเป็นการตกลงหยุดยิงหรือเป็นโมเดลเรื่องบริเวณปลอดภัย? คำตอบคือไม่ใช่ทั้งสองอย่าง

พื้นที่ปลอดภัยนั้นเป็นเรื่องของการคุ้มครองพลเรือน  ในบริเวณที่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่ปลอดภัย ความปลอดภัยและความอยู่ดีกินดีของพลเรือนในการใช้ชีวิตประจำวันนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด  ทั้งสองฝ่าย (A และ B) จะละเว้นจากการกระทำใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อพลเรือนได้  ในทางอุดมคติแล้ว ในพื้นที่ปลอดภัยไม่ควรจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ก่อโดยทั้งสองฝ่ายเลย  แต่ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อหาตัวผู้ละเมิด และเมื่อยืนยันตัวได้ก็จะดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่

ประการที่สอง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้รับการประกัน  ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นของตนโดยเฉพาะความเห็นทางการเมืองได้โดยไม่ถูกกดดัน ข่มขู่ หรือคุกคาม  จะต้องมีการส่งเสริมให้มีเวทีและการถกเถียงสาธารณะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชุมชนทั้งหมด

ประการที่สาม ประชาชนในพื้นที่ปลอดภัยจะสามารถมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและตัดสินใจได้ว่าตนต้องการ/ไม่ต้องการอะไรเพื่อชุมชนของตนผ่านทางคณะกรรมการปฏิบัติการร่วม นี่สอดคล้องกับนโยบาย “ชุมชนจัดการตนเอง”

โครงการนำร่องในอำเภอหนึ่งควรจะถูกถือว่าเป็นแบบทดสอบสร้างความมั่นใจ  มันจะเป็นพื้นที่ทดลองดูว่าทั้งสองฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้จริงหรือไม่หลังจากที่ต่อสู้กันทางอาวุธมานานหลายปี และเป็นการทดสอบความสามารถของทั้งสองฝ่ายในการควบคุมความรุนแรงด้วย

กรอบเวลาของการตั้งพื้นที่ปลอดภัยเริ่มด้วยการตั้งเซฟเฮาส์  จากนั้นก็จะมีเวลาสามเดือนในการเตรียมการ ต่อด้วยอีกสามเดือนในการดำเนินการ  เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลาทดสอบ (หกเดือน) คณะทำงานทางเทคนิคร่วมก็จะประเมินและทำข้อเสนอแนะต่อคณะทำงานร่วมที่สาม-กระบวนการพูดคุยสันติสุขว่าควรจะมีการขยายเวลา ขยายพื้นที่ ระงับ หรือยุติ พื้นที่ปลอดภัย

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 คณะทำงานทางเทคนิคร่วมได้ประชุมกันอีกครั้ง  ณ จุดนี้ Party A กำลังเร่งให้มี “อำเภอหนึ่ง” ส่วนฝ่าย Party B ยังสงวนการเปิดเผยพื้นที่จนกว่าทุกประเด็นที่เกี่ยวกับพื้นที่ปลอดภัยจะได้รับการพูดคุยและตกลงกันเสียก่อน  ข้อไม่เห็นพ้องในประเด็นนี้ได้ทำให้มาเลเซียซึ่งเป็นผู้เอื้ออำนวยการพูดคุยตัดสินใจยุติการประชุมก่อนพักเที่ยง  ทั้งสองฝ่ายจะกลับไปทบทวนจุดยืนของตนและกลับสู่โต๊ะเจรจาภายในสองสัปดาห์  นี่เป็นอุปสรรคที่สองที่เผชิญที่โต๊ะเจรจา (ประการแรกคือข้อถกเถียงเรื่อง ToR ในการประชุมครั้งวันที่ 27 เมษายน 2559)

การประชุมที่กำหนดไว้ในวันที่ 27 กันยายน 2560 ไม่ได้เกิดขึ้น  ผู้เอื้ออำนวยกระบวนการนั้นกำลังทำงานกับ BRN กระแสหลักที่ก่อนหน้านี้ได้ออกแถลงการณ์สื่อมวลชนและได้ส่งข้อเสนอเรื่องจุดยืนของตนต่อกระบวนการสันติภาพไว้ 

มีข่าวลือว่าคุณ Zamzamin Hashim พยายามที่จะจัดการประชุมระหว่างพลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขของไทย และ Dunloh Wae Matnor หรือ Pok Su Loh จาก BRN  แต่แม้จะมีข่าวลือ รายงานจากสื่อมวลชนที่คลุมเครือ และการคาดการณ์ของนักการทูตเช่นนั้น แต่การประชุมอันเป็นที่ถกเถียงกันนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้น มีแต่ความพยายามดำเนินการ  ไม่มีการประชุมพูดคุยสันติภาพอื่นใดเกิดขึ้นอีกจนถึงสิ้นปี 2560  ทั้งสองฝ่ายได้สื่อสารผ่านทางผู้เอื้ออำนวยกระบวนการในประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่ปลอดภัยที่ยังตกลงกันไม่ได้ 

ควรกล่าวไว้ในที่นี้ว่า ในช่วงต้นปี 2561 แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั้นเริ่มชัดเจนขึ้น  ในการพบปะกันในโต๊ะเจรจาเมื่อเดือนมกราคม ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงกันได้โดยบรรลุ “ความก้าวหน้าครั้งสำคัญ” และตกลงที่จะกลับมาประชุมพูดคุยสันติภาพอีกครั้ง  คณะทำงานทางเทคนิคได้จัดประชุมขึ้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 และได้สรุปประเด็นตกค้างต่างๆ เรื่องพื้นที่ปลอดภัย  อีกเพียงสองหรือสามการประชุมทั้งสองฝ่ายก็จะพร้อมที่จะเริ่มทดลองพื้นที่ปลอดภัยในเขตนำร่องที่ตกลงกันแล้ว

ความสำเร็จของพื้นที่ปลอดภัยนั้นขึ้นอยู่กับการที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันในวาระร่วมกันได้ นั่นคือ เพื่อสร้างบรรยากาศที่สันติสุขและปลอดภัยแก่พลเรือน เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก และเพื่อให้ชุมชนจัดการตัวเองได้ในทุกมิติ  เอ็นจีโอและองค์กรประชาสังคมจะมีบทบาทสำคัญในพื้นที่ปลอดภัย โดยจะเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการปฏิบัติการร่วมและจะประสานร่วมมือกับตัวแทนของชุมชนที่ได้รับเลือกในฐานะที่เป็นกลุ่มทรัพยากรที่ให้การสนับสนุน นอกจากนี้ยังจะช่วยในการจัดตั้งเวทีสาธารณะและการค้นหาความจริงอีกด้วย

แม้จะมีพัฒนาการเช่นนี้ แต่เรื่องพื้นที่ปลอดภัยก็ยังไม่ได้ปลอดจากข้อท้าทายจากทั้งภายในและภายนอก  การบ่อนทำลายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่ายตรงข้ามกระบวนการสันติภาพและฝ่ายที่ทำลายฝ่ายตรงข้ามได้นั้นจำต้องได้รับการให้ความใส่ใจ  ด้วยเพียงปัญญาญาณ ความร่วมมือ ความอดทน ความจริงใจ และความมุ่งมั่นแรงกล้าจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับการสนับสนุนจากชุมชนอย่างแข็งขันเท่านั้น ที่บรรยากาศที่สันติสุขและปลอดภัยจะถูกสร้างให้เกิดขึ้นได้สำหรับพลเรือน อันเป็นก้าวแรกสู่การแก้ไขความขัดแย้งอย่างเป็นธรรม รอบด้าน และยั่งยืน

 

เชิงอรรถ: 

[2] TWO YEARS OF PEACE DIALOGUE - A small step forward.https://www.deepsouthwatch.org/node/9977


แปลจาก: https://www.deepsouthwatch.org/node/11704
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net