Skip to main content
sharethis

หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เผยฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้ร่วมกันกำหนดอำเภอนำร่องพื้นที่ปลอดภัยในปี 61 แล้ว เหตุที่ยังไม่ประกาศต้องมีการหารือเตรียมพื้นที่ให้พร้อมก่อนคาดประมาณ 4-6 เดือน 

 
เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายในของประเทศไทย เพราะเราไม่ต้องการให้มีการแทรกแซงจากภายนอกประเทศ เพื่อตัดการสนับสนุนทั้งปวงต่อผู้ก่อเหตุรุนแรง และป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างออกไปเป็นสงครามตัวแทน แบบที่ตะวันออกกลางต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
 
หัวหน้าคณะพูดคุยฯ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นจึงได้แบ่งกลุ่มงานในการแก้ปัญหาออกเป็น 7 กลุ่มงาน และกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบระดับกระทรวง โดยให้ความสำคัญอันดับแรก ต่อกลุ่มงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่มีกระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าภาพ และมี กอ.รมน.เป็นหน่วยปฏิบัติหลัก จากสถานการณ์ความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นในพื้นที่แสดงว่า กลุ่มงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งมีทั้งกำลังพล ยุทโธปกรณ์ อำนาจตามกฎหมาย และมีงบประมาณยังทำได้ไม่สมบูรณ์ดีพอ ทั้งการควบคุมพื้นที่ การควบคุมทรัพยากร และการควบคุมประชาชนจึงสมควรปรับปรุงทั้งมาตรการเชิงรับ และมาตรการเชิงรุก เพื่อจำกัดเสรีและลดขีดความสามารถของกลุ่มผู้ก่อเหตุ ด้วยการปฏิบัติการทางทหาร และการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานด้านมวลชนเเพื่อตัดการสนับสนุนทั้งปวงของผู้ก่อเหตุทั้งในและนอกพื้นที่
 
ในส่วนของกระบวนการพูดคุยฯ นั้น พล.อ.อักษรา ระบุว่า เป็นเพียงกลุ่มงานที่แสวงหาทางจากความขัดแย้งในแนวทางสันติวิธีด้วยการพูดคุยกับขบวนการผู้เห็นต่างฯ ทุกกลุ่ม ทุกพวก ทุกฝ่าย ให้ลดทอนความตั้งใจในการใช้ความรุนแรง และหันกลับมาร่วมมือสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้เกิดความสงบสุขปลอดภัยต่อประชาชนเป็นสำคัญ การพูดคุยฯ แม้ต้องใช้เวลาหลายปี แต่ก็จะเป็นหนทางให้ประเทศชาติสามารถออกจากความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืนในที่สุด อย่างไรก็ดียังมีผู้ที่ติดยึดทฤษฎี และมีแนวคิดแบบเดิมๆ พยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่โดยกล่าวอ้างว่ามาจากผลการพูดคุยฯ จนตกเป็นแนวร่วมมุมกลับ เผลอไปสร้างความชอบธรรมและเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุที่ใช้ความรุนแรง อ้างว่าเป็นตัวจริงยืนเงื่อนไขต่อรองรัฐบาล
 
หัวหน้าคณะพูดคุยฯ กล่าวอีกว่า ในปี 2561 คณะพูดคุยฯ สามารถบรรลุหลักการสำคัญร่วมกับผู้เห็นต่างฯ ในการจัดตั้งศูนย์ประสานงาน Safe House และคณะกรรมการบริหารพื้นที่ปลอดภัยที่มีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อกันไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรง และเกิดความปลอดภัยต่อประชาชนทุกศาสนาและทุกกลุ่มอาชีพในพื้นที่ดังกล่าวอย่างแท้จริง เพราะคำตอบทั้งหมดของการแก้ปัญหา จชต.อยู่ที่ประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ
 
โดยเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา มารียัม อัฮหมัด และมาตาฮารี อิสมาแอ รายงานผ่านเบนาร์นิวส์ ว่า พล.อ.อักษรา ได้แจงข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวโดยผ่านทางสำนักเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้ ภายหลังจากการรายงานผลการดำเนินงานของคณะพูดคุยฯ ให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ ในขณะที่นายอาบู ฮาฟิซ โฆษกมาราปาตานี ได้แจ้งเรื่องนี้ผ่านบทความในเวบไซต์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)

“ล่าสุดจากการประชุมที่ประเทศมาเลเซีย สามารถได้ข้อยุติร่วมกันในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง 1 อำเภอ และได้เรียนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปจะเป็นการจัดตั้ง safe house เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาช่วยกันให้ข้อคิดเห็นในเรื่องการรักษาความปลอดภัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ safety zone” พล.อ.อักษรา กล่าว

เบนาร์นิวส์ รายงานด้วยว่าไม่สามารถติดต่อ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุย และพลตรีสิทธิ์ ตระกูลวงศ์ เพื่อขอทราบชื่ออำเภอและรายละเอียดเพิ่มเติม

พล.อ.อักษรา ได้กล่าวในใบแจ้งข่าวอีกว่า จากนี้ไปคณะพูดคุยฯ จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ในการขับเคลื่อน safety zone พร้อมไปกับการประเมินผลว่า สามารถดำเนินการได้ตามความตั้งใจของทุกฝ่าย ที่จะใช้สันติวิธีดูแลพื้นที่ให้มีสันติสุขได้หรือไม่ และหากสามารถบรรลุเป้าหมายก็อาจขยายไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับผลการพูดคุยในระยะต่อไปด้วย

พล.ต.สิทธิ์ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุย ได้กล่าวในก่อนหน้านี้ว่า จะใช้เวลาสามเดือนแรกในการดำเนินการเพื่อก่อตั้ง safe house และรณรงค์ให้ประชาชนได้รับทราบเรื่องพื้นที่ปลอดภัย พร้อมทั้งขอรับทราบความคิดเห็น หลังจากนั้น จะจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยให้เป็นรูปเป็นร่าง และทดลองประสิทธิผลเป็นเวลาอีกสามเดือน

ด้าน อาบู ฮาฟิซ โฆษกมาราปาตานี กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้มีการพูดคุยนอกรอบ เมื่อเดือนมกราคม ศกนี้ ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเจาะทะลุข้อขัดขวางออกไปได้ จนทุกฝ่ายสามารถตกลงในการดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติภาพต่อไปได้

“ในการพูดคุยนอกรอบในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อเดือนมกราคม ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ สามารถทะลุข้อขัดขวางออกไปได้ และตกลงจะพูดคุยกันต่อไป จากนั้นคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคได้การรับทราบในวันที่ 7 ก.พ. 2018 ซึ่งทั้งสองทีมยังได้สรุปเนื้อหาเกี่ยวกับพื้นที่ปลอดภัยส่วนอื่นๆ  เป็นเพียงเรื่องเวลาที่สองฝ่ายยังต้องพูดคุยกันอีกสองสามครั้ง ก่อนที่จะสามารถเริ่มดำเนินการพื้นที่ปลอดภัยได้” อาบู กล่าวในบทความ The Peace Dialogue Third Year (2017)

อิศรา รายงานเพิ่มเติมว่าสุดวันนี้ (20 ก.พ.61) พล.อ.อักษรา บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า คณะพูดคุยฯทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้ร่วมกันกำหนดอำเภอนำร่องพื้นที่ปลอดภัยในปี 61 แล้ว แต่สาเหตุที่ยังไม่ประกาศให้สังคมได้ทราบ ก็เนื่องจากต้องมีการหารือเตรียมพื้นที่ให้เกิดความพร้อมเสียก่อน ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน 
 
ขั้นตอนหนึ่งของการเตรียมการ คือการเปิด "เซฟเฮาส์" หรือ "ศูนย์ประสานงาน" เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทำงานร่วมกัน โดย พล.อ.อักษรา ย้ำว่า การทำงานไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการทำพื้นที่ให้ปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังมีแผนพัฒนาร่วมกัน และการทำพื้นที่ให้ปลอดยาเสพติดด้วย ที่สำคัญไม่ได้แปลว่าเมื่อมีพื้นที่ปลอดภัยแล้วต้องถอนทหารออกไป เพราะทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม แต่เพิ่มบทบาทของภาควิชาการและภาคประชาสังคมให้มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net