Skip to main content
sharethis

กรรมการสิทธิฯ ชื่นชมรัฐบาลที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่ายหินกระบี่-เทพา ด้านฝ่ายหนุนโรงไฟฟ้าจ่อบุกทำเนียบฯ ฟ้องศาลปกครองและแจ้งความเอาผิด รมว.พลังงานต่อไป

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงการณ์ เรื่อง รัฐบาลและเครือข่ายประชาชนฯ ร่วมหาทางออกกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา โดยอ้างถึง การชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ – เทพา ของประชาชนเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยการอดอาหารและเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ณ บริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทั่งถึงวันที่ 20 ก.พ.61 ได้มีการลงนามระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกับผู้แทนเครือข่ายฯ เพื่อหาทางออกของปัญหาร่วมกัน และให้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic environmental assessment : SEA) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของโครงการก่อน เป็นผลให้เครือข่ายฯ ยุติการชุมนุม นั้น

กสม. ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (3) เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ – เทพา และแสดงความห่วงกังวลต่อประเด็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้

1. ขอแสดงความชื่นชมรัฐบาลที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว และขอชื่นชมประชาชนที่ยึดมั่นในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติและปราศจากอาวุธ

2. กระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเชิงนโยบาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการศึกษา รวมทั้งการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของผู้ได้รับผลกระทบและประชาชนเพื่อให้ผลการศึกษาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

กสม. ขอยืนยันในหลักการสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการพัฒนาของรัฐ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างสันติ ซึ่งการชุมนุมคัดค้านกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า การที่รัฐบาลให้ประชาชนใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและชุมนุมอย่างสันติ ไม่ใช่เรื่องน่าหวาดกลัว และการใช้วิธีเจรจาแบบสันติวิธีจะสามารถประสานความคิดเห็นที่แตกต่างไปสู่ผลิตผลที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อประเทศได้

วันเดียวกัน (20 ก.พ.61) เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน รายงานว่า อนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.จะต้องรอหนังสือคำสั่งอย่างเป็นทางการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงจะทราบอย่างชัดเจนว่าจะต้องปฎิบัติตามอย่างไร  เพราะกรณีของโรงไฟฟ้าเทพา และ กระบี่ นั้นแตกต่างกัน

โดยในส่วนขั้นตอนการจัดทำEHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ นั้น เป็นการเริ่มกระบวนการจัดทำEHIA ใหม่  ซึ่งในส่วนของ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เทพา นั้น หากมีคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมา กฟผ.ก็จะทำเรื่องขอถอนรายงาน ออกมาได้ แต่กรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ นั้น เนื่องจากเคยมีการถอนรายงานEHIA ออกมาแล้ว ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และอยู่ระหว่างการทำ รายงาน EHIA  ฉบับใหม่ ก็จะต้องหารือกับทาง สผ. ก่อนว่า ในระหว่างที่มีการศึกษาSEA ที่เป็นการศึกษาในภาพรวมของพื้นที่ นั้น กฟผ.จะต้องหยุดกระบวนการทำEHIA ที่เป็นการศึกษาเฉพาะตัวโครงการด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ กฟผ.เริ่มมีการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตั้งแต่ปี 2555 และในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตั้งแต่ปี 2557  จนถึงปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ายังมีความเห็นที่แตกต่างกันของคนในพื้นที่ และการที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีความล่าช้า จะทำให้พื้นที่ภาคใต้มีความเสี่ยงเรื่องของความมั่นคงไฟฟ้ามากขึ้น อย่างไรก็ตามในภาพรวมกฟผ.จะต้องหารือกันว่า จะมีการหาทางออกอื่นๆให้ภาคใต้ยังคงมีความมั่นคงไฟฟ้าและรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปีได้อย่างไร

ฝ่ายหนุนค้าน MOU จ่อบุกทำเนียบฯ ฟ้องศาลปกครอง

เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน รายงาต่อว่า ขณะที่ พณวรรธน์ พงศ์ประยูร ตัวแทนเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า เครือข่ายที่สนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งมีทั้งหมด 66 องค์กร สมาชิกกว่า 5 หมื่นคน ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวทางของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ไปลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU)กับเครื่อข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา เพื่อยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเครือข่ายคนเทพาฯ เตรียมรวบรวมผู้สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 1,000 คนไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลในเร็วๆนี้

เครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ที่มาภาพ เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน)

โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ดังกล่าว ประกอบด้วย 1.ไม่เห็นด้วยกับการลงนาม MOU ดังกล่าว 2.เตรียมยื่นศาลปกครองเพื่อคัดค้านการลงนาม MOU  เพราะเป็นการดำเนินการส่วนบุคคล ไม่ใช่มติของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่มีอำนาจตัดสินใจโดยภาพรวม  3.ถวายฏีกาเพื่อคัดค้านกรณีดังกล่าว และ 4. แจ้งความเอาผิดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ลงนาม MOU เพราะเห็นว่าอาจขัดกับกฎหมายมาตรา 157  ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 
 
“ผมไม่เข้าใจว่า แค่คน 5 คนบุกทำเนียบแล้วคุณก็ยอมทุกอย่าง เอ็นจีโอก็มีไม่มากแต่ทำตัวเสมือนมีมาก ซึ่งนักบริหารที่ดีควรฟังเสียงคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ การทำแบบนี้เป็นการฆ่าระบบประชาธิปโตยโดยสิ้นเชิงซึ่งยอมรับไม่ได้ ถ้าบ้านเมืองเป็นแบบนี้ใครจะมาเป็นรัฐมนตรีก็ได้สิ” พณวรรธน์ กล่าว
 
ในขณะที่เครือข่ายปกป้องสิทธิชุมชนคนจังหวัดกระบี่ ก็ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 20 ก.พ.2561 ไม่ยอมรับบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีจุดยืน 5 ข้อ ซึ่งสรุปความได้ดังนี้ 1. คนกระบี่ไม่ยอมรับบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเนื่องจากเป็นเพียงเสียงส่วนน้อย  และไม่ได้ทำตามข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2560  ที่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาและทำความเข้าใจ พร้อมกับทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ โดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
 
2. คนกระบี่ไม่เห็นด้วยที่มีบุคคลเพียง3-4 คนมีอำนาจในการล้มเลิกโครงการพัฒนาด้านพลังงานของรัฐ  เป็นการใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฏหมาย 3.ขอให้นายกรัฐมนตรี สั่งการยกเลิกบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน  โดยเร็วที่สุด 4. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง โดยทันที
 
และ 5 หากไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เครือข่ายปกป้องสิทธิชุมชนคนจังหวัดกระบี่ จะแสดงพลัง และใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นตามลำดับ เรื่องเรียกร้องสิทธิของชุมชนในการ พัฒนาพลังงานไฟฟ้าให้มีความมั่นคงตลอดไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net